หมอฝรั่ง “ห้ามกินข้าว” ทำท้องผูก ร. 5 ทรงโต้ “แต่เขาขี้กันทุกคน”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประทับบนรถม้าพระที่นั่งที่กรุงเบอร์ลิน (ภาพจากหนังสือไกลบ้าน)

การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 2 ช่วงปีพ.ศ. 2450 ซึ่งเสด็จฯไปรักษาพระองค์ตามคำแนะนำของแพทย์หลวง เหตุการณ์ในครั้งนี้ คณะแพทย์ในยุโรปสั่ง ห้ามกินข้าว เพื่อแก้พระอาการท้องผูก

ซึ่งกลายเป็นที่มาของข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงเล่าว่า ทรงโต้เถียงแพทย์เรื่อง “ห้ามกินข้าว”

Advertisement

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2440 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวิเทโศบายเพื่อรักษาเอกราชของชาติท่ามกลางการรุกคืบของจักรวรรดินิยมตะวันตก ขณะที่วัตถุประสงค์สำคัญสำหรับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2450 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ผู้เขียนหนังสือ “วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์” ระบุว่า เพื่อพักผ่อนพระวรกาย ฟื้นฟูพระพลานามัยและรักษาพระอาการประชวรซึ่งเป็นผลมาจากตรากตรำพระราชหฤทัย และพระวรกายเนื่องมาจากการบริหารราชการบ้านเมืองจากสภาพแวดล้อมในช่วงเวลานั้นยังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก

นอกจากพระโรคที่แสดงอาการประจำอย่างพระอาการปวดเมื่อยพระวรกาย ต้องมีพนักงานถวายการนวด พระอาการจึงจะผ่อนคลายและบรรทมหลับแล้ว ปัญหาพระพลานามัยช่วงนั้นยังรวมถึงผนังในโพรงพระนาสิก (โพรงจมูก) หลอดลมมีพระอาการอักเสบสืบเนื่องจากทรงสูบพระโอสถมวนมาก และยังมีพระอาการพระโลหิตจางจากโรคพระวักกะ (ไต) อักเสบเรื้อรัง

ผู้เขียนหนังสือระบุว่า “พระโลหิตจางเป็นเหตุให้เกิดพระอาการอ่อนเพลียซึ่งเป็นเพราะหัวใจสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงร่างกายยากและไม่เพียงพอ แพทย์หลวงจึงถวายคำแนะนำให้เสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ในยุโรป”

หลังคณะแพทย์ในยุโรปประชุมหาวิธีรักษาให้ได้ผลในระยะเวลาสั้น ทรงพบว่า แพทย์หลวงในบางกอกวินิจฉัยโรคและพระอาการผิดเป็นพระโรคหืด แต่โรคพระนาสิกนั้นเกิดจากอักเสบในโพรงพระนาสิก แพทย์จึงเปลี่ยนยา เปลี่ยนวิธีรักษาใหม่กระทั่งพระอาการดีขึ้นส่วนหนึ่ง

ส่วนโรคพระโลหิตจางที่ทำให้มีอาการปวดเมื่อย ทรงปรารภกับคณะแพทย์ในยุโรปถึงพระอาการปวดเมื่อย คณะแพทย์กลับไม่สามารถวิเคราะห์พระอาการได้ พระราชดำริในพระองค์เกี่ยวกับพระอาการนี้คือน่าจะเป็นพระอาการของเลือดลมอันเป็นธาตุเฉพาะพระองค์ ทรงเล่าว่า

“ฉันเชื่อว่าคงจะได้รับรักษาอย่างเต็มที่ที่เขาจะรักษาได้ แต่เสียแต่เรื่องเมื่อยไม่รู้จักจริงๆ บอกเข้าออกจะตกใจเกินๆ ไปจึงต้องตกลง เป็นระงับให้แกรักษาอย่างอื่น เมื่อยเรานวดเอาได้ รวบรวมใจความว่าถ้าหายอื่นแล้วก็จะหายเมื่อยด้วย”

คณะแพทย์ยังขอให้ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่พักผ่อนพระวรกายด้วยการประทับพักผ่อนเฉยๆ ทำพระทัยให้เบิกบาน ลดสูบพระโอสถมวน ขั้นต่อมาก็ใช้ยากระตุ้น และบำรุงพระทัยขนานแรง ซึ่งการใช้ยาได้ต้องมีข้อปฏิบัติหลายประการ เป็นแนวทางที่ทรงรู้สึกอึดอัดขัดข้องพระทัยกับข้อห้ามต่างๆ

ผู้เขียนหนังสือระบุว่า วิธีของคณะแพทย์ยุโรปได้รับคำชื่นชม เพราะพระองค์ทรงรู้สึกถูกกับพระโรค ส่วนข้อห้ามต่างๆ จากคณะแพทย์พระองค์ปฏิบัติตาม แม้จะทรงรู้สึกเบื่อหน่าย
อย่างไรก็ตาม การ “ห้ามกินข้าว” หรือไม่ให้เสวยข้าว ห้ามเสวยของเค็ม กลับทำให้ทรงเสวยไม่ลงจนเกิดพระอาการไม่ถ่ายขึ้น ทรงบอกหมอว่าสาเหตุของการไม่ถ่ายเป็นผลสืบเนื่องจากที่ไม่ได้เสวยข้าว ซึ่งแพทย์ตั้งข้อสังเกตแย้งว่า เสวยแต่ข้าวจะถ่ายออกได้อย่างไร แม้ว่าแพทย์ยินยอมให้เสวยข้าวบ้าง แต่พระอาการท้องผูกก็ยังคงอยู่ ทรงเล่าว่า

“—พอยอมเข้าวันนี้ ก็ค่อยฟื้น แต่ยังกินเข้ากินปลาไม่ได้ ยุ่งใหญ่ ยิ่งกินเนื้อกินหนังเข้าไปมันยิ่งแน่นมากขึ้น ต้องหันลงกินเข้า ตาหมอก็กริ้วว่าไม่กินอะไรกินแต่เข้า มันจะขี้อย่างไรได้—”

ข้อความข้างต้นนำมาสู่ข้อความที่แสดงให้เห็นว่าทรงขัดพระทัยในข้อกล่าวหาของแพทย์ อันปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าที่โต้แพทย์ว่า

“—ฉันบอกว่าเมืองฉันเขากินเข้า แต่เขาขี้กันทุกคนเหมือนกัน—”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558. หน้า 136-14


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12เมษายน 2562