นัยจาก Animal Farm ของ “จอร์จ ออร์เวลล์” และวาทะเรื่อง “วรรณกรรมกับเผด็จการ”

จอร์จ ออร์เวลล์ Norman Pett Animal Farm
(ซ้าย) ภาพถ่าย จอร์จ ออร์เวลล์ เมื่อ ค.ศ. 1943 [ภาพจาก BNUJ] (ขวา) การ์ตูนเรื่องยาวของ Norman Pett เมื่อ ค.ศ. 1950 ที่ดัดแปลงจากเรื่อง Animal Farm [ภาพจาก The National Archives UK]

จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชื่อก้องโลกจากผลงาน “1984” ไม่ได้มีผลงานสร้างชื่อแค่เรื่องเกี่ยวกับ “บิ๊กบราเธอร์” เขายังมีผลงานชื่อ Animal Farm และ Burmese Days อันเป็นผลงานเชิงเสียดสีถึงการบอกเล่าสะท้อนสังคมการเมืองที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ความเชื่อมโยงของผลงานทั้ง 3 ชิ้นนี้อาจมีจุดยึดโยงว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง แต่ที่น่าสนใจอาจเป็นจุดแต้มที่ใหญ่พอสมควรระหว่าง “วรรณกรรม” กับ “ระบอบการปกครองที่มีลักษณะเผด็จการ”

หากเอ่ยเฉพาะเจาะจงถึง “แอนิมอล ฟาร์ม” (Animal Farm) ในห้วงเวลานี้ สำหรับบริบทพม่าแล้ว นิยายเรื่องนี้เคยเป็นนิยายเพียงเล่มเดียวของออร์เวลล์ ที่ถูกแปลเป็นภาษาพม่าช่วงทศวรรษ 1950 ก่อนที่ทหารจะเข้ามาครองอำนาจ

นิยายของออร์เวลล์ มีผู้แปลเป็นภาษาพม่าคือ “ตะขิ่น บ๊ะ ตาว” (ตะขิ่น แปลว่า นาย เป็นคำที่ชาวพม่าใช้เรียกชาวอังกฤษ) นักแปลผู้ล่วงลับ ซึ่งเอ็มมา ลาร์คิน (Emma Larkin) ผู้เขียนหนังสือ “จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา” บรรยายว่า นักแปลผู้นี้เป็นที่เคารพรักในแวดวงประวัติศาสตร์ และวรรณคดีพม่า

บ๊ะ ตาว เป็นอีกหนึ่งผู้ก่อตั้งขบวนการตะขิ่นที่รณรงค์เรียกร้องอิสรภาพ ต่อต้านรัฐบาลเจ้าอาณานิคม เขาตั้งชื่อหนังสือฉบับแปลให้เข้ากับบริบทในพม่า โดยใช้ชื่อแบบแปลเป็นไทยแล้วว่า “ปฏิวัติสี่ขา”

***ข้อความด้านล่างเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ***
.
.
.
.
.

“เนื้อเรื่องโดยทั่วไปแล้วเกี่ยวกับ พวกสัตว์ในฟาร์มตัดสินใจโค่นอำนาจมนุษย์เจ้าของฟาร์มแล้วบริหารฟาร์มกันเอง การปฏิวัตินำโดยกลุ่มสุกรที่จินตนาการถึงรัฐในอุดมคติที่ทุกชีวิตเสมอภาคกัน ปลอดจากมนุษย์ผู้กดขี่ทารุณ แต่อุดมคติของสุกรพวกนี้ค่อยๆ ถูกละทิ้งไปเมื่อมีอำนาจในมือ และต่อมาพวกมันก็กลายเป็นผู้กระทำทารุณและละโมบเสียเอง

พวกมันออกกฎว่าสุกรเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้กินแอปเปิลในสวนได้ (อ้างว่าแอปเปิลมีประโยชน์ทางโภชนาการยิ่งในการบำรุงสมองสุกร) และพวกมันฟูมฟักสุนัขพันธุ์ดุร้ายไว้เพื่อตรวจตราควบคุมพวกไก่ แกะ วัว และม้าที่อาศัยอยู่ในฟาร์ม ขณะที่พวกสุกรครอบครองความสุขสบายของมนุษย์ที่พวกมันโค่นอำนาจไป อาทิ นอนในบ้านของมนุษย์และกินวิสกี้อย่างตะกละตะกลาม สัตว์อื่นๆ พากันล้มตายเพราะทำงานหนักเกินกำลังและอดอยาก”

เอ็มมา อธิบายว่า ออร์เวลล์ เขียน “แอนิมอล ฟาร์ม” จากการปฏิวัติรัสเซียเมื่อ ค.ศ. 1917 รวมถึงความพยายามอันน่ากลัวของสตาลินในการสร้างกรรมสิทธิ์ร่วมในพื้นที่เกษตรกรรมของสหภาพโซเวียต อันเป็นผลให้ชาวโซเวียตต้องเสียชีวิตหลายล้านราย

บริบทเหล่านี้แทบคล้ายกับประวัติศาสตร์พม่า (จากความคิดเห็นของเอ็มมา ผู้เขียนหนังสือ “จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา”)

ในหนังสือเล่มเดียวกันยังอธิบายแนวคิดของออร์เวลล์ ได้อย่างน่าสนใจ เอ็มมา บรรยายว่า ออร์เวลล์ มีความเชื่อว่า “เป็นไปไม่ได้ที่งานวรรณกรรมจะอยู่รอดปลอดภัยภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ”

ออร์เวลล์ เคยเขียนไว้ว่า รัฐบาลเผด็จการรู้ว่าการครองอำนาจของตนไม่ชอบธรรม และด้วยเหตุนี้จึงไม่มีทางให้มีการบันทึกความจริง เพื่อจะรักษาสถานะเอาไว้ ดังนั้น จึงต้องอาศัยทักษะเล่าความเท็จ

ข้อเขียนของออร์เวลล์ ชื่อ “Literature and Totalitarianism” (วรรณกรรมกับระบอบเผด็จการ) บรรยายไว้ว่า “วรรณกรรมต้องแสดงออกอย่างซื่อสัตย์ถึงสิ่งที่คนคนหนึ่งคิดและรู้สึก มิฉะนั้นก็ย่อมไม่มีความหมาย” ซึ่งเอ็มมา สรุปแบบรวบรัดว่า “ระบอบเผด็จการเข่นฆ่าความคิดสร้างสรรค์

“จินตนาการก็เหมือนสัตว์ป่าบางชนิดที่จะไม่สืบพันธุ์เมื่อถูกกักขัง” ข้อความตอนหนึ่งจากงานเขียนของออร์เวลล์ ระบุไว้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิิง :

เอ็มมา ลาร์คิน. จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา. สุภัตรา ภูมิประภาส แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2562