ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระลักษมี” เป็นเทพนารีที่หลายคนล้วนให้ความศรัทธา ทั้งบูชา กราบไหว้ ขอพรในเรื่องโชคลาภ มิตรภาพ รวมไปถึงความรัก ตามตำนานเล่าขานว่า พระแม่มีพระวรกายสีทอง มีสัญลักษณ์คือดอกบัวและทองคำ แต่รู้หรือไม่ว่า พระลักษมียังมีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงตัวพระองค์อีกหนึ่งอย่าง คือ “ศรีวัตสะ” ซึ่งมีพัฒนาการมาจากรูป “ทารก”
“ศรีวัตสะ” คือเครื่องหมายมงคลชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงพระแม่ลักษมี มีประวัติอันยาวนานตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ มักปรากฏเป็นลวดลายของสายสร้อย จารึกบนสถูป หรือเหรียญทองคำ จึงมีความเชื่อว่า ลวดลายดังกล่าวน่าจะมีความหมายทั้งในเชิงศาสนาและลายประดับตกแต่งทั่วไป
การใช้สัญลักษณ์ศรีวัตสะคล้ายคลึงกับการใช้สัญลักษณ์คชลักษมี สัญลักษณ์ที่แสดงภาพด้วยพระลักษมีนั่งประทับตรงกลาง ขนาบด้วยช้างสองเชือกกำลังรดน้ำบนพระเศียร นั่นคือ ในระยะแรกศรีวัตสะจะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์มงคลในทุกศาสนา และเริ่มปรากฏครั้งแรกในศิลปะอินเดียอย่างน้อยในช่วงราชวงศ์ศุงคะ (ราวพุทธศตวรรษที่ 4-5) ทั้งในศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกาย ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ
ทั้งยังเป็นหนึ่งในกลุ่มสัญลักษณ์มงคล 8 ประการ และเป็นสัญลักษณ์ประการหนึ่งของมหาบุรุษลักษณะ หรือลักษณะของมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่
นอกจากนี้ เครื่องหมายศรีวัตสะยังมีหน้าที่สำคัญในการแบ่งแยกรูปเคารพระหว่างพระตรีถังกรกับพระพุทธเจ้าให้ผู้คนมองเห็นได้ง่ายขึ้น ข้อสังเกตง่าย ๆ คือ พระตรีถังกรจะมีเครื่องหมายศรีวัตสะอยู่ที่พระอุระเสมอ เนื่องจากศาสนาเชนถือว่า สัญลักษณ์นี้บ่งบอกถึงความรู้อันสูงสุด ขณะที่พระพุทธเจ้าจะไม่มีเครื่องหมายนี้ปรากฏอยู่
แล้ว “ศรีวัตสะ” กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของ “พระแม่ลักษมี” ได้อย่างไร?
คาดกันว่าศรีวัตสะแต่เดิมมีรูปร่างเป็นทารก ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ และนิยมสร้างควบคู่กับรูป “สตรี” เนื่องจากมีความเชื่อว่าทารกนั้นสื่อถึงความเป็นสิริมงคล ความอุดมสมบูรณ์
ต่อมา เมื่อมีแนวคิดว่า “พระลักษมี” ก็เป็นเทพนารีที่ช่วยในเรื่องความมงคล ความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นสตรี จึงทำให้มีการหยิบยกศรีวัตสะที่มีรูปทารกมาใช้คู่กับพระแม่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 4 ก่อนจะแปรเปลี่ยนรูปร่างเดิมให้เข้ากับพระแม่มากยิ่งขึ้น
จนในที่สุด ศรีวัตสะก็กลายเป็นสัญลักษณ์แทนตัวของพระลักษมี และได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในสมัยมถุรา (ราวพุทธศตวรรษที่ 6-7) ผ่านการค้นพบเหรียญพระลักษมีคู่กับศรีวัตสะเป็นจำนวนมากในยุคนั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “มาร” ของคนอินเดียคือ “กามเทพ”?
- “พระตรีมูรติ” ภาวะรวมร่าง 3 มหาเทพ กับเทวรูปหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่คนไปขอพรความรัก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายน 2566