ภาพของ “เมือง” ในวรรณกรรมหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ภาพถ่ายราวทศวรรษ 2480-2500 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2551)

บทความ ภาพเสนอความเป็นเมืองในวรรณกรรมช่วง 2475 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้ศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยจะเห็นภาพของการสร้างสำนึกใหม่ ในเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ของปัจเจกบุคคล นับได้ว่าเป็นความทันสมัยใหม่ของวรรณกรรมที่ไม่ปรากฏเด่นชัดเท่านี้มาก่อน แต่ในขณะเดียวกันวรรณกรรมสมัยใหม่ก็มีสภาวะปฏิพากย์ (paradox) กล่าวคือ วรรณกรรมไม่สามารถสะท้อนอำนาจใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้อย่างเต็มที่ควรจะเป็น

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นการแบ่งอำนาจจากพวกชนชั้นนำมาสู่พ่อค้าชนชั้นกลางมากยิ่งขึ้นและทำให้สังคมมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าสมัยก่อนหน้านี้ รวมทั้งทำให้สื่อสิ่งพิมพ์เติบโตแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้วรรณกรรมขยายตัวตามไปด้วย โดยบทความชิ้นนี้เลือกวรรณกรรม 3 เรื่อง ในการอธิบาย คือ บันไดแห่งความรัก (2475) น้องสาว (2480) หญิงชั่ว (2480)

บันไดแห่งความรัก ของ สันต์ เทวรักษ์ เขียนขึ้นในช่วง พ.ศ. 2475 เป็นนวนิยายเล่าเรื่องผ่านบันทึกส่วนตัวของตัวเอกหญิงที่ชื่อ จวงจันทร์ วรรณประภา ซึ่งเป็นนิยายเกี่ยวกับความรักหนุ่มสาวผ่านการส่งจดหมาย แต่ในขณะเดียวกันเนื้อหาของนวนิยายบันไดแห่งความรักได้สะท้อนเรื่องราวของของสังคมไทย ตัวอย่างเช่น ชมเชยวิธีดำเนินการณ์ของผู้ก่อการทั้งหลาย ซึ่งได้จัดทำลงไปโดยเรียบร้อยและปราศจากการเสียเลือดเนื้อของประชาชน หรือการอุปมาในจดหมายรักว่า “ถูกปลุกให้ตื่น” จากหนอนดักแด้ให้กลายเป็นผีเสื้อ เป็นต้น

ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากระบอบเดิมคือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (หนอนดักแด้) สู่ระบอบใหม่ประชาธิปไตย (ผีเสื้อ) แต่ถึงแม้จะมีการกล่าวถึงระบอบใหม่ที่ผู้เขียนจะสื่อถึงเรื่องของเสรีภาพ แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถอธิบายพ้นกรอบจารีตของระบอบเก่าได้ อย่างเช่น กรอบของพุทธศาสนาที่ได้กล่าวว่ารัฐบาลควรปกครองด้วยหลักธรรมาธิปไตย หรือเสรีภาพในการเลือกคู่ โดยคนสมัยใหม่มีสิทธิที่จะเลือกคู่ครอง (ตัวแทนระบอบใหม่) แต่พ่อแม่ (ตัวแทนระบอบเก่า) แนะนำให้เป็นแม่ศรีเรือนและคลุมถุงชน สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันกันของความรู้เก่ากับความทันสมัย

ในบทความยังได้อธิบาย กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งสำนึกใหม่ และมุมมืดของเมือง นวนิยายเรื่องน้องสาว และเรื่องหญิงชั่ว สามารถสะท้อนสำนึกของเมืองหลวงได้เป็นอย่างดี โดยที่เรื่องราวของหญิงชั่ว เป็นเรื่องของหญิงบ้านนอกลูกชาวนาที่ถูกวิชัย หนุ่มเมืองกรุงหลอกให้หนีออกจากบ้านตามเข้ามาในเมือง และถูกนำไปขายให้กับแม่เล้าย่านแพร่งสรรพศาสตร์

เรื่องน้องสาว มีความโดดเด่นในแง่บรรจุเรื่องราวของคนยากจนในเมืองในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการหนีเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ที่ต้องการสร้างเนื้อสร้างตัวให้ร่ำรวย แต่สุดท้ายพบแต่ความลำบากต้องมาเป็นคนรับจ้างลากรถ โดยเป็นอาชีพที่ต่ำมาก

ซึ่งกรุงเทพฯ ในกรอบจารีตเดิมนั้นเป็นพื้นที่ที่ทันสมัย ส่วนต่างจังหวัดวรรณกรรมมักสะท้อนว่าเป็น ป่ารกชัฏตัวแทนของความไม่ทันสมัย แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วรรณกรรมมีเสรีภาพมากขึ้นในการนำเสนอมุมมืดของเมืองที่ไม่ได้มีแค่ความทันสมัยแต่เต็มไปด้วยการกดขี่

สิ่งเหล่านี้เองจึงทำให้กรุงเทพฯ เป็นตัวแทนของความทันสมัยของกรอบจารีตเดิม ถูกคนต่างจังหวัดมองว่าเป็นเมืองแปลกหน้า เพราะฉะนั้นภาพของเมืองหลวงในวรรณกรรมจึงมีพลวัตตลอดขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม

นอกจากกนี้ บทความได้อธิบายถึง เมืองมหรสพ นวนิยายหลายเรื่องในยุคนี้มักจะเอ่ยพาดพิงถึงโรงภาพยนตร์เพื่อบ่งบอกความเป็นเมืองสมัยใหม่ เนื่องจากภาพยนตร์เป็นรูปแบบหนึ่งของมหรสพที่อาศัยเทคโนโลยีทันสมัยสุดในยุคนั้น ซึ่งความทันสมัยที่เข้ามาใหม่ในหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น มันจึงทำให้วรรณกรรมต้องสร้างความเป็นมหรสพมากขึ้น เช่น เน้นความยากจน เน้นเรื่องชีวิตขมขื่น เพื่อรองรับความเป็นสมัยใหม่ ที่มีวัฒนธรรมมหรสพที่แสวงหาความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา หรืออาจกล่าวได้ว่ายิ่งสมัยใหม่มาก มหรสพก็ต้องแปลกใหม่หรือวิปริตตาม

กล่าวโดยสรุปคือ จุดเปลี่ยนสำคัญของวรรณกรรม คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ได้สร้างสำนึกใหม่เกี่ยวกับอำนาจ สิทธิ เสรีภาพ และทำให้วรรณกรรมได้เห็นสำนึกใหม่เกี่ยวกับความเป็นเมืองในฐานะพื้นที่ความเป็นสมัยใหม่ที่เปิดกว้างให้คนได้แสดงบทบาทตนเองอย่างเต็มที่ จึงเกิดภาวะชักกะเย่อระหว่างความรู้เก่าและความรู้ใหม่เกิดขึ้น และความทันสมัยที่เข้ามายิ่งทำให้วรรณกรรมเกิดวัฒนธรรมมหรสพมากยิ่งขึ้น

 


อ้างอิง :

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. (2560). ภาพเสนอความเป็นเมืองในวรรณกรรมช่วง 2475 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2. ในหนังสือ ความ (ไม่)เ ป็นสมัยใหม่ : ความเปลี่ยนแปลงและความย้อนแย้งของไทย. กรุงเทพฯ : ศยาม.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2565