เอ๋งติ๋งห้าว : สุดยอดของความหรรษา ลูกศิษย์ยกเค้าพระอาจารย์-เมียตดใส่หัวผัว

หน้าปก หนังสือ เอ๋งติ๋งห้าว
เอ๋งติ๋งห้าว

ในบรรดาวรรณกรรมล้อเลียนหรือขำขัน หลายคนคงนึกไปถึงระเด่นลันได อุณรุทร้อยเรื่อง พระมะเหลเถไถ ซึ่งเป็นเรื่องที่แพร่หลายรู้จักกันไปทั่ว แต่ถ้าเอ่ยถึง “เอ๋งติ๋งห้าว” นักศึกษาในปัจจุบันแทบไม่รู้จัก ในหนังสือประวัติวรรณคดีไทยหรือแม้แต่ในนามานุกรมวรรณคดีไทย ก็ไม่มีการอ้างถึงวรรณกรรมล้อเลียนเล่มสำคัญนี้เลย ต้นฉบับค่อนข้างหายาก

ผู้เขียนจึงขอเสนอรายละเอียดดังนี้ โดยเริ่มจากเนื้อเรื่องเพื่อเป็นการปูพื้นฐานดังนี้

เนื้อเรื่องเอ๋งติ๋งห้าว

กล่าวถึงท้าวอุดมโคตรครองเมืองกับมเหสีนามว่านางก้ามกุ้ง มีโอรส 2 องค์ ชื่อ เอ๋งติ๋งห้าวกับอ๊าวติ๋งโฮ่ง สภาพบ้านเมืองมีการพรรณนาไว้ว่า

อันกรุงไกรใหญ่ลิบยี่สิบศอก กำแพงคอกป้อมคูดูสง่า แต่ล้วนแล้วเรียวหนามงามนัยน์ตา ทวารารอยไฟขี้ไต้ตำ ปรางค์ปราสาทโซเซโย้เย้โยก พระพายโบกเพียงยอดจะถอดคว่ำ ฝาผนังไม้ดุ้นจุนประจำ ท้าวเธอทำน่าสนุกสุขสำราญ มีพระโรงโปร่งอร่ามงามเลขา ตามริมฝาเรียงรอบกระสอบข้าวสาร หน้าพระแกลแลสะพรั่งตั้งหม้อตาล บานทวารทาสีด้วยขี้วัว แต่ปรางค์จันทน์ชั้นในใหญ่ไม่น้อย แลดูลอยสูงชะเง้อเสมอหัว มีตุ๊กแกเฝ้าทวารบานละตัว ใครไม่กลัวเข้าจับกินตับตาย (น. 1)

วันหนึ่งเอ๋งติ๋งห้าวฝันว่าถูกเทวดานำกะลามาครอบอยู่นาน ดิ้นรนอยู่นานจึงตื่นขึ้นมาก็หวาดหวั่น พระบิดาให้โหรมาทำนาย โหรให้ขับสองกุมารออกจากเมืองเพราะจะเกิดกาลกิณี ทั้งสองออกจากเมืองเข้าไปในป่า ซึ่งก็มีการพรรณนาธรรมชาติไว้ว่า

โน่นแน่เจ้าเขาเรียกนกโถหู มันจับอยู่ต้นโถยอดพลอดนักหนา ที่บินนั้นนกขันนํ้าต่ำลงมา นั่นนกกาแลสล้างหางเหมือนพวย ถัดไปโน่นโคนกระบอกนกกะบะ นกกะทะถาดกระถางกระโถนถ้วย ที่จับห้อยหัวหกนกกระบวย บนต้นกล้วยนั่นแน่พ่อนกหม้อตาล พี่จะแจ้งจริงความแก่งามชื่น ที่แบกปืนหัวผงกนกทหาร ทำปีกหู่ลู่โลดโดดทะยาน แล้วขันขานคูร่าว่าเฮโร (น. 44)

ทั้งสองกุมารมาพบวิทยาธรซึ่งถูกเบ็ดของพรานป่าเกี่ยวเอา ไม่สามารถจะดิ้นหนีได้ สองกุมารสงสารจึงแกะเบ็ดออก วิทยาธรจึงตอบแทนบุญคุณ เหาะพาไปหาพระฤาษีเพื่อจะเรียนวิชา ระหว่างทางได้เกิดสู้รบกับคนรูซึ่งมีจำนวนมาก พรานบุญมาไกล่เกลี่ยพวกคนรูจึงแจ้งข้อหาของสามคนว่า

มาแกล้งหลู่ดูถูกเหมือนลูกครอก นี่ฉันบอกจริงนะเหลือจะกลั้น เมื่อทางอื่นดื่นไปในอรัญ ไม่พากันไปได้อย่างไรตา แกล้งดำเนินเดินเผ่นเล่นบนหัว ฉันนี้วัวหรือควายเล่านายขา จะได้งมก้มงุดมุดกะลา แกล้งทำเล่นเช่นหมาเจียวขาคุณ แล้วมิหนำซ้ำขี้ไว้ที่ปล่อง ช่างจองหองหาญฮึกก็นึกฉุน มันเหม็นเหลือแล้วตาฉันด่าจุณ ถึงใจบุญราวกับพระไม่ละมัน (น. 65-66)

ทั้งสองเลิกรากันไป วิทยาธรมาส่งสองกุมารมาถึงสุดเขตก็อำลากลับ สองกุมารก็เดินทางจนมาพบพระฤๅษี ขอเรียนวิชาหนังสือ ทั้งสองเฝ้าปรนนิบัติพระอาจารย์อย่างดี ตามที่พรรณนาไว้ว่า เจ้าคอยดูปูปัดจัดชิงช้า สู้อุตส่าห์ทำไว้จะได้โหน ทั้งเชือกห้อยร้อยแล่งจะแกว่งโยน สองทโมนแต่งตบไว้ครบครัน ทั้งเพลเช้าเฝ้าระวังสิ้นทั้งผอง ถ้าเห็นของสิ่งไรจะให้ฉัน ที่โอชาปรากฏรสหวานมัน เจ้าพากันกินเสียก่อนจนล่อนจาน ถ้าแม้นของสิ่งใดเจียนจะเน่า กลืนไม่เข้าบูดเบื่อเหลือสังหาร นั่นแหละเจ้าเอาไว้ให้อาจารย์ (น.97)

พระอาจารย์หลงรักศิษย์ยิ่งนักด้วยเหตุผลที่ว่า ด้วยทรงศักดิ์หน่อนาถชาติซำสาม ทั้งกินอยู่ดูก็พูมทั้งมูมมาม เชิงตะกลามหรือก็ขวาหมายอมกลัว สมเป็นพงศ์วงศ์วารลูกหลานข่า กิริยาเยื้องย่างอย่างเจ๊สัว จะเดินเหินกรีดกรายคล้ายคล้ายวัว ทั้งเนื้อตัวเจ้าอ่อนดังท่อนฟืน (น. 87)

เอ๋งติ๋งห้าวกับอ๊าวติ๋งโฮ่ง เล่าเรียนวิชาจนเชี่ยวชาญทั้ง 12 ภาษา พระฤๅษีจึงชุบพระขรรค์ให้เป็นอาวุธคู่มือ ทั้งสองจึงอำลากลับบ้านเมือง ก่อนจะเดินทางทั้งสองแสดงความกตัญญูโดย ทั้งสององค์ตรงย่องเข้าห้องใน พบอะไรสองเจ้าลักเอามา ปะผ้าห่มผ้านุ่งในถุงไถ้ ผืนไหนใหม่เจ้าก็รีบเอาหนีบขา ควรจะทิ้งทางหน้าต่างขว้างลงมา ของสิทธามีอะไรเจ้าใส่เตียน เงินสลึงเฟื้องบาทกวาดจนหมด ทั้งอัฐฬศเก็บเข้ากระเป๋าเลี่ยน เป็นถาดชากาถ้วยหรือเชิงเทียน เจ้ามิดเมี้ยนห่อขาวม้าเอาผ้าคลุม ที่จะเหลือสิ่งใดไว้ก็น้อย เจ้าปละปล่อยเอาไว้ให้แต่ไหตุ่ม คิดกลัวบาปเบื้องหน้าจะมารุม เจ้าควบคุมตามสนองไม่ต้องการ (น. 97)

สองกุมารมาถึงเมืองของท้าวถิ่งโยนโกกกับนางจุ้มจุ้มมะระดีมเหสี ส่วนธิดามีชื่อว่านางสังขะอู๊ดผู้มีรูปโฉมดังที่พรรณนาไว้ว่า พึ่งรุ่นสาวขาวสำอางเหมือนอย่างโอ่ง สองกระโปรงนงเยาว์เท่าเท่าไห ดูแช่มช้อยน้อยแน่งเหมือนแตงไทย หน้าเป็นใยนวลผ่องดังทองแดง (น. 114)

เกิดการสู้รบกับขุนด่านหมาดำกับบริวาร บริวารถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก สองกุมารสงสารจึงชุบบริวารหมาให้ฟื้นขึ้นมา และเดินทางมุ่งเข้าเมืองหลวง ในตอนนี้มีการพรรณนาไว้ว่า

ขุนด่านพานำเดินตามเนินเขา ข้ามละหานหุบห้องปล่องสำเนา ชะโงกเง้าแง่งุ้มเป็นปุ่มงา บางแห่งหินปิ่นหักเป็นพักหาด บ้างสุกจ๊าดสีแจ้งดูแดงจ้า ลางก้อนลายพรายเลื่อมเงื้อมศิลา บ้างเป็นท่าธารใสดูไหลริน ที่ลางก้อนหินแหวกแตกระแหง มีนํ้าแยงไหลย้อยตามรอยหิน บางแห่งลาดแลลื่นถึงพื้นดิน ลางก้อนบิ่นบุบบี้ดูรีแบน บางแห่งปลายลายปรุทะลุโปร่ง แลดูโพลงขาวพร่างช่างงามแสน บ้างโมกโคกเม้าเค้าเป็นเต้าแคน ลางอันแอ่นหินอ่อนค่อนข้างรี (น. 116-117)

ทั้งสองทำอุบายยึดเรือนหญิงชราเป็นที่พำนัก ในคืนนั้นนางสังขะอู๊ด ฝันว่าพระอินทร์นำแกงน้ำตับช้างมาให้นางกิน นางตื่นขึ้นเที่ยวหาแต่แกง พระบิดาของนางจึงให้ประกาศรับคนอาสาโดยสัญญาว่าจะให้ “ทองแท่งเท่าแตงกวา” เอ๋งติ๋งห้าวรับอาสาประหารช้างเอาตับช้างมาทำแกงให้นางกิน นางสังขะอู๊ดชมสวน เอ๋งติ๋งห้าวลอบชมโฉมนาง ดังความว่า

จะแลไหนก็วิไลแฉล้มลักษณ์ วงพักตร์ผิวคล้ำดำหมิดหมี โอษฐ์แสยะแบะอย่างกาบปลี พระนาภีเขียวผ่องเหมือนท้องลิง ทั้งกายกรอ่อนโยนดังโคนกล้วย ดูสะสวยแสนประเสริฐเลิศผู้หญิง ทั้งผิวเนื้อนุชน้องอย่างท้องปลิง ขาก็นิ่งแขนคอกข้อศอกโป ช่างงามสิ้นสารพันแก้มกรรณ์เกศ ทั้งสองเนตรโฉมตรูแลดูโหล คอเป็นปุ่มหลังโป่งโกงโกโร ตะโพกโตผึ่งผายคล้ายนางวัว (น. 176)

ฝ่ายนางสังขะอู๊ดเมื่อได้เห็นเอ๋งติ๋งห้าวก็ถึงกับพรรณนาไว้ว่า พิศวงทรงโฉมประโลมเหลือ คล้ายคล้ายเสือกินปลาหน้าจุนจู๋ เธอทรงใส่หมวกกะลามะลายู หน้าก็ทู่หูก็กางสำอางตา จะแลไหนก็วิไลประเสริฐสม แต่ชั้นผมก็พิกลเหมือนขนหมา ฟันก็หลอคอยาวราวสักวา ทั้งลูกตาเหลือกทะเล้นดูเป็นมัน เจ้าพิศพลางทางชมอารมณ์รัก ช่างงามนักในมนุษย์สุดจะสรร ดูดั่งเทพเทวะโด่ในโลกันต์ ทั้งผิวพรรณเปล่งปลั่งเหมือนหนังกระเบน วรพักตร์ศักดิ์ศรีฉวีวาด ดูองอาจอ้อนแอ้นแม้นเขมร ทั่วผิวพรรณมังสาเหมือนทาเลน พระองค์เอนอ่อนระหงดังวงตรวน (น. 177)

ทั้งสองต่างพอใจซึ่งกัน เอ๋งติ๋งห้าวลอบเข้าหานางในวรรณคดีไทยโดยทั่ว ๆ ไปก็มีบทอัศจรรย์ แต่โดยที่เอ๋งติ๋งห้าวเป็นวรรณกรรมพิเศษที่ไม่เหมือนวรรณกรรมเล่มอื่น ๆ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่บทอัศจรรย์ก็ต้องพิเศษกว่าธรรมดา ดังความต่อไปนี้

พระสมช่องต้องในเล่ห์เสน่หา เฝ้าแลมาแลไปให้บัดสี ไม่รู้จักว่าอะไรสิ่งไหนดี จักจี้จักเจ่าบินเข้ารัง พอหาพบตบพระหัตถ์เสียงฉาดฉ่า หัวเราะฮาเห็นสมอารมณ์หวัง สะลูตฮับรับโห่โลมะกัง พออาหวังอาป้อก็สบาย ดังงูเขียวเลี้ยวลัดนกกระจอก คลื่นระลอกในท้องร่องคะนองสาย เขาระเนนเอนพับทับหัวควาย กระแตระต่ายขูดมะพร้าวเสียงกราวเกรียว พระฤๅษีสูบกัญชาถลาล้ม ไปตะบมวิ่งแต้ไม่แลเหลียว ปล่อยตะโพงโด่งไปได้คนเดียว ตลบเลี้ยวพลาดถลาหน้าคะมำ

เทวาอารักษ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ยืนเกาหิดกันแซ่แลดูคล่ำ รามสูรศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์กำยำ ไล่ถลำขว้างขวานสะท้านอึง เมฆขลาเหาะลอยอยู่ช้อยชด ถลกตูดยืนตดต้ำมะผึง ถูกปากหมาเสียงเป๋งร้องเอ๋งอึง วิ่งตึงตึงหนีตดหมดทุกตัว พวกผู้หญิงแม่ลูกอ่อนลงนอนหงาย วิ่งตะกายกอดคอเอาพ่อผัว คนตาบอดวิ่งโผนจนโดนวัว เข้าจนรั้วร้านผักหักระเนน พวกแม่ค้าถาล้มจมกระถาง คว้าได้อ่างปลาเจ่าก้าวออกกราวเขน บ้างหิ้วหม้อห่อหมกหกคะเนน ร้องตาเถรช่วยทีผีตาทอง ยายกะลาตากลีมีกะโหลก แล้วเดินโผลกโดดโผงเข้าโลงผลอง เลยลงคลานปั้นโคลนอยู่ก้นคลอง แล้วตีกลองเสียงกลบพบจบกลอน เสียงสะเทื้อนเลื่อนลั่นในใต้หล้า นกกระทานกขุนทองกลับร้องหอน พวกแมวม่อยพลอยขี้รดที่นอน แล้วผันผ่อนพบกัดฟัดหัวปลา

แต่ไก่อูอยู่ดีดีนี่ยังดุ กลับไปยุมดตะนอยให้ต่อยหมา คนตาบอดกลับรู้เห็นเจรจา ไปนั่งตีตุ๊กตาว่าไม่เดิน แต่ชั้นแร้งเจียวยังรำทำเป็นท่า ชวนอีกาเล่นหนังกำลังเหิน ช้อนทองเหลืองเคืองโถว่าโตเกิน ป้อมเชิงเทินเกิดวิวาทกับราชวัง ดูมันนุ่งยุ่งใหญ่ไปทั้งหมด แต่ชั้นตดก็ยังร้องเป็นกลองหนัง เกิดวิบัติอัศจรรย์กันทั้งวัง (น. 222-225)

กล่าวถึงท้าวหยีแหย่กับกับเจ้าเมืองกุดกู่ ส่งทูตมาขอนางสังขะอู๊ดไปเป็นชายา ท้าวถิ่งโยนโกกโกรธแค้นไม่รับคำขอเพราะผิดธรรมเนียมที่มาสู่ขอ เพราะถ้ารักใคร่กันก็ควรมาฉุดเอาไปจึงจะถูกธรรมเนียม ท้าวหยีแหย่กับกับโกรธแค้นคิดทำสงครามกับท้าวถิ่งโยนโกก จึงให้วาดรูปธิดาของตนนางกระจ๋องป๋อง ส่งไปให้กษัตริย์ต่างเมือง รูปของนางดังที่พรรณนามีดังนี้

แล้วพระองค์ทรงคิดประดิษฐ์เขียน มิให้เพี้ยนผิดอนงค์องค์โฉมฉาย ทั้งเอวองค์วงวิลาสไม่คลาดคลาย ดูลวดลายราวกับผีสิ้นชีวา ครั้นเขียนเสร็จจอมพงศ์เธอทรงยิ้ม ช่างจิ้มลิ้มเหลือเล่ห์เสน่หา งามละออวรพักตร์ลักขณา เหมือนตุ๊กตาที่เขาหล่อด้วยหม้อตาล ดูยิ้มเยื้อนเหมือนจะพาให้น่าตบ ซี่ฟันขบคมคายคล้ายคล้ายขวาน นลาฏโหนกโคกเวิ้งเหมือนเชิงกราน พระคางยานคอยุ้ยตุ่ยเป็นไต สองพระเต้าเต่งติดสนิทแน่น ถ้าพลูจีบโตเท่าแขนลอดไม่ได้ ดูเปล่งปลั่งตั้งเด่นเห็นรำไร น้ำยาใสแลสำอางเหมือนอย่างจริง (น. 235)

ท้าวพระยาทั้ง 15 มีนามต่าง ๆ เช่น ท้าวไทไก่แจ้หยีแย่กับกับ พระจอมกุดกู่ใบหูลุ่น พระยาขาฉิ่งถิ่งย๊อกย๊อก ท้าวปังกะโร ท้าวโห้กับกางต่างกรุง ท้าวจีนหัวโต หลงรักรูปนางเมื่อได้เห็น จึงรีบยกทัพมุ่งมายังเมืองของนางพร้อมกับไพร่พลจำนวนมหาศาล ทำให้สัตว์ในป่าถึงกับหวาดกลัว ดังความที่พรรณนาไว้ว่า

เหล่าสิงห์สัตว์ซ่อนตัวมุดหัวหนี ทั้งยุงริ้นบินปร๋อไม่ต่อตี พวกโยธีไล่ตบมันหลบตัว ตั๊กแตนแล่นถลาเข้าป่าหาย ช่างตะกายหนีเร้นไม่เห็นหัว ไปยืนแอบตั๊กแตนด้วยแสนกลัว ทำย่อตัวบังตนต้นหญ้าไซ ท้าวพระยาเจ้าเมืองให้เคืองแสน เห็นช้างแล่นหลบหนีรี่ไถล บอกให้พวกโยธาเที่ยวหาไป ก็มิได้พบช้างเหมือนอย่างเคย แต่พอเห็นตั๊กแตนมันแล่นหนี ช้างอยู่นี่แล้วเหล่าพวกเราเหวย มันบังปีกตั๊กแตนกูแหงนเงย ไม่เห็นเลยพวกเราเอาให้ตาย ช้างได้ยินปลิ้นหนีรี่ไถล มุดเข้าใบหญ้าแพรกเลยแทรกหาย (น. 245-246)

ท้าวพระยาทั้ง 15 องค์มาถึงเมืองของท้าวหยีแหย่กับกับผู้มีธิดา “รูปงาม” เป็นธรรมเนียมเมืองแขกมาถึงเรือนชานก็ต้องมีการต้อนรับขับสู้ ท้าวหยีแหย่กับกับก็มีบัญชาให้สาวใช้ เอ็งอย่าช้าเลยนะเจ้าเหล่าสาวสรร จงเอาหญ้ามายำทำทอดมัน มัสมั่นหัวปลีขึ้นสี่ชาม ทำฉู่ฉี่ต้นกล้วยด้วยหนาเจ้า ต้มเกาเหลาลูกตีนเป็ดเม็ดมะขาม แล้วแกงคั่วใบตองขึ้นสองชาม ดูให้งามหน้าตาเขามาไกล แต่ของหวานการลำบากยากหยุมหยิม เราแช่อิ่มกาบมะพร้าวเอาคราวได้ แต่ทองหยิบฝอยทองที่ต้องใจ จงใช้ไข่ปลาดุกไข่ตุ๊กแก ลูกตาลเชื่อมกล้วยเกลือกเลือกให้สวย ทำด้วยกล้วยตานีเห็นดีแน่ ขนมผักกาดขนมชั้นอย่าผันแปร ใช้ขี้แย้ขี้คนปนกับตม ต่างประเทศเขาคงลือฝีมือแท้ แต่พ่อแม่มาไม่เคยเลยขนม ใครได้กินถึงท้องคงต้องชม จะปรารมภ์สั่งสอนให้พรเรา (น. 250)

ท้าวถิ่งโยนโกกขอร้องให้เอ๋งติ๋งห้าวกับอ๊าวติ๋งโฮ่งออกรบ โดย “จัดบุ้งกี๋คานหามงามสง่า” ออกมารับ เอ๋งติ๋งห้าวมีข้อเสนอให้ตั้งปั้นจั่นสามชั้นที่ริมกำแพง แล้วติดรอกขันกว้าน นางสังขะอู๊ดขึ้นไป เพื่อตนจะได้เห็นเป็นแรงใจในเวลารบ พระบิดาของนางเต็มใจ ก่อนนางจะออกมหาสมาคม ต้องมีบทสรงตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติ ดังความว่า

ตักวารีที่ใสใส่ตุ่มน้ำ เอาโคลนขยำจนเป็นปลักหอมนักหนา ค่อยอุ้มองค์นงรามย่านละว้า ให้ไสยาพังพาบอาบสบาย เอากระเบื้องคมกัดเข้าขัดสี ดูขาวดีขึ้นเกล็ดเหมือนเม็ดฝ้าย เอาน้ำด่างในกระบอกมาพอกกาย กระดาษทรายขัดอีกพักให้ชักเงา ค่อยยกขึ้นจากตุ่มอุ้มให้นั่ง เอาเต่าร้างมาระคนปกเขม่า ละเลงไล้ทาองค์นางนงเยาว์ ให้นางเกาเล่นเป็นสุขสนุกมือ หัวน้ำมันยางใส่ไล้มังสา ทองบรอนซ์ทาแลวิไลน้อยไปหรือ ทรงภูษาดอกเด่นเห็นสะดือ จับกิ้งกือทำกำไลใส่พระกร ใบมะพร้าวเอามาจักถักเป็นแหวน ใส่จนแน่นสิบนิ้วจนคิ้วอ่อน ห่มสไบอย่างดีสีดอกบอน เกือกเชิงงอนกาบมะพร้าวเป็นคราวงาม ทับอุระเข่งปลาทูดูวิจิตร ทองอังกฤษติดปะแลอร่าม ตุ้มหูเบ้าเพชรตาแร้งเป็นแสงวาม มงกุฎสามยอดเพชรเกล็ดปลาวาฬ (น. 283)

เอ๋งติ๋งห้าวและอ๊าวติ๋งโฮ่งมีชัยชนะ ปล่อยให้ข้าศึกกลับบ้านเมือง ท้าวถิ่งโยนโกกจัดพิธีแต่งงานระหว่างเอ๋งติ๋งห้าวกับนางสังขะอู๊ด และอ๊าวติ๋งโฮ่งกับนางกระจ๋องป๋อง มีการเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร (ตามแบบฉบับที่ผู้อ่านคาดเดาได้) มีมหรสพแสดงอย่างเอิกเกริก ดังที่พรรณนาไว้ว่า

ฝ่ายเจ้าพวกประโคมโหมแตรสังข์ เป่าประดังอ้ออู้อยู่สนั่น กลองชนะหม้อตาลเสียงหวานครัน เลื่องเลื่อนลั่นไปจนนอกคอกบุรี พวกการเล่นเต้นรำทำทีท่า เจ้างิ้วหมาเล่นชุดขำขม้ำขี้ ละครแมวลักปลาเปิดฝาชี เล่นเรื่องศรีไชยเชษฐ์เกศหลักแจว จับเมื่อครั้งสุวินชาหมาคาบลูก นางแมวถูกผักปราบยอนนอนร้องแป๋ว นางทั้งเจ็ดคิดอิจฉาจะฆ่าแมว นอนแบงแบ๊วตริการพาลรังแก เจ้ากบเขียดออกโขนกระโจนวิ่ง เล่นเมื่อลิงหนุมานชาญแสม กับพาลีขี่วอกหยอกตุ๊กแก ทั้งสองแย้รับอาสาพระหน้าลาย

ไปลงกานคระทศพักตร์ ล่อลวงลักกล่องขี้ยามาถวาย ทศกัณฐ์หลงเล่ห์เพทุบาย ลงแดงตายคากล่องกอดกล้องยา กิ้งก่าเล่นหุ่นไหหลำกำลังรบ เลี้ยวตลบทุบถองคอพองก๋า จับเมื่อชุดเล่าปี่ตีหัวปลา เพราะโกรธาซุนก๋วนศัดตรวนไป ฝูงคางคกหกคะเมนเล่นไต่ลวด แล้วรำอวดนางอึ่งอ่างลูกคางใส เจ้าพวกหมูบู๊ในเว็จเด็ดกระไร นางแม่ไก่ตบมือรำทำเป็นเพลง ครั้นพลบค่ำจุดไต้ไฟสว่าง เสียงโผงผางกลองหนังปึงปังเป้ง ฝูงแมงสาบพากย์หนังดังบรรเลง เสียงโหน่งเหน่งระนาดท้าอยู่หน้าจอ เล่นเมื่อนางเบญกายทำตายนิ่ง ลงนอนกลิ้งซบหน้าตาทำป๋อหลอ นางสีดาโกรธลูกต้องผูกคอ หากพระลอเธอไปช่วยไว้ทัน แต่สมโภชพระโฉมยงองค์ขี้ไก่ สองหน่อไทปิ่นละว้ากระยาหงัน คำนวณนับสิ้นเสร็จร้อยเอ็ดวัน (น. 315-316)

ตามธรรมเนียมเมื่อเสร็จพิธีสมโภช ก่อนส่งตัวนางเข้าห้องหอ ก็ต้องมีการให้โอวาทฝ่ายหญิงเสียก่อน ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน พระมารดาก็ให้โอวาทไว้ว่า

ว่าสองเจ้าจะมีคู่อยู่ด้วยผัว จงฝากตัวอยู่กับเขานะเจ้าหนา เวลาค่ำสุริยนสนธยา ชวาลาไต้จุดอย่าจุดมัน ทั้งที่นอนหมอนเล่าอย่าเป่าปิด ให้ผัวจัดจึงค่อยนอนคิดผ่อนผัน ปวดท้องเยี่ยวกะลารองของสำคัญ ให้จอมขวัญผัวรักสรงพักตรา แม้นตัวเมื่อยจงเอาพลองเข้าลองเคล้น ตีแก้เส้นเมื่อยชักดีหนักหนา ครั้นเช้าตรู่สุริย์แสงแดงขึ้นมา แม่แก้วตาจงปลุกผัวอย่ามัวนอน จงใช้ให้ต้มแกงแต่งสำรับ ตามตำรับจงจำคำแม่สอน แม้นผัวโกรธแก้วตาอย่าอ้อนวอน ทำเป็นงอนตั้งปึ่งจึงจะดี แม้นผัวว่าเจ้าจงด่าอย่าละปาก เขาว่าน้อยด่าให้มากอย่าถอยหนี ยามสบายเจ้าจงลองเอาพลองตี สองสามทีให้ผัวนอนผ่อนสำราญ เมื่อยามผัวหิวข้าวเจ้าอย่านิ่ง จงนอนกลิ้งผัวเรียกหาก็อย่าขาน ทำอย่างนี้ผัวต้องรักแทบดักดาน คงประทานรางวัลให้ด้วยไม้พลอง ปวดท้องตดลูกยาอย่าตดทิ้ง เจ้าจงวิ่งขึ้นไปตดรดขมอง ให้ผัวดมเล่นสนุกแก้จุกท้อง แม่สอนสองงามขำจงจำไว้ (น. 317-318)

เอ๋งติ๋งห้าวและอ๊าวติ๋งโฮ่งก็ได้ครองเมืองกับนางอย่างมีความสุข และเรื่องก็จบลงเพียงนี้

การศึกษาเชิงประวัติของเรื่องเอ๋งติ๋งห้าว

ในหนังสือเอ๋งติ๋งห้าวฉบับพิมพ์ครั้งที่สี่ โดยสำนักพิมพ์เกษมบรรณกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2511 ไม่ได้แจ้งนามผู้แต่งไว้ ซึ่งเข้าใจได้ว่าฉบับพิมพ์ก่อนหน้านั้น 3 ครั้งก็ไม่ได้แจ้งไว้ ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องหาแหล่งข้อมูลอื่น ซึ่งก็ได้จากสาส์นสมเด็จ [1] ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2461 กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า “หนังสือกลอนตลกที่ประทานมานั้น มาสืบดูได้ความรู้แจ่มแจ้งในหอพระสมุด ชื่อเรื่องเรียกว่า ‘เอ๋งติ๋งห้าว’ ผู้แต่งชื่อนายเสม เป็นพี่เลี้ยงกรมหมื่นกวีพจน์ เธอได้เคยอ่านมาแต่ยังไม่ได้รวบรวมลงพิมพ์ จึงได้ทรงงบความไว้ แต่เธอสงสัยว่าจะมีใครแต่งต่ออีกบ้าง”

และในบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงบันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ ประทานพระยาอนุมานราชธน และพระยาอนุมานราชธนก็กราบทูลโต้ตอบ ดังความตอนหนึ่งที่พระยาอนุมานราชธน กล่าวว่า “เรื่องสมเด็จกรมพระจักรพรรดิพงศ์มีบทละครเรื่องตองตอย ต้นฉะบับเป็นตัวเขียนเล่มสมุดไทยมีลบเลือนอยู่ลางหน้า จดไว้ว่าสมเด็จกรมพระจักรพรรดิพงศ์ทรงนิพนธ์ หนังสือเรื่องนี้เป็นเรื่องตลกขบขัน ทำนองเรื่องเอ๋งปะติ๊งห้าว แต่หนักกว่าไม่เหมาะแก่การพิมพ์ให้แพร่หลาย และจะเป็นพระนิพนธ์แน่หรือไม่ก็ไม่ทราบเกล้า” [2]

สรุปคงได้ข้อมูลสั้น ๆ ว่าผู้แต่งเอ๋งติ๋งห้าวคือนายเสม พี่เลี้ยงกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา [3] แต่รายละเอียดมากกว่านี้ยังไม่สามารถพบข้อมูลได้มากกว่านี้ แต่ไม่น่าแปลกใจเพราะกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชาทรงเป็นกวี งานพระนิพนธ์ของพระองค์ เช่น อลีนจิตต์คำฉันท์ มหาชาติคำฉันท์ โคลงกระทู้ต่างๆ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้แวดล้อมพระองค์จะเป็นกวีบ้าง พิจารณาจากบทไหว้ครูของนายเสมก็กล่าวได้เพียงสั้น ๆ ว่า “ไม่ธรรมดา” ดังความต่อไปนี้

กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา

ประณมหัตถ์จัดวางกลางขมอง จะไหว้ครูผู้คร่ำคร่าตามทำนอง ที่เที่ยวท่องอยู่ทุกถิ่นจนกินเกลือ ข้าจะไหว้ครูคำนับสัปเหร่อ ที่เป็นเกลอกันกับผียอดดีเหลือ อีกทั้งคุณครูคนที่ปล้นเรือ ล้วนชาติเชื้อชายชัดจนกัดกะลา ข้าจะไหว้ทรงฤทธิ์ท่านกิดปื้น ทั้งเทียนเหลียงเทียนสินสิ้นทั้งห้า อีกคุณโปคุณถั่วทั่วโลกา ทั้งคุณกุ้งคุณปลาน้ำเต้าปู ข้าจะไหว้ไม้สามอันเชิงชั้นคล่อง ครูไพ่ตองผ่อนจีนและกินคู่ ครูไม้ดำไม้แดงที่แรงครู ครูกันชาตาดูล้วนดีจริง อีกทั้งครูฉกชิงวิ่งราวปล้น ไม่ย่อย่นการลักแต่สักสิ่ง ครูโกหกพกลมหลอกเป็นลิง ครูกลอกกลิ้งอยู่ทั้งตัวไม่กลัวใคร ยังอีกเหล่าเจ้าประคุณครูโปอัฐ ครูโปบิดคิดงัดเอาเงินได้ ครูปี้ขาแย่งยื้อครูมือไว ครูย่องเบาพาดบันไดขึ้นหลังคา ครูสูบฝิ่นกินจนต้องถุนฉำเฉ็ง ครูคนเก่งตามสี่กั๊กครูสักขา ครูที่ถุนใบกระท่อมหม่อมกัญชา ล้วนเปรมปราปราชญ์เปรื่องที่เรื่องดี ของดหยุดไหว้ครูผู้คร่ำคร่า บรรจงจำเจาะใส่ในเกศี ไม่ประมาทเบื้องบาทฝาละมี ล้วนท่านดีเรืองฤทธิ์ปิดหม้อแกง ล้วนตัวครูผู้มีอิสสริยยศ ย่อมปรากฏสุดสิ้นอย่ากินแหนง ไม่ประมาทหมิ่นครูผู้แสดง ไหว้ครูแร้งสิ้นเสร็จสำเร็จการ [4] (น. 1)

การแพร่กระจายของเรื่องเอ๋งติ๋งห้าว

เรื่องเอ๋งติ๋งห้าวได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ 4 ครั้ง ดังนี้

การพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2435 ในรัชกาลที่ 5 ฉบับพิมพ์ในครั้งนี้ไม่หลงเหลือให้เห็น เข้าใจว่าคงสูญหาย แม้แต่ห้องสมุดหนังสือหายาก สำนักหอสมุดแห่งชาติก็ไม่มี

การพิมพ์ครั้งที่สอง มีคำอธิบายในคำนำของฉบับพิมพ์ครั้งที่สี่ ว่า “สำนักพิมพ์ อ.ก.ส. ได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2466 โดยจัดพิมพ์เป็นเล่มเล็ก ๆ รวม 11 เล่มจบ ปรากฏว่ามีผู้ซื้ออ่านกันเป็นจำนวนมาก และติดตามตลอดระยะเวลาที่ทยอยพิมพ์ออกคราวละเล่มนั้น” [5]

การพิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ. 2504

การพิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. 2511 โดยสำนักพิมพ์เกษมบรรณกิจ

สมเด็จกรมพระจักรพรรดิพงศ์

ผู้แต่ง

ในบทความเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ผู้เขียนจะคัดข้อความจากต้นฉบับมาประกอบคำอธิบาย โดยมีจุดประสงค์จะให้ผู้อ่านได้ “เสพ” วรรณกรรมเรื่องนี้ด้วยตนเองเพราะต้นฉบับหายาก น้อยคนที่รู้จักหรือได้เคยอ่าน

ในส่วนที่เป็นเนื้อเรื่องของเอ๋งติ๋งห้าวก็ไม่แตกต่างกับวรรณคดีจักร ๆ วงศ์ ๆ ก่อนหน้านี้ คือกล่าวถึงเจ้าชายร่ำลาพระบิดาไปแสวงหาความรู้กับพระฤๅษี ได้อาวุธวิเศษคู่มือ จากนั้นก็อำลาพระอาจารย์กลับเมือง ระหว่างทางหลงเข้าไปยังเมืองของนาง ได้ผูกสมัครรักใคร่กับนาง และลอบเข้าหานางได้นางเป็นชายา ขณะนั้นได้ช่วยพระบิดาของนางทำสงครามกับกษัตริย์น้อยใหญ่ที่ยกมาล้อมเมืองเพื่อหวังจะชิงเมือง พระเอกมีชัยชนะได้ราชสมบัติพร้อมกับนาง

โครงเรื่องเช่นนี้เป็นโครงเรื่องธรรมดาที่รู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือสำนวนโวหารที่ “พิสดาร” “โลดโผน” เกินคาดคิด แหวกแนวจากที่เคยปฏิบัติกันมา เริ่มตั้งแต่ชื่อพระเอก นางเอก และตัวละครในเรื่อง คือ เอ๋งติ๋งห้าว อ๊าวติ๋งโฮ่ง 2 ชื่อต้นนี้มีนัยยะสะท้อนถึงสัตว์บางประเภท นอกจากนั้นก็มีชื่อของบุคคลในเรื่อง เช่น พระยามหาหิงค์ุถิ่งโยนโกก พระยาข่าระแดหยีแย่กับกับ นางจุ้มจุ้มมะระดี่ นางสังขะอู๊ด นางกระจ๋องป๋อง

สำนวนโวหารที่พรรณนาเลียนแบบวรรณกรรมล้อเลียนก่อนหน้านั้น ซึ่งก็คือเรื่องระเด่นลันได ซึ่งก็ใช้ความเทียบที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น เปรียบเทียบความงามของนางราวกับ “นางอัปสรที่มาจากชั้นพรหมอเวจี” ลักษณะเช่นนี้มีปรากฏอยู่มากในเรื่อง

การใช้โวหารโลดโผนมีให้เห็นและปรากฏอยู่ทั่วทั้งเรื่อง ทั้งพรรณนาโวหาร และบรรยายโวหาร ซึ่งผู้เขียนได้ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีการใช้ความเปรียบหรือการขยายความที่ไม่เข้ากับความแต่ก็เป็นเรื่องขบขัน ที่ไม่มีการกระทำมาก่อน ดังเช่น

ฝ่ายเสนีที่นั่งอยู่ทั้งหมด ได้ฟังบทอัยโกงโรงกระเบื้อง (น. 19)

ปางพระจอมจักรพงศ์ดงไม้อ้อ (น. 29)

เจ้ารับพรแหวกใส่ในไข่ดัน (น. 36)

จะกล่าวถึงสององค์ทรงกะโหลก (น. 50)

ถ้าแม้นเราไม่ช่วยคงม้วยมอด คงต้องจอดซี้บ้อแหงแน่เหมือหมาย (น. 52)

เฮ้ยมนุษย์สามราปลาทุกัง (น. 58)

ฝ่ายพระหน่อวรจู๋ภูวเดช (น. 64)

ฝ่ายพระหน่อบอระเพ็ดเสร็จสดับ (น. 68)

ควรมิควรล้วนจะโปรดที่โทษทัณฑ์ ขอทราบใต้ไข่ดันริมสะดือ (น. 71)

ฝ่ายโฉมยงทรงชามกะลาร้าว (น. 114)

พระจึงปลอบตอบความไปตามแกน โอ้แม่แหวนไม่ใช่ทองของบิดา (น. 136)

ดูงามแสนแม้นอัปสรจรจรัล มาแต่ชั้นพรหมอเวจี (น. 176)

เปรียบเหมือนบ้านไม่มีรั้วชั่วเต็มที เปรียบเหมือนขี้ไม่เช็ดก้นคนนินทา (น. 195)

โอ้สงสารสังขะอู๊ดตูดมีหงอน (น. 228)

ทั้งเอวองค์วงวิลาสไม่คลาดคลาย ดูลวดลายราวกับผีสิ้นชีวา (น. 235)

ปางพระองค์วงศ์ตุ๊กแกหยีแย่กับกับ (น. 272)

นอกจากความรอบรู้ในวรรณคดีหลายเรื่องอันได้แก่ อุณรุทร้อยเรื่อง ระเด่นลันได อิเหนา พระอภัยมณี แล้ว นายเสมก็แทรกความรู้ในเรื่องภาษา ซึ่งนิยมใช้กันว่า “สิบสองภาษา” มีทั้ง ลาว เขมร ญวน เหมือนดังที่ปรากฏในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน ทำศพ แต่ “สิบสองภาษา” ที่ใช้ดูจะ “เล่น” มาก ชนิดที่เจ้าของภาษาก็คงไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด

ตัวอย่าง “สิบสองภาษา”

ที่ลางคนส่งภาษาว่ากันเปิง ข้อยเมื้อเบิ่งบักนั่นเป็นอันซิใด พวกเจ๊กนั่งฟังอยู่ด้วยจึงช่วยบอก อีเปียนลอกไล้ขี้เกี่ยเลียขี้ไก่ มอญที่นั่งฟังชอบจึงตอบไป ว่ามัวไกลเตะกลุ้มอานุมเกลิง พม่าฟังนั่งหัวร่อแล้วก็ว่า เพี้ยพงาป่าลูกเงาะอยู่เกาะเลิ่ง พวกญวนดูรู้จริตพูดผิดเชิง ว่าเด๊าเจิ่งด๊งจี่พี่มันตาย พวกคนดูอยู่ที่นั่นทั้งนั้นแซ่ ก็รู้แน่ในภาษาพ่อห้าหวาย (น. 20)

เห็นเขมรมัวเพลินเดินไม่ดู พระโฉมตรูส่งภาษาว่าไปพลัน ว่านักเอ๊ยเจยสะลาตุนาโม้ ปรำประโคเลงออยคอยขมัน โกนขะแมเมียนปรักขโมยปรัน ซีสะรันเมงปรำทำอะไร เขมรฟังนั่งหัวเราะว่าเหมาะเหม็ง เจ้านี้เก่งจริงหนามาแต่ไหน….แล้วเขมรเหลียวไปไม่ประวิง ส่งภาษาว่าทิ้งเป็นทางใน ว่านักเอ๊ยซมสะลาอีนาสะรอก ละออกปรอกปินประเดยดอยไขม สะลมเตรียกจำเนียรกระเบียนไปร ปรำประใบถูกตะบองถองกบาล…แล้วภูธรส่งภาษาอย่างรามัญ ว่าอีเต๊ะฮำราวยะกาวระ อาไฮ้ทะเกลิงขะม่วยด้วยกับฉัน ได้กี๊บกี๊บก๊าบก๊าบไปตามกัน เขนาะกลันเกลิงอาพับผ้าซี พวกมอญฟังนั่งหัวเราะว่าเพราะเหลือ….แล้วมอญมีวาจาออกมาเจียว ว่าโกนหยัดอัดกาวอาเหว่าทะ มุอากละเกลิงระบายขายข้าวเหนียว กลุดหักโม่นโกลนอามาคนเดียว เก๊ดมักเพรี่ยวตอยระจึงจะไป (น. 123-125)

หากจะมีการพิมพ์ “เอ๋งติ๋งห้าว” ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการมิใช่น้อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] สาส์นสมเด็จ เล่ม 1, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2506), น. 98.

[2]  บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ เล่ม 4, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2506), น. 219.

[3] กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา พระนามเดิมคือพระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ เป็นโอรสของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ คุณเลี่ยมใหญ่เป็นจอมมารดา ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2414 ทรงเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 และที่ 6 ในด้านอักษรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2453 ได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา

[4] เสม. เอ๋งติ๋งห้าว, (กรุงเทพฯ : เกษมบรรณกิจ, 2511), น. ก.-ข.

[5] เรื่องเดียวกัน, “คำนำ” น.ค.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เอ๋งติ๋งห้าว : สุดยอดของความหรรษา” เขียนโดย ศ.ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2565