ผู้เขียน | กันตพงศ์ ก้อนนาค |
---|---|
เผยแพร่ |
ช่วงสายของวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เราได้เดินทางไปพบนักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่มากความสามารถและคร่ำหวอดอยู่ในวงการละครโทรทัศน์มากว่าสามสิบปีท่านหนึ่ง วลีดังอย่าง “แต่ก็มิได้นำพา” “แม่ไม่ปลื้ม” จากละครเรื่องนางทาส ๒๕๕๑ และขิงก็ราข่าก็แรง ๒๕๔๙ ที่เป็นที่รู้จักช่วงหนึ่งในหน้าจอละครโทรทัศน์ไทย หรือ พ่อมดเจ้าเสน่ห์ภาคต่อของสาวน้อยในตะเกียงแก้ว ทั้ง ๓ ภาค ล้วนแล้วแต่เป็นฝืมือจากปลายปากกาของ รัมภา ภิรมย์ภักดี นามปากกา “ภาวิต” และ “พิกุลแก้ว” รวมไปถึงละครโทรทัศน์หลายสิบเรื่องที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของนักเขียนบทละครท่านนี้ หลังจากออกจากการรับราชการครูสอนวิชาภาษาอังกฤษเมื่อหลายสิบปีก่อน เพื่อมาเขียนบทละครโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว
“เราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะคนเราจะทำได้ดีทั้งสองอย่างไม่ได้ ครูเลือกที่จะออกมาเขียนบทละครโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูชอบ แต่ครูก็รักการสอนนักเรียน งานสอนหนังสือต้องเตรียมการสอนหากครูสอนไม่ดีไม่เตรียมการสอน ครูก็กลัวเด็กจะว่าได้ ฉะนั้นครูเลือกที่จะเขียนบทเพียงอย่างเดียว แม้ครูจะรักการเป็นครู แต่สุขภาพเป็นปัญหาสำคัญ ครูเลือกเขียนบทละครเพราะงานตรงนี้ช่วยสอนคนดูละครทางอ้อมได้เหมือนกัน”
บ้านหลังใหญ่แสนอบอุ่น ต้นไม้ปลูกรอบบริเวณดูร่มรื่น และรอยยิ้มอย่างจริงใจของเจ้าของบ้านต้อนรับเราอย่างดีในห้องรับแขกที่ครั้งนี้ครูตุ้ม หรือ รัมภา ภิรมย์ภักดี บอกว่า
“คงต้องเอาน้องหมาไปเก็บก่อน ครูเลี้ยงหมาไว้สองตัวเห่าเก่งมากๆ โดยเฉพาะมันไม่ถูกกับผู้ชาย และผู้หญิงมีอายุหน่อยมันจะเห่าตลอดเลย (หัวเราะ)”
ครูเขียนบทละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ ด้วยโดยตอนนี้กำลังเขียนบทเรื่อง “นางสิบสอง”
“ขวานฟ้าหน้าดำ จำนวนตอนไม่มากนัก นางสิบสองจะออกอากาศต่อจากเรื่องนี้ ครูกำลังเร่งเขียนอยู่ เมื่อเขียนเสร็จครูจะส่งไปให้ทางผู้จัดผ่านทางการส่งแฟกซ์”
อาจารย์เข้ามาเขียนบทละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ ได้อย่างไร
“ตอนเด็กๆ ครูชอบอ่านหนังสือมาก ชอบการแต่งกลอน และชอบการอ่านนวนิยาย ตอนเด็กๆ นี่แหละครูชอบแอบไปอ่านหนังสือของน้าสาว นิตยสารเดลี่เมล์วันจันทร์ ศรีสัปดาห์ สตรีสาร และพ่อจะซื้อให้อ่าน พ่อเป็นตำรวจมีหนังสือเกี่ยวกับตำรวจ ความรู้ทั่วไป หนังสือวรรณคดี พ่อซื้อมาให้ สามก๊ก รามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน ชอบเขียนกลอน เพ้อเจ้อ ฝันกลางวัน ไม่ค่อยตั้งใจเรียน (หัวเราะ) แต่จะทำได้ดีมากๆ เรื่องการเรียนภาษาไม่ว่าไทยหรืออังกฤษ ฝรั่งเศสเป๊ะเลย เป็นคนมีทักษะทางภาษา เป็นกันทั้งบ้านเลย ลูกครูเป็นหมอยังเขียนกลอนได้เลย ตอนหลังคุณหรั่ง ไพรัช สังวรบุตร คุณประสม สง่าเนตร ทำละครจักรๆ วงศ์ๆ เขาจะให้ครูเป็นคนเขียนกลอน สมมติว่าฉากที่หนึ่งเป็นอย่างไร ฉากที่สองจะอธิบายเป็นกลอน น้าหรั่งบอกครูเขียนบทละครโทรทัศน์ได้ จนแต่งงานมีลูกก็เลยลองเขียน น้าหรั่งบอกพร้อมแล้วหรือยัง ครูบอกพร้อมแล้ว เขาให้ครูเขียนแก้วหน้าม้า มาสิบห้านาที ถ้ามีแววเนี่ยน้าผุส (ผุสดี สังวริบุตร) จะสอนให้ พอเขียนไปปรากฏว่ามีแววมากจะสอนให้”
ขั้นตอนการเขียนบทเป็นอย่างไร
“ครูไม่ทำทรีตเม้นท์ไม่ร่างไม่แร่ง (หัวเราะ) ครูเขียนออกมาเลย จินตนาการครูออกมาเต็ม แต่เราต้องคุมเรื่องให้ได้ เราจึงรู้สึกสนุก เคยมีครั้งหนึ่งสถานีโทรทัศน์ขอทรีตเม้นท์ก่อน แต่เราก็บอกว่า…ไม่มี (หัวเราะ) พยายามเขียนแต่เรามีอิสระมาก เช่น การ์ตูนจ้ะทิงจา ครูเขียน อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ ในสุดสาครยังมีมือถือเลย(หัวเราะ) ไปแบบสุด แต่เวิร์คจริงๆ คือคำว่า จ้ะทิงจา ซึ่งคุณไพรัชนั่นแหละเป็นคนคิด แต่งเพลงด้วย มีท่าเต้น เก่งมาก”
“ในการ์ตูนอะไรก็เป็นไปได้ แต่ในละครคนเล่นไม่ใช่ว่าจะได้ทุกอย่าง”
“แม่ปูเปรี้ยว” บทละครโทรทัศน์เรื่องแรก
“เขียนประมาณสามสี่แผ่นสั้นๆ หลังจากนั้นเขาส่งมาให้ทำเรื่องหนึ่ง คือเรื่องแม่ปูเปรี้ยว อรพรรณกับฉัตรชัย ครูก็ว่าของครูไปเรื่อย เขียนบทไปเรื่อยๆ จะอืด ตอนเขียนบทใหม่ๆ จะเสียดายกลัวจบไว เล่าเรื่องตามหนังสือเป๊ะเลยไม่นอกเรื่อง เรายังไม่มีประสบการณ์ เขียนไปประมาณห้าตอนจนกระทั่งใกล้ออกอากาศ เขาเรียกเราไปคุยแก้บทละครบางอย่างไม่จำเป็นต้องแก้ไขตัดออก บางอย่างในหนังสือไม่สนุกต้องตัดออก เราต้องตีความจากตัวละครว่าตัวละครเป็นอย่างไรยึดอุปนิสัยเป็นหลัก ตัวละครทำแบบนี้ยืดไปได้อีก เวลาขึ้นเรื่องต้องตีหัวเข้าบ้านเรียกคนดูเลย” พอไปเรื่องที่สองน้าหรั่งให้เขียนละครจักรๆ วงศ์ๆ พอเขียนละครจักรๆ วงศ์ๆ จะยากกว่าละครทั่วไป แต่เมื่อเขียนแล้วไปเขียนแนวอื่นจะง่ายมาก”
การเขียนบทละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ มีลักษณะเป็นอย่างไร
“โครงเรื่องโดยส่วนใหญ่มาจากนิทานวัดเกาะ ซึ่งเนื้อเรื่องจะยาวพระเอก นางเอกเจอกันมีลูก มีหลานว่าไปเรื่อยเป็นคนละเรื่องไปเลย เหมือนเป็นการฝึกไปด้วยเรื่องแรกที่เขียนของละครจักรๆ วงศ์ๆ คือเรื่อง “เทพสามฤดู” ตอนแรกเราก็เขียนไม่เป็นก็ว่าตามหนังสือ ครูอ่านทั้งเล่ม ซึ่งเป็นร้อยกรองทั้งหมดแล้วเขียนตามเขาทั้งเล่ม จนน้าหรั่งเรียกไปคุย ตัวละครในเรื่องจะหมดแล้ว แตกไปเรื่อย เขาเลยสอนใหม่นำหนังสือมาแค่คู่แรกแล้วเรามาขยายความต่อเอง ยากมากเลยมันมีแค่นิดเดียว แต่ครูเรียนจบด้านวรรณคดีอังกฤษมา ครูนำมาปรับให้เป็นของไทยค่อนข้างเยอะ ตอนเด็กอ่านนิทานกลิมม์ นิทานแอนเดอร์สัน นิทานอีสป ครูก็ปรับมาใช้ในละครปรับมาเรื่อยจนเรื่องที่สอง ปรับให้ร่วมสมัยปรับสิ่งรอบตัวในปัจจุบันให้เป็นอดีต ให้คนปัจจุบันเข้าใจ เหมือนให้คนดูเข้าไปอยู่ในเรื่องได้”
นางสิบสองคือละครโทรทัศน์เรื่องล่าสุด
“ใช่ครูกำลังเขียนเรื่องนางสิบสอง ซึ่งตอนนี้เขียนไปได้แล้วประมาณสามตอน การผลิตครั้งนี้ต่างไปจากครั้งก่อน ครูปรับลักษณะนิสัยตัวละครจากครั้งก่อนคือตัวพ่อของนางทั้งสิบสองที่จะค่อยๆ จนลงอาจโดยโกงจนถึงนำลูกทั้งสิบสองคนไปปล่อยในป่า แต่ครั้งนี้ครูปรับตัวเศรษฐีให้เป็นคนปากไม่ดี ท้าเทวดาจนเทวดาไมพอใจใช้วิธีการต่างๆ กลั่นแกล้งจนเศรษฐีหมดตัวและการมีลูกถึงสิบสองคนนั้นเกิดจากการกลั่นแกล้งของเทวดาเหมือนกับผู้อำนาจที่คอยแกล้งชาวบ้าน การทำแบบนี้ทำให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ผู้มีอำนาจไม่ควรกระทำต่อผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง”
ความแตกต่างระหว่างละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ กับละครโทรทัศน์แนวอื่นๆ
“ละครจักรๆ วงศ์ๆ นี้ครูเป็นตัวละครทุกตัวเลย มีพ่อ แม่ ตัวอิจฉา มีอำมาตย์ ครูปรับมาเรื่อยจนมาถึงเรื่องล่าสุดนางสิบสองครูปรับ ทหารครูขอเขาทหารขอหนุ่มๆ กล้ามแน่นๆ ส่วนอำมาตย์เป้นคนแก่หน่อยมาเล่น ทหารนำขอกล้ามแน่นดูแล้วมันสดชื่น”
เพศทางเลือกในสังข์ทอง
“คนชื่นชอบมากเลยตัวละครตัวนี้หนึ่งในเขยของท้าวสามล ครูไม่ได้เขียนให้มันดราม่า แรง ตัวละครตัวนี้ไม่ได้ตั้งใจมาเลือกคู่ เขามาดูผู้ชายมันตื่นตาตื่นใจ แต่พวงมาลัยที่ธิดาท้าวสามลเสี่ยงดันมาทางเขา พ่อแม่บังคับให้มีเมีย สมัยใหม่ก็เป็นแบบนี้อยากให้ลูกมีหลานไว้สืบสกุล สมัยก่อนไม่อยากให้ใครรู้ว่าลูกเป็นเลยให้แต่งงาน สมัยนี้เปิดเยอะกว่า ตอนจบต้องทำให้ดูว่าเขาไม่สามารถกลับเป็นผู้ชายมันง่ายไป เป็นไปไม่ได้ ตัวละครขอโทษเขามีพี่ชายฝาแฝดเป็นการปลอมใจ เมียเสียใจ จะเปลี่ยนได้อย่างไร”
ในเทพสังวาลย์ครูตุ้มก็เขียนทำไมมีเทพ “จ้ะทิงจา”
“อ๋อ…เขาบอกให้ใส่ไปด้วย เทพสังวาลย์มาจากนิทานวัดเกาะตัวละครมีน้อยอยู่แล้ว ตัวละครมันเยอะกว่าละครธรรมดาเลยใส่เข้าไปด้วย” อย่างละครปัจจุบันอีกเรื่องที่ครูเขียน คือ เรื่อง ตุ๊กตา ของคุณวานิช จรุงกิจอนันต์ มาจากหนังสือเล่มบางครูต้องเติมตัวละครเข้าไป แต่ต้องคงพล็อตเดิมเป็นสิ่งสำคัญมาก เหมือนเราเดินทางไปบางลำพูเรามีจุดมุ่งหมาย ระหว่างทางเราอาจแวะข้างทาง แบบนี้คือ Subplot เส้รเรื่องย่อยๆ เกิดขึ้นมาก็ได้”
ละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ โดยส่วนใหญ่เน้นให้กลุ่มเป้าหมายใดรับชม เพราะอะไร
“ธรรมดาเด็กๆ จะดู แต่เดี๋ยวนี้เด็กก็ดูจริง พ่อแม่ผู้ใหญ่คนแก่ดูมันเพลิน เราสอดแทรกบางเรื่อง บางอย่างสอนตรงๆ ไม่ได้ต้องสอนอ้อมแทรกเข้าไปในการกระทำของตัวละคร”
ละครจักรๆ วงศ์ๆ แก่นของเรื่องคืออะไร
“ถ้าเป็นจักรๆ วงศ์ๆ สอนเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทุกเรื่องเลย ละครปกติก็เหมือน ใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้น บางทีครูอยากเขียนตามความจริงว่าคนทำดีก็ใช่ว่าจะได้ดี ในโลกความเป็นจริงมันเป็นแบบนี้ เราก็ทำได้แต่ตอนจบต้องได้ดี อยากทำเหมือนภาพยนตร์ฝรั่ง law and order บางกรณีจับได้บางกรณีก็รอดไปดูแล้วหงุดหงิด แต่มันเป็นความจริง เป็นภาพยนตร์ไทยทำได้ แต่ละครทำยาก พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไปเยอะ”
ความรุนแรงในละคร
“ไม่อยากให้มีฉากรุนแรงตบตี เราเป็นครูไม่อยากให้เด็กดูอะไรแบบนี้ยิ่งต้องระวัง”
การสนทนาในวันนี้นอกจากสาระความรู้ในการเขียนบทละครโทรทัศน์ที่ครูตุ้มบ่มเพาะประสบการณ์อยู่ในวงการนี้มานานกว่าสามสิบปีแล้ว เร็วๆ นี้ติดตามผลงานของครูตุ้ม รัมภา ที่กำลังเร่งเขียนคือเรื่อง “ตุ๊กตา”และ “นางสิบสอง” ทางช่องเจ็ดเอชดี กิจวัตรประจำวันที่แสนจะเรียบง่ายไม่แปลกเลยที่ละครโทรทัศน์ทุกเรื่องที่มีโลโก้ “ภาวิต” จะสนุกเร้าใจผู้ชมละครเห็นได้จากอุปนิสัยของครูตุ้มที่สนุก ร่าเริงเหมือนตัวละครที่ครูตุ้มสร้างขึ้นมานั้นเอง