ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2527 |
---|---|
ผู้เขียน | บุญยก ตามไท |
เผยแพร่ |
11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929 วาติกัน กลายเป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ตามสนธิสัญญาแลเทอเรน ครั้งหนึ่ง ดันเต้ จินตกวีและจิตรกรชาวอิตาเลียน ซึ่งเกิดเมื่อ ค.ศ. 1265 และตายเมื่อ ค.ศ. 1321 ได้พรรณนาว่ากรุงโรมคือสถานที่ประทับของผู้แทนพระเยซูคริสต์ไว้ดังต่อไปนี้
“…เบื้องสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตของผู้สืบสันตติแห่งมหานักบุญปีเตอร์”
ประโยคข้างต้นสามารถนํามาใช้เปรียบ เทียบพรรณนารัฐวาติกันได้อย่างเหมาะสม รัฐวาติกันคือจุดรวมความสนใจของนานาชาติทั่วโลก และจะเห็นได้ชัดว่า มวลมหาชนต่างหลามไหลเดินทางไปชมบุญบารมีพระสันตะปาปาอย่างมิรู้จักจบสิ้นอยู่ทุกวันวาร เพื่อฟังโอวาทจากพระองค์ และเพื่อเปล่งเสียงชัยถวายพระพรแด่พระองค์ – ผู้อภิบาล ชาวคริสต์ทั้งปวงทั่วทุกมุมโลก ซึ่งประทับอยู่ที่นี่ – พระราชวังวาติกัน
ในวันพิธีฉลองการเสด็จคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ต่อจากวันเพ็ญภายหลังวันที่ 21 มีนาคม ทุกปีที่เรียกกันว่า วันอิสเตอร์ ซันเดย์ หรือวันอิสเตอร์นั้น ณ บริเวณลานจตุรัสเบื้องหน้ามหาวิหารเซนต์ ปีเตอร์ ประชาชนนับแสนคนต่างพร้อมใจกันเดินทางมาชุมนุมถวายพระพรแด่พระสันตะปาปาเสียงดังกระหึ่มปานจะให้ได้ยินถึงสรวงสวรรค์
“Viva il Papa!”
ด้วยหัวใจและความจงรักภักดีของชนชาวคริสต์ทุกชาติทุกภาษาต่างประสงค์ให้พระสันตะปาปามีพระชนมายุยืนนาน
ย้อนอดีต กาลกลับไปสู่สมัยอัครสาวกพระเยซูคริสต์ชื่อ ปีเตอร์ (หรือ “เปโดร”) ซึ่งถูกจักพรรดิ์นีโรแห่งกรุงโรมจับขังคุกทรมานเป็นเวลา 9 เดือนและถูกตรึงกางเขนเมื่อปีคริสตศักราช 67
เนินเขาวาติกันอันแห้งแล้ง และปราศจากความงดงามคือสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของคริสตจักร เนื่องจากเป็นที่ประทับของนักบุญปีเตอร์ พระสันตะปาปาองค์แรก
ศพของนักบุญปีเตอร์ถูกฝังอยู่ใกล้กับสถานที่ที่ท่านถูกทรมานจนสิ้นชีวิตและต่อมาได้มีการก่อสร้างวิหารขนาดใหญ่โตและสวยงามไว้บนพื้นที่บริเวณดังกล่าว นั่นคือมหาวิหารเซนต์ ปีเตอร์ ซึ่งแม้จนกระทั่งทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางมากรุงโรมจะต้องแวะเยี่ยมชมโบสถ์แห่งนี้ เพื่อสักการะบูชาและดื่มด่ำในประวัติการณ์อันยาวนานย้อนหลังไปถึงสมัยคริสตกาล อีกทั้งชื่นชมในศิลปะและสถาปัตยกรรมอันงดงามอลังการ
ตำแหน่งพระสันตะปาปามีผู้สืบทอดมาตลอดทุกสมัยในฐานะที่เป็นประมุขแห่งคริสตจักรที่ต้องปกครองดูแลชาวคริสต์ทั่วโลก จวบจนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929 วาติกัน ก็กลายเป็นรัฐอิสระแยกออกมาปกครองตนเอง ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแลเทอเรน ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาไพอัสที่ 11 ได้ลงนามไว้กับรัฐบาลอิตาลี
สนธิสัญญาแลเทอเรน เป็นสนธิสัญญาที่กระทำเพื่อยุติข้อขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นระหว่างพระสันตะปาปากับรัฐบาลอิตาลี หรือประมุขแห่งศาสนจักร กับประมุขแห่งอาณาจักรที่มีมาตั้งแต่ค.ศ. 1870 โดยระบุให้มีการตั้งรัฐปกครองศาสนจักรบนแผ่นดินอิตาลีอย่างเป็นอิสระภายใต้อำนาจของพระสันตะปาปา
ในขณะที่พระสันตะปาปายอมรับว่า วาติกัน เป็นส่วนหนึ่งของอิตาลี รัฐบาลอิตาลีก็เช่นกัน ยอมรับว่าวาติกัน เป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเอง
รัฐวาติกันคือประเทศเอกราชต่างหากจากอิตาลี ตั้งอยู่บนเนินเขาที่มีชื่อเดียวกับบนฝั่งขวาของแม่น้ำไทเบอร์ ใจกลางกรุงโรม มีอาณาเขตเพียง 0.44 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่าสาธารณรัฐซาน มาริโน ถึง 140 เท่า และมีประชากรเพียงไม่กี่ร้อยคน
ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐที่เล็กที่สุดในโลกแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นรัฐที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นสถานที่เคารพนับถือและเป็นศูนย์กลางการปกครองดูแลชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่มีอยู่จำนวนหลายล้านคนทั่วโลก
ในฐานะที่เป็นรัฐอิสระ พระสันตะปาปาจะแต่งตั้งผู้ว่าการรัฐ ทำหน้าที่ดูแลบริหารงานราชการ ทั้งนี้ รัฐวาติกันมีกลไกและองค์กรดำเนินงานในด้านต่างๆ อาทิ การเมือง เศรษฐกิจและสังคมเป็นของตนเอง นอกเหนือไปจากการศาสนาที่แผ่คลุมไปทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็น
– ธงประจำรัฐ
– ศาล
– สถานเอกอัครสมณทูตประจำต่างประเทศ
– สถานีวิทยุกระจายเสียง
– หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส เยอรมัน และอิตาลี
– การไปรษณีย์โทรเลข
– สถานีรถไฟที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟของอิตาลี
– เหรียญเงินตราที่ผลิตออกมาใช้จ่าย
– วิทยาลัยสงฆ์
– สถาบันการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี
รัฐวาติกันประกอบด้วยพระราชวัง อันเป็นที่ประทับของพระสันตะปาปา, มหาวิหารเซนต์ ปีเตอร์ อันเป็นศูนย์รวมแห่งศิลปะที่มนุษย์อุทิศแด่พระบุตรของพระเจ้า, พิพิธภัณฑ์อันเต็มไปด้วยโบราณวัตถุมีคุณค่า และหอสมุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกบรรจุเอกสารโบราณมากมายมหาศาล
อาคารต่าง ๆ ในรัฐวาติกันล้วนแต่สมบูรณ์แบบและเลิศด้วยความงามด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ซึ่งก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์สืบมาหลายยุคสมัย อาคารบางส่วนมีอายุเก่าแก่ถึงคริสตศตวรรษที่ 4
มหาวิหารเซนต์ ปีเตอร์ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ ถูกก่อสร้างทดแทนขึ้นใหม่โดยบัญชาของสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ซึ่งได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1506 และใช้เวลาในการก่อสร้างกว่าจะแล้วเสร็จถึง 120 ปี ในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1626
บรามังเต้, ราฟาเอล และไมเคิลแอนเจโล คือสามยอดศิลปินเอกของโลกชาวอิตาเลียนที่ได้ร่วมแรงศรัทธาทุ่มเทความเป็นอัจฉริยะในศิลปะและสถาปัตยกรรม เนรมิตอาคารทรงโดมของมหาวิหารแห่งนี้ขึ้นมาด้วยมิติอันยิ่งใหญ่และเป็นสุดยอดของฝีมือเท่าที่มนุษย์จะกระทําได้
มหาวิหารแห่งนี้สูง 132.50 เมตร ยาว 211.50 เมตร อยู่บนเสาหินอ่อนจำนวน 800 ต้น ภายในมหาวิหารมีห้องทั้งหมด 1,400 ห้อง ประดับประดาด้วยจิตรกรรมและปฏิมากรรมฝีมือของไมเคิลแอนเจโล
ประชาชนต่างหลั่งไหลมาคำนับศพของนักบุญปีเตอร์ และศพพระสันตะปาปาอีกกว่า 30 องค์ เป็นเบื้องแรกเมื่อเดินทางมาถึงพระราชวังวาติกันอยู่เสมอทุกวัน
หากมองขึ้นไปเบื้องบนหลังคาทรงโดมภายในมหาวิหารจะเห็นภาพจิตรกรรมตระการตา และจารึกภาษาลาตินบนแผ่นพื้นทองเป็นพระวัจนะที่พระเยซูคริสต์ตรัสแก่นักบุญปีเตอร์ว่า
“ท่านคือปีเตอร์, บนศิลานี้เราตั้งคริสตจักรของเราไว้, และเราจะมอบกุญแจแผ่นดินสวรรค์ ให้ไว้แก่ท่าน”
ลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนรัฐอื่นใดในโลกคือรัฐวาติกัน มีทหารชาวสวิส ซึ่งสวมเครื่องแบบแต่งกายสวยงามอย่างโบราณซึ่งออกแบบโดยไมเคิลแอนเจโล ทำหน้าที่เป็นทหารยามรักษาการณ์ และทหารองครักษ์ รักษาความปลอดภัยให้พระสันตะปาปา-ผู้ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้อภิบาลและประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิกแล้ว ยังมีบทบาทในการแก้ปัญหาทางการเมือง โดยพระองค์ได้เพียรพยายามยุติสงครามและแสวงหาสันติภาพให้เกิดขึ้นในมวลหมู่มนุษยชาติ โดยสนับสนุนนโยบายการลดกำลังอาวุธของประเทศอภิมหาอำนาจเพื่อหันมาร่วมกันสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงปลอดภัยในทุกเขตภูมิภาคของโลก
นอกจากบทบาทในการพัฒนาโลกสู่สันติแล้ว พระสันตะปาปาแห่งรัฐวาติกัน ยังมีบทบาทในการแก้ปัญหาสังคม วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์สำหรับโลกสมัยใหม่ โดยได้แต่งตั้งผู้แทนประจำในองค์การต่างๆ ของสหประชาชาติ อาทิ UNESCO, FAO, UNIDO, WHO, ILO และอื่น ๆ อีกทั้งในองค์การระหว่างประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาครัฐบาล อาทิ สำนักงานคณะกรรมการประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ ดึกดำบรรพวิทยา และอื่นๆ อีกมาก
นี่แหละคือ วาติกัน ที่สถิตบัลลังก์ของพระสันตะปาปา-ผู้ดูแลปกครองคริสตจักรต่อมาจากอัครสาวก-นักบุญปีเตอร์
อ่านเพิ่มเติม :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2562