ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
รำกระทบไม้ “ลาวกระทบไม้” เป็นสิ่งซึ่งผู้คนโดยมากรับรู้ว่าเป็น การละเล่นพื้นบ้าน ที่พัฒนามาจากการละเล่นดั้งเดิมที่เรียกว่า “เต้นสาก” เป็นการละเล่นที่ต้องอาศัยจังหวะการ “กระทบไม้” นิยมเล่นกันช่วงว่างเว้นหลังฤดูเก็บเกี่ยวตามวิถีชาวนาไทยลาวสองฝั่งแม่น้ำโขง
ว่ากันว่าไทยนำ “เต้นสาก” ของลาวมาดัดแปลงคิดท่ารำใส่ดนตรีแล้วเรียก “ลาวกระทบไม้” แต่ยังอีกหลายชาติที่มีการละเล่นกระทบไม้อยู่ในวัฒนธรรมของตน
จึงมี “เรือมอันเร” หรือ “เขมรกระทบไม้” ของชาวเขมร, “แสกเต้นสาก” ของชาวแสก (ชนชาติหนึ่งในกลุ่มภาษาตระกูลไท-ลาว), “ม้าจกคอก” ของชาวไทใหญ่, “ตินิคลิ่ง” (Tinikling) หรือ “แบมบูแดนซ์” (Bamboo Dance) ของชาวฟิลิปปินส์ ฯลฯ รวมทั้ง “ติฮัว” หรือ “กะเหรี่ยงกระทบไม้” ของชาวกะเหรี่ยง
แต่การค้นคว้าของ องค์ บรรจุน เสนอว่า “กะเหรี่ยงกระทบไม้มาก่อนลาว”
ก่อนอื่นคงต้องรู้จักการละเล่นนี้เสียก่อน กรมศิลปากรระบุว่า “รำกระทบไม้” เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวสุรินทร์ (ก็น่าจะเป็นชาวเขมร) เดิมเรียกว่า “เต้นสาก” อันเป็นการละเล่นที่สอดคล้องกับอาชีพกสิกรรมการทำนาผลิตข้าวเป็นอาหารหลักและสินค้าออกที่สำคัญของไทย ด้วยนิสัยรักสนุก หลังว่างเว้นจากการทำนา จึงนำสากตำข้าวมากระทบกันเป็นจังหวะ พร้อมกับมีการละเล่นให้เข้ากัน ภายหลังกรมศิลปากรได้ศึกษาการละเล่นชนิดนี้และนำมาปรับปรุงจัดระเบียบแบบแผนอย่างค่อนข้างตายตัว
“ได้นำออกแสดงเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2500 เนื่องในงานแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมกับราชอาณาจักรลาว ในการปรับปรุงครั้งนั้น เนื่องจากบทร้องของเก่าไม่เหมาะสมที่จะรำได้สวยงาม กรมศิลปากรจึงได้ขอให้อาจารย์มนตรี ตราโมท แต่งบทร้อง และท่านผู้หญิงหม่อมแผ้ว สนิทวงศ์เสนีย์ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่…
การกระทบไม้ แต่เดิมวางไม้สากตามความยาว 2 อัน ให้ไม้หมอนรองหัวและท้ายไม้ทั้ง 2 ด้าน ปลายสากจะมีคน 2 คน จับปลายเพื่อกระทบกัน ภายหลังกรมศิลปากรปรับปรุงและจัดลำดับท่ารำให้เป็นระเบียบขึ้นแต่ยังคงรักษาเค้าแบบแผนเดิม โดยปรับปรุงเป็นไม้ไผ่ 2 ลำ ขนาดเท่ากันยาวประมาณ 2-4 เมตร และใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นหมอนวางรองทั้งสองปลาย ผู้กระทบนั่งกับพื้นจับปลายทั้งสองคนเพื่อจะได้ตีกระทบกัน”
ส่วนการ “กระทบไม้” ของวัฒนธรรมอื่นนั้น องค์ บรรจุน อธิบายเป็นตัวอย่างดังนี้
“เขมร-กระทบไม้” เป็นการละเล่นของชาวเขมรที่ต้องอาศัยจังหวะการ “กระทบไม้” มีที่มาจากการเล่นกระโดดสาก นิยมเล่นในช่วงสงกรานต์ เพื่อเฉลิมฉลองประเพณีสรงน้ำพระ เล่นกันเพียงปีละครั้งเท่านั้น เดิมเป็นการละเล่นในเชิงพิธีกรรม ต่อมาได้มีการประยุกต์คิดค้นท่ารำขึ้นให้เกิดความสวยงาม และเอาดนตรี “กันตรึม” บรรเลงประกอบเพื่อความสนุกสนาน แต่ยังคงแบบแผนเค้าโครงดั้งเดิม
“ฟิลิปปินส์-กระทบไม้” เป็นการละเล่นที่ต้องอาศัยจังหวะการ “กระทบไม้” การละเล่น/เต้นรำ ที่ชาวนาแสดงเลียนแบบนกติคลิ่ง (Tikling Birds) ขณะก้าวย่างไปตามทุ่งหญ้า เป็นการแสดงพื้นเมืองดั้งเดิมแถบหมู่เกาะมินดาเนา โดยเต้นรำบนไม้ไผ่ที่ผู้จับไม้ไผ่จะเคาะไม้ไผ่ทั้ง 2 อันกระทบพื้นและเคาะลำไม้ไผ่กระทบเข้าหากันเป็นจังหวะ ภายหลังจะรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้าผสมผสาน ชุดเครื่องแต่งกาย รูปแบบการเต้นรำ การสะบัดพัดและชายผ้าเพื่อสร้างความอ่อนช้อยพลิ้วพราย และดนตรีประกอบที่มีสีสัน
คราวนี้ก็มาถึง “กระเหรี่ยง-กระทบไม้” กันบ้าง
“กะเหรี่ยง-กระทบไม้” ถือเป็นการละเล่นที่ต้องอาศัยจังหวะการ “กระทบไม้” ในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า “ติฮัว” ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้เล่นและจำนวนไม้ไผ่เคาะจังหวะมากกว่าหลายชาติ มีการเคาะไม้พร้อมๆ กันหลายคู่ แต่เดิมการละเล่นชนิดนี้นิยมเล่นหลังจากว่างเว้นไร่นา ผู้หลักผู้ใหญ่จะเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เต้นรำเกี้ยวพาราสีกัน ล่าสุดได้มีการผนวกการละเล่นกระทบไม้เข้ากับการแสดงถักเชือก ประกอบวงดนตรีปี่พาทย์ ใช้ผู้แสดงรวมหลายสิบคน และเพิ่มการอธิบายความหมายในเชิงรักสามัคคี
การแสดงกระทบไม้เป็นการฝึกให้เด็กเยาวชนมีสมาธิ ความทรงจำดี และสร้างความพร้อมเพรียงในหมู่คณะ
กะเหรี่ยงเป็นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมบนพื้นที่สูงมาช้านาน นับเป็นชาติพันธุ์ผู้พิทักษ์ขุนเขา กระจายตามแนวตะเข็บชายแดนทั้งในประเทศไทยและพม่า แต่ไม่เคยมีอาณาจักรปกครองตนเอง มีสถานะเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แม้เคยมีสถาบันการปกครองอยู่บนผืนแผ่นดินไทยในจังหวัดกาญจนบุรี คือเมืองศรีสวัสดิ์ซึ่งเทียบขนาดและหน่วยปกครองแล้วเป็นเพียงระดับอำเภอ
ชาวกะเหรี่ยงได้รับเอาอิทธิพลวัฒนธรรมมอญด้านต่างๆ ที่มีความเจริญรุ่งเรืองในอดีตไว้มาก ทั้งด้านศาสนา ภาษา นาฏศิลป์ดนตรี และประเพณีพิธีกรรม แต่ในเวลาเดียวกัน วัฒนธรรมกะเหรี่ยงบางอย่างก็ได้ปะปนอยู่ในวัฒนธรรมมอญด้วย
ขณะที่มอญไม่มีการละเล่นกระทบไม้โดยตรง แต่ปรากฏสิ่งคล้ายกันซึ่งถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์โบราณ เป็นประเพณีที่มีมาแต่อดีตกาลอยู่ในวรรณคดีเรื่องราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 1830-49) รวมทั้งจารึกภาษามอญวัดโพธิ์ร้าง จารึกขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 1143 ที่ปรากฏคำว่า “โต้ง” หรือผู้อำนวยการพิธีรำผีซึ่งทำหน้าที่ผู้นำทางจิตวิญญาณมาแต่โบราณ [ขอไม่ลงรายละเอียดในส่วนนี้]
ในขั้นตอน “รำกะเหรี่ยง” โต้งจะแต่งตัวให้กับผู้รำผีในชุดกะเหรี่ยงโบราณ ใช้ผู้รำ 4-5 คน สวมเสื้อและผ้าถุงแบบกะเหรี่ยงรวมทั้งโพกศีรษะแบบกะเหรี่ยง มีผ้าคาดอกผืนหนึ่ง แล้วเชิญวิญญาณผีกะเหรี่ยงเข้าร่าง รำพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ตามขั้นตอน
นำสากตำข้าวขนาดยาว 2 อัน วางคู่กันบนขอนห่างกันพอประมาณ ผู้รำผีสองคนนั่งเคาะสากบนขอนเป็นจังหวะ ผู้รำผีอีก 3 คน ร่ายรำตามจังหวะและทำนองปี่พาทย์คล้ายพิธีกระโดดสากของเขมร หรือการละเล่นที่ต้องอาศัยจังหวะ “กระทบไม้” ของหลายชาติ
ข้างต้นคือคัมภีร์รำผีของมอญน้ำเค็ม ย่านสมุทรสาคร บางกระดี่ แต่หากเป็นคัมภีร์รำผีมอญของทางปทุมธานี ลพบุรี ในขั้นตอนการรำกะเหรี่ยงนี้ จะเป็นการเชิญผีกะเหรี่ยงมารักษาโรคด้วย โดยภายหลังจากเชิญผีมาเซ่นสรวงและรำกะเหรี่ยงแล้ว ผีกะเหรี่ยงก็จะทำพิธีรักษาคนป่วยเจ็บภายในตระกูล ด้วยการให้คนป่วยเจ็บนั่งลงบนสากตำข้าวทั้ง 2 แล้วผีกะเหรี่ยงก็จะทำการรักษาด้วยน้ำมนต์ สมุนไพร และอาคม ซึ่งสะท้อนสังคมในอดีตที่ผู้คนต่างชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยผ่านพิธีกรรมรำผีดังกล่าวมา
การแลกรับปรับเปลี่ยนในทางวัฒนธรรมนั้นปกติสามัญ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งปันพื้นที่ให้กับความบังเอิญไม่คาดคิด แม้ความเป็นไปได้อาจมีโอกาสเพียงหนึ่งในล้าน กรณีที่แต่ละชาติคิดการละเล่นกระทบไม้ขึ้นเองและคล้ายกันด้วยความบังเอิญ แต่ในกรณีนี้ เมื่อชนชาติเก่าแก่ของอุษาคเนย์กล่าวอ้างคัมภีร์รำผีมอญอายุหลายร้อยปีซึ่งบันทึกการละเล่นที่เรียกว่า “เล่ะฮ์กะเรียง” หรือ “รำกะเหรี่ยง” นี้ไว้
แล้วเหตุใดเราจะไม่ยกเครดิตชาติผู้สร้างสรรค์การละเล่นกระทบไม้ให้กับกะเหรี่ยง
อ่านเพิ่มเติม :
- “กะเหรี่ยง” เป็นใคร? มาจากไหน? มีความสัมพันธ์กับไทยอย่างไร?
- “กะเหรี่ยง” ชนเผ่านักเล่านิทาน เรื่องเล่าแสนเศร้าสะท้อนความไร้อำนาจของตนเอง
ข้อมูลจาก :
องค์ บรรจุน. “กะเหรี่ยงกระทบไม้มาก่อนเก่า ลาวกระทบทีหลัง”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2557.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563