“เกงจิ๋วยืมนาน ไม่ยอมคืน” สำนวนสอนใจที่เกิดจาก “เล่าปี่” หย่อนคุณธรรม

เกงจิ๋วยืมนาน ไม่ยอมคืน
การสู้รบระหว่างก๊กต่างๆ ใน สามก๊ก (ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก ในวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร ภาพจากศิลปกรรรม วัดบวรนิเวศวิหาร, 2528)

“เกงจิ๋ว” เมืองที่มีความสำคัญในวรรณกรรมเรื่อง “สามก๊ก” เพราะเป็นจุดกำเนิดสำนวนสอนใจ “เกงจิ๋วยืมนาน ไม่ยอมคืน” ทำให้ เล่าปี่ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่อง เป็นที่โจษจันไปทั่วแดน

ในวรรณกรรมสามก๊ก “บุรุษผู้สูงเจ็ดฉื่อห้าชุ่น มีแขนยาวถึงเข่า และมีใบหูใหญ่ที่ตัวเองสามารถชำเลืองตาไปมองเห็นได้” มีนามว่า เล่าปี่ เป็นผู้สุขุมเยือกเย็น รักเพื่อนฝูง เป็นผู้ปกครองก็ โอบอ้อมอารี รักใคร่ปวงประชา นับได้ว่า เล่าปี่เป็นผู้มีคุณธรรมคนหนึ่ง

เล่าปี่นั่งโต๊ะว่าราชการ กวนอู เตียวหุย และเจ้าหน้าที่ศาล ยืนกำกับอยู่ซ้ายขวา หน้าโต๊ะว่าราชการมีประชาชนมาร้องทุกข์ (ภาพจิตรกรรมจากวัดประเสริฐสุทธาวาส กรุงเทพมหานคร)

ยืมเกงจิ๋ว

หากมีครั้งหนึ่งที่เล่าปี่ “หย่อนคุณธรรม”เป็นเรื่องจดจำและโจษจันไปทั่วจากอดีตถึงปัจจุบัน

Advertisement

เมื่อเล่าปี่ยืมเมือง “เกงจิ๋ว” แล้วไม่ยอมคืน เหตุการณ์นี้กลายเป็นสำนวนของคนจีนกลุ่มต่าง ๆ ที่แต่งไว้สั้นยาวด้วยภาษาของแต่ละกลุ่ม แต่มีความหมายตรงกันว่า “เกงจิ๋วยืมนาน ไม่ยอมคืน” เพื่อเตือนสติเวลาจะให้ใครยืมอะไรต้องคิดให้ดี ไม่เช่นนั้นจะเหมือนเล่าปี่ยืมเกงจิ๋ว

การยืมเมืองเกงจิ๋วนี้ เกิดขึ้นภายหลังเสร็จศึกผาแดง พ.ศ. 751 (ค.ศ. 208 ราชวงศ์ฮั่น, รัชศกเสี้ยนอันปีที่ 13) โจโฉพ่ายแพ้ย่อยยับในศึก ถูกกองกำลังของเล่าปี่และจิวยี่ไล่โจมตีทั้งทางน้ำและทางบก ระหว่างการหลบหนี โจโฉได้สั่งให้โจหยินและซิหลงตรึงกำลังอยู่ที่เมืองกังเหลง และให้งกจิ้นตรึงกำลังที่ซงหยงเมืองเอกของซินเสีย จิวยี่และเทียเภาจึงยกทัพเข้าตีเมืองกังเหลง ทั้งสองฝ่ายเปิดฉากสู้รบต่อเนื่อง ไม่นานซุนกวนก็ยกทัพใหญ่ไปล้อมตีเมืองหับป๋าอีกทางหนึ่ง

ระหว่างที่กองทัพแห่งง่อก๊กแบ่งกำลังออกเป็นสองทัพ เข้าตีเมืองหับป๋าและกังเหลง เล่าปี่อาศัยช่วงชุลมุนยกทัพเข้ายึดเกงจิ๋วอย่างรวดเร็ว ได้เมืองบุเหลง เลงเหลง ฮุยเอี๋ยง และเตียงสา มาครองอย่างง่ายดาย ทำให้เล่าปี่มีอาณาจักรของตนเองเป็นครั้งแรก

ในศึกผาแดง ฝ่ายที่สูญเสียมากที่สุดเห็นจะเป็นโจโฉ เพราะไม่เพียงแต่สูญเสียกำลังทหารนับแสนนาย อีกทั้งกำลังทรัพย์ และยุทโธปกรณ์อย่างนับไม่ถ้วน ยังสูญเสียเมืองเกงจิ๋วที่เพิ่งยึดมาได้จนเกือบหมด

คุณธรรมเล่าปี่

ส่วนผู้ชนะซึ่งได้ประโยชน์สูงสุด ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นฝ่ายซุนกวน เพราะเป็นฝ่ายเดียวที่ตีทัพโจโฉจนพ่ายแพ้ย่อยยับ โดยหลักการแล้วเขาควรได้รับผลประโยชน์จากฝ่ายแพ้สงคราม แต่ความจริงกลับมิได้เป็นเช่นนั้น เขาได้มาเพียงพื้นที่ส่วนน้อยของเกงจิ๋ว คือเมืองลำกุ๋น และส่วนหนึ่งของเมืองกังแฮ

ผู้ชนะที่แท้จริงจึงเป็นเล่าปี่ เพราะได้สี่เมืองในเกงจิ๋วมาครอง โดยไม่ต้องออกแรงสู้รบเลย แม้กระนั้น เล่าปี่ก็ยังไม่พึงพอใจ หวังจะได้ลำกุ๋นมาครอบครองด้วย

พ.ศ. 753 (ค.ศ. 210 ราชวงศ์ฮัน รัชศกเจียนอันปีที่ 15) เล่าปี่เดินทางเข้าพบซุนกวนที่ง่อก๊กด้วยตนเอง หวังจะยืมเมืองลำกุ๋นจากซุนกวน เขาให้เหตุผลว่า ไพร่พลเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน หากได้ลำกุ๋นเพิ่ม ผู้คนจึงจะลงหลักปักฐานได้

ภายในง่อก๊กมีความเห็นไม่ตรงกันต่อเรื่องที่เล่าปี่ยืมเกงจิ๋ว (แท้ที่จริงยืมแค่เมืองลำกุ๋น)

จิวยี่ยื่นหนังสือต่อซุนกวนเป็นการเฉพาะว่า

“เป็นที่ทราบกันดีว่าเล่าปี่เป็นบุรุษผู้เห่อเหิมทะเยอทะยานยิ่งนัก ทั้งยังมีแม่ทัพผู้เก่งกาจอย่างกวนอูและเตียวหุยคอยเป็นแขนขา คงไม่พอใจกับการอยู่ภายใต้อำนาจผู้อื่นอย่างถาวรแน่ ข้าเห็นว่าเราควรสร้างวังหรูหราให้เล่าปี่พำนัก พร้อมให้สาวงามจำนวนมากคอยบำเรอ ให้เขาเสพสมความสนุกเพลิดเพลินจนลืมซึ่งความทะเยอทะยาน

ส่วนกวนอูและเตียวหุยควรให้แยกไปประจำการอยู่คนละที่ แล้วให้คนอย่างข้าจิวยี่เป็นผู้บัญชาการรบของเขาทั้งสอง เมื่อนั้นทั่วหล้าจึงจะสงบ แต่วันนี้เรื่องกลับไม่เป็นเช่นนั้น มิหนำซ้ำยังจะแบ่งดินแดนแก่เขา ให้สามคนนั้นใช้เป็นทุนร่วมรบในสมรภูมิ เกรงว่าจะเป็นการส่งเสริมให้มังกรทะยานขึ้นฟ้า ไม่ยอมสถิตอยู่ใต้น้ำอีกต่อไปเสียมากกว่า”

ด้านโลซกกลับมีความเห็นแตกต่างโดยสิ้นเชิง

“เราจะแช่แข็งเล่าปี่ไม่ได้เด็ดขาด แม้ท่านแม่ทัพจิวยี่จะได้รับชัยชนะในศึกผาแดง แต่เขี้ยวเล็บของโจโฉยังแข็งแรงมาก เราเพิ่งได้เกงจิ๋วมาครอง จิตใจของชาวเมืองยังไม่ภักดีต่อเรา ไม่สู้ให้เล่าปี่ยืมเกงจิ๋วเสีย ยืมมือเขาบริหารบ้านเมืองซื้อใจประชาชน เช่นนี้โจโฉจะได้มีศัตรูเพิ่มขึ้น ส่วนเราก็จะมีพันธมิตรเพิ่มขึ้น นี่เป็นอุบายที่ดีที่สุด”

หลังเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้ว ซุนกวนตัดสินใจดำเนินการตามอุบายที่โลซกเสนอ

จากยืม เป็นยึด

โจโฉทราบข่าวเรื่องซุนกวนให้เล่าปี่ยืมเกงจิ๋ว ในขณะที่เขากำลังเขียนหนังสืออยู่พอดี โจโฉตกใจสุดขีด พู่กันในมือหลุดร่วงลงพื้นโดยไม่รู้ตัว

ซุนกวนมองว่า การที่เล่าปี่ได้สี่หัวเมืองแห่งเกงจิ๋วมาครองหลังศึกผาแดง เป็นการได้เปล่าอยู่แล้ว ที่ซุนกวนยอมให้เล่าปี่ยืมเมืองลำกุ๋น ก็เพราะความจำเป็นด้านยุทธศาสตร์ ที่ต้องการสร้างพันธมิตรไว้รับมือโจโฉ ดังนั้น ซุนกวนจึงคิดอยู่ตลอดเวลาว่า จะต้องทวงคืนทั้งห้าเมืองแห่งเกงจิ๋วจากเล่าปี่ให้ได้

พ.ศ. 757 (ค.ศ. 214 ราชวงศ์ฮั่น รัชศกเจี้ยนอันปีที่ 19) สามปีหลังการบริหารเกงจิ๋ว เล่าปี่ก็ได้เอ๊กจิ๋วมาครอบครองในที่สุด ก่อนหน้านั้น เล่าปี่เคยเอ่ยปากว่า หากได้เอ๊กจิ๋วมาครอง ก็จะคืนเกงจิ๋วให้ซุนกวน เมื่อเห็นเล่าปี่ไม่มีท่าทีจะคืนเกงจิ๋ว ซุนกวนก็ไม่อาจทนดูอีกต่อไป จึงสั่งให้ลิบองแม่ทัพใหญ่ ยกทัพไปตีเมืองเตียงสา เลงเหลง และฮุยเอี๋ยง

เล่าปี่ ไม่ยอมเสียเกงจิ๋ว จึงสั่งให้กวนอูเตรียมทัพพร้อมรบ แต่แล้วอีกด้านหนึ่ง โจโฉกลับยกทัพมาตีเมืองฮันต๋งอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

ฮันต๋งเป็นหัวเมืองสําคัญของเอ๊กจิ๋ว หากเสียเมืองฮันต๋งไป เอ๊กจิ๋วก็จะตกที่นั่งลำบาก เล่าปี่จึงต้องยอมสละเมืองเล็กเพื่อรักษาเมืองใหญ่ จึงขอเจรจาแบ่งเกงจิ๋วกับซุนกวนเสียใหม่ สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า ซุนกวนได้ครองเมืองเตียงสา, กังแฮ และฮุยเอี๋ยง ซึ่งมีเขตแดนติดกับง่อก๊ก ส่วนเล่าปี่ได้ครองเมืองลำกุ๋น เลงเหลง และบุเหลง ซึ่งมีพรมแดนติดกับเกงจิ๋ว ทำให้ปัญหาเรื่องเกงจิ๋วได้รับการแก้ไขชั่วคราว

พ.ศ. 762 (ค.ศ. 219 ราชวงศ์ฮั่น รัชศกเจี้ยนอันปีที่ 24) หลังจากเล่าปี่ยึดเมืองฮันต๋งคืนจากโจโฉมาได้ ก็สั่งการให้กวนอูยกพลขึ้นเหนือไปตีตอนเหนือของเกงจิ๋ว รวมทั้งเมืองเซียงฝาน

แต่เดิมหัวเมืองต่าง ๆ ของเกงจิ๋ว ที่อยู่ในมือของเล่าปี่ และซุนกวน เป็นแค่หัวเมืองทางภาคกลาง และภาคใต้ของเกงจิ๋ว ส่วนหัวเมืองทางภาคเหนือยังคงอยู่ในมือของโจโฉ โจโฉรู้ดีว่า หากเสียเมืองกันชนแถบนี้ไปย่อมเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของตน จึงไม่อาจนิ่งดูดาย และคอยหาทางตอบโต้ตลอดเวลา

สินบน สามก๊ก
ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร

เกงจิ๋วยืมนาน ไม่ยอมคืน

กวนอูดำเนินยุทธการทางภาคเหนือของเกงจิ๋วได้อย่างราบรื่น จนสะเทือนไปทั่วทุกพื้นที่ในเวลานั้น ฝ่ายโจโฉถึงกับหวาดกลัวว่า ตนเองอาจต้องจบชีวิตภายใต้คมดาบข้าศึกหากเสียเมืองเซียงฝาน จึงมีความคิดที่จะย้ายเมือง โชคดีที่สุมาอี้ และเจียวเจ้ ช่วยออกกลอุบายจนรับมือไว้ได้

“เล่าปี่กับซุนกวนดูภายนอกเหมือนจะเป็นพันธมิตรกัน แต่แท้จริงแล้วต่างหวาดระแวงกันและกัน เมื่อกวนอูประสบความสำเร็จเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นที่พอใจของซุนกวนแน่นอน เราควรส่งคนไปเจรจาขอร่วมมือกับซุนกวน ให้เขาโจมตีกวนอูจากด้านหลัง หากสำเร็จเราจะยกอาณาเขตกังหลำให้ หากเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่เพียงแต่จะแก้วิกฤตที่เซียงฝานได้ ยังสร้างความบาดหมางระหว่างเล่าปี่กับซุนกวนได้อีกด้วย”

ภายใต้การสนับสนุนของโจโฉ ซุนกวนตอบรับเงื่อนไข และส่งทัพไปตีทัพกวนอูอย่างไม่ทันให้ตั้งตัว ส่งผลให้กวนอูแพ้สงครามที่เป๊กเสีย แม้แต่ชีวิตยังไม่อาจรักษาไว้ได้ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ยังส่งผลให้เล่าปี่ต้องเสียเกงจิ๋ว ไปทั้งเมืองอีกด้วย

พ.ศ. 764 (ค.ศ. 221 ราชวงศ์วุย รัชศกเว่ยหวงปีที่ 2) หรือภายหลัง กวนอูสิ้นลมได้สองปี เล่าปี่นำกำลังทั้งหมดที่มีอยู่ไปถึงง่อก๊กเพื่อยึดเกงจิ๋ว และเพื่อแก้แค้นให้กวนอู โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากเหล่าขุนนาง ผลก็คือ เล่าปี่ต้องพ่ายแพ้อย่างราบคาบจากการโจมตีของข้าศึก

จะเห็นได้ว่า เพื่อแย่งชิง เกงจิ๋ว จ๊กก๊กต้องพ่ายแพ้สงครามครั้งใหญ่ถึงสองครั้งติดกัน ทำให้ความแข็งแกร่งของประเทศชาติลดลงอย่างมาก นับเป็นความเปลี่ยนแปลงด้านอาณาเขต และด้านความแข็งแกร่งของประเทศขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่งในช่วงเวลานั้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ล้วนมีต้นเหตุมาจากการยืมเกงจิ๋ว จึงนับว่า ปัญหาเกงจิ๋วเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งประเด็นหนึ่งในประวัติศาสตร์สามก๊ก

ถ้าวันนั้น เล่าปี่ไม่ยืมเกงเจิ๋วจะเป็นอย่างไร คงตอบได้ยาก แต่วันนี้ ถ้าจะให้ใครยืมแก้ว แหวน เงินทอง ฯลฯ ก็บอกตัวเองไว้ว่า จะเหมือนสำนวน “เกงจิ๋วยืมนาน ไม่ยอมคืน” ของเล่าปี่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

หลี่อันสือ-เขียน, เกียรติศักดิ์ ฟงปรีชากุล-แปล. สงครามสามก๊ก 26 ยุทธวิธีสู่ชัยชนะ, กรุงเทพฯ : มติชน 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2562