พาไปรู้จัก “คุณสุวรรณ” หญิงผู้ถูกตราหน้าว่าเป็น กวีนิพนธ์คนเสียจริต!

คุณสุวรรณ ภาพจิตรกรรมเชิงสังวาส วัดคงคาราม ราชบุรี
ภาพจิตรกรรมเชิงสังวาสที่วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี

คุณสุวรรณ คือ หนึ่งในกวีผู้ให้กำเนิดวรรณกรรมล้อเลียนขบขันที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านไม่ใช่กวีสตรีชาวบ้านทั่วไป แต่เป็นถึงธิดาพระยาอุไทยธรรม (กลาง) ราชนิกุลบางช้าง มีชื่ออยู่ในทำเนียบกวีช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อรัชกาลที่ 4 ก่อนจะเสียชีวิตในต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5

คุณสุวรรณมีนิสัยรักการอ่าน และชื่นชอบการแต่งกลอนมาตั้งแต่วัยเยาว์ ก่อนมีโอกาสถวายตัวรับราชการฝ่ายในตามเหล่าสกุลของท่าน โดยเป็น “พนักงานพระแสง” ในรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งทรงอยู่ที่ตำหนักพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นที่มาของกลอนเพลงยาวนิราศเรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพฯ เมื่อกรมหมื่นอัปสรฯ สิ้นพระชนม์ คุณสุวรรณยังอยู่ในพระราชวังต่อไป แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าท่านรับราชการในตำแหน่งใด

Advertisement

กลอนบทละครที่สร้างชื่อเสียงให้กับคุณสุวรรณมากที่สุดคือ บทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ และ อุณรุทร้อยเรื่อง เป็นผลงานที่ทำให้ท่านถูกนับเป็นกวีที่มีสำนวนกลอนดีเยี่ยม ขณะเดียวกัน ผลงานดังกล่าวสะท้อนความคิดที่แปลกไปจากกวีคนอื่น ๆ แบบ “หลุดโลก” พอสมควรด้วยเช่นกัน เพราะคุณสุวรรณเลือกใช้เสียงของคำทั้งแบบ “เป็นภาษา” และ “ไม่เป็นภาษา” มาประกอบในบทประพันธ์เพื่อสื่อความหมายและสร้างอารมณ์ขบขันแก่ผู้อ่านไปพร้อมกัน

เกร็ดชีวประวัติของคุณสุวรรณจึงระบุว่า ท่านมีอาการ “เสียจริต” หรือเป็นบ้า ในสมัยรัชกาลที่ 4 และวรรณกรรมของคุณสุวรรณก็มักถูกคนรุ่นเก่ามองว่าเป็นงานนิพนธ์นอกระบบ หรือเป็น “กวีนิพนธ์ของคนบ้า”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวรรณกรรมของคุณสุวรรณทั้ง พระมะเหลเถไถ และ อุณรุทร้อยเรื่อง ล้วนแต่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่แสดงอัจฉริยภาพของท่านในการเขียนงานหัสคดีเชิงเสียดสีล้อเลียนได้อย่างยอดเยี่ยม ต้นฉบับของทั้งสองเรื่องถูกค้นพบและนำมาจัดพิมพ์อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2463 โดยหอสมุดวชิรญาณ

แต่… ยังมีวรรณกรรมหัสคดีอีกชิ้น ที่ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่าง พระเอ็ดยง วรรณกรรม “คำผวน” ที่นำเสนอออกมาในลักษณะเสียจริตชนิด “จิตหลุด” หนักเสียยิ่งกว่า พระมะเหลเถไถ และ อุณรุทร้อยเรื่อง ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นวรรณกรรมคนบ้ารวมกันด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่างบทประพันธ์บางส่วน จากกลอนบทละครเรื่อง “พระเอ็ดยง” บรรยายถึงพาหนะของพระเอ็ดยง นั่นคือ “แรดแปดตา” ดังนี้

แรดเอยแรดตู   ขากางหางทูหูลี่
ขุกตัวหัวดางหางดี   ขยอกทีตีหำทำพยศ
เจดยอดลองเชิงเริงร้อง   กึกก้องอรัญวาปรากฏ
เคยรุกรานกะดานย่อไม่ท้อทด   แกล้วกล้าสาหสพยดเมด

ส่วนบทละครคำกลอน เรื่อง “พระมะเหลเถไถ” แม้จะไม่เน้น “ชกต่ำกว่าเข็มขัด” อย่างพระเอ็ดยง แต่ก็เต็มไปด้วยเทคนิคและรูปแบบการประพันธ์ ซึ่งเรียกได้ว่าแปลกประหลาด และหนีขนบดั้งเดิมอยู่ไม่น้อย ดังนี้

เมื่อนั้น   พระมะเหลเถไถมะไหลถา
สถิตยังแท่นทองกะโปลา   ศุขาปาลากะเปเล
วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก   มะเหลไถไพรพรึกมะรึกเข
แล้วจะไปเที่ยวชมมะลมเต   มะโลโตโปเปมะลูตู

สำหรับ “อุณรุทร้อยเรื่อง” จะมีเนื้อเรื่องแบบนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ทั่วไป แต่จะนำตัวละครและเรื่องราวจากวรรณคดีหลายเรื่องมาผสมปนเปไว้ด้วยกัน แสดงถึงความรู้อันกว้างขวางด้านวรรณคดีของตัวคุณสุวรรณ ที่สามารถประมวลชื่อตัวละครสำคัญทั้งหลายมาไว้ในวรรณคดีเรื่องอุณรุทร้อยเรื่อง แม้จะดู “เลอะ” ไปบ้าง แต่ถือว่ามีสำนวน – สัมผัส ที่ลื่นไหลไม่ขัดเขิน ดังนี้

เมื่อนั้น   ท้าวบรมจักรกฤษณ์เป็นใหญ่
ได้ฟังคั่งแค้นแน่นใจ   ดูดู๋เป็นได้อีมณฑา
ไปรักใคร่ไอ้เงาะมันเหมาะเหลือ   จะสับเชือดเลือดเนื้อให้สังขาร์
เหตุไฉนไยทำอหังการ์   มาลักองค์บุษบาพาไป ฯ

เห็นดังนี้ อาจจะต้องมาวิเคราะห์ข้อกล่าวหาเรื่อง “เสียจริต” ของคุณสุวรรณกันอีกครั้ง สามารถกล่าวได้ว่า อาการข้างต้นไม่ได้แสดงออกอย่างเปิดเผย แบบคนควบคุมสติไม่ได้แต่ประการใด แต่ถูกอนุมานจากอาการฟุ้งในงานกลอน หรือวิธีสรรคำมาประพันธ์แล้วนำเสนอทั้งสิ้น

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยนิพนธ์เรื่องราวของคุณสุวรรณไว้เช่นกัน ในฐานะที่พระองค์เป็นสภานายกหอสมุดวชิรญาณ และผู้นำการจัดพิมพ์บทละครของคุณสุวรรณ มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“ผู้ที่ยังไม่ทราบเค้ามูลเรื่องบทละครของคุณสุวรรณในชั้นนี้เห็นมีมากด้วยกัน ถ้าไม่อธิบายให้ทราบน่าจะเป็นการแปลกประหลาดที่หอพระสมุดเอาหนังสือเช่นนี้มาพิมพ์ เพราะที่แท้เป็นบทบ้าแต่งมิใช่เป็นบทละครอย่างปกติ คุณสุวรรณมีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อรัชกาลที่ 4 เหตุด้วยเสียจริต แต่ไม่คลั่งไคล้อันใด เป็นแต่ฟุ้งไปในกระบวนการแต่งกลอน”

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งคุณสุวรรณพำนักอยู่ที่เรือนนอก หากใครแวะเวียนไปหา แล้วร้องขอฟังบทละครที่ท่านแต่ง ท่านสามารถเล่าเรื่องพระมะเหลเถไถและอุณรุทร้อยเรื่องให้ฟังได้อย่างแม่นยำ ผู้ได้สดับฟังก็พากันชอบใจและเอาส่วนที่จดจำได้มาเล่าต่อ เป็นเหตุให้บทละครและชื่อเสียงของคุณสุวรรณแพร่กระจายไปทั่วพระนคร

มีการตั้งข้อสังเกตว่า งานประพันธ์ต่าง ๆ ของคุณสุวรรณที่ใช้คำเป็นภาษาบ้าง ไม่เป็นภาษาบ้าง หรือแม้แต่การใช้คำผวนที่ส่อไปในทางสัปดนลามกนั้น เป็นไปเพื่อการ เสียดสี” งานของกวีเกิดขึ้นใหม่จำนวนมากในยุคนั้น คือ ในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากการให้ความสำคัญต่องานกวีนิพนธ์ลดลงจากสมัยรัชกาลที่ 2 อย่างมาก กวีจำนวนมากจึงต้องออกจากราชสำนักไปพึ่งพิงเจ้านาย หรือใช้ความสามารถด้านการประพันธ์หาเลี้ยงชีพ วิธีการประพันธ์แบบจารีตดั้งเดิมที่เคยถูกจำกัดไว้ภายในราชสำนักจึงค่อย ๆ แปรสภาพเป็นกวีแบบชาวบ้าน

เชื่อได้ว่า คุณสุวรรณคงมีโอกาสได้ศึกษางานของ สุนทรภู่” เช่นกัน งานของท่านจึงเสียดสีกลุ่มงานที่เกิดจากกวีชาวบ้านเหล่านั้น โดยสามารถสรรคำมาใส่เพื่อให้เกิดสัมผัสภายในวรรค คำที่นำมาใช้ก็มิได้มีความหมายหรือความเหมาะสมไปเสียทั้งหมด แต่ก่อให้เกิดสุนทรียภาพไปถึงผู้อ่านได้

คุณสุวรรณจึงต้องมีความเชื่อมั่นหรือ มั่นใจในตนเอง” สูง เป็นรากฐานเดิม จึงสามารถสร้างสรรค์งานสวนกระแสและตรงข้ามสภาพแวดล้อม ณ ขณะนั้นออกมาได้ และแน่นอนว่าต้องมี อารมณ์ขัน” อยู่ด้วยไม่น้อย

คุณสุวรรณถึงแก่กรรมขณะอายุ 67 ปี เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2418

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

วันเพ็ญ เซ็นตระกูล, นามานุกรมวรรณคดีไทย (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566) : “คุณสุวรรณ”. <https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/cre_det.php?cr_id=183>

พระมหามนตรี (ทรัพย์), หอสมุดแห่งชาติ กาญจนาภิเษก สงขลา (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566) : “บทละคร เรื่อง พระมะเหลเถไถ – อุณรุทร้อยเรื่อง ระเด่นลันได”. (หนังสืออิเล็กทรอนิกส์/Online PDF)

พร่างพนานต์ ช่วงพิทักษ์, www.silpa-mag.com (13 มิถุนายน 2561) : “ ‘พระมะเหลเถไถ ไม่เหลวไหลอย่างที่คิด รู้จักงานกวีเชิงเสียดสี”. <https://www.silpa-mag.com/culture/article_17721>

ยุพิน ธชาศรี, ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต วิทยาลัยการศึกษา (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566) : “วิเคราะห์วรรณกรรมของคุณสุวรรณ” (2517). (Online PDF)

เอกสารประกอบงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “วรรณคดีจี้เส้น กรุงรัตนโกสินทร์” (วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560) โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2566