8 ตัวเต็ง “พระสันตะปาปาองค์ใหม่” คริสตจักรคาทอลิกจะมุ่งซ้ายหรือไปขวา ?

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประกอบเรื่อง ตัวเต็งพระสันตะปาปา
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (ภาพจาก เฟซบุ๊ก Vatican News, 12 ก.ย. 2024)

เปิด 8 ตัวเต็งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ถัดจาก “โป๊ปฟรานซิส” กับแนวคิดของแต่ละท่านซึ่งจะกำหนดทิศทางของคริสตจักรคาทอลิกนับต่อจากนี้ ว่าจะมุ่งซ้าย หรือไปขวา ?

หลังจาก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2025 (พ.ศ. 2568) สำนักข่าว Independent ก็ออกมาเผยถึงลิสต์รายชื่อของ “พระคาร์ดินัล” ที่มีโอกาสเป็นโป๊ปองค์ใหม่

ทั้งนี้ พระคาร์ดินัลเป็นสมณศักดิ์สูงสุดในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก เป็นรองแต่เพียงสมเด็จพระสันตะปาปาเท่านั้น

กระบวนการเลือกพระสันตะปาปาจะดำเนินการโดยเหล่าพระคาร์ดินัล ที่อายุต่ำกว่า 80 ปี จำนวน 138 รูป (รวมพระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ของไทย) จากทั้งหมด 252 รูป และใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน

สำหรับแคนดิเดตลำดับต้น ๆ ที่มีแนวโน้มจะเป็นมุขนายกสูงสุดแห่งคริสตจักรคาทอลิกพระองค์ใหม่นั้น ขอยกมานำเสนอ 8 ท่านด้วยกัน ประกอบด้วยพระคาร์ดินัลจากยุโรป 3 ท่าน แอฟริกา 3 ท่าน เอเชีย 1 ท่าน และอเมริกาอีก 1 ท่าน ดังนี้

1. พระคาร์ดินัลเปียโตร พาโรลิน (Cardinal Pietro Parolin) แห่งวาติกัน

พระคาร์ดินัลเปียโตร พาโรลิน
พระคาร์ดินัลเปียโตร พาโรลิน (ภาพโดย U.S. Department of State ใน Flickr.com)

พระคาร์ดินัลพาโรลินในวัย 70 ปี มาจากแคว้นเวเนโต ทางเหนือของอิตาลี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการด้านการต่างประเทศของวาติกันมาตั้งแต่ปี 2013 (พ.ศ. 2556) และนับว่ามีคุณวุฒิสูงสุดในบรรดาผู้ลงคะแนนเสียงครั้งนี้ ทั้งได้รับการยกย่องว่ามีแนวคิดสายกลาง มุ่งเน้นสันติภาพ

ท่านให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ L’Eco di Bergamo ของอิตาลีว่า “ทุกคนสามารถสนับสนุนสันติภาพได้ แต่ไม่ควรหาทางแก้ไขโดยใช้หนทางเดียวที่เสี่ยงต่อการเหยียบย่ำสิทธิของประชาชนทั้งประเทศ มิฉะนั้น สันติภาพที่ยุติธรรมและยืนยาวจะไม่มีวันเกิดขึ้น”

2. พระคาร์ดินัลปีเตอร์ เออร์โด (Cardinal Peter Erdo) แห่งฮังการี

พระคาร์ดินัลปีเตอร์ เออร์โด
พระคาร์ดินัลปีเตอร์ เออร์โด (ภาพโดย Paul Haring ใน National Catholic Reporter)

พระคาร์ดินัลเออร์โดในวัย 72 ปี เป็นอดีตประธานสภาบิชอปแห่งยุโรป ผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยม เคร่งครัดต่อแนวคิดแมเรียน (Marian) คือการอุทิศตนให้พระแม่มารี มารดาของพระเยซู ทั้งต่อต้านการหย่าร้างและการแต่งงานใหม่ และเปรียบเทียบนโยบายการรับผู้ลี้ภัยว่าไม่ต่างจากการค้ามนุษย์ด้วย

ท่านเป็นผู้นำของบรรดาพระคาร์ดินัลกลุ่มจารีตในคริสตจักรคาทอลิก และเชื่อว่าเป็นผู้ท้าชิงหลักของพระคาร์ดินัลพาโรลินในการลงคะแนนเสียงครั้งนี้

3. พระคาร์ดินัลหลุยส์ อันโตนิโอ ทาเกิล (Cardinal Luis Antonio Tagle) แห่งฟิลิปปินส์

พระคาร์ดินัลหลุยส์ อันโตนิโอ ทาเกิล
พระคาร์ดินัลหลุยส์ อันโตนิโอ ทาเกิล (ภาพจาก www.vaticannews.va)

พระคาร์ดินัลทาเกิลในวัย 67 ปี เป็นพระคาร์ดินัลชาวฟิลิปปินส์คนที่ 7 และหากถูกโหวตเป็นพระสันตะปาปาจริง ๆ ท่านจะเป็นพระสันตะปาปาชาวเอเชียคนแรก

พระคาร์ดินัลทาเกิลมีแนวคิดแบบเสรีนิยมเหมือนพระสันตะปาปาฟรานซิส และเป็นตัวเต็งที่หัวก้าวหน้าที่สุด เคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดอนุรักษนิยมอย่างเปิดเผย เพราะเมื่อปี 2015 (พ.ศ. 2558) ยังเคยกล่าวว่า “คำพูดแย่ ๆ ในอดีตต่อเกย์ (กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ) หญิงท้องก่อนแต่ง คนที่หย่าร้าง หรือแยกทางกันนั้นรุนแรงจนเกินไป ผู้คนมากมายในกลุ่มเหล่านี้ถูกตราหน้าและกีดกันออกจากสังคม (อย่างไม่เหมาะสม)

4. พระคาร์ดินัลมัตเตโอ ซุปปี (Cardinal Matteo Zuppi) แห่งอิตาลี

พระคาร์ดินัลมัตเตโอ ซุปปี
พระคาร์ดินัลมัตเตโอ ซุปปี (ภาพจาก Arcidiocesi di Bologna)

พระคาร์ดินัลซุปปีในวัย 69 ปี ถือเป็นคนโปรดของพระสันตะปาปาฟรานซิส ท่านดำรงแหน่งประธานสภาบิชอปแห่งอิตาลีมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2022 ก่อนหน้านั้นยังได้รับมอบหมายให้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ รวมถึงภารกิจเพื่อสันติภาพที่ยูเครน

พระคาร์ดินัลซุปปีเป็นอีกท่านที่มีแนวคิดค่อนข้างเปิดกว้างต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ดังมีงานเขียนของท่านอยู่ในหนังสือ Building a Bridge (Un ponte da Costruire) ของเจมส์ มาร์ติน ตีพิมพ์เมื่อปี 2018 ว่า การใช้แนวทางดูแลจิตวิญญาณแบบใหม่ต่อ “พี่น้อง LGBT ของเรา” จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ และความเข้าใจซึ่งกันและกัน

5. พระคาร์ดินัล เรย์มอนด์ ลีโอ เบิร์ค (Cardinal Raymond Leo Burke) แห่งสหรัฐอเมริกา

พระคาร์ดินัล เรย์มอนด์ ลีโอ เบิร์ค
พระคาร์ดินัล เรย์มอนด์ ลีโอ เบิร์ค (ภาพจาก Catholic Herald)

พระคาร์ดินัลเบิร์ค มีพื้นเพอยู่ที่รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา และค่อนข้างหัวอนุรักษนิยม ท่านแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยกับพระสันตะปาปาฟรานซิสเรื่องการเปิดกว้างให้คู่สมรสที่หย่าร้างจัดพิธีวิวาห์ใหม่และรับศีลมหาสนิทได้ ทั้งนิยามคำที่คริสตจักรบัญญัติขึ้นใหม่สำหรับเรียกการคุมกำเนิดเทียม การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า “เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ”

ก่อนหน้านี้ พระคาร์ดินัลเบิร์คยังเคยกล่าวว่า นักการเมืองคาทอลิกที่สนับสนุนการทำแท้งถูกกฎหมาย เช่น โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ควรได้รับศีลมหาสนิท

6. พระคาร์ดินัล ปีเตอร์ เติร์กสัน (Cardinal Peter Turkson) แห่งกานา

พระคาร์ดินัล ปีเตอร์ เติร์กสัน
พระคาร์ดินัล ปีเตอร์ เติร์กสัน (ภาพจาก เฟซบุ๊ก Cardinal Peter Turkson)

พระคาร์ดินัลเติร์กสันในวัย 76 ปี กลายเป็นรายชื่อลำดับต้น ๆ ของตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และเคยได้รับคะแนนเสียงเช่นกันในการประชุมลับครั้งก่อน (ปี 2013) 

หากได้รับการเลือกในครั้งนี้ ท่านจะกลายเป็นพระสันตะปาปาแอฟริกันองค์แรกในรอบพันกว่าปี นับจากพระสันตะปาปาเจลาซิอุสที่ 1 (Pope Gelasius I) เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 5

พระคาร์นินัลเติร์กสันเป็นอีกท่านที่มีแนวคิดการเมืองแบบฝ่ายซ้าย ผลักดันประเด็นความยุติธรรมทางสังคม วิจารณ์ทุนนิยม และทำงานเพื่อสันติภาพ แต่ทางศาสนายังคงแนวคิดอนุรักษนิยมฝ่ายขวา ต่อต้านการใช้ถุงยางอนามัยและปกป้องมุมมองต่อต้านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเปิดเผย

7. พระคาร์ดินัลโรเบิร์ต ซาราห์ (Cardinal Robert Sarah) แห่งกินี

พระคาร์ดินัลโรเบิร์ต ซาราห์
พระคาร์ดินัลโรเบิร์ต ซาราห์ (ภาพโดย Bob Roller ใน Catholic Herald)

พระคาร์ดินัลซาราห์ในวัย 79 ปี สนิทสนมกับสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 (พระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้าพระสันตะปาปาฟรานซิส) และดำรงตำแหน่งประธานสภาสันตะปาปา เป็นผู้นำในวาติกันมาตั้งแต่ปี 2001 มีประสบการณ์มากมายในกิจการของคริสตจักร และเคยได้รับการคาดการณ์ว่าจะได้เป็นพระสันตะปาปาเมื่อปี 2013 ก่อนตำแหน่งกลายเป็นของพระสันตะปาปาฟรานซิส

ท่านเป็นผู้ยึดมั่นในจารีต เคยเสนอว่าการปฏิรูปของสภาวาติกันทั้งที่ 2 เพื่อปรับปรุงคริสตจักรให้ทันสมัยในช่วงทศวรรษ 1960 ไม่มีความจำเป็น ทั้งต่อต้านกลุ่ม LGBTQ+ อย่างสุดโต่ง และคัดค้านการยอมรับการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ในประเทศทั่วแอฟริกา

จุดแข็งพระคาร์นินัลซาราห์คือท่านเข้าใจและเคารพศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง เพราะมาจากประเทศที่ศาสนิก 2 ศาสนามีจำนวนพอ ๆ กัน และต่อต้านความรุนแรงต่อศาสนาอิสลามด้วย ดังที่เคยกล่าวว่า “ศาสนาอิสลามในประเทศของข้าพเจ้าเป็นศาสนาแห่งพี่น้องและสันติ”

8. พระคาร์ดินัลฟริโดลิน อัมบงโก เบซุนกู (Cardinal Fridolin Ambongo Besungu) แห่งคองโก

พระคาร์ดินัลฟริโดลิน อัมบงโก เบซุนกู
(ซ้าย) พระคาร์ดินัลฟริโดลิน อัมบงโก เบซุนกู (ขวา) พระสันตะปาปาฟรานซิส (ภาพจาก Vatican News)

พระคาร์ดินัลเบซุนกูในวัย 65 ปี เป็นทั้งอาร์ชบิชอปแห่งคินชาซาและมุขนายกแห่งคริสตจักรแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทั้งเป็นตัวเต็งพระคาร์ดินัลที่มีอายุน้อยที่สุด แต่มีบทบาทสูงมากในการเผยแผ่ศาสนาในแอฟริกา และถูกยกย่องจากการยืดหยัดต่อต้านรัฐบาลคองโกที่สอบสวนท่านในข้อหากระทำการปลุกระดม

อย่างไรก็ตาม ท่านมีแนวคิดเหมือนพระคาร์ดินัลแอฟริกันคนอื่น ๆ ที่ค่อนข้างหัวโบราณ และเป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่าท่านปฏิเสธการให้อวยพรแก่คู่รักเพศเดียวกัน

ทั้งหมดคือพระคาร์ดินัลที่คาดการณ์ว่า “น่าจะ” เป็นพระสันตะปาปา ถึงอย่างนั้นยังมีอีกหลายชื่อนอกเหนือจากนี้ที่อาจเป็น “ม้ามืด” เข้ามาเป็นตัวเต็งหลังจากนี้ได้เช่นกัน

อีกไม่นานเกินรอเราจะได้ทราบกันว่า “โป๊ป” องค์ใหม่เป็นใคร ? จะพาคริสตจักรก้าวสู่แนวคิดแบบหัวก้าวหน้า หรือรักษาจารีตอย่างเคร่งครัด…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2568