“ขวาก-ลูกมะพร้าว” เครื่องมือพิชิตลิง จากดักวิธีธรรมชาติ ถึงขั้นรุนแรงแบบสุสานความซน

กับดักสัตว์ ลิง ขวากดักลิง
ภาพลายเส้นการใช้งานขวากดักลิง โดย วิทยา รัดกุม (จาก ศิลปวัฒนธรรม ก.พ. 2551)

ขวากดักลิง ลูกมะพร้าวดักลิง เครื่องมือพิชิตลิง จากดักวิธีธรรมชาติ ถึงขั้นรุนแรงแบบสุสานความซน

ผู้ที่ห่างไกลจากชีวิตบ้านป่าจะไม่คาดคิดว่า มีเครื่องมือดักลิง เครื่องมือดักลิงมีอย่างหลากหลายตามจุดประสงค์ที่ดักลิง

เครื่องมือดักลิงมีต้นเหตุเหมือนกันคือ ดักลิงที่มากินพืชผลของชาวบ้าน ส่วนที่แตกต่างกันคือจุดหมายปลายทางการใช้เครื่องมือ ได้แก่ เครื่องมือดักเพื่อจับลิงอย่างไม่บอบช้ำ เพราะตั้งใจนำมาเลี้ยง เครื่องมือมีความแหลมและกักลิงในทำนองของการดัดนิสัย และเครื่องมือที่มีความรุนแรง เปรียบดังสุสานแห่งความซน

ระดับความรุนแรงสัมพันธ์กับการลงทุนประดิษฐ์เครื่องมือ อาทิ การใช้ลูกมะพร้าวดักลิง ซึ่งเป็นธรรมชาติและใกล้ตัวลิงมาก การใช้กระบอกดักลิงที่เพิ่มงาแหลมทำให้ลิงดึงมือออกไม่ได้และบอบช้ำพอควร นอกจากนี้ ยังมีกรงดักลิงซึ่งกักลิงทั้งตัว และเครื่องมือที่ดักลิงแน่นอนรุนแรงที่สุดคือขวากนี่เอง

ขวากดักลิง ใช้ดักลิงซึ่งเป็นสัตว์ปีนป่ายโดยเฉพาะ กลไกหลักคือขวากที่เป็นไม้เสี้ยมปลายแหลม ส่วนกลไกเสริมคือคันไม้ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ขวากทำให้ลิงตัวหนึ่งตาย และทำให้ตัวอื่นหนีไกล

หากไม่ใช้ขวาก เครื่องมือประเภทขู่ขวัญที่พบบ่อยคือยิงปืนไล่ แต่ยิงได้พักเดียวลิงจะกลับมารบกวนพืชไร่อีก ทั้งนี้เพราะไม่ได้ยิงตัวลิง ขวากจึงทั้งปราบทั้งปรามครั้งเดียวจบ

การใช้ขวากดักลิง ใช้ไม้ไผ่เป็นหลัก มักใช้ไม้รวกเพราะมีความคม นำไม้รวกมาเหลาเป็นไม้เรียวสั้น ยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร เหลาเสี้ยมให้ปลายแหลมทั้งด้านบนและด้านล่าง ขวากที่ใช้ได้ผลดีต้องเหลาปลายต่อมาจากข้อเพราะจะหักได้ยาก

การเตรียมขวากครั้งหนึ่งต้องทำไว้เป็นอย่างน้อย 10 อัน ที่ได้ผลดีคือ 20 อัน ตอกขวากเรียงห่างกันเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางวงขวากประมาณ 1 เมตร ในวงขวากก็ตอกขวากกระจายไปทั่ว

เมื่อวางขวากเสร็จแล้วให้นำใบไม้มาคลุมวงขวากไว้เพื่อพรางตาลิง แล้วนำไม้ไผ่ยาว 1 ลำ มาเป็นคันไม้ ที่ปลายไม้ทำรอยหยักไว้ใช้ผูกเชือกที่มัดกล้วย หรือเหยื่ออาหารไว้ ถัดจากปลายไม้ลงมาสัก 1 ข้อไม้ไผ่ ให้บากหรือคว้านเนื้อไม้ไผ้จนเป็นเว้า ทำต่อกันแต่อยู่ด้านบนอันหนึ่งกับด้านล่างอันหนึ่ง การทำอย่างนี้ทำให้เนื้อไม้ตรงกลางที่เชื่อมรอยเว้าทั้งสองฉีกขาดได้ง่ายเมื่อถูกแรงกดของลิง ส่วนโคนของไม้ไผ่ปักดินแนวทแยง โดยใช้ไม้ไผ่ท่อนสั้นมามัด หรือช่วยค้ำไว้

เครื่องมือชุดนี้ต้องเตรียมให้เสร็จตอนกลางคืน เพื่อดักลิงตอนกลางวัน เมื่อลิงเห็นเหยื่อที่ปลายไม้จะปีนขึ้นไปกินผลไม้ น้ำหนักตัวของลิงทำให้ปลายไม้ถูกกดต่ำลง ปลายไม้จึงจ่ออยู่ใกล้ขวาก เมื่อลิงปีนผ่านรอยเว้าอันบน ไม้จะฉีกออกจนหัก ทำให้ลิงตกลงไปบนขวากแหลมทันที

ในกรณีที่เว้าไม้ทำงานพลาด ลิงจะปีนไปถึงปลายไม้ เมื่อลิงรั้งเชือกเพื่อหยิบเหยื่อ เชือกจะขาดเพราะรับน้ำหนักลิงไม่ได้ ทำให้ลิงตกไปบนขวากเช่นกัน

การที่ไม้ฉีกทำให้ลิงตายแน่กว่าเชือกขาด เพราะลิงตกจากที่สูงกว่า แต่กรณีเชือกขาดทำให้ไม่ต้องทำคันไม้ใหม่

ลิงที่ถูกจัดการด้วยขวากมักเป็นลิงจ่าฝูง ซึ่งนำกิน นำเคลื่อนที่ เมื่อไม่มีจ่าฝูง ลิงจะแตกตื่นแตกฝูง และเมื่อเห็นเหตุการณ์ต่อหน้าลิงจะหนีไปจากบริเวณนี้ในที่สุด

บางครั้งลิงไล่กันมาหลายตัว ปีนขึ้นคันไม้ไปด้วยกัน ทำให้ตกขวากคราวละหลายตัวก็มี

การใช้ขวากไม่ทำลายสัตว์อื่น ในกรณีขุดหลุมพรางแล้วปักขวากในหลุมจะทำให้สัตว์ที่ตกหลุมพรางทุกชนิดตาย แต่ขวากดักลิงตอกขวากเหนือพื้นดินมาก สัตว์ที่จะตกขวากได้จึงมีแต่สัตว์ปีนป่ายบนที่สูง คือลิงนั่นเอง

ลูกมะพร้าวดักลิง เวทีของลิงหนุ่มสาว

ส่วนอีกชนิดที่ปรากฏใช้กันคือ “ลูกมะพร้าวดักลิง” เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สะท้อนความใกล้ชิดระหว่างคนกับสภาพแวดล้อม อันมาจากการสังเกตของชาวบ้านที่พิจารณาธรรมชาติของลิง เรียนรู้วิถีธรรมชาติและสร้างเครื่องมือขึ้นมา

เครื่องมือชนิดนี้คิดขึ้นมาเพื่อดักลิงโดยเฉพาะ ลิงไม่บอบช้ำเหมือนใช้เครื่องมือยิง หรือจั่น ที่กักลิงในบริเวณแคบ

วัสดุที่ใช้คือ ลูกมะพร้าว เชือก เหยื่อที่ใช้คือ ไข่เป็ดต้ม หรือเหยื่อธรรมชาติเช่น กล้วย ฝรั่ง ตะขบ ลูกไม้ต่างๆ ก็ใช้ได้เช่นกัน แต่พรศิริ เล่าว่า เหยื่อที่ใช้ได้ผลดีคือ ผลฝรั่งกึ่งสุกกึ่งดิบ เพราะส่งกลิ่นล่อลิง เหยื่อที่ได้ผลดีสุดคือ ไข่เป็ดต้มไม่ปอกเปลือก เพราะกลิ่นหอม และแข็ง ถือเป็นอาหารพิเศษที่ไม่อาจพบกินง่ายๆ แต่ต้องเป็นภาระจัดหาเสียหน่อย

การประดิษฐ์คือ ฝานเปลือกตรงหัวมะพร้าวออก กะเทาะกะลามะพร้าวออกเป็นช่องกลมขนาดเล็กกว่ากำมือลิง ตรงก้นมะพร้าวเจาะรูร้อยเชือกเพื่อนำปลายเชือกอีกด้านไปมัดกับต้นไม้ใกล้แหล่งน้ำ ป้องกันลิงนำเครื่องมือหนี เพราะตามจับยากด้วย

เมื่อใช้งานก็นำเหยื่อใส่ในลูกมะพร้าว เมื่อลิงมากินน้ำเห็นลูกมะพร้าวก็มาจับเล่น มันจะได้กลิ่นเหยื่อ และล้วงมือไปหยิบ พอกำมือ ขนาดกำมือที่ใหญ่ขึ้นก็ไม่อาจดึงออกจากช่องมะพร้าวได้

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เจาะจงจำเพาะลิงซึ่งมีนิ้วยาวกำเหยื่อ และเลือกขนาดวัยของลิงที่ต้องการจากช่องที่เจาะไว้ ดังนั้น หากลูกลิงที่มือเล็ก คนละขนาดที่ต้องการ ก็จะดึงมือออกได้ ส่วนลิงแก่ถึงจะไม่กำมือก็ยื่นมือเข้ารูไม่ได้ เพราะมือใหญ่เกิน ลูกมะพร้าวจึงถือเป็นการคัดเลือกเฉพาะลิงหนุ่มสาว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดย่อเนื้อหาและเรียบเรียงจากบทความ “ขวากดักลิง : สุสานลิง” และ “ลูกมะพร้าวดักลิง : เวทีของลิงหนุ่มสาว” เขียนโดย พรศิริ บูรณเขตต์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2563