ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | วรชาติ มีชูบท |
เผยแพร่ |
“ลอยกระทง” เป็นงานรื่นเริงอย่างหนึ่งของคนไทย มีกำหนดจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี ซึ่งในช่วงเวลานี้น้ำจะหลากเอ่อล้นไปทั่วฝั่งแม่น้ำลำคลอง ดังคำโบราณว่า “เดือน 11 น้ำนอง เดือน 12 น้ำทรง” แต่ทางภาคเหนือของไทยซึ่งเดิมเรียกว่าภาคพายัพนั้นกลับจัดประเพณีลอยกระทงกันในวันเพ็ญเดือนยี่ หรือที่เรียกกันว่า “วันยี่เป็ง”
คำว่า “เป็ง” ในภาษาเหนือนั้นตรงกับคำว่า “เพ็ญ” ในภาษาภาคกลาง ส่วน “ยี่” นั้น คือ เดือนยี่หรือเดือนที่ 2 ของปี สาเหตุที่การลอยกระทงในภาคเหนือต้องมาตกอยู่ในเดือนยี่เป็นเพราะ “…เมืองลาวเฉียง [1]… ไม่ได้ใส่อธิกมาศ [2] สักสองปี…” [3] จึงทำให้เดือนของภาคเหนือนั้นเคลื่อนไปจากภาคกลางถึง 1 เดือน
แม้จะเรียกชื่อวันและเดือนต่างกัน แต่คนไทยในภาคเหนือก็ยังคงจัดงานลอยกระทงในวันเดียวกันกับคนไทยภาคอื่นๆ จะมีที่ต่างอยู่บ้างก็ประเพณีลอยกระทงของจังหวัดเชียงใหม่ที่จัดกันถึง 2 วัน คือ ในวันเพ็ญและวันแรม 1 ค่ำเดือนยี่เหนือ
การลอยกระทงในวันเพ็ญเดือนยี่เหนือนั้นจะเริ่มขึ้นเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ กล่าวไว้ว่า
“…เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นตามแบบประเพณีของกรุงเทพฯ ผู้ที่เริ่มการลอยกระทงในเชียงใหม่เป็นคนแรกน่าจะเป็นพระราชชายา เจ้าดารารัศมีในช่วงประมาณ พ.ศ.2460-2470 โดยจุดเทียนบนกาบมะพร้าวทำเป็นรูปเรือเล็ก หรือรูปหงส์ และใช้ท่อนไม้ปอทำเป็นรูปเรือ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมทั่วไปเพราะชาวล้านนายังนิยมการประดับประทีปโคมไฟตามบ้านเรือน และมักจัด ตั้ง ธัมม์หลวง หรือเทศน์มหาชาติในวัน ‘เพ็ญเดือนยี่’ ตามประเพณีอยู่…” [4]
ในขณะที่วารสารยุพราชวิทยา ปีที่ 3 ฉบับ ส.ค.ส. 2493 ได้กล่าวถึงประเพณีลอยกระทงของจังหวัดเชียงใหม่ไว้ว่า
“การลอยกระทงถือกันเป็นประเพณีนิยมอย่างหนึ่งของเผ่าไทยเดิมผู้มีอาณาจักรอยู่ในดินแดนภาคเหนือมาแต่โบราณกาล ซึ่งความจริงก็มิใช่เก่าแก่จนเกินไปนัก หากจะถือเอาระยะเวลาที่ทำกันอย่างจริงจังก็คืออายุของจังหวัดสุโขทัยสมัยเป็นราชธานีของอิสสระอาณาจักรไทยครั้งราชวงศ์พระร่วงเป็นกษัตริย์เป็นปฐม…
นครพิงค์รับช่วงประเพณีการลอยกระทงนี้มาจากสุโขทัยในสมัยเดียวกันเพราะนครพิงค์กับนครสุโขทัยเป็นมิตรกันจนถึงเป็นสหายสงคราม แต่ชาวลานนาเป็นคนใจบุญสุนทรทาน มีความนับถือพระพุทธศาสนาแนบแน่นอยู่ในหัวใจจึงคิดอ่านดัดแปลงการลอยกระทงให้เหเข้าหาศาสนาไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างการลอยกระทงของนครสุโขทัย ประเพณีการลอยกระทงของนครพิงค์และจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำจึงวัฒนาถาวรไม่เสื่อมลง…” [5]
แต่มีความเชื่ออีกกระแสหนึ่งว่า ในยุคก่อนนั้นชาวเชียงใหม่ยังคงใช้ชีวิตกันอยู่ในกำแพงเวียง และชาวเมืองอื่นที่ถูกกวาดต้อนมาในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ล้วนตั้งบ้านเรือนระหว่างกำแพงเวียงกับกำแพงดิน ต่อมาเมื่อจะต้องจัดตั้งศาลต่างประเทศขึ้นที่นครเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2417 เพื่อชำระคดีที่คนพื้นเมืองพิพาทกับชาวต่างประเทศและคนในบังคับ พระเจ้าอินทวิชยานนท์จึงได้เลือกพื้นที่ริมแม่น้ำปิงซึ่งอยู่นอกแนวกำแพงดินให้เป็นที่ตั้งศาลต่างประเทศและเป็นที่พักข้าราชการสยาม
เมื่อข้าราชการสยามต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่ในหัวเมืองที่ห่างไกลเช่นนั้น ก็เป็นธรรมดาที่ย่อมจะคิดถึงบ้านเกิด เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งเป็นวันลอยกระทง จึงคงจะจัดประเพณีลอยกระทงกันในหมู่ข้าราชการสยามก่อน ต่อมาเมื่อเจ้าแก้วนวรัฐฯ ย้ายคุ้มออกไปอยู่ที่ริมแม่น้ำปิงใน พ.ศ. 2444 แล้ว เจ้าแก้วนวรัฐฯ คงจะเป็นผู้นำชาวเชียงใหม่เข้าร่วมประเพณีลอยกระทงกับข้าราชการสยาม ต่อจากนั้นชาวเชียงใหม่ก็คงจะได้เข้าร่วมประเพณีลอยกระทงกันมาเป็นลำดับ จนถึง
“…ประมาณปี พ.ศ. 2476 มีนักเรียนยุพราชวิทยาลัยสมองดีกลุ่มหนึ่ง เอาเรือ กาบปี๋ หรือเรือกาบปลี ซึ่งใช้พายสัญจรไปตามลำน้ำแม่ปิง และใช้ตกเบ็ดตกปลาได้ บรรทุกนักดนตรีและดนตรีเครื่องสายพื้นเมือง เห่กล่อมตามกระทงไปตามสายน้ำ รุ่งขึ้นปี พ.ศ. 2477 นักเรียนของมัธยมปีที่ 5 โรงเรียนปรินสรอยแยลส์วิทยาลัยที่นับถือพุทธศาสนาได้รวมกลุ่มจัดสร้างกระทงขนาดใหญ่ เอาต้นกล้วยมาทำทุ่นให้ลอยได้ประดับด้วยโคมกระดาษหลายโคมสว่างไสว แล้วนำลงไปลอยที่ข้างคุ้มวงศ์ตะวัน เป็นกระทงใหญ่กระทงแรก โดยมีคุณหญิงอนุบาลพายัพกิจ ภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้นไปร่วมสนับสนุนดูนักเรียนชุดนี้ลอยกระทงกัน แล้วตามด้วยเรือกาบปี๋อีกหนึ่งลำพร้อมด้วยดนตรีเครื่องสาย เช่นที่โรงเรียนยุพราชเคยทำ ทั้งสองโรงเรียนนี้จึงบรรเลงแข่งขันกันไปตามสายธารของแม่น้ำปิงติดตามกระทงขนาดเขื่องนี้ลงไป ปีต่อๆ มามีคนเห็นดีและสนุกพากันทำกระทงขนาดใหญ่นี้เพิ่มขึ้นจาก 2 เป็น 3 และมากขึ้นทุกปี…” [6]
ต่อมาใน พ.ศ. 2480 รองอำมาตย์โท ชุ่ม ณ บางช้าง หรือ “อาจารย์ชุ่ม” ครูยุพราชวิทยาลัย ได้เสนอแนะให้ยุพราชวิทยาลัย “…สร้างกระทงรูปเรือหงส์ขึ้น มีขนาดยาวถึง 7 เมตร สร้างตามแบบเรือสุพรรณหงส์ทีเดียว…” [7] รองอำมาตย์โท เกยูร ผลาชีวะ อาจารย์ใหญ่ยุพราชวิทยาลัยในสมัยนั้น จึงได้มอบหมายให้ ครูจันทร์เที่ยง ปัญญาเพชร ครูศิลปะของยุพราชวิทยาลัยในเวลานั้น เป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างกระทงรูปเรือหงส์ขึ้นเป็นครั้งแรก
พอถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่เหนือซึ่งเป็นวันประเพณีลอยกระทงใหญ่ อาจารย์ใหญ่ยุพราชวิทยาลัยก็ได้จัดให้นักเรียนช่วยกันแห่กระทงนี้จากโรงเรียนไปลอยที่ท่าวังสิงห์คำเหนือสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ในปัจจุบัน ในระหว่างที่เดินกระบวนแห่ไปนั้น นักเรียนที่กระบวนก็ได้ช่วยเห่กระทงนั้นด้วยบทเห่ของอาจารย์ชุ่มพร้อมกันไปด้วย การแห่กระทงของยุพราชวิทยาลัยในคราวนั้น จึง “…เรียกร้องคนดูได้อย่างน่าพิศวง และตั้งแต่นั้นวัดวาอารามต่างๆ ก็ตั้งหน้าสร้างกระทงขนาดใหญ่ๆ แข่งขันกับโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และมีการเห่กระทงในขณะแห่กระทงไปสู่ท่าน้ำด้วย…” [8]
ประเพณีการลอยกระทงจังหวัดเชียงใหม่ที่แปลกพิสดารนี้ต้องมีอันระงับไปหลายปีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามสงบและบ้านเมืองกลับคืนสู่สภาวะปกติ ชาวจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้พร้อมกันรื้อฟื้นประเพณีการลอยกระทงขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2489 ดังที่ยุพราชวิทยา ปีที่ 3 ฉบับ ส.ค.ส. 2493 ได้บรรยายบรรยากาศของงานลอยกระทงจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงนั้นไว้ว่า
“วันที่ใช้ทำพิธีลอยกระทงคือวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ (คือวันเพ็ญเดือน 12) กับวันแรม 1 ค่ำ อันถือกันว่าเป็นวันกึ่งกลางของเดือนและมีน้ำเปี่ยมฝั่งแม่น้ำปิงอันเป็นลำน้ำที่ไหลผ่านนครพิงค์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นราชธานีของเผ่าไทยเดิม และในวันที่ลอยกระทงสองวันนี้เองที่ประชาชนชาวเวียงพิงค์พากันหลั่งไหลไปลอยและดูการลอยกระทงเต็มทั้งสองฟากแม่น้ำจนแทบจะไม่มีที่ว่างและทางเดิน
สภาพของกระทงเล่าก็ได้รับการประดิษฐ์สร้างสรรค์ให้วิจิตรงดงามยิ่งๆ ขึ้นตามลำดับกาล มีขนาดและรูปร่างใหญ่โตและสวยงามขึ้นตามลำดับด้วยเช่นเดียวกันแต่ก็ยังอยู่ในสภาพของกระทงธรรมดา ยังไม่เร้าความตื่นเต้นและสนใจของผู้ดูเท่าไรนัก
คณะอาจารย์และสานุศิษย์ของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยได้นำเรือกระทง ‘สุวรรณหงส์’ ขนาดยาว 6 1/2 เมตร ประดับประดาเสียงามวิจิตรด้วยบุษบก ฉัตร ธงริ้วและโคมไฟลงลอยลำน้ำแม่ปิงเป็นลำแรกเมื่อ พ.ศ. 2480 พร้อมด้วยขบวนนักเรียนเรือนพันแห่และเห่ด้วยบทเพลงเห่เรือทำนองเห่เรือยุคกรุงศรีอยุธยาไปตามถนนและลงเรือเห่ตามกระทงล่องลำแม่น้ำ การกระทำทั้งนี้ย่อมยังความพิศวงตื่นเต้นให้แก่ท่านผู้พบเห็นยิ่งนัก และในปีต่อๆ มาก็เช่นเดียวกันจนเป็นเหตุให้มีการประดิษฐ์กระทงขนาดใหญ่โตและงดงามมากรายขึ้นตามลำดับ แต่ถึงแม้จะมีกระทงใหญ่สักกี่รายก็ตามประชาชนก็ยังถามกันว่า ‘ยุพราชวิทยามีไหม? รูปอะไร?’ เช่นนี้ทุกๆ ปี
ใน พ.ศ. 2490 เทศบาลนครเชียงใหม่ได้เข้าร่วมมือในการเชิดชูประเพณีการลอยกระทงโดยจัดให้มีการประกวดกระทงชิงรางวัลขึ้นเป็นครั้งแรก เรือกระทงรูปพญานาคเจ็ดหัวของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ก็หยิบรางวัลถ้วยเงินไปได้อย่างง่ายดาย ใน พ.ศ. 2491 กำหนดวันลอยกระทง เรือกระทงรูปกินรีของโรงเรียนนี้ก็หยิบถ้วยเงินรางวัลได้อีกเช่นปีก่อน
พ.ศ. 2492 กำหนดวันลอยกระทงเพ็ญเดือนยี่และแรมหนึ่งค่ำตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน ในปีนี้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีอดีตราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรการลอยกระทงด้วยจึงควรเชื่อได้ว่า จะได้ชมกระทงขนาดใหญ่รูปงามแปลกตากว่าทุกคราวที่แล้วมาแต่ข้อเท็จจริงในความเชื่อนี้มีแค่ไหนเพียงไร ย่อมประจักษ์แก่ตาประชาชนเรือนแสนอยู่แล้วจึงงดกล่าวเสียได้
ในปีนี้โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ส่งกระทงเข้าประกวดสองชิ้นด้วยกัน ชิ้นใหญ่คือกระทงรูปเรือมังกรขนาดยาว 5 เมตร ชิ้นรองคือรูปดอกบัวบาน ภายในมีรูปพระลักษมีนั่งประณมกร แสดงปางกวนน้ำทิพย์ ทั้งสองกระทงมีบทขับเสนาะกรรณของ ช. ณ บางช้าง[9] กำกับครบครัน และโรงเรียนยุพราชวิทยา ก็หยิบถ้วยรางวัลได้ทั้งสองกระทง…” [10]
จากรายละเอียดข้างต้นทำให้ทราบว่า ในระยะแรกของการจัดทำกระทงใหญ่นั้น กระทงของยุพราชวิทยาลัยและของหน่วยงานอื่นๆ ล้วนมีรูปแบบพื้นฐานเป็นรูปเรือต่างๆ ต่อมาเมื่อกรมทางหลวงได้มาร่วมประเพณีลอยกระทงของจังหวัดเชียงใหม่ รูปแบบของกระทงจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพราะกระทงที่กรมทางหลวงส่งเข้าประกวดนั้นทำเป็น “…ภาพตอนนารายณ์บรรทมสินธุ์ ใช้บัลลังก์นาคเป็นตัวกระทง และใช้คนจริงๆ แต่งกายเป็นพระนารายณ์กับพระมหาเทวีทั้งสอง…” [11]
เมื่อกรมทางหลวงเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบของกระทงจากประเพณีนิยมเดิมเป็นรายแรกแล้ว จากนั้นมากระทงที่ส่งเข้าประกวดในแต่ละปีก็ยิ่งทวีความงดงามและแปลกตามากยิ่งขึ้น มีกระทงส่งเข้าประกวดทั้งกระทงลอยน้ำ คือ กระทงที่สามารถนำไปลอยน้ำได้จริง และกระทงบก ที่ผู้จัดทำเพียงแต่ส่งมาเข้ากระบวนแห่เพื่อแสดงความสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ จำนวนกระทงที่ส่งเข้าประกวดก็ทวีจำนวนมากขึ้น จากไม่ถึงสิบกระทงเป็นสิบกว่า ยี่สิบกว่า บางปีมีถึงกว่าห้าสิบกระทง นอกจากกระทงที่ต่างก็ออกแบบสร้างสรรค์กันมาอย่างวิจิตรพิสดารแล้ว ที่ไม่น้อยหน้าไปกว่ากันก็คือ ขบวนแห่ของแต่ละกระทงซึ่งจัดกันมาอย่างยิ่งใหญ่และงดงาม งานลอยกระทงของจังหวัดเชียงใหม่จึงยิ่งสนุกครึกครื้น “…มีคนดูแน่นขนัดไปทุกถนนหนทางแทบเดินไม่ได้ สองฟากฝั่งแม่น้ำปิงแน่นอัดไปด้วยฝูงชนที่พากันมาจองที่นั่งไว้ตั้งแต่บ่าย บางคนถึงกับห่ออาหารมารับประทานด้วย เพราะเกรงจะไม่ได้ที่ดูดีๆ…” [12]
ต่อมาใน พ.ศ. 2512 องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ได้มาเปิดสำนักงานสาขาที่จังหวัดเชียงใหม่ [13] จึงได้ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่จัดการส่งเสริมประเพณีลอยกระทงจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นเทศกาลท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด จึงมีนักท่องเที่ยวทั้งจากภายในและต่างประเทศแห่แหนกันมาเที่ยวชมงานลอยกระทงจังหวัดเชียงใหม่กันเป็นจำนวนมากทุกๆ ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- “เจ้าดารารัศมี” นำประเพณีลอยกระทงไปเผยแพร่ที่เชียงใหม่?
- ลอยกระทง เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยจริงหรือ?
- ลอยกระทงกับคำสอน “นางนพมาศ” แฝงคติเตือนสนม อย่า “เล่นเพื่อน” ประณามหญิงรักหญิง?
- รำวงลอยกระทง เพลงที่ถือกำเนิดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- “วันยี่เป็ง” เทศกาลเดือนสองของล้านนา ตรงกับ “เพ็ญเดือนสิบสอง” ของคนภาคอื่นๆ
เชิงอรรถ :
[1] ต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลพายัพ ซึ่งประกอบไปด้วยเมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน แพร่ เชียงรายและแม่ฮ่องสอน
[2] คือ เดือน 8 สองครั้งใน 1 ปี ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นปีปกติจะมี 12 เดือน คิดเป็นจำนวนวันได้ปีละ 354 หรือ 355 วัน หลายๆ ปีเข้าจะรวมวันทบเข้าเป็นปีอธิกมาศ คือปีนั้นมี 13 เดือน โดยปีที่เป็นอธิกมาศจะมีเดือน 8 สองครั้ง คิดเป็นจำนวนวันได้ปีละ 384 วัน
[3] “ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่,” ราชกิจจานุเบกษา 5 แผ่นที่ 53 (วันอาทิตย์ เดือนสี่ แรมสิบห้าค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก 1250) น. 451-456.
[4] ศรีเลา เกษพรหม. “ลอยกระทง,” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 11 (ยักขินี-ลี้, อำเภอ). น. 5852.
[5] “การลอยกระทง,” ยุพราชวิทยา ปีที่ 3 ฉบับ ส.ค.ส. 2493, น. 30-31.
[6] พันเอก (พิเศษ) พูนพล อาสนจินดา. “บทบาทของท้องถิ่นในการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว,” อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พันเอก (พิเศษ) พูนพล อาสนะจินดา ป.ม., ป.ช., น. 351.
[7] รองอำมาตย์โท ชุ่ม ณ บางช้าง. วัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่. น. 30.
[8] เรื่องเดียวกัน
[9] คือ รองอำมาตย์โท ชุ่ม ณ บางช้าง ครูโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
[10] การลอยกระทง,” ยุพราชวิทยา ปีที่ 3 ฉบับ ส.ค.ส. 2493, น. 31-34.
[11] รองอำมาตย์โท ชุ่ม ณ บางช้าง. วัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่. น. 30.
[12] เรื่องเดียวกัน
[13] ปัจจุบันคือ สำนักงานการท่องเที่ยว ภาคเหนือ เขต 1
บรรณานุกรม :
ชุ่ม ณ บางช้าง, รองอำมาตย์โท. วัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่. (พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพและฌาปนกิจศพ พระและนางพิบูลย์บริหาร ณ สุสานช้างคลาน วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2507). เชียงใหม่ : โรงพิมพ์พระสิงห์การพิมพ์, 2507.
“ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่,” ราชกิจจานุเบกษา 5 แผ่นที่ 53 (วันอาทิตย์ เดือนสี่ แรมสิบห้าค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก 1250), น. 451-456.
พูนพล อาสนะจินดา, ศาสตราจารย์ พันเอก (พิเศษ). อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พันเอก (พิเศษ) พูนพล อาสนะจินดา ป.ม., ป.ช., กรุงเทพฯ : บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด, 2535.
โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย. ยุพราชวิทยา ปีที่ 3 ฉบับ ส.ค.ส. 2493. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์พุทธนิคม, 2493.
ศรีเลา เกษพรหม. “ลอยกระทง,” สารานุกรมวัฒนรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 11 (ยักขินี-ลี้, อำเภอ). กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2562