ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | พรศิริ บูรณเขตต์ |
เผยแพร่ |
ข่ายดักงู หรือตาข่าย ใช้ดักงู โดยไม่ต้องลงมือประดิษฐ์เครื่องมือซับซ้อนอย่างเครื่องมืออื่น ข่ายเป็นเครื่องใช้อเนกประสงค์ที่มีอยู่แล้วในบ้าน และกลายเป็นเครื่องมือดักงูโดยฉับพลันทันใจเจ้าของ
ตาข่ายอาจเคยใช้ดักนก ดักหนูมาก่อนเจ้าของปรับมาใช้ขึงดักงูเป็นครั้งคราว แต่แม้จะเป็นเครื่องมือแก้ขัด ตาข่ายก็ใช้จับงูได้ผลดียิ่ง ทั้งยังสะท้อนการอยู่และการจัดการกับธรรมชาติแวดล้อมด้วยความเข้าใจ
ที่ว่าข่ายจับงูได้ผลดี เพราะจับได้งูทุกชนิดเท่าที่ต้องการ แต่โดยมากขึงข่ายเมื่อเห็นงูเห่า ซึ่งเป็นงูพิษและดุร้าย การใช้ข่ายดักงูร้ายจึงหมายถึงวิธีการจัดการกับงู โดยผู้คนไม่ต้องไล่ยื้อจับงูที่ยังมีแรง ยังปราดเปรียว ยังตื่นอยู่ ใช้ได้โดยไม่ต้องหารูงู ตาข่ายซึ่งให้ยาวขนาดไหนก็ได้ โอกาสที่จะเลื้อยติดตาข่ายมีอยู่มาก การดึงงูออกจากข่ายอย่างรู้วิธีจะได้งูเนื้อหนังสมบูรณ์มากกว่าการทุบหรือใช้ไม้รวกคมๆ บาดตัวงู สำหรับชาวบ้านบางคนคือการได้เนื้อหนังคุณภาพ ถ้าขายได้ก็ราคาดี
การดักงูโดยใช้ตาข่ายเป็นวิธีการของชาวนาชาวไร่ เป็นการดักเป็นครั้งเป็นคราวไป ไม่ใช่พวกคนจับงูขายเป็นอาชีพ เพราะคนจับงูขายมักไม่ใช้เวลากับการดักรอ มีความชํานาญที่จะจับงูโดยตรง
ข่ายถูกหยิบมาใช้เมื่อผู้คนเห็นงู หรือเห็นสิ่งบอกเหตุเกี่ยวกับงู อาทิ คราบงู รอยเลื้อยของงูตามฝุ่นดิน ตามขี้เถ้า ช่วยใช้งานได้ผลยิ่งขึ้นถ้าวางใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งที่งูจะลง กินน้ำตอนเย็นๆ ค่ำๆ และบริเวณที่งูออกหาเหยื่ออย่าง กบ เขียด หนู นก ปลา โดยเฉพาะตามเล้าไก่ การขึงข่าย ต้องเตรียมให้เสร็จก่อนพลบค่ำ
ในกรณีที่ชาวบ้านเลี้ยงไก่ และไก่หายเป็นประจําก็ต้องคอยเฝ้าคอยฟังเสียงไก่ตื่น อาจเป็นคนมาลักหรือ เป็นงูมาขโมยกิน ถ้าเป็นงูจะมีรูข้างเล้าที่งูเลื้อยเข้าออกเป็นประจํา ให้นําเครื่องมือดักงูมาวางไว้ตามช่องทางเข้าออกนี้ บางคนใช้กับดักงู บางคนใช้ข่าย แต่กรณีอย่างนี้ใช้ข่ายดีกว่า เพราะกับดักตีงูอย่างแรงงูตาย เกิดเสียงดัง ทําให้ไก่ตื่นตกใจ
กล่าวได้ว่าโดยทั่วไปแล้ว ชาวบ้านใช้ข่ายในสถานการณ์แบบแก้ไขปัญหา ในสถานการณ์ป้องกันมีอยู่บ้าง ก็เช่นการขึงข่ายล้อมรอบเล้าไก่ทุกด้าน โดยล้อมห่างจากเล้าไม่ต่ำกว่า 6 เมตร เพื่อไม่ให้งูเข้าใกล้เล้าได้ ไก่จะได้ไม่แตกตื่น กรณีอย่างนี้มักเป็นเล้าห่างบ้าน หรืออยู่กลางทุ่งกลางนา เป็นต้น
ข่ายที่ใช้ตกเป็นเส้นเชือก นําเชือกมาถักเป็นตาสี่เหลี่ยมเรียกว่าตาข่าย เมื่อใช้งานระยะหนึ่งจนเชือก เปื้อนดําก็ไม่ชัก สีของเชือกที่เปื้อนฝุ่น เปื้อนโคลน ทําให้ข่ายกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ข่ายบางอันย้อมสีดำด้วยยางมะพลับ ยางตะโกยิ่งดี เพราะ จะกลืนหายไปกับความมืด ทั้งยังเหนียวแน่นทนต่อแรงขยับของงูด้วย
การขึง ข่ายดักงู ตามทําเลที่งูเลื้อยผ่าน อาจจึงข่ายกว้างสักศอกไปจนถึงหลายเมตร โดยให้ตาข่ายคลุมจากดินสูงขึ้นมาประมาณ 50 เซนติเมตร หรือสูงไม่ต่ำกว่าเข่า ตาข่ายด้านล่างที่เกี่ยดินต้องปล่อยชายคลุมดินไว้ด้วย เมื่อขึงข่ายพร้อมแล้วก็รอเวลา
ผู้คนที่ไม่คุ้นกับธรรมชาติของงูอาจคิดว่าข่ายจะตกงูได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้ามีงูชุกชุมก็น่าจะดักงูได้สักตัว แต่คนที่เข้าใจธรรมชาติ มั่นใจว่าแม้จะมีงูตัวเดียว งูตัวนั้นก็ย่อมติดข่าย เพราะคนใช้ข่ายสังเกตการเคลื่อนไหวของงู งูเลื้อยโดยใช้เกล็ดที่ท้องผลักตัวขึ้นไปข้างหน้า โดยยกหัวกับคอให้สูงจากพื้น และโดยที่หัวกับลําตัวงูจะส่ายไปมา เมื่อเลื้อยผ่านตาข่ายงูจึงไม่ลอดข่ายออกมา แต่หัวที่ยกอยู่จะชนตาข่าย พองูติดตาข่ายก็จะพยายามดิ้นรนหนีแต่การส่ายหัวส่ายตัวไปมากลับทําให้งูพันตาข่ายมากขึ้น คนใช้ข่ายบางคนอธิบายว่าการส่ายหัวไปทางซ้ายทางขวาทําให้ตาข่ายถูกดึงมาพันรัดจนแน่น หัว ของงูไม่ต่างจากเข็มเย็บผ้าที่ปักขึ้นลงบนเนื้อผ้า
เมื่อถึงตอนเช้า เจ้าของข่ายจึงมาตรวจดูผลงาน งูมักพันอยู่กับข่ายจนอ่อนแรงค่อยๆ แก้ข่ายออก จับส่วนหัวงูไว้กันงูกัด และเพื่อดึงออกจากข่าย หากดึงส่วนหางงูจะส่ายหัวติดข่ายยุ่งอีก อันตราย และดึงออกยาก เพราะการดึงทางหางเป็นการดึงย้อนเกล็ด
เครื่องไม้เครื่องมือที่ผู้คนคิดประดิษฐ์ขึ้นมีอยู่หลากหลาย เครื่องมือหลายต่อหลายชิ้นแสดงเทคนิคกลไกยอมรับกันว่าสุดยอด ข่ายดักงู อาจไม่ต้องลงมือลงแรงมาก แต่หากยอมรับได้ว่า เครื่องมือใดๆ ที่ติดมากๆ ใช้ง่ายๆ ใช้ได้ดี ก็จัดว่าสุดยอดในการคิดเหมือนกัน
สุดยอดที่ไม่มีเทคนิค ได้ผลดังใจ เป็นเครื่องมือสามัญแต่ไม่ธรรมดา
อ่านเพิ่มเติม :
- กำเนิด “สามล้อถีบ” ที่ “เลื่อน พงษ์โสภณ” ได้ไอเดียจากไมอามี่
- รู้จัก เพอร์ซี ชอว์ ชาวบ้านผู้คิดค้น “ตาแมว” เพิ่มความปลอดภัยบนถนนโดยบังเอิญจนร่ำรวย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2562