ต่อกระดูก-วางยาพิษ-ใช้ยาสั่ง โนว์ฮาวปราชญ์ชาวบ้านเมืองสุรินทร์ในอดีต

ภาพถ่าย ชาว สุรินทร์ ในอดีต รอตักน้ำ จากบ่อ ในช่วงฤดูแล้ง
วิถีชีวิตชาวสุรินทร์ในอดีต เมื่อถึงฤดูแล้งผู้หญิงและเด็ก หาบกระเชอมารอตักน้ำจากบ่อช่วงฤดูแล้ง เจ็บป่วยก็อาศัยความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน (ภาพจาก “100 เรื่อง เมืองสุรินทร์”)

การต่อกระดูก เคลื่อนย้ายเส้นเอ็น และใช้ยาพิษต่าง ๆ ที่เคยได้เห็นได้ยินในภาพยนตร์จีนกำลังภายในบ่อยครั้ง และบางเรื่องก็มีอยู่จริง แต่มันไม่ใช่แค่จริงในประวัติศาสตร์ของจีนเท่านั้น ในประเทศไทย ปราชญ์ชาวบ้านของเราก็มีความรู้ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทห่างไกล ดังกรณีตัวอย่างของปราชญ์ชาวบ้านใน “สุรินทร์”

อัน-ชาวกัมพูชาที่เป็นหนึ่งในคณะผู้นำทางให้ เอเตียน แอมอนิเยร์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในกัมพูชา, ลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพื่อสำรวจโบราณสถานและจารึกโบราณเขมร ระหว่าง พ.ศ. 2426-2427 บันทึกสิ่งที่เขาได้พบเห็นในเมืองสังฆะ เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ไว้หลายเรื่อง หนึ่งในจำนวนนั้นคือ การใช้ยาพิษ หรือยาสั่ง

อาณาเขตของเมืองสังฆะในเวลานั้น ทิศตะวันออกติดกับเมืองขุขันธ์ ทิศเหนือติดกับเมืองรัตนบุรี ทิศตะวันตกติดกับเมืองสุรินทร์ และทิศใต้ติดกับพนมดงแร็ก มีประชากรในทะเบียนราว 1,000 คน ส่วนเรื่องการใช้ยาพิษ หรือยาสั่งนั้น ชาวเมืองสังฆะพูดว่า “พวกเขามีความชำนาญ”

ดังนั้น การได้รับพิษ หรือถูกพิษ จึงเป็นเรื่องปกติของคนสังฆะในเวลานั้น ยาพิษหรือยาสั่งจะถูกแอบใส่ลงในอาหารต่าง ๆ เช่น เนื้อหมู, ถั่วเหลือง, กล้วย, เหล้า ฯลฯ  ผู้วางยาพิษจะซุกซ่อนยาไว้ที่เล็บมือ แล้วแอบจุ่มลงในอาหารนั้น ๆ ส่วนความรุนแรงของพิษก็มีตั้งแต่ทำให้เจ็บปวดทรมานจนถึงเสียชีวิต ขณะที่มีการวางยาพิษก็มีวิธีแก้พิษ โดยใช้ ปฺเตียล (ภาษาเขมรหมายถึง ว่านที่ใช้แก้พิษ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นชนิดใด)

การวางยาพิษไม่ได้ใช้เพื่อทำร้ายคู่อริ หรือคนที่ขัดแย้งเท่านั้น บางครั้งก็ใช้เพื่อป้องกันตัวเองและทรัพย์สิน เช่น การเอาว่านที่ทำให้เกิดอาการหนาวสั่นเหมือนลูกหมาตกน้ำ และไม่สามารถเคลื่อนไหวไปไหนได้ ไปซุกในนา ในสวน ตรงจุดที่มักมีคนมาขโมยของ เมื่อหัวขโมยสัมผัสถูกว่านดังกล่าว ก็จะไปไหนไม่ได้ ต้องนั่งหนาวสั่นอยู่เช่นนั้น จนเจ้าทรัพย์มาแก้พิษที่วางให้ ก่อนจะส่งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง

ส่วน การต่อกระดูก ไม่ว่าแขนขาของใครจะหักมาด้วยเหตุใด ปราชญ์ชาวบ้านสามารถรักษาได้ แน่นอนว่าวิธีการรักษาก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการแพทย์ปัจจุบัน

สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ปราชญ์ชาวบ้าน บ้านอนันต์ ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เรียนการต่อกระดูกจากผู้เฒ่าในหมู่บ้าน เขียนเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “คาถาเป่ากระดูก” (บทความหนึ่งใน 100 เรื่อง เมืองสุรินทร์) บอกว่า สิ่งที่ใช้รักษาก็คือคาถา และการเสกเป่าให้กระดูกเชื่อมกัน ที่เรียกว่า จอด

ครูผู้ถ่ายทอดวิชาจะบอกคาถาให้ท่องตามหลาย ๆ ครั้งจนจำได้ ในการเรียนนั้นถ้าเรียนในตอนที่มีการต่อกระดูกของผู้ป่วย หรือเรียนในเหตุการณ์จริง เรียนแล้วใช้รักษาเลยทันที ท่านว่าคาถาจะมีความขลังมากขึ้น เวลาจะใช้คาถานี้ก็ให้ระลึกถึงครูเดอม (ครูต้นกำเนิด) ก่อน จึงว่าคาถา ดังนี้

“โอม พุทโธ, อะหิคะติด ธัมโม, อะหิคะติด สังโฆ, อะหิคะติด นะ อะหิคะติด ปะ, อะหิคะติด ระ, อะหิคะติด อะ, อะหิคะติด อุ, อะหิคะติด อะหัง อะหิคะติด”

ระหว่างบริกรรมคาถาดังกล่าว 3 จบ ก็เคี้ยวหมากในปากไปด้วย จนหมากแหลกแล้วเป่าพ่นน้ำหมากลงตำแหน่งที่กระดูกหัก 3 รอบ ทำเช่นนี้วันละ 2 ครั้ง ทั้งเช้าและเย็น ประมาณ 5-7 วัน กระดูกก็จะต่อกันได้ดังเดิม

ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านก็ดี การรักษาอาการเจ็บป่วยของหมอกลางบ้านก็ดี ที่ใช้สมุนไพร และคาถาอาคมเสกเป่า ในการรักษาพยาบาล ถึงวันนี้อาจดูเชย ไร้สาระ ไม่น่าเชื่อถือ ฯลฯ แต่ในอดีต ที่การแพทย์ยังไม่เจริญแพร่หลาย การคมนาคมไม่สะดวก ฯลฯ ก็ช่วยคนจำนวนไม่น้อยให้รอดชีวิตมาได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

อัษฏางค์ ชมดี บรรณาธิการ. 100 เรื่อง เมืองสุรินทร์, สำนักพิมพ์สุรินทร์สโมสร,  พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 สิงหาคม 2563