จากดาวพระศุกร์ถึงอีเย็น คุยกับ “รัมภา ภิรมย์ภักดี” คนเขียนบทละครโทรทัศน์

จากดาวพระศุกร์ถึงอีเย็น และแคว้นกาสิกของรังสิมันต์ เรื่องเล่าจาก ภาวิต คุยกับ รัมภา ภิรมย์ภักดี คนเขียนบทละครโทรทัศน์

ช่วงบ่ายวันที่ 14 เมษายน วันแห่งครอบครัวของทุก ๆ ปี ที่ทุกคนควรอยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตาและมีความสุขร่วมกัน แต่ปีนี้ 2563 ต้องบันทึกไว้ว่าเป็นวันสงกรานต์ที่ทุกคนต้องเก็บตัว เพราะภัยจากไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนจากหลายอาชีพได้หยุดอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านเช่นเดียวกับรัมภา ภิรมย์ภักดี นักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่คร่ำหวอดในวงการเบื้องหลังการผลิตละครโทรทัศน์มานานกว่า 30 ปี

วันนี้ครูตุ้มอยู่บ้านไม่ต้องออกไปทำงานสะดวกคุยเรื่องละครไหมครับ”

จะให้ออกไปไหน เพราะโควิดระบาดและอาชีพส่วนใหญ่นั่งทำงานที่บ้านอยู่แล้วไม่ต้องไปไหน (หัวเราะ)”

รูตุ้มยังคงมีความสุขดีและคร่ำเคร่งกับการเขียนบทละครโทรทัศน์แนวจักร ๆ วงศ์ ๆ หรือละครเช้า ที่ออกอากาศช่วงเช้าเสาร์-อาทิตย์

ครูตุ้ม รัมภา ภิรมย์ภักดี (ภาพจากเฟซบุ๊ก สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์)

ตอนนี้โควิดระบาด ทางสามเศียรเลยหยุดให้ถ่ายละครมาเกือบเดือนแล้ว เพราะทางบริษัทกังวลว่าไวรัสที่ระบาดอยู่ขณะนี้จะส่งผลต่อสุขภาพของคนในกองถ่าย เลยยกเลิกการถ่ายทำละครทั้งหมดออกไป ละครเช้าก็นำแก้วหน้าม้ามาออกอากาศแทนพระสุธน มโนราห์ที่ออกอากาศไปแล้ว 8 ตอน” ครูตุ้มเล่าต่ออย่างอารมณ์ดี แต่อย่างน้อยเราจะมีได้มีเวลาเตรียมบท เขียนบทให้มากพอ”

“แสดงว่าช่วงนี้รับเขียนบทหลายเรื่อง”

ใช่ ทั้งละครเช้าพระสุธน มโนราห์ และ ตุ๊กตา ของคุณวาณิชที่กำลังถ่ายทำอยู่ แต่หยุดไปเพราะโควิดและมีหนึ่งเรื่องที่ได้รับมอบหมายให้เขียน แต่ยังบอกไม่ได้ในตอนนี้ อุบไว้ก่อนนะ”

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนและครูตุ้มเคยพูดคุยกันมาแล้วหลายครั้งถึงการเขียนบทละครโทรทัศน์จักร ๆ วงศ์ ๆ  ซึ่งครูตุ้มได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากพอสมควร มาถึงคราวนี้ก็ยังคุยถึงละครจักร์ ๆ วงศ์ ๆ และละครที่ครูตุ้มชื่นชอบ

ละครโทรทัศน์แนวจักร ๆ วงศ์ ๆ 5 เรื่องที่ครูเขียนและชอบมาก 5 เรื่องมีอะไรบ้าง

ชอบหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ชอบอย่างจริงจังมี 5 เรื่องตามนี้ เทพสามฤดู สี่ยอดกุมาร ปลาบู่ทอง พระสุธน มโนราห์ และ สังข์ทอง ที่ชอบทั้ง 5 เรื่องนี้ เพราะทั้งหมดมีลักษณะเด่นที่ต่างกัน เขียนได้สนุกเขียนได้เรื่อย ๆ ชอบมาก”

จุดเด่นของทั้ง 5 เรื่องที่ชอบมีอะไรบ้าง

ครูเห็นว่าทั้ง 5 เรื่องมีจุดเด่นแต่ละเรื่องที่น่าสนใจ เทพสามฤดู มีพระเอกนางเอกสามคู่ เราจำเป็นต้องออกแบบคาแรคเตอร์ตัวละครทั้งสามคู่ไม่ให้เหมือนกัน ถ้าเทียบกับละครปัจจุบันคือเป็นรักใส ๆ แต่เป็นจักร ๆ วงศ์ ๆ มันก็มีอิทธิฤทธิ์แฟนตาซีลงไปทำให้ละครสนุกมากยิ่งขึ้น ต่อมาก็ สี่ยอดกุมาร ภาพรวมของเรื่องนี้สนุกอยู่แล้ว สนุกมากด้วยทำให้เขียนได้อย่างลื่นไหล

เรื่องที่สามในดวงใจเลย ปลาบู่ทอง เรื่องนี้ชอบมากเป็นพิเศษจริง ๆ แล้วเนื้อแท้ของปลาบู่ทองพยายามสอนเรื่องการอบรมเลี้ยงดูลูก มีลูกที่หน้าตาเหมือนกัน แต่เด็กสองคนนิสัยต่างกันมากนั้นเป็นผลมาจากเลี้ยงดูลูกที่ต่างกัน ขนิษฐา เลี้ยงดูลูกด้วยความดีลูกจึงเป็นเด็กที่มีจิตใจดีงาม ส่วน ขนิษฐี เลี้ยงลูกด้วยความอิจฉา ไม่ชอบให้ใครได้ดีเกิน ผลจึงไปตกกับลูกที่นิสัยไม่ดี

เรื่องต่อมาที่ชอบ คือ สังข์ทอง ที่พูดถึงความรักระหว่างแม่กับลูกเป็นหลัก ส่วนเรื่องสุดท้ายคือเรื่องที่ทำอยู่ขณะนี้ พระสุธน มโนราห์ ที่ชอบเพราะสนุกมาก มีน้าหรั่ง (ไพรัช สังวริบุตร) มาช่วยทำเค้าโครงเรื่องให้ใหม่”  “ใหม่อย่างไร” “มีความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น มีการผจญภัยที่มากขึ้นกว่าเดิม และขยายเรื่องของพรานบุญให้คนดูเห็นว่าเขามีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง”

ละคร พระสุธน-มโนห์รา (ภาพจาก ยูทูบ SAMSEARN OFFICIAL)

เมื่อพูดถึงการผจญภัยที่มากก็หมายความว่า มีเนื้อหาเพิ่มขึ้นต้องมีจำนวนตอนที่ออกอากาศเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ 

“ใช่ เมื่อมีเนื้อหามากขึ้น ทำให้การเล่าเรื่องมีการขยายออกมากขึ้น จึงต้องมีจำนวนตอนที่มากขึ้นไปด้วย นอกจากนี้การที่ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ในปัจจุบันมีจำนวนตอนมากกว่าเมื่อก่อน ส่วนหนึ่งมาจากความนิยมละครแนวนี้ด้วยคนดูชอบก็อาจจะทำเพิ่มตอนขึ้น ต้องดูว่าเนื้อเรื่องของละครจักร ๆ วงศ์ ๆ มีเนื้อหาที่น่าสนใจพอให้คนดูในช่วงที่ออกอากาศด้วย ซึ่งรวบไปถึงการซื้อขายโฆษณา”

“เพราะผู้ชมละครหลายคนสงสัยว่าเหตุใดละครจึงมีจำนวนตอนสั้นยาวไม่เท่ากัน”

ครูตุ้มกล่าวต่อที่มันยาวเป็นร้อยตอนมาจากสาเหตุที่บอกไปแล้ว ถ้าให้ครูพูดในส่วนของคนเขียนบทละคร ครูมองตรงเนื้อหาของละครเป็นหลักที่ส่งผลให้ละครมีจำนวนตอนมาก เช่น นางสิบสองที่เพิ่งจบไปมีจำนวนตอนที่ออกอากาศ ทั้งหมด 63 ตอน เพราะเนื้อหามีเท่านี้ คนดูประมาณนี้ก็จบได้ อีกส่วนหนึ่งคือ ผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดและบอกคนเขียนบทอีกที”

ตอนนี้ละครโทรทัศน์แนวจักร ๆ วงศ์ ๆ มีการพัฒนาต่อเนื่องพร้อมช่องทางติดต่อกับผู้ชมที่หลากหลาย

ใช่ เราสามารถเข้าไปแนะนำติชมได้หลายช่องทางด้วย ปัจจุบันที่ช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ และมีการให้ทำแบบสอบถามข้อเสนอแนะการผลิตละครโทรทัศน์แนวจักร ๆ วงศ์ ๆ ด้วยยิ่งเป็นเรื่องที่ดี่เราต้องพัฒนาต่อไป”

นอกจากครูตุ้มจะเขียนบทละครโทรทัศน์แนวจักร ๆ วงศ์ ๆ แล้ว ยังรับหน้าที่เขียนบทละครโทรทัศน์แนวอื่นที่ทางบริษัทดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด รับผลิตรายการละครแนวอื่นด้วย สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมละครโทรทัศน์สังเกตเห็นได้จากนามปากกาของผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ ภาวิต” หรือ พิกุลแก้ว” คือ นางเอกในละครของรัมภาจะสู้คน ไม่ธรรมดาเรื่องต่อยตีทางวาจากับตัวละครหญิงอื่น ๆ อย่างไม่เกรงกลัว

ครูตุ้มหัวเราะ แน่นอนเราอย่าให้นางเอกของเราไปยอมคนไม่ได้เลย จะให้นางเอกมานั่งพับเพียบเรียบร้อยโดนกระทำ เป็นไปไม่ได้”  ผู้เขียนเสริมต่อ ในเรื่องโดมทองนางเอกของครูโดนปรับจนเป็นนางเอกสู้คนจนตัวร้ายงอมไปเลย น่ากลัวมาก” ครูตุ้มหัวเราะ

พูดถึงเรื่องผู้หญิงที่คู่กับละคร ครูได้นำแนวคิดเรื่องสิทธิสตรี (Feminism) ใส่ลงไปในละครที่ครูเขียนด้วยหรือไม่

แน่นอน ครูใส่ลงไปด้วยนางเอกต้องสู้คนนะ สังคมมันเปลี่ยนไปตัวละครความคิดมันต้องเปลี่ยนตามไปด้วย จะมาเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียวมันไม่ได้ เรื่องล่าสุดที่ทำไปคือ มนตร์กาลบันดาลรัก นางเอกได้ไปยังโลกอนาคต ตื่นขึ้นมารู้ความจริงว่าตัวเองแต่งงาน มีสามีคือพระเอกไปแล้ว โดยที่นางเอกไม่ได้รักพระเอกเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารักกันไปได้อย่างไร การไปโลกอนาคตทำให้นางเอกรู้ว่าพระเอก คือ สามีของตัวเองรักนางเอกมากแค่ไหน สิ่งที่เขาทำให้มีมาก แต่สิ่งที่แฝงด้วย คือ นางเอกเขาชอบผู้ชายแนวอื่น ไม่ได้ชอบแนวพระเอก นางเอกเขามีสิทธิ์เลือกนะ จะไปว่านางเอกว่าเรื่องมากไม่ได้ เพราะชีวิตคู่มันสำคัญต้องรู้จักเลือกผู้หญิงต้องคิด ผู้ชายก็ด้วย ความคิดตรงนี้ก็ใส่ลงไปด้วย”

ในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ครูใส่แนวคิดแบบนี้ลงไปด้วยเพื่อให้เห็นว่าผู้หญิงก็มีสิทธิ์พูดได้    

ใช่ ครูใส่ลงไปด้วยมีครั้งหนึ่งครูเขียนละครแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ เยอะมากจนครูเกิดความคิดอยากจะทำละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่ตัวเองประพันธ์และเขียนบทละครเอง จริง ๆ แล้วที่ครูทำอยู่ในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ทุกเรื่องส่วนใหญ่ต้องเพิ่มเส้นเรื่อง เพิ่มตัวละครเองอยู่แล้ว (หัวเราะ) ถ้าเขียนเองคงไม่ใช่เรื่องยากอะไร นางพญาไพร เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เติบโตในป่าไปเจอพระเอก ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าเมืองพานางเอกมาขัดเกลา กริยามารยาทใหม่จากคนป่า นางเอกสู้คนไม่ยอมใครแม้แต่พระเอก ที่สำคัญคือนางเอกเป็นตัวละครหลักในการเดินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ผิดจากเรื่องอื่นที่ส่วนใหญ่ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ มีตัวละครชายเป็นตัวเดินเรื่องหลัก”

พูดถึงละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ไปหลายส่วนกลับมาที่ละครหลังข่าวที่ครูเคยทำบ้าง หลายคนไม่ทราบว่าครูคือคนที่เขียนบทดาวพระศุกร์ ฉบับศรรามสุวนันท์

“ใช่ ครูเขียนบทเรื่องนี้ด้วย แต่ตอนที่เขียนเรื่องนี้เขียนกันสองคนมีสองนามปากกา (ภาวิต-ลุลินารถ) ลุลินารถเสียชีวิตแล้ว การเขียนบทแบบสองคนสำหรับครูยากกว่าการเขียนบทละครคนเดียว เพราะต้องมีการคุมโทนคาแรคเตอร์ตัวละครให้อยู่ในโทนเดียวกันไปตลอดทั้งเรื่อง บางทีไม่ก็ไม่สามารถทำได้เมื่อเราไปดูจะเห็นว่า มีบางตัวละครที่โดดจากที่ทำไว้ การเขียนบทสองคนต้องมีการมาพูดคุยกันก่อนว่าใครจะเขียนส่วนไหนแบ่งกันเขียนอย่างไร ตรงส่วนไหนบ้าง นี่คือความยาก อีกเหตุผลหนึ่ง คือครูมักได้รับมอบหมายให้เขียนบทคนเดียวบ่อยครั้ง”

ทำไมดาวพระศุกร์ถึงโด่งดังมาก

“ตอบได้แค่ว่าหลายอย่างจำไม่ค่อยได้ เพราะนานแล้วและเขียนมาหลายเรื่อง (หัวเราะ) เขียนถึงร้อยเรื่องไหม ครูว่าเขียนไม่ถึงนะ กลับมาที่ดาวพระศุกร์มันประสบความสำเร็จ จะบอกว่าบทละครโทรทัศน์ดีอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง เราทำเราจะไม่มองผลข้างหน้าเลยนะว่ามันประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง แต่เราต้องตั้งใจทำ ผลตอบรับดีเราก็ดีใจ และที่สำคัญหลายอย่างค่อนข้างลงตัว โดยเฉพาะตัวนักแสดงเองทุกคนประสบความสำเร็จจากการเล่นละครเรื่องนี้ ป้าแมวคือไม่ได้มีอยู่ในบทประพันธ์แรกเริ่ม เมื่อป้าแมวมาเล่นก็เพิ่มสีสันลงไปทำให้เรื่องสนุกยังนึกถึงป้าแมวเสมอ” 

เราต้องลองกลับมาดูว่าเส้นเรื่องของนวนิยายที่นำมาทำละครโทรทัศน์เป็นอย่างไร ผู้เขียนถาม

ใช่ ดาวพระศุกร์หลัก ๆ คือความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครสองตัวหลักเลยคือ ดาวพระศุกร์กับแม่ตัวเอง ดาวพระศุกร์รู้ว่าศศิประภาคือแม่ของตัวเอง แต่ไม่ยอมรับ พูดจาประชดศศิประภาตลอดเวลา ดาวพระศุกร์ ถ้ายอมรับได้เรื่องมันก็จบเร็ว เมื่อจับประเด็นตรงนี้ได้เราสามารถขยายเส้นเรื่องหรือเพิ่มตัวละครให้ละครมีเนื้อหาขนาดตามที่เราต้องการได้ โดยไม่ดัดแปลงบทประพันธ์ให้เสียหายเน้นโครงเรื่องหลักให้ได้

ดาวพระศุกร์ (2537) (ภาพจาก www.bugaboo.tv/watch/317412)

ละครโทรทัศน์ทุกเรื่องก็ทำเช่นนี้

“ใช่ ต้องทำแบบเดียวกันนี้ นางทาสที่กบ สุวนันท์แสดง เรารู้นะว่านางทาสมาจากนวนิยายขนาดสั้นมีเพียงไม่กี่สิบหน้า เมื่อนำมาทำเป็นละคร ครูต้องปรับหลายอย่าง ก่อนหน้านี้ดาราวิดีโอเคยทำเป็นละครมาแล้ว พี่แดง (.ศัลยา สุขะนิวัตติ์) เป็นคนเขียนบทเขียนดีมาก ขยายเรื่องราวจนเป็นนางทาสที่เราเห็นกัน แต่พอครูเป็นคนเขียนบทละครเวอร์ชั่นที่ กบ สุวนันท์ แสดง เรื่องนางทาสเหมือนกัน แต่ต่างแนวทาง ต้องทำให้ต่างออกไป ขึ้นอยู่กับการตีความละครจากนวนิยายว่าจะเป็นอย่างไร

ตามเนื้อหานางทาสเป็นเรื่องราวของทาสที่ชื่อเย็นที่มาเป็นทาสเรือนท่านเจ้าคุณสีหโยธิน เย็นมันไม่ได้เป็นทาสแบบบ่าวในเรือนเพียงอย่างเดียว ครูตีความว่าเย็นเป็นทาสความรัก บุณคุณและความกตัญญูที่มีต่อแม่ตัวเอง คุณหญิงแย้ม และคุณหนูแดงลูกของเย็นเอง เป็นพันธนาการที่ทำให้เย็นต้องเป็นทาสที่เป็นยิ่งกว่าทาสคนอื่น ๆ และด้วยเหตุนี้ เย็นจึงไม่บอกความจริงเรื่องลูกให้หนูแดงรู้ เพราะบุญคุณที่คุณหญิงแย้มมีต่อเย็น ที่เย็นต้องตกเป็นทาสเพราะเห็นแก่แม่และครอบครัว จึงตกมาเป็นทาสเรือนท่านเจ้าคุณสีหโยธิน ส่วนตัวละครอื่นในเรื่องที่มีมาตั้งแต่ต้นก็เก็บเอาไว้สร้างเรื่องราวสีสันในเรื่องได้”

ครูตุ้มเคยเขียนบท “ดั่งดวงหฤทัย” เวอร์ชั่น หนุ่ม ศรราม-นัท มีเรีย

“ตั้งแต่ปี 2539 นานมาก ดั่งดวงหฤทัยเป็นเรื่องที่อ่านแล้วประทับมาก เป็นนวนิยายที่ใช้ภาษาได้สละสลวย ตอนที่ทีมงานเขาตีความว่าเนื้อเรื่องมันมีภูเขาหิมะ เมืองสมมตินี้ควรจะเป็นที่ไหน เพราะต้องหาสถานที่ถ่ายทำ สรุปกันว่าเป็นที่เนปาล เพราะมีเทือกเขาหิมาลัยเหมาะสมเป็นเมืองสมมติตามที่คิดกันไว้ มีคนชื่นชมเยอะอยู่ ครูไม่ได้เปลี่ยนเรื่องราวจากนวนิยายเลย ไม่มีตัวร้ายเพิ่มเข้ามา เพราะพระเอกของเรื่องเขาก็ร้ายกับนางเอกอยู่ ก็สนุกดีอีกแบบ”

เขียนบทละครโทรทัศน์มามาก อายุเป็นอุปสรรคต่อการทำงานมากน้อยเพียงใด

ถ้าเราเป็นเด็กวัยรุ่น ครูมองว่าอายุ 60 ปี ถือว่าแก่แล้วนะ แต่พอเราอายุเกิน 60 ปีไปแล้ว จริง ๆ เราทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้มีกำลังอยู่ ไม่ได้แก่แล้วแก่เลย เขียนบทได้และสิ่งสำคัญที่สุดการที่มีประสบการณ์ชีวิตมาก ส่งผลดีต่อการทำงานเขียนบทละคร เพราะต้องให้เหตุผลกับตัวละครมากขึ้น คิดมากขึ้นทำให้เขียนได้ช้าลง แต่ข้อดีคือ ตัวละครจะดูสมจริง”

เย็นมากแล้วการสนทนาที่ใช้เวลาร่วมสองชั่วโมงคงต้องยุติก่อน ครูตุ้มต้องไปเตรียมอาหารเย็นและดูแลบ้านต่อ แต่การสนทนาทุกครั้งกับครูตุ้มจะได้ความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาเสมอ ผู้เขียนจึงตั้งใจที่จะถ่ายทอดสิ่งที่รู้มาให้ผู้อ่านได้เข้าใจการทำงานที่ดูเหมือนจะง่ายและสบายว่ามีขั้นตอนการทำงานเช่นเดียวกับงานทั่วไปยุ่งยากเหมือนกัน ใครที่เข้าใจว่าเขียนบทละครโทรทัศน์ง่าย….ไม่ใช่เรื่องจริง

อ่านเพิ่มเติม : ชีวิต-แนวคิดการเขียนบทละครจักรๆ วงศ์ๆ ของ “รัมภา ภิรมย์ภักดี” ต้นตอวลี “แม่ไม่ปลื้ม”


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 16 เมษายน พ.ศ.2563