ไก่งวง ฝรั่งนิยมกินในวันขอบคุณพระเจ้า ที่อีสาน นิยม “ลาบ” สังสรรค์

ไก่งวง
(ภาพจาก PxHere สิทธิการใช้งาน CC0 1.0 / Public Domain)

“ไก่งวง” ฝรั่งนิยมกินใน “วันขอบคุณพระเจ้า” และ “วันคริสต์มาส” แต่ “อีสาน” นิยม “ลาบ” สังสรรค์

เรื่องราวของสัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่ พบหลายลักษณะด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกแตกต่างกันออกไป อย่างไก่แจ้ ไก่อู ไก่ชน ไก่ต๊อก ไก่งวง ไก่คอล่อน ไก่เก้าชั่ง ไก่เบตง

แต่ละลักษณะที่พบอยู่ มีพันธุ์แยกย่อย เช่น ไก่ชน มีพันธุ์เหลืองหางขาว ประดู่หางดำ เขียวพาลี และอื่นๆ

ส่วนไก่งวง เป็นไก่ตัวใหญ่ มีลักษณะแตกต่างจากไก่ทั่วไป

ไก่งวง ภาษาอังกฤษคือ Turkey จัดอยู่ในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Meleagridinae สกุล Meleagris มีปากสั้นเรียวบาง บริเวณหัวบางส่วนและลำคอไม่มีขนที่เห็นชัด แต่มีหนังย่นๆ และตุ่มคล้ายหูด…ขนหางมี 28-30 เส้น แพนหางชี้ตั้งขึ้น ขายาว ลักษณะนิ้วตีนเหมือนกับไก่ในวงศ์ Phasianidae ตัวผู้มีเดือย ขนตามลำตัวเป็นเงา

ไก่งวงดั้งเดิมเป็นไก่ป่า ที่พบ 2 ชนิด คือ Meleagris gallopavo พบบริเวณตอนเหนือและตอนกลางของทวีปอเมริกา และ Agriocharis ocellata พบบริเวณประเทศเม็กซิโกและอเมริกากลางตอนเหนือ ลักษณะของไก่งวงป่า ตัวผู้จะมีน้ำหนัก 22-27 กิโลกรัม บริเวณคอและหัวมีลาย คอมีเหนียง มีต่างหูสีสดใสห้อยลงมาตั้งแต่จะงอยปาก และห้อยลงมาทางด้านข้าง ต่างหูนี้สามารถหดหรือขยายตัวได้ ตัวผู้มีกระจุกขนสีดำแข็งบริเวณตรงหน้าอก ขนลำตัวสามารถพองออกได้เหมือนกับนกยูง ขนเป็นมันเงา บริเวณแข้งมีเดือย

มีการค้นพบซากกระดูกของไก่งวงป่าบริเวณมลรัฐเทนเนสซีของสหรัฐอเมริกา ซากมีอายุประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล

การเลี้ยง “ไก่งวง” ในไทย 

การเลี้ยงไก่งวงในประเทศไทยยังถือว่าไม่แพร่หลาย เนื่องจากคนไทยไม่นิยมรับประทานเนื้อไก่งวง สำหรับไก่งวงที่เลี้ยงในปัจจุบัน เป็นพันธุ์ที่พัฒนามาจากไก่งวงป่าชนิด Meleagris gallopavo พันธุ์ไก่งวงที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย ได้แก่ นอร์ฟอล์กแบล็ค แมมโมท, อเมริกันบรอนซ์, เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์, บริทิชไวท์ และไก่งวงพันธุ์ผสม

ไก่งวงอเมริกันบรอนซ์ จัดเป็นไก่งวงสายพันธุ์ใหญ่ มีขนสีบรอนซ์ปนน้ำตาลดำ ปลายขนสีขาวเล็กน้อย แข้งและนิ้วเท้าสีเทาอ่อนปนชมพูซีด ตามีสีน้ำตาล จะงอยปากมีสีเทาอ่อน มีความสามารถอาศัยหากินตามธรรมชาติได้ดี มีอาหารตามธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร แมลง สัตว์ในดิน และหญ้า ให้ผลผลิตไข่ประมาณ 70 ฟอง/ตัว/ปี เมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้มีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 9 กิโลกรัม โดยตัวผู้หนุ่มให้น้ำหนักประมาณ 9 กิโลกรัม ตัวเมียสาวประมาณ 7 กิโลกรัม

ไก่งวงเบลท์สวิลล์ สมอลไวท์ เป็นพันธุ์ไก่งวงขนาดเล็กถึงปานกลาง หนังและขนมีสีขาว แข้ง และนิ้วเท้ามีสีชมพูซีด ตามีสีน้ำตาล จะงอยปากมีสีเทาอ่อน หน้าอกมีขนาดใหญ่ ไก่งวงพันธุ์นี้มีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมาก และให้รสชาติที่อร่อย เป็นพันธุ์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติได้ดี ปริมาณไข่ 80 ฟอง/ตัว/ปี น้ำหนักที่เติบโตเต็มที่ของตัวผู้ประมาณ 7.3 กิโลกรัม ตัวเมีย 5 กิโลกรัม โดยตัวผู้วัยหนุ่มมีน้ำหนักประมาณ 6.7 กิโลกรัม ตัวเมียวัยสาวประมาณ 4 กิโลกรัม

มีการเลี้ยงการบริโภคไก่งวงในเมืองไทยมานานแล้ว แต่มีแพร่หลายบางภูมิภาคเท่านั้น ต่างจาก ฝรั่งที่กินไก่งวงกันเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะวันขอบคุณพระเจ้า

สำหรับ วันขอบคุณพระเจ้า หรือ Thanksgiving day เป็นเทศกาลสำคัญหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา และประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์

ชาวอเมริกันจะเฉลิมฉลอง วันขอบคุณพระเจ้า ในทุกวันพฤหัสบดีที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน วันสำคัญนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความขอบคุณต่อพระเจ้าเมื่อสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว ในวันขอบคุณพระเจ้าที่ขาดไม่ได้คือ “ไก่งวง” แม้ว่าไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัดว่าทำไมไก่งวงถึงเป็นอาหารจานหลักในวันสำคัญนี้

บางทฤษฎีให้เหตุผลว่า ไก่งวงเป็นสัตว์ที่นักเดินทางจากประเทศอังกฤษและชาวอินเดียนรับประทานในการเฉลิมฉลองการตั้งรกรากในอดีต บางทฤษฎีก็เชื่อว่า พระราชินีอลิซาเบธที่ 1 เสวยห่านอบในงานเฉลิมฉลองต่างๆ เมื่อนักเดินทางจากประเทศอังกฤษมาตั้งรกรากในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงนำเอาธรรมเนียมนี้ติดมาด้วย

แต่เนื่องจากห่านเป็นสัตว์ที่หายาก พวกเขาจึงใช้ไก่งวงแทนห่าน และบางทฤษฎีก็เชื่อว่า เป็นเพราะความพยายามของ เบนจามิน แฟรงคลิน ซึ่งเป็นอดีตผู้ร่วมก่อตั้งสหรัฐอเมริกา และผู้ประดิษฐ์สายล่อฟ้า ต้องการผลักดันให้ไก่งวงเป็นสัตว์ประจำชาติของสหรัฐอเมริกา แต่ในที่สุด คนส่วนมากก็ไม่เห็นด้วย และยกให้นกอินทรีกลายเป็นสัตว์ประจำชาติของสหรัฐอเมริกา

ในแต่ละปี มีไก่งวงถูกนำมาเป็นอาหารเลี้ยงฉลองในวันขอบคุณพระเจ้าจำนวน 45 ล้านตัว แต่หากนับรวมกับการบริโภคทั่วไป ปีหนึ่งมีไก่งวงถูกกินไปราว 300 ล้านตัว

ลาบไก่งวง

อร่อยแบบ “ลาบ” 

คุณดรุณี โสภา หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก กรมปศุสัตว์ ให้ข้อมูลว่า ไก่งวงในไทยเลี้ยงมานานก็จริง แต่ไม่แพร่หลายอย่างสัตว์ปีกชนิดอื่น แหล่งเลี้ยงที่สำคัญอยู่แถบจังหวัดสระบุรี รวมทั้งจังหวัดในภาคอีสาน ฝรั่งกินไก่งวงโดยการอบ ส่วนคนไทยโดยเฉพาะทางภาคอีสาน นิยมทำลาบ

คุณเชษฐา กัญญะพงศ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ถือว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงไก่งวงมากที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน เพราะนอกจากเลี้ยงแล้ว ยังมีร้านอาหารจากไก่งวงด้วย

“สาเหตุที่ภาคกลางนิยมเลี้ยงและบริโภคไก่งวงไม่มากนัก อาจจะเป็นเพราะว่าไก่งวงเมื่อโตเต็มที่มีขนาดใหญ่ ต่างจากไก่ทั่วไปที่มีขนาดเล็ก เหมาะต่อการบริโภคในครัวเรือน…ส่วนที่ภาคอีสานนิยมกันมาก เป็นเพราะไก่งวงเข้ากับวัฒนธรรมการกินในท้องถิ่น คือนิยมทำลาบ แล้วก็กินกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ งานบุญบ้าง งานสังสรรค์อื่นๆ…ผมมีร้านอาหารที่ปรุงจากไก่งวง หากช่วงเทศกาลต้องไปซื้อไก่จากเครือข่ายจังหวัดอื่น เนื่องจากความต้องการมีมาก”

คุณเชษฐากล่าว และบอกต่ออีกว่า “ที่นครพนม มีผู้นับถือศาสนาคริสต์อยู่บ้าง วันขอบคุณพระเจ้า เดือนพฤศจิกายน ก็มีคนมาสั่งให้อบสำหรับงานเลี้ยงเมื่อก่อนเทศกาลละ 20 ตัว ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 70 ตัว”

ไส้อั่วไก่งวง

คุณทองพูน สุรทัด อยู่บ้านเลขที่ 20 หมู่ 5 ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ บอกว่า ที่บึงกาฬได้ตั้งชมรมผู้เลี้ยงไก่งวงขึ้น เพื่อพัฒนาการเลี้ยง รวมทั้งสร้างตลาด ปัจจุบันมีสมาชิก 25 คน มีพ่อแม่พันธุ์ไก่งวง มีไก่งวงพร้อมบริโภคจำหน่าย

“เปรียบเทียบกับไก่บ้านแล้วไก่งวงโตเร็วกว่า ไก่บ้านเลี้ยง 6 เดือนได้น้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 100 บาท ไก่งวงใช้เวลาเลี้ยง 6-8 เดือน น้ำหนัก 6 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 150 บาท…ไก่งวงชอบกินหญ้า หากไม่กินหญ้าจะไม่โต” คุณทองพูนเล่า

คุณทองพูนบอกว่า ความต้องการพันธุ์ไก่งวงทุกวันนี้มีมากขึ้น นั่นแสดงว่าผู้บริโภคเพิ่มขึ้น นอกจากจังหวัดริมโขง อย่างนครพนม บึงกาฬ และเลย นิยมเลี้ยงแล้ว แถวหนองบัวลำภู มหาสารคาม ก็เลี้ยงไก่งวงกัน ส่วนใหญ่เลี้ยงในระบบไร่นาสวนผสม มีสัตว์ชนิดอื่นรวมอยู่ด้วย

“สมัยก่อนมีงาน อาจจะซื้อหมูมาเชือด ปัจจุบันนิยมใช้ไก่งวงมาทำอาหารกัน อย่างไก่งวง 2 ตัว น้ำหนักตัวละ 6 กิโลกรัม นำมาทำลาบ ต้ม เลี้ยงคนได้ 30 คน” คุณทองพูนยกตัวอย่าง

พืชและสัตว์ เมื่ออยู่แปลกที่แปลกทาง ก็ได้รับการดัดแปลงเสริมแต่ง ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2561