“พระมะเหลเถไถ” ไม่เหลวไหลอย่างที่คิด รู้จักงานกวีเชิงเสียดสี

พระสงฆ์ ใน จิตรกรรมฝาผนัง วัดปทุมวนาราม ภาพประกอบเนื้อหา พระมะเหลเถไถ
ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

“พระมะเหลเถไถ” ไม่เหลวไหลอย่างที่คิด รู้จักงานกวีเชิงเสียดสี

พระมะเหลเถไถ

เมื่อนั้น   พระมะเหลเถไถมะไหลถา
สถิตยังแท่นทองกะโปลา   ศุขาปาลากะเปเล
วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก   มะเหลไถไพรพรึกมะรึกเข
แล้วจะไปเที่ยวชมมะลมเต   มะโลโตโปเปมะลูตู
ตริแล้วพระมะเหลจึงเป๋ปะ   มะเลไตไคลคละมะหรูจู๋
จรจรัลตันตัดพลัดพลู   ไปสู่ปราสาทท้าวโปลา

Advertisement

จากตัวบทที่ยกมาข้างต้นนี้ เป็นความตอนหนึ่งในวรรณคดีเรื่อง พระมะเหลเถไถ ผลงานการประพันธ์ของ คุณสุวรรณ ซึ่งเป็นธิดาพระยาอุไทยธรรม (กลาง) ราชินิกุลบางช้าง เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการใช้คำที่แปลกประหลาดที่ปรากฏในเรื่อง พระมะเหลเถไถ

หากพิจารณาแล้วจะพบว่า คำที่ปรากฏในวรรคนั้นมีการปะปนกัน ในวรรควรรคหนึ่งนั้น มีทั้งคำที่มีความหมาย และคำที่ไม่มีความหมาย เช่น กะโปลา, กะเปเล, มะหลึกตึก, มะรึกเข ฯลฯ ทั้งนี้ แม้คำเหล่านั้นจะไม่มีความหมายแต่ปรากฏว่ามีสัมผัสที่คล้องจองกัน ทั้งสัมผัสนอกและสัมผัสในตามความตั้งใจของผู้แต่งที่จะเลียนแบบกระบวนกลอนของสุนทรภู่

โดยวรรณคดีเรื่องนี้มีการแต่งล้อเลียนวรรณคดีเรื่อง อิเหนา สามารถสังเกตได้จากชื่อของตัวละครที่ถูกตั้งชื่อให้คล้ายกับชาวชวา เช่นตัวละคร “พระมะเหลเถไถ” “ท้าวโปลากะปาหงัน” “นางตาลากะปาลัน” หรือ “ยักษ์มาลาก๋อย” ที่เป็นผู้มาชิงตัว “นางตะแลงแกง” ไปจากพระมะเหลเถไถ เป็นต้น

เนื้อเรื่องของพระมะเหลเถไถ จะเริ่มต้นด้วย พระมะเหลเถไถนั้นนึกอยากออกประพาสป่า จึงได้ไปทูลลา ท้าวโปลากะปาหงัน พระบิดา และนางตาลากะปาลัน พระมารดา ขณะที่พระมะเหลเถไถกำลังประพาสป่าอยู่นั้น พระอินทร์ก็ได้อุ้มนางตะแลงแกงมาสู่สมกับพระมะเหลเถไถ แล้วมียักษ์ชื่อ มาลาก๋อย มาชิงตัวนางไป จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น

ทว่าเมื่อพิจารณาในส่วนคำประพันธ์แล้วจะพบว่า มีทั้งส่วนที่เป็นภาษาปะปนกับบางส่วนที่ไม่เป็นภาษา แต่กระนั้นผู้อ่านก็สามารถทำความเข้าใจเนื้อเรื่องได้โดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ

ส่วนสาเหตุที่คุณสุวรรณใช้คำที่แปลกประหลาดในการประพันธ์ มีความเห็นของบุคคลบางส่วนเชื่อว่าเป็นเพราะผู้แต่งนั้นเกิดการเสียจริต ฟุ้งไปในกระบวนการแต่งกลอน จึงทำให้แต่งออกมามีความหมายบ้างไม่มีความหมายบ้าง แต่มีความไพเราะจากสัมผัสทั้งสัมผัสนอกและสัมผัสใน ซึ่งการที่ใช้คำที่ไม่เป็นภาษาแต่ยังสามารถอ่านได้รู้เรื่องนี้เอง ทำให้ผู้อ่านนั้นเกิดความขบขันเมื่ออ่านเรื่องพระมะเหลเถไถ

ในอีกแง่หนึ่งนั้นก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า การที่คุณสุวรรณประพันธ์งานโดยใช้คำที่เป็นภาษาและไม่เป็นภาษานี้ เป็นไปเพื่อการเสียดสีงานของกวีที่เกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากในยุคสมัยนั้น

ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงให้ความสำคัญกับบทบาทของกวีในราชสำนักลดลง กวีจำนานมากจึงต้องออกไปพึ่งเจ้านาย ข้าราชการอื่นๆ บ้างก็ออกไปอาศัยพึ่งบุญของเจ้านายตามหัวเมืองต่างๆ บ้างก็ใช้ความสามารถทางการประพันธ์ของตนในการหารายได้เลี้ยงชีพ เป็นผลให้กลวิธีการประพันธ์ที่แต่เดิมถูกจำกัดอยู่ในราชสำนักนั้นลงไปสู่ชาวบ้าน

เมื่อชาวบ้านได้เรียนรู้กลวิธีการประพันธ์เหล่านั้น จึงได้นำมาแต่งกวีเองบ้าง ก่อให้เกิดกวีและผลงานที่มาจากกวีชาวบ้านเฟื่องฟูเป็นอย่างยิ่ง แต่ทว่างานเหล่านั้นก็ไม่ได้มีความเข้มขลังหรือไพเราะมากนัก

ประกอบกับในช่วงรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงที่มีการส่งเสริมการศึกษา ให้ความรู้แก่ราษฎร์มากขึ้น ตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านการซ่อมแซมบำรุง การสร้างวัดทั่วพระนคร ดังตัวอย่างเช่น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” ที่ได้มีการจารึกองค์ความรู้ไว้ตามส่วนต่างๆ ภายในวัด ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสได้รับการศึกษาให้สามารถอ่านออกเขียนได้ เพราะวัดนั้นก็เปรียบได้กับโรงเรียนในปัจจุบัน

ผลงานที่เฟื่องฟูมากในช่วงสมัยนั้น โดยมากมักจะมีการเลียนแบบคำประพันธ์ของ สุนทรภู่ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีความไพเราะทั้งด้านจำนวนคำที่ค่อนข้างสม่ำเสมอและการมีสัมผัสนอก สัมผัสใน จึงทำให้กระบวนกลอนมีความลื่นไหลเป็นจังหวะ

คุณสุวรรณที่เคยได้มีโอกาสศึกษางานของสุนทรภู่ ประกอบกับเป็นผู้มีอุปนิสัยรักในการแต่งกลอนอยู่แล้ว จึงแต่ง พระมะเหลเถไถขึ้น เพื่อเสียดสีกลุ่มงานที่เกิดจากกวีชาวบ้านเหล่านั้น

โดยเป็นการเสียดสีว่า แม้จะสามารถสรรคำมาใส่เพื่อให้เกิดสัมผัสภายในวรรคนั้นๆ ได้ แต่คำที่นำมาใช้เหล่านั้นก็มิได้มีความหมายหรือความเหมาะสมจนก่อให้เกิดสุนทรียภาพแก่ผู้อ่านได้

พระมะเหลเถไถจึงเป็นผลงานการประพันธ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเสียดสีผลงานที่มีอยู่มาก แต่ไม่ค่อยมีคุณภาพเหล่านั้นว่า สามารถทำได้เพียงแค่นำคำที่มีสัมผัสคล้องจองมาแต่งเพียงเท่านั้น หากแต่ไม่ค่อยมีคุณค่าในแง่ของความหมายหรือความเข้มขลัง ดังเช่นผลงานของกวีในราชสำนัก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2561