รู้จัก “ระยอง” ในอดีต จากข้อมูลของหลวงประสานนฤชิต ส.ส.คนแรกของจังหวัด

(จากซ้ายไปขวา) หลวงประสานนฤชิต ผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง, นายกิมทะ นิรันต์พานิช ผู้แทนราฎรจังหวัดตราด, หลวงนรินทร์ประสาตร์เวช ผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี (ภาพจากคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์)

การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย” สำหรับจังหวัดระยองมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรก คือ หลวงประสานนฤชิต (เดิม อนุกระหานนท์)

หลวงประสานนฤชิต ได้แสดงปาฐกถาเรื่องสภาพจังหวัดระยอง ทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2477 เนื้อหาที่ตัดทอนจากหนังสือ “ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่องสภาพจังหวัดต่างๆ” มีดังนี้ [สะกดคำตามต้นฉบับเดิม, จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพื่อความสะดวกในการอ่าน โดยผู้เขียน]

จังหวัดระยอง ถ้ามองดูแต่เผินๆ ก็คงไม่แปลกไปกว่าจังหวัดอื่นๆ แต่เมื่อพิเคราะห์ให้ซึ้งลงไปถึงครั้งโบราณสมัยก็จะเห็นได้ว่า เป็นจังหวัดที่สำคัญจังหวัดหนึ่งของประเทศสยามตามประวัติการ เพราะเหตุว่าเป็นเมืองที่แรกตั้งต้นทำสงครามกู้อิสสรภาพ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตั้งต้นทำสงครามกู้ชาติก็ไม่ผิด

ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่เป็นมา กล่าวคือ เมื่อพุทธศักราช 2309 ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ ได้มีพะม่าข้าศึกกรีฑาทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทั้ง 4 ด้าน ขณะนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งยังเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพ็ชร์ เข้ามาพักอยู่ณกรุง

พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดให้พระยาวชิรปราการคุมทหารออกสู้รบกับกองทัพพะม่า ระหว่างต่อสู้กันอยู่นั้น พระยาวชิรปราการมาคิดเห็นว่า ข้าราชการแตกสามัคคีกัน ขืนรบไปก็จะสู้พะม่าไม่ได้ จึงได้คุมทหารตีฝ่ากองทัพพะฆ่าออกมาได้ แล้วหนีไปถึงบ้านเก่าจังหวัดระยอง เข้าพักไพร่พลช้างมาอยู่ที่ต้นสะตือ วัดลุ่มต่อกับวัดเนิน ตําบลท่าประดู่

เวลานั้นพระยาระยองได้ยกทัพออกสู้รบ แต่สู้ทหารพระยาวชิรปราการไม่ได้ก็แตกหนีไป พระยาวชิรปราการก็ได้เมืองระยองเป็นที่พํานักในขณะนั้น ต่อมาครั้นได้ทราบว่ากรุงเสียแก่พะม่าเสียแล้ว พระยาวชิรปราการเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จักต้องสละชีพเพื่อกู้ชาติบ้านเมือง จึงได้ประกาศตั้งตนเป็นเจ้าขึ้นที่จังหวัดระยอง แล้วสะสมรี้พล สะเบียงอาหารในจังหวัดระยองและที่อื่นพร้อมด้วยเรือรบ

ยกเข้ามาตีกองทัพพะม่าแตกหนีไปได้ อิสสรภาพกลับคืนมาตั้งแต่นั้น จึงนับว่าจังหวัดระยอง เป็นเมืองปฐมฤกษ์ หรือมหามงคลโชคอันพิเศษ ได้อํานวยผลให้พระเจ้ากรุงธนบุรี มีมานะอันแรงกล้ากระทําการกู้ชาติศาสนากลับคืนมาเป็นอิสสรภาพได้ และเหตุการณ์เหล่านี้ย่อมเป็นความสําคัญยิ่ง อันหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ของประเทศสยาม

เมื่อเราระลึกถึงพระเจ้ากรุงธนบุรี วีรบุรุษของ เราซึ่งเป็นผู้กู้ชาติครั้งใดแล้ว เราจําเป็นต้องระลึกถึงสถานที่และบุคคล คือจังหวัดระยองและชาวระยองติดไปด้วยเสมอ ตามเหตุที่กล่าวมานี้ยังมีต้นสะตือเป็นวัตถุพะยาน ปรากฎอยู่ที่วัดลุ่ม และเวลานี้ทราบว่า ได้มีผู้สร้างเป็นศาลเจ้าขึ้นที่โคนต้นสะตือหลังหนึ่ง เพื่อเป็นอนุสสาวรีย์ที่ระลึกแห่งพระเจ้ากรุงธนบุรี และให้นามว่า “ศาลเจ้าตากสิน” ซึ่งกําลังเตรียมการจะฉลองกันอย่างใหญ่โตใน

อนึ่ง นอกจากสิ่งที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเหตุที่จะเล่าสู่ท่านผู้ฟังอยู่อีก คือ จังหวัดระยองไม่แต่เพียงเป็นภูมิประเทศที่ให้กําเนิดการ สงครามกู้ชาติอย่างเดียว แต่เป็นเมืองที่ให้กําเนิดแก่นักประพันธ์ชิ้นเอก [น่าจะเป็นชั้นเอก-ผู้เขียน] ของประเทศสยามอีกด้วย ดังจะเห็นได้เมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ได้มีนักประพันธ์ผู้หนึ่งแต่งบทกลอนเป็นยอดเยี่ยม และได้แต่งหนังสือที่ไพเราะไว้หลายเรื่อง เช่น พระอภัยมณี พระสมุท เป็นต้น จนได้เป็นที่พระศรีสุนทรโวหาร หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “สุนทรภู่” ท่านสุนทรภู่ผู้นี้เกิดที่บ้านกร่ำ อําเภอแกลง จังหวัดระยอง และเป็นเลือดชาวระยองนั้นเอง ถัดจากนี้ข้าพเจ้าจะได้เล่าถึงเหตุการณ์อื่นๆ ของจังหวัดระยองต่อไป

ภูมิประเทศ จังหวัดระยองตั้งศาลากลางอยู่จากทะเล 47 เส้น มีอาณาเขตต์ติดต่อกับจังหวัดที่ใกล้เคียง คือ ทิศตะวันตกและ ทิศเหนือติดต่อจังหวัดชลบุรี ทิศตะวันออกติดต่อจังหวัดจันทบุรี ทิศใต้จดทะเล มีเนื้อที่เป็นนา 167.06 กิโลเมตร [น่าจะเป็น ตารางกิโลเมตร-ผู้เขียน] เป็นที่สวน 184  กิโลเมตร [น่าจะเป็น ตารางกิโลเมตร-ผู้เขียน]

เป็นที่ป่า 211.34 กิโลเมตร [น่าจะเป็น ตารางกิโลเมตร-ผู้เขียน] เป็นแม่น้ำลําคลอง 13.83 กิโลเมตร  เป็นที่ว่างเปล่าหรือภูเขา 151.41 กิโลเมตร [น่าจะเป็น ตารางกิลโลเมตร-ผู้เขียน] เป็นที่บ้าน 17.03 กิโลเมตร [น่าจะเป็น ตารางกิโลเมตร-ผู้เขียน]

และแบ่งการ ปกครองเป็น 3 อําเภอ อําเภอท่าประดู่ อําเภอบ้านค่าย และอําเภอแกลง ๆ เคยเป็นจังหวัด แต่ได้ยุบเป็นอําเภอเมื่อ ร.ศ. 116 ซึ่งจัดการปกครองใหม่เพราะมีพลเมืองน้อย พื้นที่ดินจังหวัดนี้โดยมากตามริมชายทะเลเป็นทราย แต่ลึกจาก ทะเลเข้าไปเป็นที่ดินปนทราย และเป็นที่ราบมากกว่าเขาหรือเนิน

ส่วนอากาศที่ไม่แพ้ศรีราชาหรือหัวหิน เพราะมีลมพัดอากาศ จากทะเลเข้าสู่ฝั่งมากกว่ามาทางป่าหรือเขาอากาศที่ผ่านทะเลเข้าฝั่งนี้สะอาดบริสุทธิ์มาก ฉะนั้นจึงกระทําให้โรคภัยไข้เจ็บของชาวจังหวัดนี้มีน้อยที่สุด ถ้าการคมนาคมระหว่างกรุงเทพ ฯ กับ ระยอง สะดวกทุกฤดูกาลแล้ว เชื่อว่าคงจะมีผู้นิยมไปตากอากาศและอาบน้ำทะเลกันบ่อยๆ เป็นแน่

เกาะที่เป็นอาณาเขตต์ของจังหวัดนี้ มีอยู่หลายเกาะ คือ เกาะเสม็ด เกาะมัน เกาะทะลุ เกาะปลาตีน เกาะกุด เกาะสะเก็ด เกาะที่โตกว่าเขานั้นคือเกาะเสม็ดและเกาะมัน เกาะเสม็ดตั้งอยู่ตรงข้ามกับฝั่งบ้านเพ อําเภอท่าประดู่ ห่างจากบ้านเพประมาณ 100เส้นเศษ มีราษฎรไปตั้งทําโต๊ะจับปลา และทําสวนมะพร้าวอยู่บนเกาะนี้ประมาณ 10 หลังคาเรือน ทิศใต้ของเกาะมีหาดทรายขาวสะอาดมากจนได้นามว่าหาดทราบแก้ว

เมื่อ พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี้ ได้เคยเสด็จสรงน้ำทะเลที่หาดทรายแก้วนี้ครั้งหนึ่ง บนเกาะนี้มี ประภาคารตั้งไว้ให้ชาวเรือไปมา สังเกตเป็นที่สะดวกดีมาก ข้าพเจ้าขอเพิ่มเติมกล่าวถึงฝั่งบ้านเพสักเล็กน้อย คือ แต่ก่อนนี้ มีกองทหารเรือตั้งอยู่ที่บ้านเพ แต่ภายหลังได้เลิกไปตั้งอยู่ตําบลสัตหีบ เขตต์จังหวัดชลบุรีจนบัดนี้ ส่วนสถานที่ ที่บ้านเพเปลี่ยน สภาพเป็นสนามบินต่อไป เกาะมันนั้นเล็กกว่าเกาะเสม็ด มีผู้ทําสวนมะพร้าวอยู่บนเกาะ 2 หรือ 3 เจ้าด้วยกัน

การคมนาคม ภายในจังหวัดมีทางไปมา 3 สายๆ หนึ่งตั้งแต่ริมฝั่งทะเลถึงศาลากลางจังหวัดราว 50 เส้น สายที่ 2 แต่ ศาลากลางจังหวัดถึงอําเภอบ้านค่ายราว 300 เส้น สายที่ 3 จากศาลากลางจังหวัดถึงอําเภอแกลงราว 1,400 เส้น สายปากน้ำเวลานี้กําลังขยายให้กว้าง สายไปอําเภอบ้านค่ายและอําเภอแกลงก็กําลังสํารวจเพื่อจะซ่อม เพราะสะพานชํารุดยวดยานเดินไม่ได้สะดวก

ส่วนทางไปมาติดต่อกับจังหวัดอื่นนั้น มีทั้งทางบกทางน้ำ ทางบก ใช้เดินเท้า, ม้า, เกวียน ทางน้ำใช้เรือใบ, เรือยนตร์, เรือกลไฟ, และต้องไปทางทะเลทั้ง 3 ทาง ท่าเรือที่ออกทะเลมีอยู่ 3 แห่ง คือ ปากน้ำระยอง เกาะเสม็ด ปากน้ำประแส ที่ปากน้ำระยอง ถ้าเกิดมรสุมคลื่นใหญ่ลมจัด การขึ้นลงลําบากมาก เรือกลไฟมาทอดสมออยู่กลางทะเล ไม่มีที่กําบัง ผู้ที่จะลงหรือขึ้นต้องใช้เรือเล็กอาศัยไปก่อน บางคราวถึงกับล่มอันตรายกี่ชิวตก็มี

ท่าที่เกาะเสม็ดและปากน้ำประแส นั้นขึ้นลงสะดวกกว่าระยอง เพราะมีเกาะเสม็ดและเกาะมันเป็นที่บังคลื่นลมได้ นอกจากนี้ยังมีคลองที่ออกทะเลอีก 4 คลอง คือ คลองท่าประดู่ คลองแกลง คลองปากน้ำประแส คลองพังลาด ทั้ง 4 คลองนี้ใช้เรือบรรทุกสินค้าเข้าออกได้ แต่เรือกลไฟเข้าไม่ได้เพราะตื้นไม่เหมือนแม่น้ำเจ้าพระยา

การอาชีพ มีการทํานา, ทําสวน, ไร่ถั่วลิสง, จับสัตว์น้ำ, หาของป่า, ทํากะปิ, ทําน้ำปลา, ปลูกผลไม้, ตัดไม้, การช่าง, ตั้งร้าน ค้าขาย, เลี้ยงสุกร, เวลานี้ราคาข้าวถูก ราษฎรเปลี่ยนจากการทํานาและการอย่างอื่นมาทําไร่ถั่วลิสงกันมาก เพราะลงแรงเท่ากับการทํานา แต่ขายได้เงินมากกว่าข้าว จังหวัดนี้มีช่างทำเรือน และช่างต่อเรือฝีมือดีพอใช้ การปลูกบ้านสร้างเรือนทํากันแต่ล้วนฝีมือคนไทยทั้งสิ้น แต่ก่อนนี้การต่อเรือขายมีปีละหลายสิบลำ แม้พ่อค้าที่กรุงเทพฯ ก็ยังเคยไปจ้างต่อรือบรรทุกสินค้าที่จังหวัดนี้เหมือนกัน

สินค้าพื้นเมือง มีข้าว, ไม้, ไต้, ชัน, น้ำมันยาง, กะปิ, น้ำปลา, ปลาสด, ปลาเค็ม, กุ้งแห้ง, หอยดอง, ผลไม้, พริกไทย, ยางพารารับเบอร์, หนังกระบือ, น้ำปลาระยองมีรสอร่อยดีกว่าที่อื่นมีชื่อเสียงมาก เพราะเจ้าของกระทำด้วยความสะอาดประณีต จึงเป็นเหตุให้รสชาติดีมีผู้นิยมทั่วไป ได้ส่งเข้ามาจําหน่ายกรุงเทพฯ ปีหนึ่งราว 3-4 พันไห

พลเมืองและรายได้ของรัฐบาล พลเมืองมีทั้งสิ้นประมาณ 60,000 คน และเป็นคนไทยโดยมาก มีแขกถือศาสนาอิสลาม และญวนถือศาสนาโรมันคาธอลิคบ้างเป็นส่วนน้อย นอกจากนี้เป็นคนต่างด้าวคือจีนและแขกปาทาน รายได้ของรัฐบาลซึ่งเก็บจากภาษีอากรและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ปีหนึ่งคงได้เป็นเงินประมาณ 200,000  บาทเศษ

การศึกษา ได้จัดตั้งเป็นโรงเรียนรัฐบาล 3 โรง มีนักเรียน 318 คน โรงเรียน ประชาบาล 40 โรง นักเรียน 3,967 คน โรงเรียนราษฎร์ 5 โรง มีนักเรียน 268 คน หลักสูตรที่เรียนตั้งไว้อย่างสูงเพียงมัธยมปีที่ 4 แต่ทราบว่าต่อไปจะขยายให้สูงขึ้นและโรง เรียนประชาบาลก็จะได้เปิดขึ้นอีกหลายตําบล ทั้งจะได้สอนวิชาอาชีพด้วย

การสาธารณสุข ได้เคยจัดเป็นสุขาภิบาลเมื่อ 12 ปีมาแล้ว แต่ได้เกิดไฟไหม้เมื่อ พ.ศ. 2463 จึงชะงักไปคราวหนึ่ง ครั้นมาปีนี้ก็ได้เริ่มจัดกันขึ้นอีกแล้ว เวลานี้มีแพทย์หลวงประจำท้องที่ 1 คน ผู้ช่วยหนึ่งคน ยังไม่เพียงพอกับพลเมืองที่มีอยู่ โรคไข้อื่นๆ มีเป็นบ้างเล็กๆ น้อย เว้นแต่โรคเรื้อนที่หมู่บ้านปากน้ำ และตลาดท่าประดู่ ออกจะมีหลายคนสักหน่อย ข้าพเจ้าเคยตั้งกระทู้ถามรัฐบาล รัฐบาลตอบว่า กำลังดำริจะป้องกันอยู่เหมือนกัน…”

 


ข้อมูลจาก

ปาฐกถาผู้แทนราษฎร เรื่องสภาพของจังหวัดต่างๆ. โรงพิมพ์ไทยเขษม. พระนคร, 2478.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2563