คำยืมภาษาพม่าในภาษาล้านนา ร่องรอยในอดีตที่ยังหลงเหลือถึงปัจจุบัน

วงตกเส้ง คำยืมภาษาพม่า
วงตกเส้ง สังเกตมีปี่แน เครื่องดนตรีชนิดเป่า ซึ่งคำว่า แน เป็นคำยืมจากภาษาพม่า (ภาพจาก หนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดลำปาง)

คำยืมภาษาพม่า ที่คนล้านนาหยิบยืมมาใช้ สืบร่องรอยในอดีตที่ยังหลงเหลือถึงปัจจุบัน

ตลาดใน “ล้านนา” ภาคเหนือของสยาม
ตลาดใน “ล้านนา” ภาคเหนือของสยาม

เนื่องด้วยความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ล้านนาและพม่าจึงมีการแลกเปลี่ยนและผสมผสานกันทางสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความคิด และคติความเชื่อ มาโดยตลอด ยิ่งในช่วงที่ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่านานนับ 200 ปีด้วยแล้ว ล้านนาและพม่าจึงมีความใกล้ชิดกันอย่างมาก วัฒนธรรมหลายอย่างจึงหยิบยืมกันใช้ไปมา โดยเฉพาะภาษา

จากบทความ มองล้านนา แลเมียนมาร์ : เล่าเรื่องภาษา สังคม วัฒนธรรม เขียนโดย รองศาสตราศาสตราจารย์ อุบลรัตน์ พันธุมินทร์ ได้ศึกษาความสัมพันธ์ทางภาษาระหว่างล้านนาและพม่า พบคำยืมภาษาพม่าในล้านนา ขณะเดียวกันก็พบภาษาล้านนาหรือคำไทปรากฏใช้ในภาษาพม่าเช่นเดียวกัน ทั้งในระดับคำ ระดับประโยค และระดับภาษิต

Advertisement

สำหรับภาษาพม่าที่ล้านนาหยิบยืมมาใช้มีตัวอย่างดังนี้

กานโถม (ล้านนา) – กั่นทูน (พม่า) เป็นชื่อช่างไม้ มีความหมายว่า ผู้มีโชค โดยคำว่า กั่น หมายถึง กรรม และคำว่า ทูน หมายถึง เปล่งประกายหรือจุดให้เกิดแสงสว่าง

โมยชา (ล้านนา) – มฺโยะ-ซา (พม่า) หมายถึง ผู้ครองเมือง โดยคำว่า มฺโยะ หมายถึง เมือง และคำว่า ซา หมายถึง กิน

โป่ (ล้านนา) – โบ่ (พม่า) หมายถึง นายร้อยหรือผู้นำ เช่น โป่มะยุง่วน ที่ได้รับแต่งตั้งจากพม่าให้ครองเมืองเชียงใหม่ ในช่วงเวลาก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

แน (ล้านนา) – ฮฺแน (พม่า) หมายถึง แนหรือปี่แน เครื่องดนตรีประเภทเป่า

มอง (ล้านนา) – มาวง์ (พม่า) หมายถึง ครกกระเดื่อง ครกมอง หรือสากมอง

ครกมอง
ครกมอง

สินาด (ล้านนา) – ตะ-นะต์ (พม่า) หมายถึง ปืนไฟ

อมอก, อะม็อก, ม็อก, ละม็อก, อ่ำม็อก (ล้านนา) – อะ-มฺเยียวก์ (พม่า) หมายถึง ปืนใหญ่ เช่นที่จังหวัดลำปางมี “หออะม็อก” เป็นซากป้อมปืนโบราณ

ลำบู, ละบู (ล้านนา) – จี่-สั่น-บู (พม่า) หมายถึง ลำปืนหรือกระบอกปืน โดย จี่-สั่น-บู หมายถึงลำกล้องของปืน ภาษาล้านนาตัดคำว่า จี่-สั่น ออก นำคำว่า บู ที่หมายถึง กระบอกหรือขวด มาใช้เพียงคำเดียว แล้วนำมารวมกับคำว่า ลำ

อู่เจ (ล้านนา) – โอ-สี่ (พม่า) หมายถึง กลองหน้าเดียวคล้ายกลองยาว

กะบอง (ล้านนา) – งะ-บาวง์ (พม่า) โดย กะบองในภาษาล้านนาหมายถึง อาหารทอด ให้ความหมายโดยกว้าง ไม่ระบุวัตถุดิบที่ใช้ แต่ งะ-บาวง์ในภาษาพม่ามีความหมายเจาะจง โดยหมายถึง ปลาตัวเล็ก ๆ ชุบแป้งทอดติดกันเป็นแพ

นี่เป็นเพียงคำยืมภาษาพม่าบางส่วนเท่านั้น แต่ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและพม่าได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อุบลรัตน์ พันธุมินทร์. (2561). มองล้านนา แลเมียนมาร์ : เล่าเรื่องภาษา สังคม วัฒนธรรม. ใน หนังสือรวมบทความวิชาการเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-เมียนมา. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม แอนด์ เอ็ม เลเซอร์พริ้นต์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2564