ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | ล้อม เพ็งแก้ว |
เผยแพร่ |
บ้านนอกคอกนา หรือ บ้านนอกขอกนา “ขอก” หรือ “คอก” กันแน่!?
เมื่อชูชกถูกเหล่าหมาของเจตบุตรไล่ขึ้นไปอยู่บนคาคบไม้ และเกลี้ยกล่อมจนเห็นเจตบุตรลังเลไม่ลั่นหน้าไม้แน่แล้ว จึงร้องสำทับไปว่า “เฮ้ย ๆ อ้ายชาวป่าหน้าบ้านนอก กูจะบอกคดี…”
ข้อความนี้ได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของชาวเมือง ที่มีต่อชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลเป็นอย่างดี และไม่เท่านั้น แม้ในระหว่างชนชั้นปกครองกันเอง ก็ยังมีความรู้สึกหยามเหยียดกันตามอำนาจหรืออิทธิพลที่ต่างคิดว่าตนมี ดังเช่นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ เมื่อทรงทราบถึงท่าทีของชาติตะวันตก มีความตอนหนึ่งว่า
“ทั้งนี้ก็เพราะมันไม่ได้นับถือเรา ว่าเป็นมนุษย์เหมือนตัวมันพวกมัน…ทั้งฝรั่งเศสแลอังกฤษ ก็คงคิดว่าเราเป็นสัตว์ สำหรับพวกมันจะแทะและแล่เถือ หรือหลอกใช้แรงดังโคกระบือ…การที่แหลมมาเป็นคำอังกฤษว่า new situation of your majesty’s kingdom นี้ว่ากระไร ดูเหมือนจะว่า จะต้องจัดเขตแดนแผ่นดินสยามเสียใหม่มิใช่หรือ…ล้วนเป็นแต่ท่วงทีมนุษย์ทำแก่สัตว์ดิรัจฉาน หรือสำนวนชาวเมืองชาวบ้าน พูดแก่คนเถื่อนคนป่า“
สำนวน “ชาวเมืองชาวบ้านพูดแก่คนเถื่อนคนป่า” เป็นเรื่องความรู้สึกที่ออกมาเป็นคำพูด เป็นลักษณะดูถูกหรือดูหมิ่นหยามกันทางฐานะและความใกล้ชิดศูนย์อำนาจ คือเห็นว่าคนบ้านนอกขัดหูขัดตาน่ารำคาญ
ความรู้สึกทำนองนี้คงจะมีกันในทุกชาติ ทุกภาษา บางสังคมถึงกับแยกชนชั้นกันทางสายเลือดก็ยังมี ว่าจำเพาะในสังคมไทย มีสำนวนภาษาอยู่จำนวนหนึ่ง ที่เห็นร่องรอยลักษณะดังกล่าวนี้
ที่ชัดเจนหมดจดจริง ๆ คือสำนวน “บ้านนอกขอกนา” อันเป็นสำนวนสี่คำที่สัมผัสคู่กลาง อาจใช้ได้ทั้งในความหมายเหยียดหยันและเห็นอกเห็นใจ
ขอกนั้นแปลว่าเขต ว่าริม เคยใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมคนไทย ดังเช่นในบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง ตอนพระสังข์เลียบเมือง เมื่อเสด็จเข้ามาใกล้ท้าวยศวิมลและนางจันท์เทวี ซึ่งแปลงเป็นชาวบ้าน “ลืมตัว กลัวเกรงภูวไนย ลุกยืนขึ้นได้ตั้งใจดู” พวกเกณฑ์ตกใจ รีบกรูเข้าเงื้อง่าหวายหมายจะเฆี่ยนตี พระสังข์ตรัสห้ามว่า
ช่างเถิดเสนาอย่าวุ่นวาย
ตายายชาวบ้านนอกขอกนา
ในนิราศพระประธมของท่าสุนทรภู่ ตอนเดินทางถึงบ้านโพเตี้ย กล่าวถึงศาลเจ้าที่มีคนทรงชักจูงให้ชาวบ้านลุ่มหลงเพราะอยู่ห่างไกลเจ้านายว่า
แต่บ้านนอกขอกนาอยู่ป่าเขา
ไม่มีเจ้านายจึงต้องพึ่งผี
ครับ มันเป็นอย่างนี้ คำว่า ขอก ทั้งเสียงและความหมาย ใกล้เคียงกับคำว่า คอก ที่คนไทยรู้จักกันดี และมีลักษณะเป็นรูปธรรมให้เห็นได้ สำนวนนี้จึงกลายเป็น “บ้านนอกคอกนา” ดังเช่นในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระพิจิตรต่อว่าไวยที่ทุบตีศรีมาลา ความว่า
แต่แรกเริ่มเดิมนั้นได้สัญญา
ว่าลูกข้ามันไม่สู้รู้อะไร
ด้วยเป็นชาวบ้านนอกคอกนา
กิริยาพาทีหาดีไม่
เป็นอันว่า โดยคำแล้วสำนวนนี้มีทั้ง “ขอก” และ “คอก”
อ่านเพิ่มเติม :
หมายเหตุ : คัดลอกเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ“บ้านนอกขอกนา กะลาเลี่ยมทอง”เขียนโดย ล้อม เพ็งแก้ว ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2561