จาก“วันขึ้นปีใหม่”ของสยามประเทศ ถึง“วันปีใหม่”ของประเทศไทย

ตั้งแต่สมัยโบราณดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันนี้ “วันปีใหม่” ที่ใช้กันของคนไทย มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาก ในเอกสารเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาสู่สาธารณะ ของภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัย ศิลปากร เขียนเรื่อง “ลําดับการเปลี่ยนแปลง วันขึ้นปีใหม่ ของสยามประเทศและประเทศไทย” ไว้น่าสนใจ จึงขอนำมาเผยแพร่ดังนี้

1. เดือนอ้ายขึ้นปีใหม่ของไทยสยามยุคตั้งเดิมดึกดําบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ถือตาม จันทรคติ ขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย (เดือนที่ 1) เป็นวันขึ้นปีใหม่ เริ่มปีนักษัตรใหม่ โดยเฉลี่ยแล้วเป็นช่วงหลังลอยกระทงกลางเดือน 12 ถือเป็นส่งท้ายปีเก่า

Advertisement

คติอย่างนี้มีอย่างเดียวกันหมดทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ในภูมิภาคอุษาคเนย์ เมื่อเทียบปฏิทินสากลตามสุริยคติจะอยู่ราวปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม

2. ขึ้นปีใหม่สมัยกรุงศรีอยุธยา “สยามประเทศ” แบ่งเป็น 2 ภาคส่วน คือของราชสํานักกับของราษฎร

สงกรานต์ ปีใหม่ในราชสํานักรับแบบแผนพิธีพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดียตั้งแต่หา พ.ศ.1000 เป็นต้นมา เหมือนกันหมดทุกราชสํานักของรัฐในอุษาคเนย์ คือถือวันสงกรานต์เป็นขึ้นปีใหม่ ตรงกับช่วงกลางเดือนเมษายน แต่ทางจันทรคติเป็นเดือน 5

เดือนอ้าย ปีใหม่ของราษฎร ไม่รู้จักแบบแผนพราหมณ์-ฮินดู จึงถือเอาขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นขึ้นปีใหม่ตามคติเดิมสืบมา แต่ในสังคมเมืองใช้ทั้งสองคติ คือนับเดือนอ้ายด้วยและทําบุญสงกรานต์ด้วย

3. 1 เมษายน ขึ้นปีใหม่สมัยรัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ กําหนดให้วันที่ 1 เมษายน ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา

4. 1 มกราคม ขึ้นปีใหม่ตามแบบสากล ตะวันตก เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2483 สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี สืบจนทุกวันนี้


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 14 เมษายน พ.ศ.2562