เผยแพร่ |
---|
รัชกาลที่ 5 ทรงเล่าเรื่องผลไม้นอก และทรงรับสั่งเทียบลูกไม้ไทย แอปเปิล-พุทรา, เชอร์รี่-พุมเรียง, ตะขบ สตรอว์เบอร์รี่-แตงหนู และทรงส่งผลไม้นอกกลับบางกอกให้เจ้านายราชสำนักได้เสวย
เมื่อสมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จประพาสยุโรปครั้ง แรกในปี พ.ศ. 2440 นั้น ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานมายังสมเด็จพระอัครมเหสีที่ทรงเรียกว่าแม่เล็กอยู่เนืองๆ ในวันที่ 23 พฤษภาคม ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขา และทรงเล่าถึงผลไม้เมืองนอกที่ได้เสวยแล้วดังนี้
“ลูกไม้ได้กินแล้ว คือแชร์รี่ ลักษณะลูกพุมเรียง แต่ดีกว่าที่ไม่ติดปากกินแล้วไม่ต้องอยากอีก ลูกพีชหวานชืดๆ รสชาติเป็นฟักขาวไม่อร่อยเลย ดีแต่สตรอบรีๆ ก็ลูกเล็กกว่ายาวา แต่รสดีกว่าไม่เป็นแตงหนู สตรอบรีบ้านโตกว่าที่ยาวามากเท่าลิ้นจี่ลูกใหญ่ๆ ลูกแอปเปิลนี้อ่านออกแล้ว ไม่ใช่อะไรเลย คือพุทราเรานี่เอง เป็นแต่มันโตเป็นลูกไม้ป่าพระหิมพานต์ ถ้าดิบๆ จิ้มน้ำตาลกับเกลือเป็นพุทราเปรี้ยว”
การที่สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกนั้น เป็นการเสด็จทางราชการอย่างที่เรียกว่า State Visit แต่การเสด็จครั้งหลังในปี พ.ศ. 2450 นั้น ไม่เป็นทางการ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชหัตถเลขาจากเมืองเนเปิล ลงวันที่ 25 เมษายน ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) ถึง “กรมดํารง” ของพระองค์มีความตอนหนึ่งว่า
“ดูที่จะสนุกอยู่ ออกต้นๆ ผิดกับมาในเรือของเราเอง (ต้น, ไม่อวดยศศักดิ์ หรือวางฟอร์ม) ซึ่งทําให้คนทึ่งมาก ถ้าหากว่าชาวบางกอกตั้งใจจะคอยฟังว่ารับรองแห่งใดดี ในทางเกียรติยศแล้วคงจะต้องเสียใจเพราะตั้งแต่มายังไม่ได้แต่งฟร้อกโก๊ดขึ้นบกเลย เห็นว่าทําถ่อมๆ ไว้เสียดีไม่เก้อ และจะได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นเมื่อครั้งก่อน”
อย่างไรก็ตามในการ เสด็จยุโรปครั้งหลังนี้ พระองค์ทรง “ได้พบและได้รับ” ผลไม้ เมืองนอกชนิดต่างๆ ซึ่งล้วนแต่มีคุณภาพต่างกับที่ทรง “ได้รับ” ในครั้งแรก ซึ่งเป็นทางการนั้นมากมาย ในพระราชนิพนธ์ เรื่องไกลบ้านอันเป็นพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ ทรงมีถึงพระราชธิดา คือ สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล
ทรงเล่าถึงเรื่องผลไม้เมืองฝรั่งว่า
“ผลไม้มีส้มลูกโตเท่าส้มเปลือกบาง รสเปรี้ยวเกือบจะ ถึงส้มแก้ว แต่ชุ่มดีกับลูกแอปเปิลอเมริกา…”
“ลูกแชร์รี” ซึ่งในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ทรงอุปมาอุปไมยว่าเหมือนกับลูกพุมเรียงนั้น คราวนี้ถึงกับเป็นผลไม้ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะเสวย และโปรดเกล้าฯให้ หลวงสรลักษณ์ [หลวงสรลักษณ์ลิขิต (มุ่ย จันทรลักษณ์)] เขียนลูกแชร์รี ซึ่งตั้งอยู่ในโต๊ะกินเข้าแล้วแผ่นหนึ่ง
ในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 19 พฤษภาคม ส่งมาจากแกรนด์โฮเต็ล เมืองเวนิช ทรงเล่าถึง “ลูกไม้” เมืองฝรั่งที่ ทรงได้รับในความนี้ว่า
“แต่ลูกไม้จรูญซื้อมาแต่ปารีสคราวนี้ได้ดี คือ เชอรี่ เขามีหีบบรรจุ ข้างในกรุสําลีแล้วจึงวางเรียงที่ละลูกละลูก ประมาณสัก 24 ลูก ขนาดเท่าตขบเล็กๆ สีสันวรรณะก็เหมือน ตขบ กับลูกแปร์กําลังดีจริงๆ อ้ายลูกไม้เหล่านี้ทําให้พ่อกลืน ไม่ใคร่จะลงร่ำไปทําให้คิดแล้วคิดเล่า ว่าทําอย่างไรถึงจะส่งไปบางกอกได้ เชอรี่เห็นจะไม่สําเร็จ แต่ลูกแปร์นั้นมีท่าทางอยู่นักหนา แต่คงไม่ได้ที่สุกงอมนั้นเป็นธรรมดา ”
อย่างไรก็ตาม พระราชประสงค์ที่จะให้ “ลูกไม้เมืองฝรั่ง” ไปถึงเมืองไทยได้นั้นก็เป็นอันสําเร็จได้ ดังพระราชเลขาลงวันที่ 25 สิงหาคม ร.ศ. 126 ทรงเขียนจากวิลลา เฟอสเตนรูห์ เมืองฮอมเบิค ตอบลายพระหัตถ์ “กรมดำรง” ข้อความตอนหนึ่งว่า
“เรื่องผลไม้เมืองฝรั่งเข้าไปถึงได้ ฉันมีความมีความยินดีนัก ได้ตั้งใจว่าจะส่งเข้าไปอีกจะสําเร็จฤาไม่กําหนดไม่แน่ แต่ฉัน ถือว่าฉันเป็นออทอริตีในเรื่องลูกไม้ ไม่ใช่แต่ชอบเองแต่เดิมมา ซ้ำถูกตาหมอสั่งให้กินด้วย เชื่อว่าบรรดาผลไม้ที่กินได้ใน เมืองฝรั่ง ฉันจะได้กินแล้วหมดทุกอย่าง อาจจะบอกความลับได้ ว่าหายคิดถึงลูกไม้เมืองไทย ได้มากินลูกไม้เมืองฝรั่งเสีย ฤดูหนึ่ง แล้วจึงกลับไปกินลูกไม้เมืองไทยทุกปีไป ไม่มีความเสียใจเลย…”
อย่างไรก็ตาม “ลูกไม้เมืองฝรั่ง” โดยเฉพาะแอปเปิล ได้มีโอกาส “ถวายตัว” แด่สมเด็จพระปิยมหาราช ในคืนวัน เสาร์ที่ 19 ตุลาคม ในเรือพม่า ในขณะที่พระองค์กําลังทรงหิว ใคร่จะได้เสวยเครื่องไทยๆ ต่างๆ นานา ทรงเล่าไว้ใน “บันทึกความหิว” ว่า
“สู้มันไม่ไหว เรียกอ้ายฟ้อนไปคลําๆ ดู มันมีลูกไม้ อยู่ที่ไหนไม่ว่าให้เอามาให้กูลูกหนึ่ง อ้ายฟ้อนไปสักครู่หนึ่ง กลับมาบอกว่า ‘มีแต่แอ๊ปเป้อด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม’ ตอบ ว่า ‘แอปเปิลไม่ใช่ลูกไม้ฤาเอามาเถอะ’ พอได้มาต้องลุกขึ้นนั่ง หั่นเคี้ยวเข้าไปสักครึ่งลูก นึกว่าถ้ากินมากเข้าไปเวลาดึก เห็นจะไม่ดีจึงหยุดกินเท่านั้น”
ผลแห่งการได้เสวยแอปเปิล แม้เพียงครึ่งผล สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงบันทึกว่า “รู้ว่าผลลูกแอปเปิลตกถึงกระเพาะเท่านั้น ผีสางพวกกุ้งปลาเลยไม่หลอก…”
สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่าเป็นยุคเงินยุคทองของ “ของนอก” ทั้งของกิน ของใช้ ผลไม้เมืองนอกที่ถือว่าชั้นเยี่ยม ก็คือ องุ่น ส่วนแอปเปิล สาลี่ก็ถือว่าเป็นผลไม้ประเภท “ยังงั้นๆ” สนนราคาก็ผลละไม่กี่สตางค์และท่านผู้ใหญ่บางท่านก็ ปรารภว่าคนชอบกินผลไม้ฝรั่ง เหมือนนกเหมือนกาสู้กล้วย น้ำว้าของไทยก็ไม่ได้
เมื่อถึงรัชกาลที่ 7 แอปเปิลนับเป็นผลไม้ระดับ “หาบเร่” เพราะว่าเป็นของที่จะหากินได้ตามหาบเร่ แอปเปิลนี่แหละมีขาย ราคาน่ะหรือ แอปเปิล ผลละ 5 สตางค์ ถ้าแอปเปิลแดง ผลละ 3 สตางค์ ค่าเงินก็ไม่เกิน 3 – 5บาทในสมัยนี้ นี่ว่าถึงสภาพ เป็นอยู่ในสมัยก่อนสงครามปี พ.ศ. 2484
สี่ปีเศษของช่วงเวลาสงคราม เมืองไทยก็สะบักสะบอมพอดู ไหนจะภัยสงคราม ไหนจะน้ำท่วม ข้าวของต่างๆ ที่เคย ข้ามน้ำข้ามทะเลมาประดับมาดผู้กินผู้ใช้ก็ไม่มีทางมาเพราะตอร์ปิโดมันไม่เข้าใครออกใคร และไทยก็ไปประกาศสงครามกับฝรั่ง คืออังกฤษและอเมริกาเข้าให้
จนกระทั่งสงครามสงบแล้วร่วมๆ 3 ปี จึงมีของนอกต่างๆ ทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค ให้คนได้กินได้ใช้ ได้โชว์ฟอร์มกันราคานั้นไม่ต้องพูดถึงล่ะ แพงกว่ากันตั้ง 100 – 200 เท่าตัว อย่างแอปเปิลแดงที่เคยซื้อผลละ 3 สตางค์ ระยะหลังสงครามราคาถึงผลละ 15 บาท บ้านไหนในตู้เย็นมีแอปเปิล “ประดับ” สักผลสองผลละก็ ดูเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตามีราศีขึ้นมา และยิ่งเวลามีแขกเหรื่อมาเยือน ก็จะต้องมีการ “โชว์ แอปเปิล” ไม่ใช่แอปเปิลออกมาอวดแขกหรอกนะ แต่เป็นการจัดโน่น จัดนี่ในตู้เย็น เช่น เอาขวดกรอกน้ำมาใส่ตู้ เปิดฝาตู้งับแง ให้เห็นจานวางแอปเปิลวับๆ แวมๆ พอล่อใจให้ (คนโง่ คนบ้า) อยากกินเท่านั้น
ข้อมูลจาก
ลาวัณย์ โชตามระ. “จากกล้วยเผาถึงแอปเปิล”, สิ่งดีในวิถีชีวิต ไทย-จีน กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด จัดพิมพ์เนื่องในวาระฉลองสิริราชสมบัติครอบ 50 ปี พ.ศ. 2539
เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2561