ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“สินบน” เป็นสิ่งที่มีทั้งคนรับและปฏิเสธ ซึ่งมีให้เห็นใน ชีวิตจริง, ซีรีส์, หนังสือ ฯลฯ การจ่ายสินน้ำใจในทางไม่ค่อยถูกต้องเหล่านี้ ผู้มอบมักพูดเสมอว่า “ไม่มีใครรู้” หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องพยายามไม่ให้มีใครรู้ เพื่อความปลอดภัยของทั้งสองฝ่าย
แน่นอนว่าคงมีคนจำนวนหนึ่งปฏิเสธสินน้ำใจดังกล่าว แต่ละคนปฏิเสธอย่างไรไม่ทราบได้
หากในประวัติศาสตร์บันทึกการ “ปฏิเสธสินบน” ที่สั้นกระชับ นุ่มนวลชัดเจน สง่าผ่าเผย เป็นของ “เอี้ยวจิ้น” ที่กล่าวว่า “ฟ้ารู้ ดินรู้ เจ้ารู้ เรารู้ ไยจึงกล่าวว่าไม่มีใครรู้?”
เอี้ยวจิ้นปฏิเสธสินบน
เอี้ยวจิ้น ผู้นี้ เป็นบรรพชนของ เอี้ยวสิ้ว หนึ่งในที่ปรึกษาของโจโฉที่มีความฉลาดเกินหน้าเจ้านาย คนส่วนใหญ่จดจำเขาได้จากเหตุการณ์ “เอี้ยวสิ้วคอขาดเพราะขาไก่” แต่ความจริงเอี้ยวสิ้วตายเพราะถูกดึงเข้าไปในวังวนการแย่งชิงตำแหน่งผู้สืบทอดอำนาจจากโจโฉ
เอี้ยวสิ้ว มาจากตระกูลเอี้ยว ถิ่นหัวอินเมืองหงหนง ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก แซ่เอี้ยวเมืองหงหนงเป็นตระกูลใหญ่ครองตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีถึง 4 ชั่วคน มีความจงรักภักดีสูงสุดต่อราชวงศ์ฮั่น
ตระกูลเอี้ยวสิ้วหลายชั่วคนเป็นขุนนางผู้ใหญ่สืบต่อกันมาตลอดในยุคราชวงศ์ฮั่น แม้ช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นการเมืองวุ่นวายก็ไม่คล้อยตามกระแส แต่คงรักษาความบริสุทธิ์ สมถะ เที่ยงตรง ไว้เป็นคุณสมบัติพิเศษ
เอี้ยวจิ้น ต้นสายสกุลของเอี้ยวสิ้ว ครั้งหนึ่งเดินทางผ่านเมืองชางอี้ หวางมี่เจ้าเมืองชางอี้เป็นศิษย์ของเขา เพื่อแสดงความขอบคุณที่เอี้ยวจิ้นที่สนับสนุนเขาขึ้นมา ตอนค่ำจึงนำทองคำ 10 ตำลึง ซุกซ่อนไว้ในอกเสื้อไปกำนัลแด่เอี้ยวจิ้น
เอี้ยวจิ้นกล่าวว่า “เราเข้าใจเจ้า แต่ไยเจ้าไม่เข้าใจเรา?”
หวางมี่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเอาทองมาให้ท่านตอนกลางคืน ไม่มีใครรู้หรอก?”
เอี้ยวจิ้นตอบปฏิเสธกำนัลนั้นว่า “ฟ้ารู้ ดินรู้ เจ้ารู้ เรารู้ ไยจึงกล่าวว่าไม่มีใครรู้?”
หวางมี่เกิดความละอายจึงลากลับ
เอี้ยวจิ้นฐานะยากจน เพื่อนฝูงและครูบาอาจารย์บอกให้เขายอมรับสินน้ำใจสร้างทรัพย์สมบัติบ้าง
เอี้ยวจิ้นไม่ยอม กล่าวว่า “ให้คนรุ่นหลังยกย่องว่าเป็นลูกหลานของผู้บริสุทธิ์สะอาด ให้สิ่งนี้เป็นมรดกตกทอดไป มิใช่ความยิ่งใหญ่หรือ?”
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “โจโฉ” ประหาร “หมอฮัวโต๋” (หัวถัว) แพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ในจีนยุคเก่า?
- ศึกผาแดงที่ทัพเรือโจโฉโดนเผาวอด มิใช่แพ้เพราะสู้ศึกไม่ได้ แต่แพ้เพราะโรคระบาด
- ย้อน “พินัยกรรม-คำสั่ง” โจโฉ ทำไมสั่งเสียเรื่องชีวิตบั้นปลายของเมียน้อยตน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หลี่ฉวนจวินและคณะ (เขียน), ถาวร สิกขโกศล (แปล) . 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน กรกฎาคม 2556
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2563