อาหารอีสานระดับตำนาน “ร้านไก่ย่างผ่องแสง” ข้างสนามมวยราชดำเนิน

ร้านไก่ย่าง ส้มตำ ที่น่าสนใจมากคือ ร้านไก่ย่าง ส้มตำข้างสนามมวยราชดำเนิน ชื่อร้านไก่ย่างผ่องแสง เจ้าของร้านชื่อด้วงทอง ซึ่งเคยเป็นมือตำส้มตำให้กับร้านเฟื่องฟูมาก่อน

อาหารอีสานระดับตำนานก็คงต้องยกให้ร้านส้มตำไก่ย่าง ข้างสนามมวยราชดำเนิน ในอดีตนั้นอาหารอีสานไม่สามารถหารับประทานได้ง่ายอย่างในปัจจุบัน หากชาวบางกอกต้องการลิ้มรสอาหารอีสานก็ต้องนัดหมายกันที่ร้านแถวข้างสนามมวยราชดำเนิน

Advertisement
ด้วงทอง เจ้าของร้านไก่ย่าง ส้มตำ (ภาพจาก นิตรสาร “สารประชาชน” ประจำวันที่ 18 เมษายน 2508)

สนามมวยราชดำเนินสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2488 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดิน ในคราวนั้นได้มีการอพยพย้ายถิ่นของชาวอีสานจำนวนมากเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยเข้ามาพักอาศัยอยู่ริมสนามมวยราชดำเนินทำนองเพิงชั่วคราวและได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมใหญ่ของอาหารอีสานซึ่งชาวบางกอกก็ร่วมลิ้มรสอาหารด้วยเช่นกัน และเริ่มเป็นที่กล่าวขวัญถึงของสังคมบางกอก

ผมขอสรุปบทความเรื่อง ส้มตำเจ๊ด้วง ของเพรียว ซึ่งพิมพ์อยู่ในนิตรสารสารประชาชน ประจำวันที่ 18 เมษายน 2508 ว่าคนอีสานคงจะอพยพย้ายถิ่นมาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ราว พ.ศ. 2490 คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ทำให้เกิดชุมชนชาวอีสานขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือบริเวณข้างสนามมวยราชดำเนิน ปลูกสร้างกันในลักษณะเพิงที่พักชั่วคราว ใครมีทุนมากหน่อยก็ปลูกเป็นเรือนไม้

บริเวณย่านร้านส้มตำ ไก่ย่าง อันลือชื่อข้างสนามมวยราชดำเนิน (ภาพจาก นิตรสาร “สารประชาชน” ประจำวันที่ 18 เมษายน 2508)

คุณด้วงทอง เจ้าของร้านส้มตำไก่ย่างผ่องแสงก็เข้ามาเป็นลูกมือตำส้มตำในราว พ.ศ. 2493 จนนายจ้างเจ้าของร้านชื่อเฟื่องฟูเพิ่มค่าจ้างจากเดือนละ 50 บาท จนเป็นหลายร้อยบาท พร้อมกับสวัสดิการครบ จนพอจะเก็บเพื่อทำเป็นทุนได้

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2501 ได้มีการสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้นขึ้นเพื่อทดแทนบ้านไม้ของเดิม คุณด้วงทองก็ได้เข้าซื้อด้วย 1 คูหา ในราคา 50,000 บาท พร้อมกับหนี้สินที่หยิบยืมผู้ที่เคารพนับถือมา ต่อมาไม่นานคุณด้วงทองก็สามารถใช้หนี้สินหมด ด้วยปริมาณการขายอยู่ที่การใช้มะละกอวันละ 100 ผล ไก่ย่างวันละ 120 ตัว หากวันไหนมีรายการมวยพิเศษยอดการจำหน่ายจะสูงเป็นเท่าตัว

สภาพหน้าร้านส้มตำ ไก่ย่าง (ภาพจาก นิตรสาร “สารประชาชน” ประจำวันที่ 18 เมษายน 2508)

เมื่อประมวลกับข้อมูลต่างๆ ที่มาของส้มตำแล้วพอจะสรุปได้ว่าส้มตำอย่างชาวอีสานรับประทานนี้มีมานานแล้ว และถูกเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า ตำส้ม โดยใช้ผักผลไม้ใดๆ ก็ได้ที่มีตามฤดูกาลแต่จะให้อร่อยก็ต้องใช้มะละกอดิบ ต่อมาเมื่อเกิดการอพยพย้ายถิ่นของชาวอีสานเพื่อมาทำกินในกรุงเทพฯ จึงนำวัฒนธรรมการบริโภคติดตามมาด้วย จนเกิดความนิยมอย่างรวดเร็วในสังคมชาวบางกอก

เกิดเป็นกระแสว่าหากจะหาอาหารอีสานรับประทานก็ต้องไปร้านส้มตำไก่ย่างข้างสนามมวยราชดำเนิน ซึ่งก็สอดคล้องกับความทรงจำในเยาว์วัยของ อาจารย์วรรณา นาวิกมูล ซึ่งเล่าไว้ว่าเมื่อราว พ.ศ. 2500 เศษ หากจะหาอาหารอีสานรับประทานละก็ คุณแม่ก็จะพาไปที่ร้านอาหารข้างสนามมวยราชดำเนิน

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ ส้มตำ : ความเป็นมาที่ถูกใจคนไทย เขียนโดย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2563