ไทม์ไลน์ [บางส่วน] ของก๋วยเตี๋ยว ในวาระแห่งชาติของจอมพล ป.

ก๋วยเตี๋ยว

“ก๋วยเตี๋ยว” เป็นอาหารของจีนที่คุ้นเคยใกล้ชิดกับคนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ก๋วยเตี๋ยวก็เหมือนของอื่นๆ ที่นอกจากหน้าที่หลักของมัน ที่เป็นอาหารของคนกิน เป็นอาชีพของคนขาย ก๋วยเตี๋ยวยังมีบทบาทรองๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง, วัฒนธรรม ฯลฯ อีกด้วย

ดังที่ ผศ. ดร. ชาติชาย มุกสง จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวไว้ใน “ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยไม่ใช่นวัตกรรมอาหารสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม : แต่ทั้ง “ผัด” ทั้ง “ไทย” ที่ถูกสร้างใส่ไว้ในสำรับอาหารชาติ (ไทย) นิยม” (ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2565) เกี่ยวกับก๋วยเตี๋ยว ที่เป็น “วาระแห่งชาติ” ของรัฐบาลจอมพล ป. ที่พอจะไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้

7 พฤศจิกายน 2485  

จอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวปราศรัยทางวิทยุชักชวนให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยว ในฐานะอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำง่าย และอร่อย ทั้งพยายามเชื่อมโยงถึงการหมุนเวียนของระบบการเงิน เพราะก๋วยเตี๋ยวต้องใช้เนื้อสัตว์, ผัก, ฯลฯ เป็นส่วนประกอบในการปรุง ก๋วยเตี๋ยวจึงช่วยสร้างรายได้แก่คนหลากหลายอาชีพ

8 พฤศจิกายน 2485

นายมั่น-ผู้ดำเนินรายวิทยุขณะนั้น พูดออกในรายการของเขา เน้นย้ำและสนับสนุนเรื่องการกินก๋วยเตี๋ยวของรัฐบาล

9 พฤศจิกายน 2485  

นายกรัฐมนตรีพูดชักชวนให้ อธิบดี ครู อาจารย์ใหญ่ ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอให้จัดการขายก๋วยเตี๋ยวคนละ 1 หาบ ซึ่งสร้างความสับสนกันพอควร

12 พฤศจิกายน 2485

รัฐบาลมีหนังสือมอบหมายให้ กรมประชาสงเคราะห์ ที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงสาธารณสุข อำนวยการเรื่อง “ก๋วยตี๋ยว” แทนนายกรัฐมนตรี

13 พฤศจิกายน 2485

รายการวิทยุของนายมั่น ที่โฆษณาถึงก๋วยเตี๋ยวอย่างเอิกเกริกมาตลอด กล่าวถึงก๋วยเตี๋ยวที่แสดงวิธีปรุง “ผัดอย่างไทย” แต่ไม่ใช่ตำรับผัดไทยในปัจจุบัน แต่คงจะเรียกพวกก๋วยเตี๋ยวผัดถั่วงอกและผัดกะทิว่าผัดอย่างไทยให้ต่างจากผัดอย่างจีนที่ชื่อบอกอยู่แล้วเช่นว่าผัดกวางตุ้ง

17 พฤศจิกายน 2485

รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการเรื่องก๋วยเตี๋ยวขึ้นและมีการประชุมกันในวันนี้  ในที่ประชุมมีการตกลงในหลักการ จะให้แต่ละหน่วยราชการจัดให้มีคนไทยไปขายก๋วยเตี๋ยวในหน่วยงานราชการ หรือให้กรมประชาสงเคราะห์จัดหามาให้ก็ได้ รวมทั้งให้กรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์การขาย วัตถุดิบ เครื่องปรุง รถเข็นขาย เพราะคนไทยไม่ชอบหาบเร่ และยังให้มีการแต่งกายเหมือนกันตามแบบของกองสาธารณสุขเทศบาลกรุงเทพฯ ด้วย

27 พฤศจิกายน 2485

นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งไปยังคณะกรมการอำเภอ ขอให้พยายามจัดการให้มีการขายก๋วยเตี๋ยวกันขึ้นให้ทั่วทุกอำเภอ และจะเป็นการดียิ่งหากการขายก๋วยเตี๋ยวตำบลละ 1 หาบ ทั้งนี้ก่อนการมอบหมายของนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งให้ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอจัดให้มีการขายก๋วยเตี๋ยวขึ้น 1 หาบทุกอำเภอ

หลังหน่วยงานราชการส่งเสริมการขายก๋วยเตี๋ยว เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี

23 กันยายน 2486

กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขสอบถามถึงการดำเนินงานและใช้จ่ายเงินช่วยเหลือในการขายก๋วยเตี๋ยว กรมประชาสงเคราะห์จึงทำรายงานชี้แจงการดำเนินงานขายก๋วยเตี๋ยว ว่ามีคนไทยเข้าร่วมขายก๋วยเตี๋ยวจำนวนทั้งสิ้น 278 ราย แต่เลิกขายไป 53 ราย เมื่อรายงานดังกล่าวไปถึงนายกรัฐมนตรีก็สั่งให้ทางกระทรวงสาธารณสุขไปฟื้นฟูการขายก๋วยเตี๋ยวขึ้นมาใหม่

ประชุมปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงเสนอแผนฟื้นฟูการขายก๋วยเตี๋ยว โดยดำเนินงานขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนับสนุนวัตถุดิบ, การให้ทุนแก่ผู้ค้าที่ตั้งใจจริงกู้ยืม, การเสนอให้สงวนอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวไว้เฉพาะคนไทย ฯลฯ ก่อนจะส่งแผนฟื้นฟูดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

ที่กล่าวนั้นเป็นเพียงมาตรการบางส่วนของภาครัฐ นอกจากนี้ในส่วนของเอกชน “ก๋วยเตี๋ยว” ก็ยังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ เช่น หนังสือพิมพ์นิกรฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2485 น. 4-5 และ 7 คอลัมน์ “การทำและปรุงก๋วยเตี๋ยว” (ดูหนังสือพิมพ์นิกร) ได้ให้รายละเอียดประเภทของก๋วยเตี๋ยวที่กรมประชาสงเคราะห์ให้การสนับสนุนให้คนไทยขายอย่างจริงจังอยู่นั้นว่ามี 8 ชนิด (ก๋วยเตี๋ยวแห้ง, ก๋วยเตี๋ยวน้ำ, ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว, ก๋วยเตี๋ยวไก่, ก๋วยเตี๋ยวปูทะเล, ก๋วยเตี๋ยวผัดถั่วงอก, ก๋วยเตี๋ยวกวางตุ้งหรือก๋วยเตี๋ยวผัดใบคะน้า, ก๋วยเตี๋ยวผัดกะทิ)

ถึงตรงนี้คงต้องแปลกใจ จากนโยบาย 1 อำเภอ 1 หาบก๋วยเตี๋ยวในอดีต วันนี้ก๋วยเตี๋ยวจึงกระจายทั่วถึงทุกโต๊ะอาหารของคนไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน 2565