ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
แก่นของ “เนื้อ-นม-ไข่” จากรัฐนิยมในนโยบายเรื่องการกิน อาหาร สมัย รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
“เนื้อ-นม-ไข่” อาหาร ที่กินกันจนคุ้นเคย ยิ่งปัจจุบันหลายครั้งที่หลายคนเลือกการกินอาหารดังกล่าวแทนข้าวที่เป็นอาหารจานหลักในแต่ละมื้อก็มี แต่นั่นไม่ใช่พฤติกรรมการกินในอดีตของไทย แม้อาหารดังกล่าวจะเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาในครัวเรือน แต่ “ปริมาณ” ที่กินกลับไม่มากนัก
รัฐบาล จอมพล ป. จึงมีการส่งเสริมสนับสนุนให้กินเนื้อ นม และไข่ เพิ่มขึ้น ด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงประโยชน์ของอาหารดังกล่าวผ่านกองอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนั้นทำงานเผยแพร่ โฆษณาความรู้เรื่องการบริโภคตามหลักวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนชน
นายแพทย์ยงค์ ชุติมา หัวหน้ากองอาหารและยา ในเวลานั้น จึงได้เขียนบทบรรยายเกี่ยวกับ อาหาร ชนิดต่างๆ และการบริโภคที่ถูกสุขลักษณะเผยแพร่เป็นจำนวนมาก เผยแพร่ผ่านช่องทางหลักอย่าง “วิทยุกระจายเสียง” ซึ่งสรุปได้ดังนี้
เนื้อ
นพ. ยงค์ บรรยายทางวิทยุกระจายเสียงเรื่อง “การบริโภคเนื้อสัตว์” ว่า เนื้อสัตว์ไม่ได้จำกัดเพียงเนื้อหมู และเนื้อวัว แต่ยังหมายถึงเนื้อของสัตว์บกและสัตว์น้ำอื่น เช่น เป็ด, ไก่, ควาย, นก, หนู, ปู ,หอย,เต่า, กบ, กุ้ง, ปลา ฯลฯ และคนไทยรู้จักบริโภคเนื้อสัตว์โดยทั่วไป
แต่ปริมาณที่บริโภคเนื้อสัตว์ของคนไทยยังไม่เพียง นพ.ยงค์ กล่าวว่า “ปัญหาอยู่มีอยู่ว่าทำไมเราจึงกินเนื้อสัตว์น้อยเกินไป ทั้งนี้เพราะขนบธรรมเนียมประเพณีสืบเนื่องมาแต่โบราณว่า เนื้อสัตว์ต่างๆ นั้นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นแก่ร่างกาย ซ้ำยังเป็นพิษ หรือเป็นของแสลงอีกด้วย” [เน้นโดยผู้เขียน]
โดยอธิบายถึงคุณค่าของ อาหาร ประเภทเนื้อสัตว์ว่า ทำให้จิตใจสมบูรณ์ แจ่มใส สดชื่นอยู่เสมอ, ช่วยซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดสึกหรอของร่างกายให้คืนสู่ภาวะปกติ, มีไวตามิน บี 2 ซึ่งมีประโยชน์บำรุงอนามัย และป้องกันมิให้แก่เร็ว, มีเกลือที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจำเป็นในการสร้างโลหิต เป็นต้น
นม
ในเวลานั้นคนไทยบริโภคเป็น “ของกินเล่น” เช่น จะกินนมเมื่อนำมาผสมในกาแฟ หรือไม่ถูกต้อง เช่น การละลายนมข้นหวานให้ทารกบริโภค
นายแพทย์ยงค์กล่าวว่า “นมข้นหวานซึ่งต่างประเทสส่งเข้ามาจําหน่ายและโคสนาไห้ใช้เลี้ยงทารก ข้าพเจ้าขอแถลง ว่าไนต่างประเทส เช่น สหรัถอเมริกาเป็นต้น แทบจะไม่มีนมชนิดนี้จําหน่ายเลย เขาทํา ขึ้นเพื่อส่งมาจําหน่ายให้เราชาวเอเชียเท่านั้น แต่เขาเองกินน้ำนมสด และเลี้ยงเด็กด้วย น้ำนมสด
ข้าพเจ้าเคยถามแม่บ้านผู้หนึ่งในสหรัถอเมริกา ว่าทําไมจึงไม่นำนมข้นหวาน มาผสมกาแฟกิน แม่บ้านหัวเราะและตอบว่า เมื่อของดีๆ สดๆ มีอยู่แล้วจะไปกินของค้างทําไมกัน
ทั้งนี้ข้าพเจ้ามิได้เป็นชวนให้รังเกียจนมข้นหวานประการได เพียงแต่ขอให้ท่านเข้าไจสถานะอันแท้จิงของนมข้นหวานว่าเป็นเสสนมผสมน้ำตาลเท่านั้น ฉนั้นหากไม่จําเป็นแล้วก็ควนจะไช้นมสดจากสัตว์ที่รีดไหม่ๆ จะดีกว่ามาก
นมข้นหวานที่นิยมกันในประเทสไทยมากก็เนื่องมาจากเก็บไว้ได้นาน และขนส่งสดวก ฉนั้นน้ำนม ชนิดนี้จึงควรจะเหมาะสําหรับใช้เดินทางมากกว่าอื่น การที่นมนี้แพร่หลายนั้นเป็นผลอันเนื่องมาจากการโคสนามากกว่าคุนภาพที่แท้จิง…หากจะจำเปนต้องไช้นมข้นหวานจิงๆ แล้วก็ขอแนะนำไห้ไช้เป็นเครื่องชูรส สำหรับผสมกาแฟน้ำชา…” [เน้นโดยผู้เขียน]
ส่วนนมที่ควรบริโภค ได้แก่ นมแม่ (สำหรับทารก), นมแพะ, นมวัว, นมควาย และนมถั่วเหลือง สำหรับทารกนอกจากนมแม่แล้ว นมแพะยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งรองลง เพราะย่อยง่ายกว่านมวัว และแพะเป็นสัตว์ที่ปราศจากวัณโรค ซึ่งนมสดจากสัตว์ทั้งหมดต้องต้มให้เดือดก่อนบริโภค
บทบรรยายของนายแพทย์ยงค์ยังว่า “เทศบาลทุกแห่งน่าจะพิจารนาไนเรื่องรัดนมสัตว์จำหน่ายไห้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน จนไม่ต้องพึ่งนมจากต่างประเทศ ถ้าทำเช่นนี้ได้แล้วชาติไทยเราจะมีอนามันและส่วนสัดดีกว่าบัดนี้มาก…
ในการไช้นมสดของสัตว์เป็นอาหานแถมพกไห้ทารกนี้ ทางโรงพยาบาลกลาง และนายแพทย์มงคลสมัย แห่งสิริราชพยาบาล ได้ทดลองใช้นมวัวสด ซึ่งรีดไนพระนครเพื่อไช้เป็นอาหารทารก ปรากดว่าได้ผลดีมาก และดีกว่าการไช้นมข้นหวาน หรือแป้งนมของต่างประเทส…”
ไข่
ปัจจุบันที่เรายังถกเถียงกันว่า “วันหนึ่งกินไข่ได้กี่ฟอง” แต่ในปี 2485 นั้น นายแพทย์ยงค์เสนอว่า “คนไทยทุกคนควนบริโภคไข่ไห้ทุกวันได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยเติบโต โปรดอย่าลืมส้างสมพละร่างกายและสติปัญญาของท่าด้วยการกินไข่ทุกวัน วันละ 1ฟองต่อ 1 คนเพื่ออนามัย”
สำหรับเรื่องไข่นี้ นอกจากประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้กระทรวงเกษตราธิการจัดตั้ง “องค์การผลิตและจำหน่ายไข่”
ชาติชาย มุกสง ค้นคว้าจากเอกสารชั้นต้น และเรียบเรียงเรื่องนี้ไว้ว่า
วันที่ 6 ตุลาคม 2485 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้กระทรวงเกษตราธิการจัดตั้ง “องค์การผลิตและจำหน่ายไข่” อีกด้วย โดยให้เหตุผลว่า
“ด้วยเปนที่ซาบกันทั่วไปว่า ไข่เป็ดและไข่ไก่เป็นอาหานสําคัน หย่างหนึ่งของประชาชน หากได้บริโภคกันเสมอและทั่วถึงกันแล้ว ย่อมจะเปนการช่วยบํารุงอนามัยของประชาชนได้เป็นหย่างดี แต่ตามสภาพการณ์ที่เปนหยู่ในปัจจุบัน ไข่เป็ดและไข่ไก่มีจํานวนไม่เพียงพอ แก่การบริโภคและการซื้อหาไม่สดวก ประกอบกับราคายังสูงหยู่ อันเปนเหตุให้ประชาชนไม่ใคร่ได้บริโภคกันหย่างแพร่หลาย
ฉนั้นจึงเปนการสมควนที่รัถบาลจะจัดตั้งองค์การขึ้นทําการผลิต และจําหน่ายไข่เป็ดและไข่ไก่ให้มีปริมานเพิ่มมากขึ้น จนเปนการเพียง พอแก่ความต้องการของประชาชน”
วันที่ 10 ตุลาคม 2485 องค์การดังกล่าวก็จัดขึ้นในรูปบริษัทกึ่งราชการ ทำหน้าที่จำหน่ายไข่เป็ดและไข่ไก่ ส่วนการผลิตมอบหมายให้สถานีทดลองเกษตรกลางบางเขนทำการ ซึ่งนั่นเป็นผลเกิดการส่งเสริมการเลี้ยงไก่, เป็ด เพื่อการบริโภคไข่อย่างกว้างขวาง จนถึงปี 2491 ไข่จึงเป็นสินค้าจำเป็นแก่การครองชีพของประชาชน
สำหรับเรื่องการบริโภคแล้ว เนื้อ-นม-ไข่ ก็เป็นอีกหนึ่งรัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
อ่านเพิ่มเติม :
- ไทม์ไลน์ [บางส่วน] ของก๋วยเตี๋ยว ในวาระแห่งชาติของจอมพล ป.
- ทีเด็ด “ก๋วยเตี๋ยว 8 สูตร” ยุคจอมพล ป. ต่างจากปัจจุบันอย่างไร มี “ก๋วยเตี๋ยวไบกาน้า-ผัดกะทิ”?
- ไอเดียจอมพล ป. ให้เลี้ยงเป็ด-ไก่ ไว้กินไข่ ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ดันไข่สู่ “อาหารจำเป็น”?
อ้างอิง :
ยงค์ ชุติมา. ประมวลบทความของนายแพทย์ยงค์ ชุติมา ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนายแพทย์ยงค์ ชุติมา ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 8 สิงหาคม 2507
ชาติชาย มุกสง. “2475 กับการปฏิวัติรสชาติอาหาร: จากการกินเพื่ออยู่สู่การกินเพื่อชาติ และการต่อสู้ทางวัฒนธรรมของรสชาติในสังคมไทยร่วมสมัย” ใน, จาก 100 ปี ร.ศ. 130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย, สถาบันนโยบายการศึกษา 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2563