ไซซี 1 ใน 4 ยอดหญิงงามของจีน เป็นบรรพชนคนไท?

ไซซี 1 ใน 4 ยอดหญิงงาม
ภาพเขียนไซซี 1 ใน 4 ยอดหญิงงามของจีน (ภาพจาก หนังสือ百女圖 เขียนโดย 廬延光)

ไซซี 1 ใน 4 ยอดหญิงงาม ของจีน เป็นบรรพชน “คนไท”?

“มอง เธอสาวเธอสวยฉันจึงได้มอง หากเธอไม่สวยฉันจะไม่มอง…พักตร์เธอสวยแจ่มดั่งจันทร์เพ็ญ ฉันแทบช็อคตายเพราะใจเต้น ถ้าหากไม่เห็นฉันคงไม่มอง ไม่มอง มองเธอ เธอสวยน่ารักฉันจึงได้มอง ต่อให้เทวีที่อยู่บนฟ้า ต่อให้สีดาก็ยังเป็นสอง ต่อให้ไซซีที่โลกยกย่อง หากเจอกันสองต่อสอง ฉันว่าพระอินทร์ยังต้องมองเธอ…”

ไซซี เป็นใคร? เราหลายคนยังไม่รู้แน่ชัด แต่ฟังจากชื่อเธอน่าเป็นคนจีน ที่สำคัญเธอต้องสวยเอาเรื่อง เพราะในเนื้อเพลงข้างต้น  เพลง “มอง” ของ ครูสุรพล สมบัติเจริญ กล่าวเอาใจสาวๆ ด้วยการเปรียบความงามของพวกเธอว่า ไซซีที่สวยระดับโลกยังชิดซ้าย

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2554 ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อาศรมสยาม-จีนวิทยาได้จัดการบรรยายเรื่อง “ยอดหญิงงามไซซีเป็นบรรพบุรุษของคนไท” โดยมี ผศ.ถาวร สิกขโกศล, ทองแถม นาถจำนง, น.นพรัตน์ เป็นวิทยากร ซึ่งในที่นี้ของสรุปประเด็นเนื้อหามาเพียงบางส่วน

น.นพรัตน์ อธิบายว่า ไซซีเป็น “1 ใน 4 ยอดหญิงงาม” ของประเทศจีน ได้แก่ ไซซี, หวางเจาจิน, เตียวเสี้ยน และ หยางกุ้ยเฟย โดยไม่ได้จัดอันดับว่าใครงามที่สุด แต่ยอดหญิงงามที่คนแต้จิ๋วจัดลำดับไว้ 4 อันดับกลับแตกต่างออกไปคือ ไซซี, หงอกี, เตี้ยวเสี้ยน และถันกี

อย่างไรก็ตาม ทั้งคนแต้จิ๋วและคนจีนทั้งประเทศต่างเห็นตรงกันว่า “ไซซี” เป็นหญิงงาม

ไซซีเป็นบุคคลจริงช่วงชุนชิวกับเลียดก๊ก เธอเป็นคนแคว้นเย่ว์ ในมณฑลเจ้อเจียง โกวเจี้ยนประมุขของแคว้นเย่ว์เลือกไซซีให้เป็นจารชนหญิง นักเขียนนิยายกำลังภายในอย่างกิมย้งเขียนถึงไซซีในเรื่องสั้นชื่อ “อ๊วกนึ่งเกี่ยม-กระบี่นางพญา”

ผศ.ถาวรช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่าในหนังสือ “กระบี่นางพญา” นั้นกิมย้งกล่าวถึงความงามของไซซี เมื่ออาชิง-สาวแคว้นเย่ว์ผู้ชำนาญกระบี่ เกิดอิจฉา และเคียดแค้นไซซีที่เป็นที่ชื่นชอบของฟ่านหลี เสนาบดีแคว้นเย่ว์ แต่ก็ต้องจำนนกลับความงามของเธอ จนต้องยั้งกระบี่ไม้ไผ่ในมือซึ่งเป็นที่มาของการ “กุมหัวใจ” ว่า

“อาชิงจ้องมองดูรูปโฉมของไซซี แววปองร้ายหมายชีวิตในสีหน้านางค่อยๆ จางหายไป กลายเป็นผิดหวังสิ้นกำลังใจ แล้วกลับเปลี่ยนเป็นตื่นเต้นพิศวง ชื่นชม และแปรเป็นเทิดทูนไปในที่สุด ปากพูดพึมพำว่า ‘ใต้…ใต้ฟ้ามีหญิงาม งามเช่นนี้อยู่จริงๆ! ฟ่านหลี นาง…งาม…งามเลิศกว่าคำพรรณฯ ชมของท่ามากนัก!’ เอวอ้อนแอ้นเอี้ยวกลับ มีเสียงกู่กังวานพุ่งผ่านหน้าต่างออกไป…

ดวงตาไซซีฉายประกายแห่งความอิ่มเอมใจสุดประมาณออกมา แต่ทันใดนั้น ก็ค่อยๆ ขมวดคิ้ว ยกมือขึ้นกุมหัวใจ ไม้ไผ่ของอาชิงแม้จะไม่แทงถูกนาง แต่พลังจากปลายไม้ได้พุ่งเข้ากระแทกหัวใจนางจนบาดเจ็บ

สองพันกว่าปีที่ผ่านผู้คนต่างรู้ดีว่า ‘ไซซีกุมหัวใจ’ เป็นรูปลักษณ์อันงามที่สุดบนพื้นพิภพ”  (จากสี่ยอดหญิงงาม ผู้ผลิกประวัติศาสตร์จีน, ถาวร สิกขโกศล)

ส่วนนางไซซีเป็น คนไท หรือเปล่านั้น เวทีการบรรยายในครั้งนี้ได้นำเสนอเห็นว่า

ทองแถมกล่าวว่า จีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เช่น พื้นที่บริเวณเซียงไฮ้จนถึงเวียดนามตอนเหนือมีคนมีหลายเผ่าที่มีวัฒนธรรมรวมกัน คือ การตัดผมสั้น, อยู่เรือนเสาสูง, สักร่างกาย, เชี่ยวชาญทางน้ำ เรียกว่า “ไป่เย่ว์-เย่ว์ร้อยจำพวก” ที่กระจัดกระจายอยู่ในมณฆลเจ้อเจียง, ฮกเกี้ยน, กวางตุ้ง, กวางสี, ยูนาน ฯลฯ ไป่เย่ว์เป็นชื่อกลุ่มทางวัฒนธรรม ซึ่งคือกลุ่มชนหลากเผ่า หลายตระกูลภาษา แต่มีวัฒนธรรมร่วมกัน

ส่วนเย่ว์ที่อยู่เจ้อเจียงอย่างนางไซซีเป็นไทหรือไม่นั้น ทองแถมกล่าวว่า ยังขาดหลักฐานครบถ้วนชัดเจน  อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางภาษาจากบันทึกบทเพลงชาวเย่ว์ นักวิชาการจีนศึกษาว่าเสียงร้องนั้นเป็นภาษาอะไร พบว่ามีคำศัพท์และการเรียงประโยคแบบภาษาตระกูลไท-กระได ซึ่งเป็นภาษาไทอยู่ในตระกูลภาษานี้ด้วย

จึงพอจะสรุปได้ว่า ชาวเย่ว์ในก๊กนางไซซีเป็นกลุ่มหนึ่งในเย่ว์หลายกลุ่ม และมีเย่ว์กลุ่มหนึ่งที่เป็นบรรพชนของคนไท

ขณะที่ ผศ.ถาวร ได้อธิบายเรื่องดังกล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาทางพันธุกรรมศาสตร์แบ่งสายพันธุ์มนุษย์ตามโครโมโซมวาย และแบ่งโครโมโซมวายของมนุษย์ได้ตั้งแต่กรุ๊ป A-R แล้วมีกรุ๊ปย่อยอีก โดยมนุษย์ที่อยู่แถบเอเชียตะวันออกจะเป็นกรุ๊ป O การค้นคว้าของจีน O-1 เป็นมนุษย์ที่พูดภาษาออสโตรเนเชียน คือ ภาษาเย่ว์ ภาษาชวา-มลายู ภาษาเกาซ่านในไต้หวัน และภาษาไท-กระได, O-2 –ออสโตรเอเชียติก-ภาษามอญ-เขมร,  O-3-ภาษาจีนทิเบต

แต่เดิมภาษาไทอยู่ตระกูลเดียวกับจีน แต่ตอนหลังทฤษฎีออสโตรเนเชียนมาแรง เพราะข้อมูลทางดีเอ็นเอยืนยันว่ามีการร่วมกันทางพันธุกรรม ทั้งที่ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด ส่วนภาษาเกาซ่าน ภาษาชวา มาลายู เป็นคำติดต่อ และมีพยัญชนะต้นควบกล้ำ

หากนักวิชาจีนพิสูจน์ว่า คำที่ภาษาไทเหมือนกันภาษาจีนนั้น ภาษาไทยืมภาษาจีนเป็นส่วนใหญ่  แม้แต่คำนับ 1-10, คำเรียกอวัยะทั้งหลาย ภาษาไทเอาภาษาจีนมาใช้ เช่น คำเรียกอวัยวะหัว มี 3 คำคือ หัว, กบาล, เกล้า  หัว คือ โท่ว ในภาษาจีน เกล้าคือคำดั่งเดิมของไท กบาลยืมภาษาเขมร จากปรากฏการณ์ทางภาษาและดีเอ็นเอ ขอสรุปว่า ภาษาไท เย่ว์ เกาซ่าน เป็นกลุ่มร่วมกันมาแต่เดิม แต่ภาษาไทได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนจึงกลายไป

อาจารย์หลี่ฮุย มหาวิทยาลัยฟู่ตั้นที่ศึกษาภาษาเยว์ ที่ตำบลหม่าเฉียว ใกล้ๆ เมืองเซียงไฮ้ พบว่า มีความเชื่อมต่อกับภาษาเกาซ่านและภาษาไท-กระได ว่ามีการรวมตระกูลกันแต่ดั้งเดิม แล้วมาแยกกันภายหลัง  เช่นเดียวกับภาษาญวนที่เป็นภาษาตระกูลมอญ-เขมร แต่ได้รับอิทธิพลภาษาจีนจึงมีเสียงวรรณยุกต์

นอกจากนี้ นักภาษาศาสตร์จีน คือ เจิ้งจางส่านฟาได้ศึกษาและอ่านเพลงเคลื่อนพลของโกวเจี้ยนด้วยภาษาไทสยาม ส่วนเหว่ยชิงเวิ้นอ่านบทเพลงชาวเย่ว์ที่บันทึกด้วยอักษรจีนโบราณด้วยภาษาจ้วง โดยใช้หลักการทางภาษาศาสตร์ที่เรียกว่า รูปสืบสร้าง (reconstruction form)

รูปสืบสร้าง คือ พิจารณาเนื้อเพลงแต่ละตัวอักษร  เช่น อักษร ม้า-马 เมื่อ 2,000 ปีก่อนไม่ได้อ่านออกเสียงว่า “หม่า” ออกเสียงว่าอะไรก็ไม่ทราบ แต่ต้องเกี่ยวข้องกับเสียงม้าในปัจจุบันแน่นอน ในกรณีนี้เจิ้งจางส่านฟางเลือกภาษาไทสยาม

ดังนั้น เมื่อเราเอาอักษรจีนโบราณไปเขียนเป็นภาษาเย่ว์จะอ่านตามเสียงภาษาจีนปัจจุบันไม่ได้ ต้องวิเคราะห์ว่าอักษรจีนนั้นๆ ในยุคสมัยดังกล่าวออกเสียงว่าอย่างไร คือรูปสืบสร้าง เอารูปสืบสร้างสร้างเสียงโบราณซะก่อน แล้วดูว่าอักษรจีนโบราณตัวนั้นที่ออกเสียงอย่างนี้ใกล้กับคำไทคำใด แล้วเอาเสียงไทโบราณคำนั้นมาเทียบ ก็คือเอาเสียงโบราณกับเสียงโบราณมาเทียบกัน

เช่นนี้เพลงทั้งสองจึงเป็นหลักฐานยืนยันว่าภาษาเย่ว์เป็นต้นกำเนิดของภาษาตระกูลไท-กระได ที่สืบค้นได้ไกลที่สุดในขณะนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2562