ผู้เขียน | ชูดาว |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระเอ็ดยง” หัสเดียมคดีของคุณสุวรรณ วรรณกรรม “คำผวน” ที่ “ชกต่ำกว่าเข็มขัด” ชนิดอ่านไประแวงไป
พระเอ็ดยง หัสเดียมคดีของคุณสุวรรณ
คุณสุวรรณ กวีสตรีราชนิกุลบางช้าง มีชื่ออยู่ในทำเนียบกวีในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อรัชกาลที่ 4 จากเกร็ดชีวประวัติระบุว่าเสียจริตในสมัยรัชกาลที่ 4 วรรณกรรมของคุณสุวรรณจึงถูกคนรุ่นก่อนมองว่าเป็นงานนอกระบบ หรือเป็นกวีนิพนธ์ของคนบ้า แต่ในปัจจุบันนี้วรรณกรรมของคุณสุวรรณได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งแสดงอัจฉริยภาพของผู้แต่งที่สามารถเขียนหัสคดีในเชิงเสียดสีล้อเลียนได้อย่างดียิ่ง
วรรณกรรมเหล่านั้น (เท่าที่ได้รับการเผยแพร่) ได้แก่ บทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ อุณรุทร้อยเรื่อง และ กลอนเพลงยาวพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่ยังมีผลงานวรรณกรรมหัสคดีอีกชิ้นหนึ่งซึ่งยังไม่เคยได้รับการเปิดเผย แม้แต่เพียงชื่อเรื่องก็ยังคงปกปิดตลอดมา เพราะออกจะอาการหนักกว่าพระมะเหลเถไถและอุณรุทร้อยเรื่องที่เคยถูกมองว่าเป็นวรรณกรรมคนบ้ารวมกันเสียอีก
ตามที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เขียนคำอธิบายบทละครของคุณสุวรรณในหนังสือ “เสียดสี กวีสยามฯ” ว่า “แน่ใจได้ว่ากวีหญิงผู้นี้คงจะได้ผลิตผลงานไว้ไม่น้อย เสียแต่หาต้นฉบับกันไม่เจอ” นั้น ความจริงแล้ว ต้นฉบับนั้นหาพบแต่หลบเร้น ต้นฉบับงานของคุณสุวรรณที่ถูกหมกไว้นั่นคือ กลอนบทละครเรื่อง “พระเอ็ดยง”
ที่กล่าวว่าถูกหมกนั้น เพราะว่าบทละครเรื่องพระเอ็ดยง ถูกบันทึกไว้ในหนังสือสมุดไทย เลขที่ 1 มัดที่ 42 หมวดกลอนบทละคร ณ หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งในเล่มมีบทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ และอุณรุทร้อยเรื่องรวมอยู่ด้วย ทั้งยังมีบันทึกหน้าหนังสือสมุดไทย บอกชื่อบทละครทั้ง 3 เรื่องไว้ด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ว่าจะไม่ได้รับการเผยแพร่ เพราะยังไม่พบต้นฉบับ
ส่วนหากจะสงสัยว่าอาจจะไม่ใช่ผลงานของคุณสุวรรณ ในหน้าต้นหนังสือสมุดไทยมีข้อความระบุไว้ว่าเป็นบทละครของคุณสุวรรณ และเมื่อพิเคราะห์ดูถ้อยคำสำนวน ลีลาการประพันธ์ก็เห็นว่าน่าจะเป็นของคุณสุวรรณจริง
“พระเอ็ดยง” เป็นวรรณกรรมคำผวนของคุณสุวรรณ ซึ่งมีกลวิธีการประพันธ์โดยใช้ คำผวน ตั้งแต่ชื่อเรื่อง ชื่อตัวละคร ชื่อเมือง ไปจนถึงเรื่องราวต่าง ๆ คำผวนที่ใช้ก็ล้วนแต่เป็นคำที่ลี้ลับทำนองเดียวกับ “สรรพลี้หวน” ของชาวใต้ แสดงให้เห็นถึงทั้ง “อารมณ์ขัน” และ “อารมณ์คัน” ของผู้แต่ง บางบทบางตอนค่อนข้างโป๊และออกจะหยาบคายไปบ้าง คำผวนเหล่านั้น หลายแห่งมิได้เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเลย
ลองมาดูเนื้อเรื่องและลีลาโวหารของคุณสุวรรณในพระเอ็ดยง ซึ่งครั้งนี้คุณสุวรรณ “ชกต่ำกว่าเข็มขัด” กันดู ท่านอาจผวนคำได้ตามอัธยาศัย แต่หากระคายหู หรือบาดอารมณ์ประการใด โปรดรำลึกไว้ด้วยว่าเป็นผลงานของคุณสุวรรณ ไม่ใช่ของผู้เขียน…
เรื่องย่อ เริ่มตั้งแต่พระเอ็ดยงมีพระมเหสีอยู่ก่อนแล้ว 2 องค์ คือ นางแหงดี และนางแต่งแวด พระเอ็ดยงไปเลียบเมือง ได้นางโหตีมาเป็นมเหสี สร้างความไม่พอใจให้แก่โลตึง (เนื้อเรื่องไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นใคร) จึงขับพระเอ็ดยงและมเหสีทั้งสามออกจากเมือง ขณะเดินทางไปกลางป่า ก็ได้พบกับนายเจ็ดโยนเป็นโจรป่า มีสมุนห้าร้อยคน นายเจ็ดโยนพาสมุนมาสวามิภักดิ์กับพระเอ็ดยง พระเอ็ดยงจึงนำทัพเหล่าโจรป่าไปตีเมืองขีหัน (คีหัน) บุรี เพื่อแก้แค้นโลตึง เนื้อเรื่องจบเพียงพระเอ็ดยงไปตั้งค่ายหน้าเมืองขีหัน
พระเอ็ดยงถูกขับจากเมือง
◉ เมื่อนั้น ไทยอก (หมายถึง พระเอ็ดยง – ผู้เขียน) โศกาน้ำตาไหล
ให้คิดอัดอั้นตันใจ เพราะโหตีศรีใสมาเป็นเมีย
เขาคิดว่าเราจะเจ็ดยับ จึงใจให้ขับเราเสีย
อกใจให้ร้อนดังไฟเลีย ไทยอก…* แล้วคลาไคล ฯ
◉ เมื่อนั้น นวลนางแหงดีศรีใส
ทั้งนางแตงแวดทรามวัย ก็…*
นายรักหัวบานรำคาญใจ เคยสนิทชิดไชมาหนักหนา
สี่คนก่นกินแต่น้ำตา ก็กีเหาเข้าป่าพนาลี
มาถึงคูรอบขอบเมือง ชำเลืองเหลียวดูปราสาทศรี
เคยอยู่เกศเนตรยังทั้งตาปี ได้ดีหมสมศรีด้วยนางใน
ครั้งนี้มีกรรมจะจำจาก จะลำบากยากเด็ดเป็นไฉน
ระหกระเหินเดินป่าพนาไล จะตากแดดแอดไตทุกเวลา
คิดพลางพระนางรำไห กอกะดำทำใจเป็นหนักหนา
ข้ามทุ่งมุ่งตรงกรงมา เสด็จโดยมรคาพนาไล
เข้าในป่าระหงดงย่อ สมีหอกอกะดุมพุ่มไสว
มะกอกโทนโคนจวยกรวยไกร ใบยักกวักไกวไปมา
ทั้งกล้วยไข่กล้วยขอมหอมดี บางแหงวีปลีห้อยกลาดป่า
พลับพลวงมะม่วงหรอยห้อยระย้า น้อยหน่า…* ถึงคอมยวย
ลิ้นจี่หอมะกอดอกมะกอกทัก …* สละสลวย
ยอกะดักหักทบตะขบอวย มังคุดลวยมหาคดีมีในดง
กถินดอกออกทกดกระดาด พุทชีชาดสร้อยฟ้ากาหลง
พิกุลเจ้าจำปีหาจำปาดง หอมประทิ่นกลิ่นทรงรำจวนใจ
* ข้อความจากต้นฉบับไม่ชัดเจน
ชมสัตว์
พระชวนชมฝูงสัตว์จตุบาท เกลื่อนกลาดตามแถวแนวป่า
แรดตูมูเรนเม่นม้า เที่ยวเล็มล่าหากินที่กลางไพร
ตุ่นแลดแตดทอกออกโผน มีเห็นเต้นโจนทะลวงไล่
โคตวยพาฝูงคลาไคล บ้างแยดตอนนอนในพนาวัน
เสือกบาทหมอบฟุบตระครุบกัด คยีหัดหูปีทำรีหัน
รอกโทนโจนไม้ไล่กัดกัน รอกทุนสุดหันเข้าโพรงใน
ปากสิหงทรงเสียงสำเนียงจอ โนรีหูชูคอจับยางใหญ่
เห็นแรงดูหูรีก็หนีไป นกออกไทจับชงักเสียงกักบิน
นกอีแหนแอ่นหางพลางไซ้ขน เป็ดยนเที่ยวท่องกระแสสินธุ์
ใน…* ค้นหาฟักกิน น้ำใสไหลรินเห็นตัวปลา
ก็ดีหอนยอนเกลดสเบดยาย กระบอกเทาเคล้าไวเที่ยวเล็มล่า
ดุกลอคลอไวไคลไคลมา ปากเดิดแทกถากระโดดดำ
มีทั้งหอยกระจีรีษีลาก เต่าแนดปลาแรกตากกะโดงคว่ำ
ผักบุ้งพุ่งย้อยลงลอยน้ำ ระทวยยอดทอดลำอำไพ
มีทั้งบอนสลักผักนอก บัวรอบตักฟักดอกออกไสว
พระยอดเม็ดเด็ดฝักหักไป ประทานให้นิ่มน้องสองอนงค์
* ข้อความจากต้นฉบับไม่ชัดเจน
และก็เช่นเดียวกับธรรมเนียมนิยมกลอนบทละคร บทละครทั่วไปย่อมมีบททรงเครื่องและบทจัดทัพ ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน คุณสุวรรณกำหนดให้พระเอ็ดยงทรงภูษาที่พิลึกพิลั่น อาทิ “ทองกรตอนแมดแปดคู่” และแน่นอนสัตว์ซึ่งเป็นพาหนะย่อมจะไม่ธรรมดา เพราะคุณสุวรรณเกณฑ์ให้พระเอ็ดยง “เสด็จไปทรงแรดแปดตา” ซึ่งมีลักษณะดังนี้
◉ แรดเอยแรดตู ขากางหางทูหูลี่
ขุกตัวหัวดางหางดี ขยอกทีตีหำทำพยศ
เจดยอดลองเชิงเริงร้อง กึกก้องอรัญวาปรากฏ
เคยรุกรานกะดานย่อไม่ท้อทด แกล้วกล้าสาหสพยดเมด
ข้อความข้างต้นซึ่งคัดลอกมานี้นับว่าเป็นตอนที่ “เบา” อย่างที่สุดแล้วในพระเอ็ดยง ถ้าหากว่าโลกแห่งบรรณพิภพนี้มีที่ให้กับ “สรรพลี้หวน” แล้ว ก็น่าจะสามารถมีที่ให้กับพระเอ็ดยงได้เช่นกัน
ทั้งนี้เพียงเพื่อแจ้งว่า “มีอยู่” มิใช่เพื่อหวังจะได้รับการชื่นชมยกย่อง หากแต่เพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่า “พระเอ็ดยง” เป็นวรรณกรรมเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วในบรรณพิภพและมีอยู่จริง ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงอะไรหากจะยอมรับเพียงข้อมูลว่าคุณสุวรรณยังมีผลงานกลอนบทละครอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องพระเอ็ดยง ซึ่งแต่งด้วยคําผวนที่ไม่สุภาพเรียบร้อย คิดว่านักวิชาการน่าจะรับได้ว่าเป็นมิติหนึ่งทางการศึกษาในแวดวงวรรณกรรม เช่นเดียวกับที่ยอมรับความมีอยู่ของสรรพลี้หวนมาแล้ว
และจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะหัสเดียมคดีเรื่องพระเอ็ดยงนี้เอง ที่ทําให้พระมะเหลเถไถ และอุณรุทร้อยเรื่อง ถูกมองว่าเป็นวรรณกรรมของคนบ้าซึ่งแต่งขึ้นเมื่อเสียจริตแล้ว
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระมะเหลเถไถ” ไม่เหลวไหลอย่างที่คิด รู้จักงานกวีเชิงเสียดสี
- สรรพลี้หวน…วรรณกรรมคำผวนที่เป็นมากกว่าเรื่องล้อเลียนของสงวน!
- เอ๋งติ๋งห้าว : สุดยอดของความหรรษา
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจาก “พระเอ็ดยง หัสเดียมคดีของคุณสุวรรณ” เขียนโดย ชูดาว ในเอกสารประกอบงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “วรรณคดีจี้เส้น กรุงรัตนโกสินทร์” ต้นฉบับมาจากบทความ “พระเอ็ดยง หัสเดียมคดีของคุณสุวรรณ” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2539 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2566