เยี่ยมชมเทศกาลแห่งแสงไฟ และวันปีใหม่ชาวฮินดู วันดิวาลี “Diwali”

วันดิวาลี เทศกาลดิวาลี วันปีใหม่ชาวฮินดู เทศกาลแห่งแสงไฟ

วันดิวาลี “Diwali” เทศกาลแห่งแสงไฟ และ วันปีใหม่ชาวฮินดู

คนไทยส่วนใหญ่อาจจะเคยชินกับเทศกาลฉลองปีใหม่ ซึ่งนับวันที่ 1 มกราคมตามปีปฏิทินเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบชาวตะวันตก หรือคุ้นเคยกับการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ไทย ด้วยการรดน้ำดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ หรือการไหว้พระขอพรตามศาลเจ้าต่างๆ สำหรับปีใหม่จีนในช่วงวันตรุษจีน

Advertisement

แต่รู้หรือไม่ว่า ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูก็มีการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่เช่นกัน และยิ่งใหญ่อลังการไม่แพ้เทศกาลอื่นๆ โดยเทศกาลนี้มีชื่อว่า ดิวาลี หรือ ดีปาวาลี

วันดิวาลี เทศกาลแห่งแสงไฟ และ วันปีใหม่ชาวฮินดูคำว่า ดิวาลี (Diwali) กร่อนมาจากคำว่าดีปาวาลี (Deepawali) ในภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า แถวหรือแนวของตะเกียงไฟ มีที่มาจากการจุดตะเกียงดินเล็กๆ ที่ใช้น้ำมันเนย หรือน้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิง ที่เรียกว่าดิยา (Diya) จำนวนมากตลอดทั้งคืน เพื่อเป็นการรำลึกและแสดงถึงวันที่แสงสว่างมีชัยชนะเหนือความมืดมน ความรู้ที่มีเหนือความเขลา และความดีที่มีเหนือความชั่วร้าย

เทศกาลนี้จึงเป็นเทศกาลแห่งการประดับไฟ แสงสว่างและความรื่นเริงของคนทุกวัยและทุกชนชั้น เพื่อต้อนรับปีใหม่ของชาวอินเดีย รวมทั้งเป็นการเฉลิมฉลองเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ และการทำสิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิต

ตามตำนานของดิวาลีนั้นมีหลายเรื่องเล่า บางความเชื่อกล่าวว่า เมื่อพระรามได้รับชัยชนะเหนืออสูร ก็ได้เดินทางกลับสู่อาณาจักรอโยธยา พร้อมกับพระลักษมณ์ และนางสีดา ประชาชนจึงร่วมเฉลิมฉลองด้วยไฟกันทั้งอาณาจักร ซึ่ง วันดิวาลี ตรงกับวันที่พระรามกลับมาพอดี

วันดิวาลี เทศกาลแห่งแสงไฟ และ วันปีใหม่ชาวฮินดูชาวอินเดียส่วนใหญ่เชื่อกันว่า พระนางลักษมี เทวีแห่งความมั่งคั่งจะเสด็จลงมาเยี่ยมเยือนทุกบ้าน เพื่อนำพาโชคลาภมาให้ ดังนั้นผู้คนจะทำความสะอาดบ้านของตัวเองครั้งใหญ่ เพราะเชื่อว่าพระนางจะไปเยือนบ้านที่สะอาดที่สุดเป็นแห่งแรก

ทั้งนี้นอกจากตะเกียงน้ำมันใบเล็ก ผู้คนจำนวนมากนิยมวาดภาพสัญลักษณ์ รังโกลี (Rangoli) ด้วยแป้งหลากสีสัน และดอกไม้ไว้ที่ประตูทางเข้าบ้าน รวมทั้งยังนิยมแขวนดอกไม้และใบมะม่วงไว้ตามประตูและหน้าต่าง เพื่อต้อนรับสิ่งดีงาม ความสุข ความเจริญ และความรุ่งเรืองเข้ามาภายในบ้านอีกด้วย

วันดิวาลี เทศกาลแห่งแสงไฟ และ วันปีใหม่ชาวฮินดูในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวอินเดียจำนวนมากจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ และซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้สมาชิกในครอบครัว มีการแลกเปลี่ยนของขวัญ เลี้ยงอาหาร และแจกขนมหวานนานาชนิด ให้ทั้งคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน และมิตรสหายผู้มาเยี่ยมเยือน พร้อมจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟกันอย่างสนั่นหวั่นไหว โดยเชื่อว่าจะเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายและสิ่งอัปมงคลให้หมดไป จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเด็กๆ จึงชอบเทศกาลนี้เป็นอย่างมาก

ad5เทศกาลดิวาลี มักจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของทุกปี โดยใน พ.ศ. 2566 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.. 2566 โดยวันนี้นับว่าเป็นวันที่มีความสำคัญมากที่สุดในปฏิทินของชาวฮินดู และจัดเป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองอย่างสนุกสนานที่สุดด้วย

นอกจากประเทศอินเดีย ยังมีอีกหลายประเทศที่ร่วมเฉลิมฉลอง วันดิวาลี และจัดให้เป็นวันหยุดราชการด้วย อาทิ เนปาล ศรีลังกา เมียนมาร์ มาเลเซีย สิงคโปร์ มอริเชียส กายอานา ตรินิแดดและโตเบโก ซูรินาเม รวมทั้งฟิจิ ซึ่งตามท้องถนนของประเทศเหล่านี้ก็จะมีการประดับประดาไฟสีสันต่างๆ จำนวนมาก มีกิจกรรม และร้านค้าที่มาออกมาขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับวันดิวาลี อย่างเช่น ดอกไม้ไฟ ขนมหวาน เสื้อผ้า รวมทั้งรูปบูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู

ad6หากว่ามีโอกาสสักครั้งในชีวิตก็ควรเดินทางไปยังประเทศอินเดีย ที่เป็นต้นตำหรับเทศกาลเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก หรือไม่ก็ไปสัมผัสประสบการณ์น่าตื่นตาตื่นใจนี้ได้ที่ย่านลิตเติลอินเดียในสิงคโปร์และมาเลเซีย เพราะสองประเทศนี้อยู่ไม่ไกลจากบ้านเรา และการันตีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้ประเทศอินเดียเลย

ad7

ส่วนในประเทศไทย วันดิวาลี มีจัดงานที่ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) และวัดวิษณุ (หรือ สมาคมฮินดูธรรมสภา)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2559 ปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2566