สรรพลี้หวน…วรรณกรรมคำผวนที่เป็นมากกว่าเรื่องล้อเลียนของสงวน!

จิตรกรรมฝาผนัง หญิงชายเกี้ยวพาราสี

“สรรพลี้หวน” วรรณกรรม “คำผวน” ที่เป็นมากกว่าเรื่องล้อเลียนของสงวน

นครังยังมีเท่าผีแหน กว้างยาวแสนหนึ่งคืบสืบยศถา เมืองห้างกวีรีหับระยับตา พันหญ้าคาปูรากเป็นฉากบัง

จากบทประพันธ์ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นบทเปิดเรื่องของ สรรพลี้หวน วรรณกรรมท้องถิ่นทางภาคใต้ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในการใช้ “คำผวน” หรือคำที่นำมาสลับเสียงสระและพยัญชนะภายในคำแล้วมีความหมายที่ต่างจากคำเดิม (โดยคำนั้นมีตั้งแต่สองพยางค์ขึ้นไป) แทรกอยู่ในตัวบท คำผวนในสรรพลี้หวนยังขึ้นชื่อเรื่องความหมายไปในทางเพศ จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความทะลึ่งลามก ซึ่งความทะลึ่งลามกก็เป็นสิ่งที่ถูกนำมาล้อเลียนให้กลายเป็นเรื่องชวนขับขัน หรือกลายเป็นเรื่องตลกสำหรับผู้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้

โดยทั่วไปการนำเรื่องเพศมากล่าวล้อเลียนในวงสังคมถือว่าเป็นเรื่องตลกขบขัน หรือเป็นการเสริมอรรถรสในการพูดกันในหมู่เพื่อนฝูงคนสนิท แต่ในทางกลับกันเป็นสิ่งที่สังคมเองก็ไม่ได้ให้การยอมรับเสียส่วนใหญ่และถือว่าคำเหล่านี้ (ที่สื่อในเรื่องเพศ) เป็นคำหยาบคาย ถึงกระนั้นการพูดในเชิงล้อเลียนเรื่องเพศก็ยังคงมีอยู่ในสังคม สรรพลี้หวน จึงเป็น “วรรณกรรม” ที่เรียกเสียงหัวเราะ และสร้างความขบขันให้กับผู้อ่านที่ชื่นชอบในเรื่องเหล่านี้

เนื้อหาของวรรณกรรมเรื่องสรรพลี้หวนก็เป็นเรื่องตามแบบวรรณกรรมไทยจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วไป แต่จะแตกต่างจากเรื่องอื่นตรงที่มีการแต่งโดยมีคำผวนเข้ามาแทรกในบท อย่างที่ทราบกันดีว่าคำผวนในสรรพลี้หวนล้วนเป็นคำที่สื่อไปในทางเพศ และไม่ได้ปรากฏเป็นเพียงแค่คำที่นำมาเสริมในตัวบท แต่มันยังเป็นคำที่ใช้เรียกชื่อตัวละครในเรื่อง เช่น ท้าวโคตวย เจ้าคีแหม เจ้าชายใดหยอ นางไหหยี ฤษีแหบ เป็นต้น หรือการนำคำผวนมาใช้ในการบรรยายอาหาร เช่น หอยกับหมียีหำยำให้พอ ดาวให้ยอไข่เป็ดเด็ดให้ยำ ซึ่งคำผวนที่ปรากฏล้วนส่งอิทธิพลกับตัวเนื้อเรื่องของวรรณกรรม จึงทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้มีเนื้อหาที่ล้อเลียนของสงวนของเพศ

แต่ถ้าหากมองในทางกลับกัน วรรณกรรมที่แต่งคำประพันธ์โดยใช้กลอนสุภาพ หรือกลอนแปด ก็มีมากมายและหลากหลายเรื่อง และการแต่งก็จะเน้นเรื่องคำและเสียงที่ไพเราะในตัววรรณกรรม สำหรับสรรพลี้หวนกลับฉีกขนบการแต่งที่เน้นความไพเราะของเสียงตามแบบวรรณกรรมทางภาคกลาง โดยใช้คำผวนเป็นจุดเด่น แต่ยังคงไว้เรื่องเสียงของตัววรรณกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นความสามารถของผู้แต่ง (ไม่ปรากฏว่าผู้แต่งเป็นใคร) ที่มีความเป็นอัจฉริยะในการใช้ภาษา และสามารถดึงผู้อ่านตลกขับขันไปกับเรื่อง

สะท้อนให้เห็นว่าผู้แต่งเป็นคนที่มีอุปนิสัยที่แสนจะขบขัน ทั้งยังเข้าใจความตลกขบขันของคนที่มักจะเป็นเรื่องล้อเลียนของสงวนทางเพศ โดยการนำมาปรับใช้ในการแต่งวรรณกรรมขึ้นมาในรูปแบบคำผวนที่ปรากฏในเรื่อง และการนำคำในภาษาถิ่นภาคใต้มาใช้ แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของวรรณกรรมภาคใต้

สรรพลี้หวนจึงไม่ได้เป็นเพียง วรรณกรรม “คำผวน” ที่เป็นคำกลอน ชวนให้ขบขันเสมอไป แต่ยังสะท้อนจิตใต้สำนึกของมนุษย์ที่มีความรุนแรงและความขบขันในเรื่องเพศ แม้ว่าสังคมจะคิดว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ “ต่ำทรามหรือหยาบคาย” กระนั้นสังคมก็ยังมีเรื่องพวกนี้ปรากฏอยู่ในวงสนทนาของสังคม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2561