สมัยก่อนซ่อมถนนอย่างไร เมื่อราชการทุนไม่พอ ซ่อมแล้วการใช้งานก็ยังไม่สมบูรณ์

ภาพถ่ายเก่า ถนนเจริญกรุง

สมัยที่เทคโนโลยีการก่อสร้างก้าวหน้าไปไกล การซ่อมแซมโครงสร้างการคมนาคมทันสมัยมีกรรมวิธีแตกต่างจากสมัยก่อน นอกจากกรรมวิธีที่แตกต่างกันแล้ว หากพูดถึงการซ่อมถนนสมัยต้นรัตนโกสินทร์หลายพื้นที่ก็ต้องใช้ทุนเป็นธรรมดา แต่เมื่อไม่มีทุนก็มักเรี่ยไรกันด้วย

ประเด็นเรื่องการซ่อมแซมถนนในพื้นที่ใจกลางศูนย์การปกครองของประเทศสร้างคำถามเรื่องระบบบริหารจัดการอย่างมาก หากพูดถึงเรื่องกรรมวิธีแล้ว ภาพการซ่อมแซมถนนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 4 ส.พลายน้อย อธิบายในหนังสือ “เล่าเรื่องบางกอก” ว่า สมัยนั้นไม่ได้ลงรากกระทุ้งดินให้แน่น แค่ใช้การเกลี่ยดินให้เรียบ จากนั้นจึงนำอิฐเรียงตะแคงให้ชิดกันแล้วทำให้ส่วนตรงกลางนูน เว้นให้ 2 ข้างของถนนมีร่องระบายน้ำ โดยร่องระบายน้ำจะก่อด้วยอิฐกว้างประมาณ 1 ฟุต ลึกประมาณ 2 ฟุต

ส.พลายน้อย อธิบายว่า การสร้างด้วยกรรมวิธีแบบนี้เป็นต้นเหตุให้ถนนทรุดตัวเร็ว เป็นธรรมดาว่าฝ่ายราชการต้องซ่อมแซม แต่บางครั้งไม่มีทุนเพียงพอ การซ่อมถนนในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงพบเห็นเป็นรูปแบบการเรี่ยไรและบอกบุญผ่านการออกประกาศดังเช่น ประกาศบอกแผ่การพระราชกุศลซ่อมแซมถนนในรัชกาลที่ 4 ณ วันพุธ เดือนสิบสอง แรม 3 ค่ำ ปีมะเสง นพศก มีใจความว่า (สะกดตามต้นฉบับ จัดย่อหน้า และเน้นคำใหม่ – กองบก.ออนไลน์)

“ด้วยเจ้าพระยายมราชชาติเสนางค์นรินทรมหินทราธิบดี รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สั่งว่าบัดนี้ถนนในพระนครชำรุดซุดโซมยับย่อยไปมาก สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรเดิรไปเดิรมาลำบาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้าพระยายมราชเปนแม่กองทำถนนที่ชำรุดไปนั้น ทำเสียใหม่ให้เปนปรกติเปนหลายแห่ง

แล้วทรงพระดำริหว่าการก่อถนนนี้ เปนสาธารณกุศลเปนประโยชน์แก่คนทั่วไป ใครๆ ก็จะได้เดิรไปมาสบายสดวกด้วยกันทุกๆ คน ควรที่ท่านทั้งปวงจะยินดีทำด้วยกัน เพราะฉนั้นจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศบอกแผ่การพระราชกุศล ต่อพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนข้างหน้าข้างใน ในพระบรมมหาราชวังพระบวรราชวัง ที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด ในจำนวนปีมะเสงนพศกนี้ ให้ได้ส่วนพระราชกุศลด้วยกันตามได้ตามมีตามศรัทธาอุสาห คือขอให้เอาอิฐดีบ้างอิฐหักบ้างมากแลน้อย ตามแต่จะยินดีช่วยมากและน้อยไม่ว่าไม่เกณฑ์ จงมาเพิ่มในการพระราชกุศลทุกๆ คนเทอญ

เมื่อจะเอาอิฐดีฤๅอิฐหักมาส่งนั้นให้มาส่งกับเจ้าพระยายมราชแม่กอง แต่ในเดือนอ้ายเดือนยี่ปีมะเสงนพศก โปรดให้จดหมายรายวันตามผู้ใดมีศรัทธาได้เอาอิฐมาส่งมากและน้อย ให้มหาดเล็กรายงานกราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ จะทรงอนุโมทนาด้วยท่านทุกๆ คนตามรับสั่ง”

ส. พลายน้อย อธิบายเพิ่มเติมว่า การทำถนนลักษณะนี้เป็นสาเหตุให้ฝุ่นตลบในช่วงหน้าแล้ง เมื่อเข้าสู่หน้าฝนก็จะทำให้เกิดบ่อโคลนตมมากมาย ที่สำคัญคือมีน้ำไหลจากถนนไปเจิ่งนองข้างทาง ถ้าถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับทางระบายน้ำ อาจต้องอธิบายว่า ทางระบายน้ำเล็กก็ไหลไม่สะดวก เพราะผู้อยู่อาศัยข้างถนนก็ยังทิ้งขยะในท่อจนท่อตัน น้ำไหลไม่สะดวก เมื่อน้ำเจิ่งนองก็ต้องรอให้แห้ง ซึ่งจินตนาการได้ว่ายุคนั้นที่ยังไม่มีหน่วยงานช่วยระบายน้ำโดยตรงก็ยิ่งต้องรอนานเข้าไปอีก

อย่างไรก็ตาม กรรมวิธีการซ่อมทำถนนเริ่มเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5 กรรมวิธีก็ได้อิทธิพลจากองค์ความรู้จากต่างประเทศ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ส. พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำสำนักพิมพ์, 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2562