เผยแพร่ |
---|
ในทศวรรษ 2490 พระยาอนุมานราชธน หรือ ยง เสฐียรโกเศศ เป็นผู้ให้การสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างเต็มที่ ในการสร้างความรู้ทางวัฒนธรรมเพื่อเป็นแนวทางสำหรับกำหนดนโยบายและการดำเนินการทางวัฒนธรรมของจอมพล ป.
ช่วงเวลานั้น “คอมมิวนิสต์” กำลังแผ่อิทธิพลเข้าสู่ประเทศไทย นอกจากรัฐบาลจะต้องการทำให้คนไทยรับรู้ว่าลัทธินี้เป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อชาติไทยและความเป็นไทยแล้ว รัฐบาลยังต้องการให้คนไทยรับรู้ด้วยว่าสังคมและวัฒนธรรมไทยนั้นดีอยู่แล้ว มิได้มีข้อเสียหรือความขัดแย้งร้ายแรงดังที่พวกคอมมิวนิสต์โจมตี
ปัญญาชนฝ่ายขวาในสมัยนั้นทั้งหลวงวิจิตรวาทการและ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ประพันธ์ผลงานที่เน้นความสำคัญของ “พระมหากษัตริย์” เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่สำหรับงานประพันธ์ของพระยาอนุมานราชธนแล้ว ได้เน้นการสร้างความรู้เกี่ยวกับชนบทหรือวัฒนธรรมประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ มากกว่า สร้างมโนทัศน์ว่า “ชนบทไทยนี้ดี”
ในหนังสือ “พระยาอนุมานราชธน ปราชญ์สามัญชนผู้เนรมิต ความเป็นไทย'” (มติชน, 2556) ผลงานเขียนของ ศาสตราจารย์สายชล สัตตยานุรักษ์ ได้อธิบายบทบาทของพระยาอนุมานราชธน กับการสร้างมโนทัศน์ “ชนบทไทยนี้ดี” ไว้ดังนี้
ในทศวรรษ 2490 พระยาอนุมานราชธนต่างจากปัญญาชนกระแสหลักส่วนใหญ่ เพราะมิได้พยายามแสดงให้เห็นว่า “เมืองไทยนี้ดี” เพราะมี “พระมหากษัตริย์” เป็นหัวใจของ “ความเป็นไทย” เน้นเฉพาะคุณค่าและความสำคัญของ “พุทธศาสนา” เท่านั้น โดยพระยาอนุมานราชธนแสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนาเป็นหัวใจของ “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” ซึ่งส่งผลให้ “เมืองไทยนี้ดี”
พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยในส่วนที่ปัญญาชนกระแสหลักส่วนใหญ่ได้ละเลยตลอดมา นั่นก็คือความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของชาวบ้านเพื่อสร้างมโนทัศน์ “ชนบทนี้ดี” เพื่อให้ชนบทเป็นส่วนหนึ่งของ “เมืองไทยนี้ดี” กลายเป็นมโนทัศน์เกี่ยวกับ “สังคมชาวนา” ที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อชนชั้นนำ นักวิชาการ ข้าราชการ ตลอดจนชนชั้นกลางทั่วไปสืบมา
ใน พ.ศ. 2493 พระยาอนุมานราชธนตีพิมพ์เรื่อง “ชีวิตชาววัด” ในสถานการณ์ที่ประเทศจีนตกอยู่ภายใต้อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเกิดสงครามเกาหลี และ “ฝ่ายซ้าย” ในประเทศไทย เคลื่อนไหวอย่างคึกคัก…ใน ชีวิตชาววัด พระยาอนุมานราชธนยืนยันถึงความสำคัญของพุทธศาสนาและพระสงฆ์ และแสดงปฏิกิริยาต่อความคิดของฝ่ายต่าง ๆ ที่โจมตีพุทธศาสนาและพระสงฆ์ว่าเอาเปรียบสังคม โดยแสดงให้เห็นว่าวัดและพระสงฆ์มีคุณค่าอย่างสูงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน
พระยาอนุมานราชธนกล่าวว่า “อย่าเข้าใจผิดว่าพระท่านเอาเปรียบแก่สังคม แม้ท่านไม่ได้เป็นผู้ผลิตอาหารอันจำเป็นแก่ร่างกาย แต่ท่านก็เป็นผู้ผลิตอาหารทางจิตใจให้แก่เรา…คนผิดกว่าสัตว์ที่มีอาหารสำหรับบำรุงปัญญา และเลี้ยงจิตใจให้งอกงาม” [33]
หนังสือ “ชีวิตชาววัด” ชี้ให้เห็นโดยละเอียดว่าวัดทำให้คนชนบทมีชีวิตที่ดีงามและทำให้ชนบทเป็นส่วนหนึ่งของ “เมืองไทยนี้ดี” เพราะวัดมีความสำคัญและ “มีคุณ” แก่ชาวบ้านตั้งแต่เกิดจนตาย และยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาสืบทอดศิลปะแห่งชาติ “ในแง่ของศิลปะแห่งชาติ นอกจากพระราชวังแล้ว ท่านเห็นศิลปะทุกประเภทมีอยู่ที่วัดทั้งนั้น แม้แต่โขนละครเขาก็มีกันที่วัด…บรรเลงปี่พาทย์ให้พระฟัง…” [34]
เมื่อเขียนเรื่อง “เทศกาลสงกรานต์” ในปี พ.ศ. 2494 พระยาอนุมานราชธนก็ชี้ให้เห็นคุณค่าของพุทธศาสนาต่อสังคมไทยด้วยการเน้นว่าพุทธศาสนาทำให้ชนบทน่าอยู่
วัดเป็นสถานย่านกลางที่ชุมนุมของชาวบ้าน…เพราะชาวบ้านจะได้วิสาสะพบกันมาก ๆ ได้…อย่างงานสังคม…ตลอดจนแสวงหาศิลปะ วิทยาการและการบุญการกุศลซึ่งสงบเย็นใจ หรือจะไปสนุกรื่นเริงกันอย่างมีระเบียบไม่จุ้นจ้านเมามายเพราะกลัวบาปกรรม…ตลอดจนมีงานมหรสพก็ที่วัด…ได้เห็นเนื้อคู่…เป็นครั้งแรกก็ที่วัด มีบุตรเมื่อโตขึ้น ต้องการจะให้มีวิชาความรู้ และได้รับอบรมความประพฤติทางศีลธรรม ตลอดจนบวชเรียนก็ที่วัด…เพราะฉะนั้นเมื่อยกเว้นการทำมาหากินแล้ว วัดก็เป็นสถานที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี ๆ ในชีวิตของชาวบ้าน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายไป [35]
งานเทศกาลและงานประเพณีต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านทำกันที่วัด ทำให้คนในชนบทมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข เช่น การก่อพระเจดีย์ทรายนั้น “เลิกแล้วพระเจดีย์ทรายที่ก่อไว้ทลายลง ถมทางไปในตัว” ทำให้ได้ถนนใช้ “โดยไม่ต้องจ้างใครที่ไหน” ซึ่งปรากฏว่า “การไปขนทรายมาก่อเป็นพระเจดีย์ ถือกันว่าได้บุญแรง…ล้วนเต็มใจมีศรัทธากันแก่กล้า เพราะมีสนุกด้วย ที่ไปหาบขนกันมากเพราะจะได้แต่งตัวและอวดไม้คานกัน…เป็นการขนทรายที่สนุกสนาน” [36]
หลังจากนั้นพระยาอนุมานราชธนก็กระตุ้นให้จินตนาการถึงภาพที่คนทุกเพศทุกวัย “สนุกรื่นเริงด้วยกัน” โดยเน้นว่าไม่มีการแบ่งชนชั้น (เพราะฝ่ายซ้ายวิเคราะห์ว่าสังคมไทยมีการแบ่งชนชั้นซึ่งทำให้ขาดความเสมอภาคและเกิดการกดขี่ขูดรีด) ดังความว่า
“ท่านฟังเรื่องที่เล่ามานี้ แล้วลองหลับตานึกดู ถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน…ก็จะเห็นว่าถึงเวลาสนุกรื่นเริงก็สนุกรื่นเริงด้วยกัน ไม่ว่าหญิงชายเด็กและผู้ใหญ่ ตลอดจนพระเณรก็ร่วมสนุกด้วยกัน เป็นกันเองไปหมด ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะเป็นชาติเป็นตระกูล เป็นชีวิตอย่างง่าย ๆ” [37]
……..
พระยาอนุมานราชธนมีบทบาทอย่างมากในการสร้างอัตลักษณ์ของ “พระสงฆ์” เพราะเน้นอยู่เสมอว่าพระสงฆ์มิใช่กลุ่มคนที่ไร้ประโยชน์ และชี้ให้เห็นว่าพระสงฆ์มีบทบาทอย่างมากในการทำให้ชนบทเป็นส่วนหนึ่งของ “เมืองไทยนี้ดี” โดยเล่าถึงบทบาทของพระในหมู่บ้านที่ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน เช่น
เอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านไม่ขาด ใครป่วยไข้ไม่สบาย ท่านก็ให้ยากินบ้างรดน้ำมนต์ให้บ้าง…ชาวบ้านผิดพ้องหมองใจกัน ไปขอร้องให้ท่านเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย…ทำความประนีประนอมกัน…เมื่อท่านเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ไม่ใช่แต่ทางธรรมอย่างเดียวดั่งนี้ จะไม่ให้ชาวบ้านนับถือท่านมากอย่างไรได้ [39]
พระนั้นแม้ท่านเป็นผู้มักน้อย ตั้งหน้าศึกษาและบำเพ็ญปฏิบัติพระธรรมวินัยเพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส แต่ท่านก็ไม่ได้เอาตัวรอดพ้นไปคนเดียว ท่านรู้อยู่ว่าท่านต้องอาศัยชาวบ้านและชาวบ้านก็ต้องอาศัยท่าน…ไม่ยอมให้ว่างอยู่เปล่า ๆ เสมอไป เป็นอย่างเอาเปรียบแก่ชาวบ้าน…เช่น สอนหนังสือ สอนศีลธรรมจรรยา…งานอดิเรกที่อาจเกิดประโยชน์ในทางช่างฝีมือ…ศิลปวิทยาวิชาช่าง…ที่คนแต่ก่อนรักษาและสืบต่อกันมาได้ ส่วนใหญ่อยู่ที่พระและวัด…
ชาวบ้านได้รับวิชาความรู้ตามควรแก่อัตภาพของตนควบกันไปกับการปลูกศรัทธาในเนื้อนาบุญ กระตุ้นเตือนให้คนรู้จักรักและไม่ลืมพระศาสนาซึ่งคนไทยทุกคนบูชา แล้วประพฤติปฏิบัติแต่ความดีงาม รักความสงบและซื่อสัตย์กตัญญ…วัด…กล่อมเกลาและเพิ่มพูนความดีงามเป็นกำไรให้แก่จิตใจของประชาชน วัดจึงเป็นเบื้องต้นแห่งรากฐานของความเป็นอยู่ในหมู่ชนซึ่งมีความเจริญวัฒนา ท่านจึงว่า การศึกษาปราศจากศาสนาย่อมอ่อนแอ [40]
ภาพของ “วัด” และ “พระสงฆ์” เช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างภาพ “เมืองไทยนี้ดีเพราะมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” อันเป็นภาพที่ฝังแน่นอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยตราบจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าพระยาอนุมานราชธนมิได้เน้นว่า พุทธศาสนามีคุณค่าแก่ปัจเจกชน ในแง่ที่ช่วยให้เข้าใจเหตุแห่งทุกข์และหนทางในการดับทุกข์ เน้นแต่ความคิดเรื่อง “กรรม” และ “วิบากกรรม” ที่จะทำให้คนตระหนักว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” อันเป็นมิติด้านโลกิยธรรมของพุทธศาสนา ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าพระยาอนุมานราชธนเป็นปัญญาชนสำคัญคนหนึ่งที่มีบทบาทในการทำให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องทางโลก (Secularization)
นอกจากหมู่บ้านจะมีพุทธศาสนาแล้ว พระยาอนุมานราชธนยังแสดงให้เห็นว่าหมู่บ้านสงบสุขเพราะมีขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับผีสางเทวดา ซึ่งเป็นผลดีต่อคนในท้องถิ่น
ในสมัยก่อนเมื่อทางกฎหมายบ้านเมืองยังคุ้มครองไปไม่ถึงชาวบ้านก็ได้อาศัยแต่จารีตประเพณีประจำท้องถิ่น เป็นเสมือนกฎหมายให้ความคุ้มครอง ในลางท้องถิ่น เรียกการกระทำผิดเพราะฝ่าฝืนประเพณีว่า ผิดฮีต ผิดผี ผิดฮีตคือผิดจารีตอันเป็นประเพณีที่ดีงาม ผิดผีคือผิดข้อห้ามของผีปู่ย่าตายาย หรือผีบ้านผีเมือง ซึ่งเชื่อกันว่ายังคอยดูแลอยู่ ไม่ให้ลูกหลานหรือคนในบ้านในเมืองประพฤติสิ่งที่ถือว่าชั่วช้าเลวทราม… [41]
การบรรยาย “พิธีสู่ขวัญภาคอีสาน” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของภาพ “เมืองไทยนี้ดี” เพราะแสดงความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร ความมีน้ำใจ ความสนุกรื่นเริง ดังความว่า
ผู้ได้รับเชิญจะนำสิ่งของต่าง ๆ มีข้าวปลาอาหารเป็นต้น ข้าวสุกข้าวสารหมูเห็ดเป็ดไก่ตามใจ ตลอดจนส้มสุกลูกไม้หมากพลูบุหรี่มาช่วยงาน…ที่ช่วยแรงก็มี…ในงานนี้จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนตร์เย็น และฉันด้วยก็ได้…เจ้าภาพก็เลี้ยงอาหารแก่บรรดาผู้มาช่วยงาน อิ่มหนำสำราญแล้วตกเวลาค่ำก็มีการสนุกรื่นเริงกันเป็นพิเศษ…เช่น มีหมอลำ หมอแคน เป็นต้น…และเล่นสนุกเฮฮากันอย่างนี้ตลอดคืน [42]
ส่วนงานบุญมหาชาติ “จะเห็นว่าชาวบ้านเขาทำบุญของเขา มีความสนุกรื่นเริงกันเพียงไร เป็นความสนุกอย่างง่าย ๆ ตามคนในหมู่บ้านและตามสภาพความเป็นอยู่แห่งท้องถิ่น” [43] การเสนอภาพขนบธรรมเนียมประเพณีชาวบ้านในงานของพระยาอนุมานราชธน จึงทำให้เกิดจินตภาพ “ชนบทนี้ดี” อย่างชัดเจน พระยาอนุมานราชธนไม่กล่าวถึงความขัดแย้งในชนบทซึ่งเพิ่มสูงขึ้นนับแต่มีการขยายอำนาจรัฐและระบบทุนนิยมเข้าไปสู่หมู่บ้าน เมื่อกล่าวถึงปัญหาของชนบทก็เน้นเฉพาะเรื่องภัยธรรมชาติโดยไม่กล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างใด ๆ แม้ว่าในทศวรรษ 2490 จะมีผู้วิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้างไว้ไม่น้อยก็ตาม
กล่าวได้ว่า ในทศวรรษ 2490 พระยาอนุมานราชธนเป็นปัญญาชนฝ่ายจารีตนิยมในแง่ที่ต้องการรักษามรดกเดิมของสังคมและวัฒนธรรมไทยเอาไว้ แม้จะเน้นถึงความจำเป็นในการนำเอาสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาปรับปรุงวัฒนธรรมเดิมให้ก้าวหน้าขึ้น แต่ก็เห็นว่าควรจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะในส่วนปลีกย่อย แล้วเก็บรักษาส่วนใหญ่ของมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติที่มีมาแต่เดิมเอาไว้ และบทบาทที่โดดเด่นที่สุดของพระยาอนุมานราชธนในทศวรรษ 2490 นี้ก็คือการทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบ้านเป็นที่รับรู้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม ตลอดทศวรรษ 2490 พระยาอนุมานราชธน เสนอภาพ “ชนบทนี้ดี” ควบคู่กับภาพชาวบ้านที่ยังขาดความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งทำให้ชีวิตของชาวบ้านยังไม่บรรลุถึงความเจริญระดับสูง โดยเฉพาะในแง่ของการใช้ปัญญาหรือเหตุผลในการนับถือศาสนาและการดำรงชีวิต ซึ่งแม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาความอ่อนแอในด้านความรู้หรือเหตุผลนี้จะไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน กลับสามารถดำรงชีวิตร่วมกันด้วยสามัคคีธรรมและความสงบสุข
แต่ในปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากปล่อยให้ชาวบ้านมีชีวิตอยู่เหมือนเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงให้เจริญก้าวหน้าขึ้นตามความเจริญของโลก ชาวบ้านก็จะกลายเป็นคนล้าหลังและประสบปัญหาต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่วัฒนธรรมของชาวบ้านที่เคย “ดี” ในสถานการณ์ใหม่ก็อาจจะไม่ดีอีกต่อไป เพราะไม่เหมาะกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นจะต้องทำการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาวบ้าน เพื่อให้ “ชนบทนี้ดียิ่งขึ้น” เพียงแต่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือเปลี่ยนในลักษณะ “วิวัฒนาการ” เพื่อให้ “เมืองไทยนี้ดี” หรือมีความเจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้โดยรักษามรดกจากอดีตเอาไว้ให้มาก
ภาพของชนบทที่พระยาอนุมานราชธนสร้างขึ้นดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นแหล่งที่มาของมโนทัศน์ “สังคมชาวนา” ที่นักวิชาการ นักการเมือง ข้าราชการ และชนชั้นกลางทั่วไปรับรู้ และนำไปใช้ในการทำงานของตนสืบมา ขณะเดียวกันความรู้เกี่ยวกับชนบทในผลงานของพระยาอนุมานราชธนก็เป็นฐานคิดให้แก่นโยบายพัฒนาชนบทของรัฐบาลทั้งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. และในสมัยหลัง
ส่วนพุทธศาสนา วัด และพระสงฆ์ในชนบทก็มีความสำคัญในสายตาของรัฐบาล ในฐานะที่เป็นปราการในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และได้รับการส่งเสริมให้ทำหน้าที่ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างจริงจังตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา และหลังจากภัยคอมมิวนิสต์หมดไปแล้ว สถาบันทางพุทธศาสนาก็ยังคงทำหน้าที่ในการเผยแผ่พุทธศาสนาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติตราบเท่าทุกวันนี้…
เชิงอรรถ :
[33] พระยาอนุมานราชธน, “คำนำ ชีวิตของชาววัด” ใน งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน. หมวดเบ็ดเตล็ด-ความรู้ทั่วไป เล่มที่ 3 เรื่องรวมคำนำของศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภาและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, น. 39.
[34] เรื่องเดียวกัน, น. 39.
[35] พระยาอนุมานราชธน, “ประเพณีไทยเกี่ยวกับเทศกาล” ใน งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน. หมวดชีวประวัติ เล่มที่ ถ เรื่องประเพณีเกี่ยวกับเทศกาลตรุษ-สารท, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภาและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2531, น. 49.
[36] เรื่องเดียวกัน, น. 52.
[37] เรื่องเดียวกัน, น. 86.
[39] พระยาอนุมานราชธน, “ชีวิตของชาวนา” ใน งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน. หมวดขนบธรรมเนียมประเพณี เล่มที่ 7 เรื่องประเพณีเบ็ดเตล็ด, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภาและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2531, น. 134.
[40] พระยาอนุมานราชธน, “อัคนีกรีฑา” ใน งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน. หมวดขนบธรรมเนียมประเพณี เล่มที่ 7 เรื่องประเพณีเบ็ดเตล็ด, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภาและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2531, น. 167.
[41] พระยาอนุมานราชธน, “ฟื้นความหลัง” ใน งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน. หมวดชีวประวัติ เล่มที่ 3 เรื่องฟื้นความหลัง (เล่ม 3-4), กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภาและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2531, น. 87.
[42] เรื่องเดียวกัน.
[43] พระยาอนุมานราชธน, “ประเพณีไทยเกี่ยวกับเทศกาล” ใน งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน. หมวดขนบธรรมเนียมประเพณี เล่มที่ 5 เรื่องประเพณีเกี่ยวกับเทศกาลตรุษ-สารท, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภาและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2531 น. 169.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2564