นาม “ระยอง” มีที่มาจากไหน? เป็นภาษาชองหรือมลายู?

หาดแหลมเจริญ ปากน้ำระยอง จังหวัดระยอง
ภาพประกอบเนื้อหา - หาดแหลมเจริญ ปากน้ำระยอง

ที่มาของชื่อ จังหวัดระยอง มีข้อสันนิษฐานว่า อาจมีที่มาจาก “ภาษาชอง” ของพวกชาติพันธุ์ชอง ซึ่งเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในภาคตะวันออก หรืออาจมีที่มาจาก “ภาษามลายู” ซึ่งเข้ามาตั้งรกรากในบริเวณนี้เช่นกัน

ปัญญา ศรีนวล เสนอข้อสันนิษฐานว่า คำว่า “ระยอง” มีที่มาจากภาษามลายู อธิบายไว้ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม พ.ศ. 2544 ว่า

Advertisement

“…ชาวชุมชนเดิมเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใช้ภาษามลายู มีอาชีพประมงและเกษตรกรรมเล็กน้อย ชอบตั้งถิ่นฐานอยู่ตามปากแม่น้ำ กระจัดกระจายไปทั่วอุษาคเนย์ เรียกชื่อชุมชนของตนตามลักษณะสำคัญทางภูมิศาสตร์ว่า กัวลา ลาญาห หรือลางเยา เขียนตามภาษามลายูปัจจุบัน kuala layah หรือ lanyau แปลว่า ปากน้ำมีพื้นที่เป็นโคลน ซึ่งผิวแข็งแต่ข้างในเหลว อาจเป็นเพราะคุณสมบัติของดินจากอำเภอปลวกแดง…”

ปัญญา ชี้ว่า เมื่อระยองถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยา ชื่อใน “ภาษามลายู” ถูกเปลี่ยนให้เข้าระบบภาษาไทย “กัวลา” ถูกเปลี่ยนให้เป็น “กระ” หรือ “กรา” กลายเป็น “กระลาญาห” หรือ “ลางเยา” แล้วลดคำเหลือเพียง “ลาญาห” หรือ “ลางเยา” อาจเป็นเพราะคำว่ากราหรือกระ มี ร.เรือ หรือเพราะเสียง ล.ลิง ในภาษามลายูใกล้เคียงกับเสียง ร.เรือ ในภาษาไทย หรือเจตนาให้ถูกลิ้นคนไทยหรือปัจจัยอื่น ๆ

ในที่สุด “ลาญาห” หรือ “ลางเยา” จึงกลายเป็น “รยอง” และ “ระยอง”

นอกจากนี้ ยังอธิบายว่า ในบริเวณภาคตะวันออก ยังมีชื่อหลายสถานที่มีที่มาจากภาษามลายู เช่น “แกลง” มาจาก สุไหงเกแลง (sungai kelang) แปลว่า แม่น้ำคดเคี้ยว, “สัตหีบ” มาจาก สัตตาหอีบุล (satah ibul) แปลว่า ที่ราบดงเตย (ทะเล) ซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่าชื่อ จังหวัดระยอง น่าจะมีที่มาจากภาษามลายู ซึ่งได้ตั้งชื่อให้สอดคล้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดระยอง ได้เสนอข้อสันนิษฐานว่า คำว่า “ระยอง” มีที่มาจากภาษาชอง ดังนี้

1. คำว่า “ระยอง” มีที่มาจากคำว่า “ราย็อง” เป็นภาษาชอง ชาติพันธุ์ดั้งเดิมของภูมิภาคตะวันออก แปลว่า “เขตแดน” หมายถึงเขตแดนของพวกชาติพันธุ์ชองที่ตั้งรกรากอยู่บริเวณนี้ เมื่อเวลาผ่านไปจึงเพี้ยนเป็น “ระยอง”

2. คำว่า “ระยอง” มีที่มาจากคำว่า “ราย็อง” แต่กล่าวกันว่าแปลว่า “ไม้ประดู่” หรือ “ต้นประดู่” ซึ่งแต่เดิมในสมัยของพวกชาติพันธุ์ชองมีต้นไม้ประเภทนี้ขึ้นหนาแน่น สะท้อนให้เห็นจากชื่อ “วัดท่าประดู่” ในเมืองระยองปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดระยอง ยังระบุถึงที่มาของคำว่า “ระยอง” อีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ ภาษาชอง หรือ ภาษามลายู โดยมีที่มาจากตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า คำว่า “ระยอง” มีที่มาจากคำว่า “ยายยอง” ซึ่งในสมัยโบราณมี “ยายยอง” มาตั้งหลักแหล่งทำไร่ไถนาในบริเวณนี้มาก่อน จนชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว จึงได้เรียกบริเวณนั้นว่า “ไร่ยายยอง” หรือ “นายายยอง” เมื่อเวลาผ่านไปจึงเพี้ยนเป็น “ระยอง”

โดยได้อ้างข้อมูลจากหนังสือ โบราณวัตถุสานทั่วพระราชอาณาจักร ที่ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี เขียนถึงตำนานนี้ไว้ว่า “…เมืองนี้มีนิทานเล่ากันว่า เดิมยายยองมาตั้งทำมาหากินอยู่ก่อน จึงเรียกเมืองระยอง ศักดินาทหารหัวเมือง เขียน รยอง (ไม่ประวิสรรชนีย์)…”

ขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ในรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน ระยองโยงโลกกว้าง เส้นทางแห่งความสุข เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ว่า พบชื่อ “ระยอง” เป็นลายลักษณ์อักษรเก่าที่สุดอยู่ในนิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่

สุจิตต์ อธิบายว่า “ระยอง” เป็นภาษาชอง แปลว่า “ต้นประดู่” แต่ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่คนระยองพูดกัน ซึ่งสุจิตต์ได้พยายามค้นหาจากพจนานุกรมภาษาชอง ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย จัดทำและตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2552 ไม่พบคำว่า “ระยอง” ในพจนานุกรมภาษาชอง

ระยอง แปลว่า ต้นประดู่ จริงหรือไม่จริงตรวจสอบกันใหม่” สุจิตต์ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคม 2563