เล่าเรื่อง “ส้มบางมด” ภาพจำอีกแห่งนอกจากส้มธนาธร จากปากชาวสวนท้องที่ของแท้

ส้ม ส้มเขียวหวาน
ภาพประกอบเนื้อหา - ส้มเขียวหวาน (ภาพจาก www.technologychaoban.com)

“ส้มบางมด” คงพอเรียกได้ว่าเป็นวลีที่กลายเป็น “แบรนด์” ของแหล่งผลิตส้มที่มีชื่อเสียงมานาน แม้ยุคหลังจะเริ่มจางหายไปบ้างแล้ว แต่ในระยะเวลาหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าหากพูดถึง “ส้มเขียวหวาน” โดยเฉพาะแล้ว ต้องเป็นส้มบางมด เป็น “แบรนด์” ที่ติดภาพจำ ติดหูไม่แพ้ชื่อ “ส้มธนาธร” เลยทีเดียว

หากสืบค้นความเป็นมาของการปลูก “ส้มบางมด” นั้น ในหนังสือ “บางขุนเทียน ส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทยและกรุงรัตนโกสินทร์” มีเนื้อหาส่วนหนึ่งบอกเล่าถึงข้อมูลช่วงแรกเริ่มที่ปลูกส้มเขียวหวานว่า เป็นชาวสวนจาก “สวนนอก” ในย่านบางช้างและดำเนินสะดวกย้ายถิ่นมาตั้งรกรากที่บางมด กลุ่มนี้เป็นผู้ปรับพื้นที่แล้วปลูกส้มเขียวหวานเป็นช่วงแรกๆ

บทความเรื่อง “เทคนิคการปลูกส้มเขียวหวาน ให้ได้ผลผลิตดี มีผลผลิตออกขาย 100,000 กิโลกรัม ต่อปี
 โดยผู้เขียนที่ใช้นามปากกว่า “สาวบางแค 22” ยังอธิบายอีกว่า ส้มบางมดก็คือ ส้มเขียวหวาน อยู่ในตระกูลส้มแมนดาริน นิยมปลูกแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอดีต มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ส้มกำนันจุล ส้มเพชรบูรณ์ ส้มสีทองจังหวัดน่าน ส้มศรีสัชนาลัย ส้มบางมด ส้มรังสิต ส้มกลุ่มนี้คือ ส้มเขียวหวานทั้งหมด แต่ปลูกในระดับอุณหภูมิที่ไม่เหมือนกัน ช่วงกลางคืนกับช่วงกลางวัน มีอุณหภูมิแตกต่างกันประมาณ 14 องศาเซลเซียส ผลส้มจะสร้างสีที่เข้มขึ้น”

ส้มเขียวหวานที่ปลูกกันในบางมด ปรากฏข้อมูลในฐานข้อมูลจากท้องถิ่น “อำเภอบางมด” ว่า ชาวบางมดนำพันธุ์กิ่งตอนมาจากที่อื่น แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2485 ส้มเขียวหวานตายจำนวนมากจึงไปสั่งกิ่งพันธุ์จากจันทบุรี คำถามก็มีต่อมาว่า “ทำไมต้องไปสั่งจากจันทบุรี?”

ข้อนี้ ปราณี กล่ำส้ม ผู้เรียบเรียงบทความ “เรื่องเล่าชาวกรุง ชาวสวนส้มบางมด” อธิบายไว้ว่า พระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) อดีตแพทย์ประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 6 กับนายเต้ก เล่าเต้กหลี คนใดคนหนึ่งหรืออาจเป็นทั้งสองคน (ข้อมูลไม่แน่ชัด) เคยซื้อพันธุ์กิ่งตอนส้มเขียวหวานจากบางกอกแล้วเอาไปปลูกที่จันทบุรี หลังจากนั้นก็พบว่าผิวส้มออกมาเป็นสีเหลือง เป็นเหตุให้ตั้งชื่อว่า “ส้มแสงจันทร์” เชื่อกันว่า เป็นแหล่งที่นำกิ่งพันธุ์ส้มกลับมาปลูกอีกครั้งหลังจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2485

นอกเหนือจากจันทบุรีแล้ว ปราณี ยังอธิบายต่อว่า แหล่งซื้อกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานอีกแห่งยังมีที่ริมทางรถไฟสายใต้ สองฝั่งคลองบางกอกน้อยอีกด้วย ชาวสวนแถบบางกอกน้อยปลูกส้มเอาไว้ตอนกิ่งขายกันโดยเฉพาะ

จุดเปลี่ยนของ “ส้มบางมด” ส่วนหนึ่งต้องบอกว่าสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2485 ซึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ ไม่เพียงต้นส้มเขียวหวานจะตายแค่ประเภทเดียว ต้นไม้ชนิดอื่นก็ตายหมดเช่นกัน ป้าวาสนา ศรีแสงแก้ว ผู้เกิดเมื่อ พ.ศ. 2476 เคยพักอาศัยแถบวัดบางประทุนนอก ตำบลบางมด อำเภอบางขุนเทียน ให้สัมภาษณ์กับปราณีว่า ตอนที่น้ำท่วมยังเป็นเด็กจึงยังไม่ค่อยเดือดร้อนนัก จะสนุกสนานกับการตกปลา ตกกุ้งใต้ถุนบ้านเสียด้วยซ้ำ

แต่หลังจากผ่านช่วงน้ำท่วมไปแล้ว ป้าวาสนา เล่าว่า ชาวสวนต้องตัดต้นส้มทิ้งและหันมาปลูกข้าวโพด แล้วมาต้มข้าวโพดขายโดยการล่องเรือในคลองบางปะแก้ว พอเข้าช่วงเดือน 10 ก็กวนกระยาสารทขาย ประกอบกับเป็นนายหน้าหาคนซื้อกระยาสารทให้แม่ค้าที่มีอาชีพขายกระยาสารทโดยเฉพาะ

เมื่อมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบางมดก็ยังต้องหลบภัยเช่นเดียวกับชาวบ้านละแวกอื่น ชาวบางมดขุดหลุมหลบภัยในท้องร่อง ใช้ไม้หมากที่เป็นท่อนมากั้นและปูเป็นพื้น เอาไม้มาขนาบปิดด้านข้าง หลุมหลบภัยมีมะนาวอีกจำนวนหนึ่งเอาไว้กันงู

กาลเวลาล่วงเลยผ่านยุคสมัยมาหลายช่วง ชาวสวนแถบบางมดเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นกันก็มี บ้านจัดสรรหลายโครงการก็รุกคืบเข้ามาในพื้นที่ สวนที่เคยปลูกส้มเขียวหวานก็กลายเป็นหมู่บ้านบ้างก็มี แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560-61) มีรายงานข่าวปรากฏให้เห็นว่าชาวสวนกลับมาปลูกกันอีกครั้งแล้ว ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ก็หันมาสนับสนุน อนุรักษ์ และฟื้นฟูเอกลักษณ์ทางท้องถิ่นหลังจากความเจริญเข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่จนมีลักษณะของ “ความเป็นเมือง” มากขึ้นเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บางขุนเทียน ส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทยและกรุงรัตนโกสินทร์. พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ น.ท. สุขุม บุนปาน รน. 28 มีนาคม 2530 ณ วัดนางนองวรวิหาร.

ปราณี กล่ำส้ม. “เรื่องเล่าชาวกรุง ชาวสวนส้มบางมด”. ใน เมืองโบราณ ปีที่ 35 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2552).

“วันนี้ขอพักไอที แล้วพามาเก็บ ส้มบางมด แท้ๆ ที่สวนเลย”. Kafaak. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 13 มกราคม พ.ศ. 2561. เข้าถึงเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562. <https://www.kafaak.com/2018/01/13/triptwt-to-bangmod-orange-farm/>


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ พฤศจิกายน 2562