จากเสียงระนาด “หนวกหู” กลายเป็นเพลงอมตะ “เขมรไทรโยค”

น้ำตก ไทรโยค กาญจนบุรี เขมรไทรโยค
น้ำตกไทรโยค จ.กาญจนบุรี ถ่ายเมื่อ 2528

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” กับเพลงอมตะอย่าง “เขมรไทรโยค”

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” นอกจากจะโปรดงานช่างแล้ว ยังทรงสนพระทัยด้านดนตรีอีกด้วย เมื่อครั้งที่พระองค์ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสน้ำตกไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีนั้น พระองค์กำลังโปรดการเล่นดนตรีปี่พาทย์ โดยเฉพาะ “ระนาดเอก”

กรมพระยานริศฯ ขณะนั้นมีพระชันษาประมาณ 14 ปี ทรงม้วนผืนระนาดนำติดพระองค์ใส่เรือมาด้วย เวลามีพระประสงค์จะทรงเล่น ก็จะทรงคลี่ผืนระนาดผูกกับกาบเรือแทนรางระนาด เป็นเช่นนี้อยู่เสมอ ๆ ด้วยทรงกำลังหัดเล่น และระนาดที่ตีก็ไม่มีรางระนาด เสียงระนาดจึงไม่ชวนฟังนัก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา จึงมีพระดำรัสว่า

“…องค์จิตร [พระนามเดิมของ กรมพระยานริศฯ] นี่แปลก ตีระนาดหนวกหูพิลึก…”

ครั้งนั้นนอกจากทรงตีระนาดแล้ว ยังทรงเก็บ “ความทรงจำ” ในทัศนียภาพงดงามของน้ำตกไทรโยคท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้นานาชนิด และเสียงร้องของสัตว์ป่าตามธรรมชาติ ที่ประทับอยู่ในพระทัยไม่เคยลืมเลือน แต่ด้วยทรงมีงานราชการที่ทรงได้รับมอบหมาย ตั้งแต่การคิดออกแบบ การดำเนินการก่อสร้างที่ทรงควบคุมดูแล และการตั้งงบประมาณเบิกจ่ายจากกระทรวงการคลัง ด้วยความพิถีพิถัน ความรอบครอบในทุกงานที่ทรงปฏิบัติ จึงทรงไม่มีเวลาในเรื่องของดนตรี

แล้ววันหนึ่งความประทับที่ทรงเก็บไว้เป็นเวลาถึง 10 ปี ในคราวตามเสด็จฯ น้ำตกไทรโยค กับเสียง “หนวกหู” จากระนาดของกรมพระยานริศฯ ก็กลายเป็นเพลง “เขมรไทรโยค” ที่ทรงนำทำนองเพลงเขมรกล่อมลูก 2 ชั้นของเก่ามาเป็นหลัก แล้วทรงแต่งขยายทำนองขึ้นเป็นอัตรา 3 ชั้น เพลงไพเราะที่อมตะ ที่ผ่านวันเวลามาร้อยกว่าปี [อาจารย์มนตรี ตราโมท ว่ากรมพระยานริศฯ ยังคงใช้ชื่อเพลง “เขมรกล่อมลูก” มาเพี้ยนเป็น “เขมรไทรโยค” ภายหลัง และเป็นที่รู้จักกว้างขวาง] ส่วนคําร้องทรงพระนิพนธ์ว่า

บรรยายยามตามแห่เสด็จยาตร   ยังไทรโยคประพาสพนาสณฑ์

น้องเอยเจ้าไม่เคยเห็น   ไม้ไล่หลายพรรค์คละขึ้นปะปน

ที่ชายชลเขาชะโงกเป็นโตรกธาร   น้ำพุพุ่งส้าเสียงฉ่าฉาดฉาน

เห็นตระการมันไหลคะโครมโครม   มันไหลจ็อกจ็อกจ็อกจ็อกคะโครมโครม

น้ำไหลใจนดูหมู่มัศยา   กี่เหล่าหลายว่ายมาก็เห็นโฉม

น้องเอยเจ้าไม่เคยเห็น   ยินปักษาซ้องเสียงพียงประโคม

ในยามเย็นพยับโพยมร้องเรียกรัง   ฝูงนกยูงทองเสียงร้องโด่งดัง

หูเราฟังมันดังกะโต้งโฮง   มันดังกอกกอกกอกกอกกะโต๊งโฮง

นับแต่อดีตจนปัจจุบันเพลง เขมรไทรโยค ได้รับความนิยมและมีการนําไปใช้และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย เช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้นําเพลงเขมรไทรโยคมาประกอบบทละครเรื่อง พระยศเกตุ และใน พ.ศ. 2491 หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) นำเพลงเขมรไทรโยคมาขยายเป็นเพลง 6 ชั้น แล้วตัดทอนลงมาเป็นเถา มีทำนองรองรับทั้ง 4 ชั้น 3 ชั้น 2 ชั้น และชั้นเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “ ‘เพลงเขมรไทรโยค’ อมตะพระนิพนธ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ‘นักดนตรีใหญ่แห่งกรุงสยาม’”ใน, ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2562

มนตรี ตราโมท. “100 ปี เพลงเขมรไทรโยค” ใน, ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2531


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 เมษายน 2563