ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2555 |
---|---|
ผู้เขียน | กาญจนี คำบุญรัตน์ |
เผยแพร่ |
ตำน้ำพริก ขูดมะพร้าว เป็นคุณสมบัติของกุลสตรีในสมัยก่อนจะต้องเรียนรู้และทำให้เป็น เสียงตำน้ำพริกและเสียงขูดมะพร้าวจะบอกถึงความสามารถของสตรีผู้นั้นว่าได้รับการสั่งสอนให้เป็นแม่บ้านแม่เรือนหรือเปล่า ถ้าได้ยินเสียง “ตำน้ำพริก ตำถี่จนทุ่งสะเทือน” เหมือนดังเพลงลูกทุ่งที่เคยได้ยินเขาร้องจากวิทยุแล้วละก็ ลูกสาวบ้านนั้นสมควรที่จะขอแต่งงานมาเป็นแม่บ้านแม่เรือนกันทีเดียว
เด็กผู้หญิงสมัยก่อน แม่จะสอนให้หุงข้าวต้มแกงมาตั้งแต่ตัวยังเล็กๆ เด็กผู้หญิงเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นเด็กบ้านนอก เป็นเด็กชนบทที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำทุกอย่างเพื่อเป็นการผ่อนแรงพ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงปากท้องในครอบครัว
การหุงข้าวต้มแกงเป็นเรื่องที่เด็กทุกคนจะต้องทำได้ไม่ถือเป็นเรื่องหนักหนา แต่การทำครัวในสมัยก่อน
ไม่ได้มีเครื่องทุ่นแรงเหมือนในสมัยนี้ ทุกอย่างต้องลงมือทำเองทั้งนั้น การหุงข้าว ตำน้ำพริก ขูดมะพร้าว แม่ต้องสอนให้ลูกเรียนรู้มาตั้งแต่เด็กว่าทำอย่างไร จึงจะเรียกว่าทำเป็น ไม่ใช่สักแต่ว่าทำไปให้พ้นมือไปวันๆ ทุกอย่างต้องมีวิธีการ จึงจะได้ชื่อว่าทำเป็น อย่างเช่น ตำน้ำพริกในครก เสียงตำต้องถี่สม่ำเสมอ และดังจนทุ่งสะเทือนเหมือนเนื้อเพลงที่เขาร้อง
ในสมัยก่อน ภาชนะที่ใช้หุงข้าวต้มแกงจะเป็นหม้อดินทั้งนั้น ทั้งหม้อข้าวและหม้อแกง หม้อข้าวจะเป็น
หม้อดินที่ไม่มีหูให้จับ มีฝาละมีปิดปาก มีเสวียนที่ทำด้วยกาบมะพร้าวที่ขดเป็นรูปกลมๆ มีหูยาวทำด้วยหวายขึ้นมาเสมอปากหม้อ 2 หู เพื่อรองรับเวลาจะรินน้ำข้าวออกจากหม้อ เวลารินน้ำข้าวจะต้องเอียงหม้อไปขัดกับรางรินน้ำข้าว ซึ่งทำด้วยไม้ 2 ซี่ใหญ่ๆ ให้น้ำข้าวไหลออกจากหม้อจนสะเด็ดน้ำ เมื่อรินน้ำข้าวจากหม้อสะเด็ดแล้ว ต้องเอาหม้อข้าวมาตั้งไฟอ่อนๆ หมุนไปรอบๆ ให้ทั่ว เราเรียกว่า “ดงข้าว” จนข้าวระอุทั่วกันทั้งหม้อ จึงหมดวิธีการหุงข้าว ยกลงมาตั้งบนเสวียนพร้อมกิน เวลาจะกินก็ใช้ทัพพี
ชาวบ้านเรียกสารพีที่ทำด้วยกะลามะพร้าวมีด้ามยาวทำด้วยไม้ รูปร่างหน้าตาเหมือนทัพพีที่ทำด้วยโลหะในปัจจุบัน ข้าวที่สุกอยู่ในหม้อพร้อมที่จะตักออกมากินด้วยทัพพี ชาวบ้านจะเรียกทัพพีว่ากระจ่าหรือจวัก
ถ้าอยู่ในเมือง หม้อข้าวจะเป็นหม้ออะลูมิเนียม (ชาวบ้านเรียกหม้อปีเนียม) มีหู 2 หู เวลาจะรินน้ำข้าว เมื่อยกลงมาปิดฝาให้สนิทจะใช้ “ไม้ขัดหม้อข้าว” สอดที่หูข้างหนึ่ง ผ่านรูที่กลางฝาหม้อไปยังหูอีกข้างหนึ่งของหม้อ แล้วตะแคงหม้อไปบนที่รินน้ำข้าวจนสะเด็ดน้ำ จึงยกขึ้นดงบนไฟอ่อนๆ ให้ระอุเช่นเดียวกับหม้อดิน (ไม้ขัดหม้อเป็นอาวุธที่แม่ใช้ตีลูกที่ไม่เชื่อฟังได้ เพราะใกล้มือ คว้าสะดวก)
การหุงข้าวที่ต้องรินน้ำข้าวออก ทั้งหม้อดินและหม้ออะลูมิเนียม เราเรียกว่า “หุงข้าวเช็ดน้ำ” จะได้น้ำข้าวที่รินออกแล้วใส่เกลือให้เค็มปะแล่มๆ (เค็มเล็กน้อย) ดื่มตอนเช้าแทนกาแฟ ในปัจจุบันจะเน้นเครื่องดื่มที่มีรสอร่อยเค็มๆ มันๆ ถ้าคนไม่กิน แม่บ้านก็จะเอาไปให้สุนัขที่เลี้ยงไว้กินแทนข้าวในตอนเช้า คนบางคนจึงเรียกน้ำข้าวที่รินออกว่า “กาแฟหมา”
ปัจจุบันคนสมัยใหม่ หุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้า สะดวกสบาย เพียงแค่ตวงข้าว ตวงน้ำให้ได้สัดส่วน แค่ใช้มือ
กดปุ่มแก๊กเดียว แล้วไปทำอะไรก็ได้ ถึงเวลาข้าวสุก ปุ่มก็จะเด้งขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ข้าวก็จะสุกพร้อมกินแสนสะดวกสบาย แต่คนจะไม่มีน้ำข้าวกินแทนกาแฟ และหมาก็จะไม่มีกาแฟหมาตอนเช้าเหมือนคนโบราณหุงข้าว
ศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในการหุงข้าว เริ่มตั้งแต่หม้อดิน เสวียน ดงข้าว รินน้ำข้าว ไม้ขัดหม้อ เด็กปัจจุบันไม่รู้จัก
กันแล้ว และจะให้มาหุงข้าวด้วยหม้อแบบเช็ดน้ำ ก็คงจะทำกันไม่เป็น แม้แต่เด็กในชนบท เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่มีเครื่องทุ่นแรงมากมาย สะดวกสบาย ทำให้มีเวลาว่างไปทำอย่างอื่นมากขึ้น วิธีการทำและภาชนะที่ทำแบบโบราณสมัยก่อนจะเลือนหายไปจากวิถีชีวิตของคนปัจจุบัน
การขูดมะพร้าว เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้ พ่อแม่ต้องสอนวิธีการขูดมะพร้าว ยิ่งเป็นเด็ก
ผู้หญิงต้องเรียนรู้ว่าขูดอย่างไรจึงจะได้เนื้อมะพร้าวหมดกะลา แค่การฟังเสียงขูดเท่านั้น คนก็จะรู้ว่าขูดเป็นหรือไม่เป็น การขูดเป็น หมายถึง เสียงการขูดจากกระต่ายต้องสม่ำเสมอเป็นจังหวะ และเนื้อมะพร้าวจะหมดกะลาโดยทั่วกัน ไม่เว้าๆ แหว่งๆ ซึ่งการขูดมะพร้าวจะเป็นศิลปะในการขูด ทำให้ได้เนื้อมะพร้าวมาก
คนที่ขูดเป็นจะขูดได้เร็ว ได้เนื้อมะพร้าวจากกะลาขาวสะอาด ไม่ขูดติดก้นกะลาจนเป็นสีดำปนลงมา วิธีการขูดต้องเริ่มจากริมกะลาแล้วหมุนไปรอบๆ ด้วยการขยับมือไปทีละน้อยจนหมดเนื้อมะพร้าว เนื้อมะพร้าวจะค่อยๆ หมดจากกะลา เสียงขูดมะพร้าวจากลูกสาวบ้านนี้จะบ่งบอกว่าควรจะสนใจมาสู่ขอเป็นสะใภ้บ้านตนดีหรือไม่ (ปัจจุบันไม่ต้องมานั่งขูดมะพร้าวให้เมื่อย มีมะพร้าวขูดด้วยเครื่องจักร คั้นหัวคั้นหางแยกน้ำกันเรียบร้อย)
นี่คือ การทดสอบจากการกระทำของสาวที่จะขอมาเป็นลูกสะใภ้ อันที่จริงแค่การตำน้ำพริก ขูดมะพร้าว มิใช่บ่งบอกว่าควรจะมาขอเป็นลูกสะใภ้หรือไม่ มันเป็นแค่ส่วนประกอบให้แน่ใจว่า ลูกสาวบ้านนี้มีพ่อแม่อบรมสั่งสอนให้รู้จักทำอะไรเป็น ซึ่งเป็นคุณสมบัติของลูกผู้หญิงที่ควรจะทำได้ และยังต้องดูอย่างอื่นประกอบกันอีกด้วย
การวัดคุณสมบัติแค่ ตำน้ำพริก ขูดมะพร้าว คงหาสาวมาเป็นลูกสะใภ้ได้ยากมาก เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เจริญก้าวหน้าไปมากจนคนแก่ๆ ตามไม่ทัน ไม่มีสาวที่ไหนจะมานั่งตำน้ำพริก ขูดมะพร้าวให้ได้ยินอีกแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเครื่องจักรกล ไม่ว่าจะทำอะไร
ฉะนั้น การหาคู่ครองให้ลูก เป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ปล่อยให้เขาจัดการดูแล เลือกคู่ด้วยตัวของเขาเองเป็นดีที่สุด คนแก่เพียงตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมความดี ก็คงจะได้ลูกสะใภ้ที่เป็นคนดีมาเคียงคู่กับลูกชายสมดังความมุ่งหมาย
การขูดมะพร้าวเป็นวิธีการอย่างหนึ่งของคนสมัยก่อนที่ต้องขูดมะพร้าวด้วยมือ โดยทำเครื่องขูดเป็นรูปกระต่าย มีฟันเป็นซี่ถี่ๆ คมๆ เหมือนฟันกระต่ายยื่นออกมา มีที่นั่งสำหรับคนไปนั่งบนที่ขูด บางคนทำเป็นตัวกระต่ายตัวโต บางคนก็ทำแค่เป็นที่นั่งแล้วมีฟันยื่นออกมาสำหรับขูด ก็จะขูดมะพร้าวได้ มะพร้าวเป็นสิ่งจำเป็นในการจะทำแกงต่างๆ หรือทำขนมต่างๆ ที่เข้ากะทิ เมื่อสมัยก่อนจะขูดมะพร้าวด้วยมือกันทั้งนั้นแล้วจึงเอามาคั้นเป็นกะทิ
คนโบราณจะมีคำพูดที่คล้องจองกัน เช่น หุงข้าวต้มแกง เมื่อหุงข้าวเป็นแล้ว จะต้องทำกับข้าวคือ “ต้มแกง” เป็นอีกด้วย
การต้มแกง เป็นการทำกับข้าวที่ต้องกินกับข้าวที่หุงสุกแล้ว ภาชนะที่ใช้ต้มแกงในชนบทจะเป็นหม้อดินที่ปากกว้าง มีหู ๒ หู สำหรับใช้มือจับได้ เวลาตั้งอยู่บนเตาไฟประกอบการต้มหรือการแกงจะคนน้ำแกงด้วย “กระจ่า” หรือบางพื้นที่จะเรียกว่า “จวัก” กระจ่าหรือจวัก จะทำด้วยกะลามะพร้าวเป็นรูปกลมมนค่อนข้างเรียวใช้สำหรับตักต้มตักแกงจากหม้อ
จวักหรือกระจ่าที่ใช้ตักแกงจะมีคนนำไปเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ทำหน้างอไม่พอใจว่า “หน้างอเหมือนตะหวัก (จวัก)” และคำเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่งคือ “เหมือนจวักตักข้าว ห่อนรู้รสแกง” ซึ่งหมายความว่า แม้จะเป็นจวักตักแกงอยู่ในหม้อแกง แต่ไม่อาจรู้รสของแกงเลย เปรียบเหมือนคนเลวแม้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีก็ไม่อาจเป็นคนดีได้
และถ้าผู้หญิงมีความสามารถทำอาหารได้อร่อยเป็นที่เลื่องลือ เขาจะยกย่องให้เป็นคนเก่ง เป็นคนมีฝีมือในการทำอาหาร จึงได้ชื่อว่าเป็นคนมีเสน่ห์คือ “เสน่ห์ปลายจวัก”
อ่านเพิ่มเติม :
- “ฝักเพกา” ผักอันมีรสเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จิ้มน้ำพริกแล้วช่างเลิศ
- ทำไมเรียก “น้ำพริกลงเรือ” และที่มาของชื่ออันเป็นอาหารชาววังโดยไม่ตั้งใจ
- น้ำพริกผัด-น้ำพริกเผา ฉบับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ และความเข้าใจผิดเรื่องรสน้ำพริกเผาในต้มยำ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2562