อัตลักษณ์ราษฎร ในทัศนะของกรมพระยาดำรงฯ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการเมืองอุบลราชธานี

บทความนี้ คัดย่อมาจาก “ข้าราชการ กับ ราษฎร ในทัศนะของสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ” ของสายชล สัตยานุเคราะห์ ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนธันวาคม 2545 เนื้อหาต้นฉบับเดิมนั้นกล่าวถึงทัศนะของสมเด็จฯ พระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งในส่วนของอัตลักษณ์ “ข้าราชการ” และ “ราษฎร” แต่เนื่องจากเนื้อหามีความยาวมาก ครั้งนี้จึงนำเสนอเพียงส่วนของ “อัตลักษณ์ราษฎร” มาเสนอ ส่วน “อัตลักษณ์ข้าราชการ” จะนำเสนอในโอกาสต่อไป (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

อัตลักษณ์ราษฎร

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงใช้คำหลายคำด้วยกันเพื่อหมายถึงราษฎร ในรัชกาลที่ 5 ทรงนิยมใช้คำว่า “ไพร่บ้านพลเมือง” และ “ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน” [1] แต่ในรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาทรงนิยมใช้คำว่า “ราษฎร” หรือ “ประชาชน” อย่างไรก็ตามในรัชกาลที่ 5 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงใช้คำว่า “ราษฎร” ในบางที่ [2] และในเอกสารฉบับเดียวกันก็จะทรงใช้หลายคำปนกันไป เพื่อหมายถึงผู้อยู่ในบังคับของประเทศสยาม หรืออยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นคนที่อยู่ในชั้นต่ำสุดของสังคม การใช้คำเหล่านี้เป็นเรื่องปรกติของชนชั้นนำในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองคำเหล่านี้ได้กลายเป็นคำที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากมีนัยยะของการแบ่งแยกชั้นของคน ดังนั้นหากไม่จำเป็นแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำเหล่านี้ในการสื่อสารกับสาธาณชน เช่น เมื่อทรงร่างพระนิพนธ์เกี่ยวกับการฟ้อนรำของไทย ทรงกล่าวถึงแบบแผนการฟ้อนรำที่เป็นของประชาชนหรือราษฎรโดยเฉพาะ แต่เมื่อจะส่งไปตีพิมพ์ทรงแก้ไขโดยตัดคำว่า “ประชาชน” และ “ราษฎร” ออก คงไว้แต่คำว่าชนชาติไทย ทั้งนี้เห็นได้ชัดว่าทรงแก้คำที่บ่งบอกว่ามีแบบแผนบางอย่างของชนชาติไทยที่เป็นของประชาชนหรือราษฎรโดยเฉพาะ เพื่อลดความแหลมคมของสำนึกเรื่อง “ชั้น” หรือลดกระแสการแบ่งแยกระหว่างเจ้ากับราษฎร ที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคณะราษฎรซึ่งโค่นล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงนั้นใช้ชื่อว่า “คณะราษฎร”

เพื่อจะเห็นได้ชัดเห็นควรนำข้อความในพระนิพนธ์ฉบับร่างมาเปรียบเทียบกับฉบับที่ทรงแก้ไข ดังต่อไปนี้

ฉบับร่างมีความว่า

…การฟ้อนรำที่ไทยเราใช้เป็นแบบแผนในประเทศนี้ เป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งเป็นกระบวนฟ้อนรำของประชาชนในพื้นเมือง เช่นที่ราษฎรทำซุยหรือรำเล่นแม่ศรีและรำเพลงเกี่ยวเข้า เหล่านี้เห็นจะเป็นกระบวรแบบรำของชนชาติไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ [3]

ข้อความที่ทรงแก้ไขแล้วเป็นดังนี้

การฟ้อนรำของชาวสยามว่าโดยกระบวรรำ เป็น 2 อย่างต่างกันคือ กระบวรฟ้อนรำในพื้นเมือง 1 รำซุย หรือรำเล่นแม่ศรี และรำเพลงเกี่ยวเข้า เหล่านี้เห็นจะเป็นกระบวรแบบรำของชนชาติไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์  [4]

ในกรณีที่จำเป็นต้องระบุว่าเป็นการฟ้อนรำของประชาชน ทรงเลี่ยงไปใช้คำว่า “ประชุมชน” และ “ชาวนา” แทน เพราะเป็นคำที่บ่งบอกว่าเป็นกลุ่มคนและกลุ่มอาชีพ มิได้หมายถึง “ชั้น” ของคน

…รำตามประเพณีเมืองนั้น เป็นการแสดงความรื่นเริงในประชุมชน เช่น พวกชาวนา มีการฟ้อนรำและขับร้องให้รื่นเริงในเวลาทำนาก็ดี ในเวลามีการประชุมชนร้องเล่นเพลงให้ครึกครื้นแก่การประชุมก็ดี ฟ้อนรำเข้ากับเครื่องปี่พาทย์แสดงความยินดีในเวลาทำบุญก็ดี ประเภทนี้ไม่ต้องฝึกหัดมากมาย เล่นกันเป็นประเพณีเมือง… [5]

นอกจากบรรยากาศทางการเมืองจะมีผลต่อการเลือกใช้คำที่หมายถึงราษฎรหรือประชาชนแล้ว การสร้างอัตลักษณ์ของราษฎรของพระองค์ก็ขึ้นอยู่กับการเมืองเช่นกัน

ราษฎรคือใคร มีสถานภาพและหน้าที่อย่างไร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมิได้ทรงอธิบายหรือให้ความหมายไว้โดยตรง แต่พระดำริและนโยบายที่ทรงกำหนดขึ้น ตลอดจนพระดำรัสในโอกาสต่างๆ ได้ทำให้เกิดการรับรู้อัตลักษณ์ของราษฎร และมีอิทธิพลต่อมุมมองของข้าราชการต่อราษฎรสืบต่อมา

ในยุคที่เมืองไทยยังมีทาส สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระดำริว่า คนชั้นทาสมิได้มีสถานะเป็นมนุษย์ หากแต่ “คล้ายปศุสัตว์” ดังปรากฏในพระนิพนธ์ “ตำนานการเกณฑ์ทหาร” ซึ่งทรงพระนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2464 โดยทรงชี้แจงไว้ในพระนิพนธ์เรื่องนี้ถึงสองครั้งว่า ไม่มีหลักฐานในการเขียนอย่างชัดเจน ต้องอาศัย “เค้าเงื่อนมีปรากฏอยู่ในที่ต่างๆ คือในหนังสือ พงศาวดารบ้าง ในกฎหมายและทำเนียบบ้าง…เก็บเอามาประกอบกับความสันนิษฐาน แต่งหนังสือเรื่องนี้ขึ้นโดยอัตโนมัติ…อาจจะวิปลาสพลาดพลั้งได้” [6] ซึ่งหมายความว่าข้อความต่างๆ ในหนังสือนี้สะท้อนพระดำริของพระองค์เอง เกี่ยวกับอดีตมากกว่าจะเป็นผลมาจากการตีความหลักฐานอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้รวมถึงประเด็นเรื่องสถานะของทาสด้วย ทรงวินิจฉัยสถานะของทาสไว้ดังนี้

…คนที่เป็นทาสเป็นเชลยนั้นจะเป็นไทยหรือเป็นคนชาติอื่นก็ตาม ถือว่าเป็นคนชั้นเลวคล้ายกับปศุสัตว์ สำหรับแต่จะเป็นบ่าวไพร่ จึงเป็นแต่เกณฑ์ใช้แรง ไม่ให้มีศักดิ์เป็นทหาร [7]

ส่วนราษฎรในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นคุณค่าของราษฎรในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่จะก่อให้เกิดโภคทรัพย์และภาษีอากร โดยที่ทรงเห็นว่าเมืองไทยมีอาณาเขตกว้างขวางแต่มีพลเมืองน้อย ถ้ามีพลเมืองมากขึ้นย่อมเกิดประโยชน์แก่ประเทศ เพราะเมื่อคนมากก็จะมีการขุดค้นโภคทรัพย์ขึ้นมามาก ภาษีก็มากขึ้น จึงควรบำรุงเด็กที่เกิดมาให้มีชีวิตรอดอยู่ เพราะในเวลานั้นมี “เด็กตายเสียเมื่ออายุยังเยาว์เป็นจำนวนมาก แลยังมีโรคฝีดาษและอหิวาห์ตกโรคระบาดอยู่เสมอๆ ด้วย” [8]

การเห็นคุณค่าของราษฎรในเชิงเศรษฐกิจเช่นนี้ คงมีส่วนทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเตือนให้ข้าราชการมองเห็นชีวิตของราษฎร “มีราคาเหนือชีวิตของตนเอง” นอกเหนือจากที่ทรงมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน เมื่อเกิดกรณีปลัดอำเภอและตำรวจภูธรไม่ระวังเหตุการณ์ตามสมควรในเวลาจับผู้ร้าย ทำให้มีคนตาย ทรงมีลายพระหัตถ์ที่โปรดให้ตีพิมพ์ใน เทศาภิบาล มีความตอนหนึ่งว่า

…ขอให้เข้าใจว่าชีวิตมนุษย์จะเป็นชีวิตของผู้ใดก็ตาม จะเป็นชาติใดก็ตาม ภาษาใดก็ตาม เป็นของมีราคาเหมือนชีวิตของตนเอง ธรรมในศาสนาก็ดี กฎหมายบ้านเมืองก็ดี ย่อมถือเอาความข้อนี้เป็นอย่างเดียวกัน คือต้องระวังชีวิตมนุษย์อย่าให้เสียไปด้วยใช่เหตุ… [9]

ชีวิตของราษฎรในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงมีค่าทั้งในฐานะปัจจัยการผลิตและในฐานะที่เป็นมนุษย์ แต่มิได้มีสถานภาพเท่ากับคนกลุ่มอื่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงถือว่าราษฎรเป็นคนชั้นที่ “อัตภาพอยู่ในที่ต่ำ” และไม่สมควรจะมีวิชาความรู้เกินความต้องการแก่อัตภาพของตน ดังปรากฏใน “ความเห็นเรื่องการศึกษา” ความว่า

คนทั้งหลายมีอัตภาพต่างกัน การทำมาหาเลี้ยงชีพและตระกูลต่างกัน วิชาความรู้ที่สมควรแก่คนบางจำพวก คนจำพวกอื่นรู้ไปเปลืองเปล่า เกินความต้องการแก่อัตภาพของคนจำพวกนั้น หรือกลับให้โทษแก่คนจำพวกนั้นๆ ที่ไปเรียนรู้เข้าก็มี…การฝึกสอนราษฎรทั่วไปจะต้องเอาอัตภาพเปนเครื่องกำหนดวิชาความรู้ที่จะฝึกสอนนั้นด้วย คืออย่าให้วิชาความรู้ที่เล่าเรียนไปเปลืองเปล่า… [10]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า ราษฎรซึ่งโดยทั่วไปมีอัตภาพต่ำนี้ตามปรกติจะมีสติปัญญาต่ำ แต่ก็อาจมีบางคนที่มีสติปัญญาสูงกว่าอัตภาพ จึงเห็นควรอุดหนุนโอกาสเล่าเรียนตามสมควรแก่สติปัญญา เพื่อ “เป็นเครื่องประดับของบ้านเมือง” ดังที่ทรงมีพระดำริเกี่ยวกับนโยบายทางการศึกษาว่า

…คนทั้งหลายสติปัญญาไม่เสมอเหมือนกัน บางคนแม้อัตภาพอยู่ในที่ต่ำ มีสติปัญญาสามารถเกิดประจำตัวมาสูงเกินกว่าอัตภาพ คนชนิดนี้ก็เชิดชูตระกูลต่ำให้สูงและเป็นเครื่องประดับสำหรับบ้านเมือง อันสมควรอุดหนุนให้มีช่องโอกาสเล่าเรียนหาความดีให้เต็มตามสมควรแก่สติปัญญาสามารถ…[11]

ราษฎรจึงมีโอกาสเลื่อนชั้นอยู่บ้าง เพราะเมื่อได้รับการศึกษา ก็สามารถเชิดชูตระกูลต่ำให้สูง แต่ความสำคัญต่อบ้านเมืองของราษฎรบางคนที่สติปัญญาสูงและมีความรู้สูงเช่นนี้ก็เพียงแค่ “เป็นเครื่องประดับสำหรับบ้านเมือง” เท่านั้น โดยเนื้อแท้แล้วทรงพระดำริว่า “หนทางที่จะนำขึ้นไปถึงยศศักดิ์ สูงขึ้นไปภายหน้านั้น อุปรมาเหมือนกับผู้ที่ลงทุนทำการค้าขายนั่นคือต้องมีทุน” อันได้แก่ “ทุนชาติตระกูล นอกเหนือจากความรู้ที่ได้เล่าเรียนและความสุจริตที่มีแก่ตัว” [12]

นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระประสงค์ที่จะ “กำหนดไม่ให้ไพร่เข้าปนผู้ดี…กำหนดผู้ดีไม่ให้ปนไพร่…” ด้วย พระองค์จึงทรงมีพระดำริให้แบ่งแยกโรงเรียนของผู้ดีออกจากโรงเรียนของไพร่ แม้กระนั้นก็ยังทรงวิตกว่าหากมีโรงเรียนหญิงสำหรับไพร่ก็อาจมีผู้ดีบางคนส่งลูกมาเรียน ทรงพระวิตกว่า “จะกำหนดผู้ดีไม่ให้ปนไพร่…เป็นการยาก ด้วยผู้ดีอาจจะเป็นไพร่ได้ง่ายกว่าไพร่เป็นผู้ดีมาก” [13] ทั้งนี้เพราะ “ถ้าจะกำหนดไม่ให้ไพร่เข้าเป็นผู้ดีนั้น ภอกำหนดได้ด้วยตระกูลหรือทรัพย์สมบัติ” [14]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนราษฎรด้วยการศึกษา ให้ราษฎรมีคุณลักษณะดีขึ้นใน 3 ข้อ คือ “ที่จะให้ไพร่บ้านพลเมืองรักชาติภูมิของตนประการ 1 ที่จะให้ไพร่บ้านพลเมืองประพฤติอยู่ในสุจริตธรรมประการ 1 และจะให้ไพร่บ้านพลเมืองเจริญกำลังกายกำลังทรัพย์แลกำลังปัญญาประการ 1” [15] โดยทรงพระดำริว่า “รัฐบาลมีอำนาจที่จะตกแต่งนิสัยใจคอไพร่บ้านพลเมืองได้ด้วยแต่งหนังสือสอนเด็กในโรงเรียน” [16]

พระดำริเกี่ยวกับไพร่บ้านพลเมืองดังกล่าวมานี้สะท้อนว่า ทรงเน้นบทบาทของรัฐเหนือชีวิตจิตใจของราษฎรและเป็นผู้ช่วยให้ราษฎรมีชีวิตดีขึ้น ดังนั้นจึงเท่ากับว่าทรงนิยามความหมายของ “ราษฎร” ว่าคือผู้ที่ต้องพึ่งพารัฐเป็นอย่างมากแต่เต็มใจเสียภาษีอากร เพื่อจะได้เป็นกำลังสำหรับรัฐบาลในการปกครองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขต่อไป ดังที่ทรงร่าง “ประกาศเรื่องความอัตคัตฝืดเคือง” เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในรัชกาล ที่ 7 ความว่า

…การเสียภาษีอากรนั้น ก็ควรพยายามตั้งใจช่วยรัฐบาล โดยเต็มใจตามความสามารถ เพื่อจะได้เป็นกำลังสำหรับรัฐบาลปกครองบ้านเมืองแลคิดการแก้ไขเหตุร้ายต่างๆ ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข… [17]

หากพิจารณาจากจดหมายเหตุรายวันเมื่อเสด็จตรวจราชการในหัวเมือง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงให้ความสำคัญแก่การขยายตัวของการผลิตและการค้า ความสงบเรียบร้อย และความสะอาดของบ้านเมือง ทั้งสามส่วนนี้มีความสัมพันธ์กัน และเป็นปัจจัยให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงแก่บ้านเมือง ดังนั้นจึงมีผลต่ออัตลักษณ์ของชาวบ้าน ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรับรู้ และทรงถ่ายทอดให้คนอื่นๆ โดยเฉพาะข้าราชการได้รับรู้ตามไปด้วย กล่าวคือการขยายตัวของการผลิตและการค้าจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยหรือตายก่อนวัยอันควร ดังนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงระบุปัญหาความสกปรกในท้องถิ่นต่างๆ อยู่เสมอ เนื่องจากในยุคนั้นเริ่มมีความรู้ว่าความสกปรกเป็นบ่อเกิดของพิษและเชื้อโรคต่างๆ เช่นทรงพระนิพนธ์ว่า

…ในท้องถิ่นที่ตำบลโพกลางนี้ เพราะเหตุเป็นที่ประชุมชนมาก แต่ยังมิได้จัดการรักษาความสะอาดมาแต่ก่อน จึงเป็นที่ๆ มักเกิดโรคภัยไข้เจ็บคือกาฬโรคเป็นต้น… [18]

นอกจากนี้การขยายตัวของการผลิตและการค้าจะเกิดขึ้นได้เมื่อบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย เพราะจะไม่มีโจรผู้ร้ายมาเป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน และราษฎรที่ไม่เป็นโจรผู้ร้ายก็จะเป็นผู้ผลิตสินค้าต่างๆ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงมักจะทรงเลือกรับรู้และถ่ายทอดภาพของประชาชนในแง่ที่ผลิตสินค้าอะไรบ้าง ประชุมชนที่ประชาชนอยู่นั้นสะอาดหรือไม่ ประชาชนที่เป็นโจรผู้ร้ายนั้นทำผิดด้วยเรื่องอะไรบ้าง และกระบวนการพิจารณาคดีตลอดจนการคุมขังนักโทษเป็นอย่างไร

ภาพลักษณ์ประชาชนที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีส่วนสร้างขึ้นและเผยแพร่สู่สังคมวงกว้างจึงมักจะเป็นภาพของประชาชนส่วนที่ “มีปัญหา” และต้องการความช่วยเหลือจากรัฐและข้าราชการ เช่น ปัญหาด้านการคมนาคม ปัญหาความสกปรก ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาโจรผู้ร้าย เป็นต้น และหลายครั้งด้วยกันที่ทรงเล่าถึง “คนบ้านนอก” ที่ขายของป่าราคาถูกกินปลาร้าและเกลือสินเธาว์ เช่น “มะเกลือป่ามีอยู่ข้างหลังพระปฐมเจดีย์ต่อพรมแดนเมืองกาญจนบุรี พวกชาวบ้านนอกเก็บบันทุกเกวียนลงมาขายซื้อได้ราคาถูก” [19] หรือ “คนโคราชกินเกลือทะเล แต่คนบ้านนอกยังกินเกลือสินเธาว์…แต่ก่อนใช้ปลาร้าพิมาย แต่เดี๋ยวนี้ใช้ปลาร้ากรุงเก่า” [20] ประชาชนในชนบทที่มีอัตลักษณ์เป็น “ชาวบ้านนอก” เช่นนี้ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ควรกล่าวด้วยว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มิใช่ผู้ริเริ่มใช้คำว่า “คนบ้านนอก” หรือ “ชาวบ้านนอก” แต่อย่างใด แต่คงเป็นความรับรู้ร่วมกันของคนชั้นสูงในสมัยนั้น รายงานของกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เกี่ยวกับการจัดราชการที่เมืองนครราชสีมา ร.ศ. 110 กล่าวถึงประชาชนในแถบนั้นว่า

…แลคนในพื้นเมืองอัธยาศัยก็ไม่ใคร่เหมือนคนทางอื่นๆ ดูไม่ค่อยชอบพบคนแปลกหน้า เป็นเชิงกลัวๆ เลี่ยงๆ ข้าพระพุทธเจ้า…ดูตามคนที่มาแต่กรุงเทพฯ นาน ก็ว่าคนบ้านนอกๆ มักเป็นแต่บ่าวทาสเขา…[21]

เมื่อคุณพุ่มแต่งคำอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงอธิบายความหมายของคำอธิษฐานนี้ ด้วยการกล่าวถึงพวกข่าและลาวโดยนัยยะว่าด้อยอารยธรรม กล่าวคือ ทรงอธิบายว่า “พระยานครราชสีมาครั้งนั้น อยากเล่นมโหรีให้เหมือนขุนนางผู้ใหญ่ที่ในกรุงฯ มีแต่พวกข่าและลาวเชลยก็เอามาหัดเป็นมโหรีไปตามแกน” [22]

การแห่ปราสาทผึ้งของชาวบ้านที่มารอเฝ้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คราวเสด็จตรวจราชการเมืองนครพนม พ.ศ. 2449 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

การยึดเอามาตรฐานของฝรั่งว่ามีอารยธรรมสูง ทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีส่วนทำให้ราษฎรมีภาพลักษณ์ว่าด้อยอารยธรรม ตัวอย่างเช่น ทรงเห็นว่าการไม่ใส่เสื้อทำให้ฝรั่งดูหมิ่นคนไทยว่า “เป็นชาวเมืองป่า” [23] หลังจากที่คนชั้นสูงและชั้นกลางในเมืองพากันใส่เสื้อแล้ว คนในชนบทยังคงไม่ใส่เสื้อกันตามปรกติ ทั้งยังมิได้ดำเนินชีวิตอย่าง “สะอาด” ตามมาตรฐานตะวันตก คนในชนบทจึงยังเป็นคนบ้านนอก หรือคนป่าในสายตาของคนในเมืองต่อมาอีกนาน

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ต่อราษฎรในหัวเมืองของกระทรวงมหาดไทยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นเสนาบดี ก็สะท้อนอัตลักษณ์ของราษฎรในแง่ที่เป็นกลุ่มคนซึ่งไร้ศักยภาพที่จะพึ่งตนเองเป็นอย่างยิ่ง เช่น หน้าที่ในด้านการศึกษา สะท้อนถึงการที่ไม่เห็นว่าความรู้หรือภูมิปัญญาของชาวบ้านเป็นสิ่งที่มีคุณค่าหรือมีประโยชน์ รัฐต้องนำความรู้อีกชนิดหนึ่งเข้าไปแทนที่เพื่อให้ราษฎรมีสติปัญญาขึ้นมา หน้าที่ในด้านสุขาภิบาลสะท้อนการตอกย้ำของกระทรวงมหาดไทยรวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา ว่าชาวบ้านไร้ศักยภาพที่จะทำให้บ้านเมืองของตนน่าอยู่ และปราศจากศักยภาพที่จะดูแลสุขภาพของตนเองและญาติพี่น้อง ส่วนหน้าที่ในการจัดการทรัพยากร เช่น ป่าไม้ แร่ธาตุ ก็ส่งผลให้ราษฎรต้องกลายเป็นกลุ่มคนที่รับรู้ตนเองและถูกคนชั้นอื่นรับรู้ว่า มีชะตากรรมที่ตกอยู่ภายใต้การกำหนดของรัฐและต้องพึ่งพาทรัพยากรจากรัฐเสมอไป โดยที่ราษฎรมีหน้าที่เพียงเสียภาษีและเป็นพลทหารเท่านั้น

อนึ่งในบรรดาพระนิพนธ์และพระปาฐกถาทั้งหลายของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ไม่ปรากฏว่าทรงตระหนักถึงความสำคัญของ “ชุมชน” และ “เครือญาติ” ของราษฎรต่างจากกรณีของชนชั้นผู้ดี ซึ่งทรงเน้นความสำคัญของตระกูลและราชวงศ์เป็นอย่างยิ่ง ดังปรากฏในพระนิพนธ์ประวัติบุคคล และพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เท่ากับว่าทรงสร้างอัตลักษณ์ของราษฎรที่มีสถานะเป็นปัจเจกบุคคลซึ่งมีหน้าที่ต่อรัฐ ในฐานะของปัจเจกบุคคลด้วย

เมื่อทรงพระนิพนธ์ถึงกลุ่มราษฎรในหัวเมือง ทรงใช้คำว่า “ประชุมชน” ดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งคำว่า “ประชุมชน” ที่ทรงใช้มีความหมายเพียงแค่การตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกันเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควรเท่านั้น มิได้มีนัยยะของการเป็นกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันภายในกลุ่มอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งทำให้มีพลังที่จะเผชิญปัญหาร่วมกัน หรือมีศักยภาพที่จะสร้างความเจริญให้แก่กลุ่มของตนเองแต่อย่างใด ด้วยอัตลักษณ์ราษฎรที่เป็นปัจเจกชนนี้เองที่ทำให้ราษฎรอยู่ในฐานะของผู้ที่ต้องพึ่งพิงรัฐจนหมดตัว และไม่มี “สิทธิชุมชน” หรือ “ของหน้าหมู่” ที่ทุกคนในชุมชนมีโอกาสใช้และดูแลรักษาร่วมกันอีกต่อไป

ในทศวรรษ 2460-70 เมื่อประชาชนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น และเสียงเรียกร้องให้ประชาชนมีสิทธิทางการเมืองในการเลือกตั้งผู้ปกครองดำเนินไปอย่างเข้มข้นขึ้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของราษฎรโดยการเขียน “ประวัติศาสตร์” ให้ราษฎรมีบทบาทอันน่าภาคภูมิใจ คือการเสียสละแม้ชีวิตเพื่อบ้านเมือง ทรงพระนิพนธ์ “อธิบายแสดงตำนานเรื่องชาวบ้านบางระจัน” ใน พ.ศ. 2466 และทรงบรรจุเรื่องราวการต่อสู้กับพม่าของชาวบ้านบางระจันไว้ในหนังสือไทยรบพม่าอย่างละเอียด โดยเน้นไว้ในตอนท้ายของเรื่องดังนี้ “เรื่องราวของพวกนักรบบ้านบางระจันมีมาดังนี้ คนทั้งปวงจึงยกย่องเกียรติยศมาจนตราบทุกวันนี้” [24] นอกจากนี้ยังทรงแสดงพระปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียงในวันที่ 31 มีนาคม 2474 มีความว่า

…บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุขได้นั้น ย่อมอาศัยเหตุอันเป็นข้อสำคัญหลายอย่าง เป็นต้นว่าชาวเมืองนั้นทั้งที่เป็นพนักงานปกครองและเป็นทวยราษฎร์มีความสามัคคี ช่วยกันประกอบกิจการทะนุบำรุงบ้านเมืองในเวลาสงบภัย และช่วยกันแก้ไขความทุกข์ยาในเวลายุคเข็ญ…ในส่วนพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ควรเข้าใจว่ามิใช่แต่เป็นเครื่องหมายเฉลิมพระเกียรติยศเฉพาะพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธจุฬาโลกเท่านั้น ย่อมเฉลิมเกียรติชาวสยามชั้นบรรพบุรุษของเราทั้งหลาย ซึ่งได้โดยเสด็จสนองพระเดชพระคุณเป็นพระกำลังของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วย… [24]

อัตลักษณ์ของประชาชนในแง่นี้หมายถึงการทำให้ประชาชนสำนึกว่า แม้ตนจะต้องประสบความทุกข์ยากอย่างไรก็ต้องอดทนและสามัคคีกับคนชั้น “พนักงานปกครอง” ในการแก้ไขความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นในเวลาที่บ้านเมืองประสบภาวะวิกฤตและมีหน้าที่ “โดยเสด็จสนองพระเดชพระคุณ” ของพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษได้ทำมาแล้วนั่นเอง

แน่นอนว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่ทรงเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทรงอธิบายมูลเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพราะเจ้านายบางส่วน “ประพฤติเลวทรามให้เขาดูหมิ่น” [26] ดังนั้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงทรงให้ความสำคัญแก่การสร้างอัตลักษณ์เจ้าและพระมหากษัตริย์ เพื่อจะได้รักษาเกียรติยศของราชวงศ์จักรีต่อไป ดังปรากฏในลายพระหัตถ์ถึงพระญาติจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังทรงพระนิพนธ์เรื่อง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในทศวรรษ 2480 ด้วยความมุ่งหมายที่จะถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เข้าใจว่าเพื่อให้ภาพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรง “สร้าง” ขึ้นด้วยพระนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์กลายเป็น “พระมหากษัตริย์ในอุดมคติ” สำหรับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ เพราะแม้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะทรงตกอยู่ภายใต้อำนาจของ “คนอื่น” ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์เช่นเดียวกับพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แต่ในท้ายที่สุดก็ทรงกู้ราชบัลลังก์ได้สำเร็จ ทั้งยังทรงสามารถขยายอำนาจของพระราชอาณาจักรไทยออกไปจนยิ่งใหญ่ไพศาล [27]

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมิได้ทรงสร้างอัตลักษณ์ของราษฎรในระบอบใหม่แต่อย่างใด แต่ยังทรงเสนออัตลักษณ์ราษฎรที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มีความกตัญญูกตเวที และ “โดยเสด็จสนองพระเดชพระคุณ” ของพระมหากษัตริย์สืบต่อมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] เช่นในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 เล่ม 2. หน้า 14, 149 และ หจช. ร. 5 ศ. 2/5 หนังสือกราบบังคมทูล “ความเห็นเรื่องการศึกษา” หน้า 22, 30

[2] หจช. ร. 5 ศ. 2/5 หนังสือกราบบังคมทูล “ความเห็นเรื่องการศึกษา” หน้า 26

[3] หจช. สบ. 2.56/81 เอกสารส่วนพระองค์ กรมดำรงฯ พระนิพนธ์ 42-80 พ.ศ. 2482-2486 ล.4

[4] เรื่องเดียวกัน

[5] เรื่องเดียวกัน

[6] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, “ตำนานการเกณฑ์ทหาร” ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 23 อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงวิไลกัญญา ภาณุพันธุ์ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์ 2509 หน้า 2, 53

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 44

[8] อ้างในจักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย, หน้า 456

[9] กระทรวงมหาดไทย “คำสั่งเรื่องนายทองอินปลัดอำเภอ และนายร้อยตรีปลังตำรวจภูธรไม่ระวังเหตุการณ์ตามสมควรให้เวลาจับผู้ร้าย” เทศาภิบาล, 9, 12 (เมษายน-กันยายน 2457)

[10] หจช. ร. 5 ศ. 2/5 หนังสือกราบบังคมทูล “ความเห็นเรื่องการศึกษา”, หน้า 26

[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 26

[12] หจช. สบ. 2.5/299 เอกสารส่วนพระองค์กรมดำรงฯ สาส์น-พระญาติวงศ์ บุคคล พระเพชรคีรี 14 มกราคม 2461

[13] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว น.ที่ 198 ณ ที่พักเมืองนครสวรรค์ 22 ตุลาคม ร.ศ. 111 หน้า 13-14

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 14

[15] หจช. ร. 5 ศ. 2/5 หนังสือกราบบังคมทูล “ความเห็นเรื่องการศึกษา” หน้า 26

[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 30

[17]. หจช. สบ. 2.56/86 ส่วนพระองค์ กรมดำรงฯ พระนิพนธ์ 81-92 ร่างประกาศเรื่องความอัตคัดฝืดเคือง

[18] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “การจัดสุขาภิบาลในเมืองนครราชสีมา ร.ศ. 127”, ใน รวมเรื่องเมืองนครราชสีมา (พระนคร: ประจักษ์วิทยา, 2511) : 194

[19] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จดหมายเหตุระยะทาง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการหัวเมือง มณฑลกรุงเก่า มณฑลนครไชยศรี มณฑลราชบุรี ในรัตนโกสินทร์ศก 117 หน้า 25

[20] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “รายงานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา ร.ศ. 118” ใน รวมเรื่องเมืองนครราชสีมา, หน้า 173

[21] กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ “รายงานเกี่ยวกับการจัดราชการที่เมืองนครราชสีมา ร.ศ. 110” ใน รวมเรื่องเมืองนครราชสีมา, หน้า 135

[22] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, “คุณพุ่ม” ใน ประวัติบุคคลสำคัญ, หน้า 377

[23] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2505) : 155

[24] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรบพม่า, หน้า 367-375

[25] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ประชุมพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ด (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2508) หน้า 170-173

[26] หจช. สบ. 2.53/7 สาส์น-พระญาติวงศ์ 1-18 พ.ศ. 2438-2486 ม.จ.กาฬวรรณดิศ ดิศกุล (ชายดำ) พ.ศ. 2467-2525

[27] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (กรุงเทพฯ : จําลองศิลป์, 2494


เผยแพร่ในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2565