ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ในบรรดาข้าราชการที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมไทยทั้งช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พระยาอนุมานราชธน ย่อมมีชื่อด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางวัฒนธรรมและแนวคิด “ความเป็นไทย” ในผลงานและความคิดเห็นจำนวนมากของท่าน ส่วนหนึ่งพบว่ามีวิจารณ์การนับถือ “ศาสนา” ของประชาชน
พระยาอนุมานราชธน เติบโตในยุคสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์ฝรั่งเศส โดยกำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2431 เคยทำงานเอกชน รับราชการเป็นเสมียนที่กรมศุลกากร ช่วงนี้ยังได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “เสฐียรโกเศศ” ต่อมายังขึ้นเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมศุลกากร และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุมานราชธน
ช่วงเวลาที่ทำงานในกรมศุลกากรนี้เอง ท่านสนใจเรื่องวรรณกรรมอย่างมาก เคยแปลหนังสือร่วมกับ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) หลายเรื่อง พระยาอนุมานราชธน ยังเป็นที่โปรดปรานของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์เขียนวิจารณ์ผลงานของพระยาอนุมานราชธนในเชิงบวกอย่างมาก ทรงแสดงพระประสงค์ให้พระยาอนุมานราชธนมาเป็นเลขานุการราชบัณฑิตยสภา แต่ท่านปฏิเสธไป อย่างไรก็ตาม กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงขอให้พระยาอนุมานราชธนแปลหนังสืออีกหลายเล่ม
ผลงานของพระยาอนุมานราชธนส่วนหนึ่งสรรเสริญสถาบัน แม้แต่ความสัมพันธ์ส่วนตัวของท่านเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้านายหลายพระองค์แม้ว่าจะอยู่ในช่วงหลัง พ.ศ. 2475 ก็ตาม สายชล สัตยานุรักษ์ วิเคราะห์ว่า งานเขียนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของปัญญาชนที่ตอบสนองนโยบายทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงทศวรรษ 2480-2490 รวมถึงผลงานของพระยาอนุมานราชธนเกี่ยวข้องสืบเนื่องกับผลงานของปัญญาชนแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ยังต้องอาศัยอุดมการณ์ที่สถาปนาขึ้นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ช่วยจรรโลงโครงสร้างการเมืองรวมศูนย์อำนาจในยุค “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย”
ในส่วนงานเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมของประชาชนโดยพระยาอนุมานราชธน ถูกนักวิชาการรุ่นหลังวิเคราะห์ว่าเขียนถึงในฐานะ “ฐานเจดีย์” กล่าวคือ “เจริญอยู่ในระดับต่ำสุดในวัฒนธรรมแห่งชาติของไทย” แต่ฐานเจดีย์เป็นสิ่งสำคัญซึ่งทำให้ “ยอดเจดีย์” ตั้งดำรงอยู่ได้ จึงจำเป็นต้องเข้าใจส่วนที่เป็นฐานให้ชัดเจนเพื่อเข้าใจ “ชาติ” อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
ในงานเขียนชื่อ “พุทธศานาและไสยศาสตร์” ที่ถูกรวบรวมในงานนิพนธ์ของพระยาอนุมานราชธน พระยาอนุมานราชธนเปรียบเทียบเรื่อง “ฐาน” กับ “ยอด” เจดีย์ ใจความตอนหนึ่งว่า
“…ว่าโดยเนื้อแท้ของพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นแต่เรื่องสอนคนให้รู้จักคิดด้วยเหตุผล เมื่อเห็นจริงแล้ว จึงเชื่อและประพฤติปฏิบัติตนไปตามนั้น ธรรมที่กล่าวเหล่านี้ เหมาะแก่ผู้ทรงคุณความรู้ มีปัญญา รู้จักใช้เหตุผลในสิ่งที่ตนเชื่อ แต่ท่านเหล่านี้มีอยู่กี่คน ถ้าคิดเทียบส่วนกันกับคนอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งมีปัญญาและความรู้ลดหลั่นกันลงไปเป็นชั้นๆ ที่จะมีเท่ากันทั้งหมดหามีไม่ เปรียบเหมือนพระสถูปเจดีย์….
คนมีปัญญาสูง เปรียบเหมือนเป็นส่วนยอดของพระเจดีย์ คนที่มีปัญญาต่ำลงมาก็เปรียบเหมือนส่วนต่างๆ ของพระเจดีย์ ซึ่งลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ จนถึงชั้นล่างสุดก็ถึงตอนที่เป็นฐานเจดีย์ ซึ่งในตัวของมันเองก็มีเป็นชั้นๆ เหมือนกัน เป็นฐานเขียง ฐานปัทม์ ฐานเท้าสิงห์ เป็นต้น คนที่เป็นชั้นตาสีตาสา ยายมียายมา ซึ่งเป็นพวกชาวบ้านร้านถิ่น ก็เปรียบได้เป็นเหมือนชั้นฐานเจดีย์…ขอให้คิดดู ถ้าเจดีย์ไม่มีฐานไว้เป็นสิ่งรองรับ ตัวเจดีย์และยอดเจดีย์จะอยู่ได้ไฉน..
เหตุนี้ ภายในศาสนาเดียวกันจึงต้องมีแยกกันอยู่ในทางทฤษฎีเป็นสองพวก คือศาสนาของผู้รู้ (intellectual religion) และศาสนาของประชาชน (popular religion) แต่ในทางปฏิบัติแยกให้เด็ดขาดไม่ได้ เพราะมีลักษณะเหลื่อมล้ำกันอยู่ทุกระยะ”
ตามความคิดเห็นของนักวิชาการแล้ว สายชล สัตยานุรักษ์ บรรยายแนวคิดด้าน “ศาสนา” ของพระยาอนุมานราชธนว่า
“พระยาอนุมานราชธนได้แสดงให้เห็นอยู่เสมอว่าการนับถือศาสนาของประชาชนวางอยู่บนศรัทธาหรืออารมณ์ ซึ่งด้อยกว่าการนับถือศาสนาด้วยปัญญาหรือด้อยกว่าการใช้เหตุผลของบรรดาผู้มีปัญญาความรู้
ชาวบ้านทั่วไปซึ่ง ‘มีปัญญาน้อย’ มีความเข้าใจ ‘ธรรม’ ในระดับต่ำ หรือนับถือพุทธศาสนาแบบที่ไม่ต้องอาศัย ‘ปัญญา’ มาก หรือไม่ต้องอาศัย ‘ปัญญา’ ใดๆ เลย มีแต่ศรัทธาคือเชื่อด้วยอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น”
พระยาอนุมานราชธนยังอธิบายการแบ่งแยกเป็นนิกายต่างๆ ของพุทธศาสนาว่า เกิดจากความสูง-ต่ำ ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่แตกต่างของผู้นับถือ ไม่ได้มาจากแต่ละชาติที่มีทัศนะทางศาสนาแตกต่างกัน พระยาอนุมานราชธน ยังกล่าวในงานนิพนธ์ชื่อ “พุทธศาสนาและไสยศาสตร์” ว่า “แก่นหรือเนื้อแท้ของศาสนา…ถ้าเป็นคนชั้นฐานเจดีย์ก็มองเห็นได้ยากเต็มที เพราะมีเปลือกและกระพี้ปิดบังไว้หนาแน่น”
นอกจากนี้ พระยาอนุมานราชธนยังเขียนเกี่ยวกับความเสมอภาคทางวัฒนธรรมไว้หลายที่ โดยมองว่า ความเสมอภาคทางวัฒนธรรมของกลุ่มต่างๆ ในสังคม เป็นสภาวะที่ไม่น่าปรารถนา และเน้นว่า วัฒนธรรมของคนแต่ละท้องถิ่น แต่ละชั้นจะต้องแตกต่างกันและไม่เท่าเทียมกัน ดังข้อเขียนส่วนหนึ่งว่า
“ถ้าสังคมใดมีบุคคลเป็นส่วนประกอบที่มีระดับวัฒนธรรมเสมอกันหมด สังคมนั้นก็มีวัฒนธรรมเป็นแบบรูปซึ่งไม่น่าปรารถนานัก”
พระยาอนุมานราชธน เป็นอีกหนึ่งนักคิดที่เชื่อเรื่องการแบ่ง “ชั้น” ว่าเป็นเรื่องธรรมดา และต้องยอมรับความจริง แต่ไม่ได้แบ่งด้วยหลักชาติวุฒิโดยตรง เน้นระดับ “ปัญญา” หรือความสามารถในการใช้เหตุผลแทน
ในมุมมองของนักวิชาการที่ศึกษาแนวคิดและผลงานของพระยาอนุมานราชธนตลอดทศวรรษ 2490 อย่างสายชล สัตยานุรักษ์ มองว่า การเน้นแบ่งชั้นทางสังคมและวัฒนธรรม เน้นให้ประชาชนทำหน้าที่ด้วยความเสียสละ เน้นความสามัคคีระหว่างคนที่ต่างชั้นกัน และเน้นบทบาทชนชั้นนำในการกำหนดทางเลือกของความเปลี่ยนแปลง ไม่เอื้อต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
พระยาอนุมานราชธนถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2512 หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เกิดเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ” ช่วงต่อมาพลังของแนวคิดเรื่องความเสมอภาคก็เริ่มสูงขึ้น แต่ภายหลังเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ” ความคิดเรื่องการแบ่งชนชั้นทางสังคมและวัฒนธรรมจากความหมายของ “ความเป็นไทย” กระแสหลักก็กลับมามีอิทธิพลต่อสังคมไทยอีกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม :
- พระยาอนุมานราชธนสร้างมโนทัศน์ “ชนบทไทยนี้ดี” ฤๅเป็นเครื่องมือต้านคอมมิวนิสต์?
- หลวงวิจิตรฯ-พระยาอนุมานฯ สองลูกจีนกับนโยบาย “กลืนกลายจีนให้เป็นไทย”
อ้างอิง :
ศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์. พระยาอนุมานราชธน ปราชญ์สามัญชนผู้นิรมิต “ความเป็นไทย”. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2562