ผู้เขียน | คนไกล วงนอก |
---|---|
เผยแพร่ |
“กลืนกลายจีนให้เป็นไทย” เป็นนโยบาย ช่วงที่ จอมพล ป. อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย (พ.ศ. 2481-2487 และ พ.ศ. 2491-2500) ประเทศและรัฐบาลต้องเผชิญกับการขยายตัวของกระแสชาตินิยมจีนในไทย ความผันผวนทางการเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์
ดังนั้น จอมพล ป. จึงสร้างนโยบายชาตินิยม ที่มีเป้าหมายเพื่อควบคุมคนจีน ตั้งแต่ การสั่งปิดโรงเรียนจีน, การควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมืองของคนจีนอย่างเข้มงวด พร้อมไปกับการสนับสนุนให้คนไทยเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจแทนที่คนจีน แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนจีนซึ่งมีทักษะความเชี่ยวชาญในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่สามารถบ่มเพาะบุคคลมาทดแทนได้ในเวลาสั้นๆ
ทางออกที่ดีในการแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ การ กลืนกลายคนจีนให้เป็นไทย โดยผู้ปฏิบัติการคนสำคัญ คือ หลวงวิจิตรวาทการ และพระยาอนุมานราชธน ซึ่งเป็นลูกจีนที่กลายเป็นไทย
หลวงวิจิตรวาทการ (พ.ศ. 2441-2505) ชื่อจีนว่า กิมเหลียง (金良) ลูกจีนที่เติบโตในจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีประชากรจีนไม่มากนัก ถูกกล่อมเกลาภายใต้สภาพแวดล้อมไทย และเคยบวชเรียนเมื่อวัยเยาว์ ทั้งยังรับอิทธิพลจากแนวคิดเชื้อชาตินิยมไทยสมัยรัชกาลที่ 6 ทำให้แนวคิดของหลวงวิจิตรฯ ค่อนข้างดุดัน เช่น การนิยามชาติไทยว่าเป็นของคนเชื้อชาติไทย ขณะที่สร้างคนเชื้อชาติจีนให้กลายเป็น “คนอื่น” ซึ่งเป็นศัตรูของชาติ
นอกจากนี้งานเขียนต่างๆ ของหลวงวิจิตรฯ เช่น บทละคร เพลง งานเขียน เชิงประวัติศาสตร์ ฯลฯ ยังเสนอภาพประเทศไทยที่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ยาวนาน ผ่านการต่อสู้กับข้าศึกศัตรูอย่างกล้าหาญ หนึ่งในศัตรูของชาติคือคนจีน ดังเห็นได้จากบทละคร “น่านเจ้า” ซึ่งวางอยู่บนโครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทยอันเป็นที่นิยมในยุคนั้น ว่าคนไทยเคยมีอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ทางตอนใต้ของจีนและต้องอพยพลงใต้ เมื่อถูกคุกคามจากจีน
พระยาอนุมานราชธน (พ.ศ. 2431-2512) ชื่อจีนว่า หลีกวงหยง ( 李光荣) ลูกจีนที่เติบโตในกรุงเทพฯ ซึ่งมีประชากรจีนจำนวนมาก คุ้นเคยกับวัฒนธรรมจีนในชีวิตประจำวัน เช่น การดื่มชาและใช้ตะเกียบ มีสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมที่มีความเป็นจีนมากกว่าหลวงวิจิตรฯ แต่พระยาอนุมานฯ ก็เชื่อว่าคนจีนในไทยควรกลืนกลายเข้ากับสังคมไทยและรับอัตลักษณ์ไทย และอ้างถึงตัวเองเป็นแบบอย่างว่า “ข้าพเจ้าแม้เป็นพันธุ์ลูกผสม แต่ก็ถือตนด้วยความหยิ่งว่า ข้าพเจ้าเป็นไทยแท้ สมบูรณ์ทั้งชีวิตและจิตใจ”
พระยาอนุมานฯ ใช้วิธีการที่นุ่มนวลกว่าในการ กลืนกลายจีนให้เป็นไทย การสร้างความรู้เพื่อสนับสนุนนโยบายชาตินิยม และการสร้างไทยให้เป็นมหาประเทศผ่านการขยายดินแดนของจอมพล ป. ไปยังพื้นที่ที่มีชนเชื้อชาติไทย ซึ่งรวมถึงจีนตอนใต้ ด้วยการสร้างความรู้ว่าคนจีนตอนใต้ แท้จริงนั้นเป็นคนไทย และระบุว่า ยูนนาน กว่างสี กุ้ยโจว และกวางตุ้ง เป็นคนไทยมาก่อน แต่เมื่อจักรวรรดิจีนขยายอำนาจลงใต้ คนไทยที่อยู่ทางตอนใต้ของจีนจึงถูกกลืนกลายให้เป็นจีน และยังเป็นการสร้างที่ยืนให้แก่คนจีนในไทยซึ่งส่วนมากอพยพมาจากตอนใต้ของจีน ภายใต้กระแสความกดดันที่มีต่อคนจีน ผ่านการเสนอทางเลือกในการยอมกลืนกลายเป็นไทยด้วยตนเอง
นอกจากนี้งานเขียนเรื่อง “ไทย-จีน” ซึ่งพระยาอนุมานฯ เปรียบเทียบคำไทยกับคำจีน 5 กลุ่ม (ฮากกา ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว กวางตุ้ง และไหหลำ) โดยระบุว่า คำใน 5 กลุ่มภาษาดังกล่าวหลายคำมีความหมายคล้ายกับคำในภาษาไทย แตกต่างจากคำในภาษาไทยในเรื่องการออกเสียง ซึ่งเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าคนจีนเคยเป็นไทยมาก่อน ดังนั้นพวกเขาจึงควรกลืนกลายเพื่อกลับมาเป็นไทยอีกครั้ง
การที่ จอมพล ป. เลือกทั้งสองท่านมาช่วยงาน “กลืนกลายจีนให้เป็นไทย” นอกจากความรู้ความสามารถ ส่วนหนึ่งก็คงเพราะการเป็นลูกจีนที่น่าจะมีความเข้าใจเรื่องราวได้ดี โดยหนึ่งเป็นไม้อ่อน หนึ่งเป็นไม้แข็ง
อ่านเพิ่มเติม :
- “ผมเปีย” กับความหลังของ “พระยาอนุมานราชธน” คนไทยหาช่องไว้เปียหนีเป็นไพร่หลวง
- พระยาอนุมานราชธน สร้างมโนทัศน์ “ชนบทไทยนี้ดี” ฤๅเป็นเครื่องมือต้านคอมมิวนิสต์?
- หลวงวิจิตรวาทการชี้ ระบอบไพร่ทาสและศักดินา ต้นเหตุความเสื่อมโทรมของไทย
ข้อมูลจาก :
สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. เขียนจีนให้เป็นไทย , สำนักพิมพ์มติชน, สิงหาคม 2564
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564