ในวันที่ ครอง จันดาวงศ์ อาจไม่ได้พูด “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

ภาพถ่าย ครอง จันดาวงศ์ ในวันประหาร
ภาพถ่าย นายครอง จันดาวงศ์ ในหนังสือพิมพ์ไทรายวัน เขียนบรรยายภาพนี้ว่า “นายครองโบกมือบอกกับนักข่าวของเราขณะที่เจ้าหน้าที่นำเอาทั้งสองคนไปสู่ที่ประหารว่า ‘อย่าถ่ายให้มากนัก’” ในขณะที่ความรับรู้ปัจจุบัน เชื่อว่าภาพนี้นายครองกำลังเปล่งวาจา “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” (ภาพจากไทรายวัน 2 มิถุนายน 2504)

เป็นที่รับรู้ในเชิงประจักษ์ว่าวลี “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เป็นวาทศิลป์ที่นิยมนำมาใช้แสดงออกทางการเมืองไทยในช่วง 10 กว่าปีหลังมานี้วาทศิลป์หนึ่ง จนปรากฏบทความที่พยายามค้นหาที่มาของวาทศิลป์ดังกล่าว ซึ่งผลของการศึกษาค้นคว้าต่างเชื่อและสรุปเห็นร่วมกันว่า จุดเริ่มต้นและอิทธิพลทางวาทศิลป์นี้มาจากคำกล่าวของ นายครอง จันดาวงศ์ [1]

นายครองเป็นนักการเมืองและนักต่อสู้ทางการเมือง (ทศวรรษ 2490-ต้นทศวรรษ 2500) ที่เปล่งวาจาขึ้นก่อนจะถูกประหารชีวิตด้วยวิธีการยิงเป้าจากอำนาจมาตรา 17 ในสมัยการปกครองของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ณ ลานประหารชั่วคราว อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2504

กระนั้นเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างหนึ่งว่า เมื่อพิจารณางานเขียนเกี่ยวกับนายครองต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ในเชิงของการสืบค้นทางประวัติศาสตร์ กลับพบว่าไม่ปรากฏการอ้างถึงคำกล่าว “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ของนายครองจากหลักฐานชั้นต้นร่วมยุคร่วมสมัยใน พ.ศ. 2504 ว่ามาจากหลักฐานใด

บทความนี้เป็นความพยายามเล็กๆ ในการย้อนกลับไปอ่านหลักฐานเอกสารจาก พ.ศ. 2504 ผ่านการศึกษาหลักฐานหนังสือพิมพ์ โดยที่ตระหนักและรับรู้ถึงข้อจำกัดสำคัญว่า หนังสือพิมพ์ในยุคสมัยการปกครองของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อควบคุมและการจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอเป็นอย่างมาก [2]

ทว่าหลักฐานนี้ก็ดูจะเป็นหลักฐานสาธารณะสำคัญเพียงไม่กี่ชิ้นที่จะพากลับไปใกล้ชิดเหตุการณ์การประหารชีวิตนายครองด้วยอำนาจมาตรา 17 ได้มากที่สุดในเวลานี้

ในวันที่ ครอง จันดาวงศ์ อาจไม่ได้พูด “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

นับจากการจับกุม รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ในการสอบสวนกรณีของนายครองและพวก บทสรุปของเรื่องนี้จบลงด้วยการอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ให้กรมตำรวจจัดการประหารชีวิต นายครองกับ นายทองพันธ์ สุทธิมาศ ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 ณ บริเวณสนามหญ้าหลังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้ถูกจัดแจงให้กลายสภาพเป็นลานประหารชั่วคราว

ดังที่กล่าวตั้งแต่ต้นบทความว่า ความรู้และความรับรู้ในปัจจุบันต่อวาทศิลป์ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่นายครองได้เปล่งวาจาขึ้นในขณะที่เดินเข้าสู่ลานประหาร ทว่าจากหลักฐานร่วมสมัยอย่างหนังสือพิมพ์ กลับไม่ปรากฏวลีดังกล่าวในการเล่าบรรยายถึงเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ตามการรายงานข่าวก็มีความน่าสนใจทั้งคำพูดและกิริยาท่าทางของนายครองที่ควรนำมากล่าว เริ่มตั้งแต่หนังสือพิมพ์สยามนิกรได้รายงานย้อนหลังก่อนการประหารชีวิตว่า เมื่อมีการให้นำตัวนายครองและนายทองพันธ์ส่งตัวกลับไปยังจังหวัดสกลนคร นายครองได้ฝืนยิ้มหันไปร่ำลากับผู้ต้องหาที่ขังร่วมในห้องขังว่า “ขอลาทุกๆ คนไปก่อน” [3]

ความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์ประการหนึ่งคือ ภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไขที่หนังสือพิมพ์ในสมัย จอมพล สฤษดิ์ ถูกจำกัดและควบคุมเพื่อให้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลมากกว่าจะทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน แต่ในอีกทางหนึ่ง ตัว จอมพล สฤษดิ์ นั้นมีความสนิทสนมกับกลุ่มนักหนังสือพิมพ์บางกลุ่ม ทั้งยังเคยใช้สื่อหนังสือพิมพ์เป็นฐานในการสร้างภาพลักษณ์ของตนเองในการก้าวขึ้นมาล้ม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปลายทศวรรษ 2490

เรื่องนี้นับเป็นประเด็นสำคัญ เพราะเหตุการณ์ยิงเป้านายครองที่จังหวัดสกลนคร มีความเป็นไปได้ว่ามีหนังสือพิมพ์เพียง 2 ฉบับเท่านั้น ที่ได้เข้าไปทำข่าวรายงานและถ่ายภาพการยิงเป้าประหารชีวิต ณ วินาทีแห่งการประหาร คือ หนังสือพิมพ์สารเสรี และหนังสือพิมพ์ไทรายวัน ซึ่งหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับนั้น จอมพล สฤษดิ์ เป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่ [4]

ตามหลักฐาน สารเสรี กับ ไทรายวัน เป็นเพียงสองหนังสือพิมพ์ที่รายงาน แสดงให้เห็นว่ามีนักข่าวของตนได้เข้าไปทำข่าวรายงานและถ่ายภาพเหตุการณ์การยิงเป้านายครอง ดังเห็นได้จากสารเสรีลงข้อความต่อการนำเสนอข่าวยิงเป้านายครองว่า “(ภาพและข่าวโดย เสวต สุตมิตร)” และ “รายงานข่าวจากผู้สื่อข่าวของเราซึ่งติดตามไปอย่างใกล้ชิด” [5]

ส่วนไทรายวันเขียนว่า “ผู้สื่อข่าวไทรายวันซึ่งติดตามข่าวการประหารอย่างใกล้ชิดรายงานว่า” และ “นายครองยังคงยิ้มอยู่ตลอดเวลา และร้องห้ามผู้สื่อข่าวและช่างภาพของเราซึ่งยิงภาพเดินเข้าสู่ที่ประหาร” [6] ขณะที่หนังสือพิมพ์อื่นๆ ดูจะเพียงแสดงให้เห็นรายละเอียดข่าวของตนว่า “รายงานข่าวแจ้งว่า” [7]

สำหรับเหตุการณ์การยิงเป้าประหาร หนังสือพิมพ์สารเสรี วันที่ 1 มิถุนายน 2504 พาดหัวข่าวใหญ่ท่อนหนึ่งถึงนายครองว่า ‘ครอง’ ไม่สทกสท้านขอเข้าส้วมก่อนเอาไปยิงเป้า” และได้เล่าถึงกิริยาท่าทางของนายครองและนายทองพันธ์ ในหัวรองข่าว (sub headline) ว่า “เดินเข้าสู่ที่ประหารอย่างทระนง”

“เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวนายครองและนายทองพันธ์เข้าสู่ที่ประหารนั้น ปรากฏว่าเดินไปอย่างทระนงไม่หวาดหวั่นแต่อย่างไร โดยเฉพาะนายครองนั้นยังคงยิ้มออกอยู่ และเมื่อช่างภาพของเรายกกล้องขึ้นมาถ่ายนั้นร้องบอกมาว่า ‘อย่าถ่ายให้มันมากนักซี’”

หนังสือพิมพ์สารเสรีเล่าว่า เมื่อเจ้าหน้าที่อ่านคำสั่งรัฐบาลให้ฟัง นายครองไม่ยอมปริปากพูดอะไร ทั้งยังเร่งให้ยิงเป้าเร็วๆ

“ก่อนจะถึงเวลา 12.13 น. ตามคำสั่งนั้น พ.ต.ต. ประเสริฐ อยู่ประเสริฐ นายแพทย์กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 4 ได้ไปจับชีพจรทั้งสองคนดู ปรากฏว่านายทองพันธ์อ่อนลงไปเล็กน้อย ส่วนนายครองนั้น ยังปกติ ‘ของผมยังดีอยู่ จะยิงก็ยิงเร็วๆ เถอะ’ เขากล่าวอย่างโอหัง” [8]

ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทรายวันได้เล่าบรรยายรายละเอียดเหตุการณ์ในลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ก็มีลักษณะของรูปคำและประโยคพูดของนายครองที่แตกต่างออกไปบ้างว่า

“เมื่อผู้บัญชาการตำรวจภูธรอ่านคำสั่งของรัฐบาลแล้ว จึงได้ให้นายทองพันธ์และนายครอง จันดาวงศ์ เซ็นรับทราบคำสั่งนั้น ซึ่งปรากฏว่านายครองมิได้หวาดหวั่นแต่อย่างไรคงยิ้มอยู่ นายทองพันธ์นั้น หน้าซีดลงไปเล็กน้อยเท่านั้น แล้วก็เซ็นรับทราบคำสั่งทีละคนโดยปรกติ

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายครองและนายทองพันธ์เดินเข้าสู่ที่ประหารกลางสนามบิน และระหว่างที่เดินสู่ที่ประหารนั้นเขาก็เดินเข้าไปอย่างทระนง นายครองยังคงยิ้มอยู่ตลอดเวลา และร้องห้ามผู้สื่อข่าวและช่างภาพของเราซึ่งยิงภาพเดินเข้าสู่ที่ประหารว่า ‘อย่าถ่ายรูปหลายแหม’ ซึ่งหมายความว่าอย่าถ่ายรูปให้มากนัก” [9]

ความน่าสนใจของหนังสือพิมพ์ไทรายวัน คือภาพประกอบการรายงานข่าวที่ช่างภาพของไทรายวันได้ถ่ายบันทึกไว้ อันเป็นภาพของนายครองกำลังเดินเข้าที่ลานประหารในท่าทางกำลังยกมือขวาขึ้นเหนือศีรษะ ในขณะที่มือซ้ายยังมีโซ่กุญแจคล้องคุมไว้อยู่ ภาพนี้ ตามความรับรู้และเข้าใจในปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นภาพขณะนายครองกำลังเปล่งวาจา ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ’ ทว่า สำหรับตามคำกล่าวอ้างของไทรายวันในฐานะเจ้าของภาพ เขียนบรรยายต่อภาพนี้ว่า ‘นายครองโบกมือบอกกับนักข่าวของเราขณะที่เจ้าหน้าที่นำเอาทั้งสองคนไปสู่ที่ประหารว่า ‘อย่าถ่ายให้มากนัก’” [10]

ไม่ว่าท่าทางอิริยาบถของนายครองตามการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์สารเสรีและไทรายวัน จะเป็นไปตามเหตุการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้นหรือไม่ แต่เพียงแค่การบรรยายรายงานดังกล่าว ก็ดูจะเป็นที่กังวลของนักหนังสือพิมพ์บางฉบับในขณะนั้น ดังปรากฏคอลัมน์หนึ่งในนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ซึ่งเป็นสื่อที่แสดงทัศนะทางการเมืองต่อต้าน และโจมตีระบบการปกครองคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน นับตั้งแต่การก่อตั้งในปลายทศวรรษ 2490 ได้แสดงข้อกังวลต่อการรายงานข่าวการยิงเป้านายครองว่า

“ทั้งๆ ที่เป็นคนหนังสือพิมพ์กับเขาด้วยคนหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ยังมองไม่เห็นว่ามีความจำเป็นอันใดสำหรับหนังสือพิมพ์ที่มุ่งต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์หรือแม้แต่ที่วางตัวเป็นกลางที่จะต้องเขียนข่าวดังกล่าวให้เน้นไปในทำนองชี้ให้เห็นว่าพวกคอมมิวนิสต์เป็นคนเก่ง แข็งแกร่ง การประหารเป็นไปโดยด่วนโดยไม่ให้โอกาสใดๆ แก่คอมมิวนิสต์…ก็จะเห็นได้ว่าข้าพเจ้าไม่ได้หมายความว่าเมื่อเราต่อต้านคอมมิวนิสต์หรือแม้แต่วางตัวเป็นกลาง เราจะต้องบิดเบือนข่าวให้เห็นว่าคอมมิวนิสต์ขี้ขลาดตาขาวจนเกินความเป็นจริง เพียงแต่เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงเท่านั้นก็พอแล้ว เพราะหน้าที่สรรเสริญยกย่องและสร้างความเห็นอกเห็นใจให้กับพวกคอมมิวนิสต์นั้นเป็นหน้าที่โดยตรงของหนังสือพิมพ์ในประเทศคอมมิวนิสต์เขาต่างหาก” [11]

ในบรรดาผู้ถูกประหารชีวิตโดยวิธีการยิงเป้าด้วยอำนาจมาตรา 17 ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ นายครองดูจะเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการศึกษาและกล่าวถึงมากที่สุด แต่ก็ดูเหมือนว่ายังคงมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ “ยังไม่เคยบอก” ดังที่บทความนี้ได้นำเสนอถึงคำพูดของนายครองในเหตุการณ์ถูกยิงเป้าด้วยมาตรา 17 จากหลักฐานหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย ซึ่งแตกต่างกับความรับรู้ปัจจุบัน โดยเฉพาะการไม่ปรากฏวลี “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ในหลักฐาน

เรื่องราวประวัติศาสตร์นายครอง จันดาวงศ์ กับสิ่งที่ไม่เคยบอก ยังมีหลักฐานสำคัญในการศึกษาทางประวัติศาสตร์อีกหรือไม่ อ่านเพิ่มเติมได้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2564 ในบทความชื่อ ในวันที่ ครอง จันดาวงศ์ อาจไม่ได้พูด “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” โดย อิทธิเดช พระเพ็ชร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ตัวอย่างเช่น บทความเรื่อง “58 ปี วาทะ ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ’ ครูครอง กับคำที่ยังมีชีวิต,” ประชาไทออนไลน์. 31 พฤษภาคม 2562. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563, https://prachatai.com/journal/2019/05/82726; กฤษณะ โสภี. “ครูครอง จันดาวงศ์” นักต่อสู้ ปชต. เจ้าของวาทะ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ,” ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. 26 มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563, https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_7479.

[2] ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. พิมพ์ครั้งที่ 2. (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2556), น. 323-335.

[3]  หนังสือพิมพ์สยามนิกร 1 มิถุนายน 2504 ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป7/2504/มท. 3.9 กบฏแยกดินแดนอีสาน

[4] สุวิมล รุ่งเจริญ. บทบาทของนักหนังสือพิมพ์ในการเมืองไทย พ.ศ. 2490-2501. (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526), น. 51.

[5] สารเสรี 1 มิถุนายน 2504 ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป7/2504/มท. 3.9 กบฏแยกดินแดนอีสาน

[6] ไทรายวัน 2 มิถุนายน 2504 ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป7/2504/มท. 3.9 กบฏแยกดินแดนอีสาน

[7] ตัวอย่างเช่น สยามนิกร 2 มิถุนายน 2504 ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป7/2504/มท. 3.9 กบฏแยกดินแดนอีสาน

[8] สารเสรี 1 มิถุนายน 2504 ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป7/2504/มท. 3.9 กบฏแยกดินแดนอีสาน

[9] ไทรายวัน 2 มิถุนายน 2504 ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป7/2504/มท. 3.9 กบฏแยกดินแดนอีสาน

[10] ไทรายวัน 2 มิถุนายน 2504 ใน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก/ป7/2504/มท. 3.9 กบฏแยกดินแดนอีสาน

[11] ประหยัด ศ. นาคะนาท. “วิสามัญสำนึก,” ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์. ปีที่ 7 ฉบับที่ 54 (11 มิถุนายน 2504), น. 50.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2564