ฝรั่งอึ้ง! บรรยากาศสาดน้ำสงกรานต์ในพม่า 200 กว่าปีก่อน จากบันทึกชาวอังกฤษ

สงกรานต์พม่า

การเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์เป็นที่แพร่หลายในหลายประเทศ ไม่เพียงแต่ในไทยเท่านั้น เพื่อนบ้านอย่างพม่า (เมียนมา) ก็สาดน้ำกันมานานร่วมร้อย ๆ ปีแล้ว หลักฐานอยู่ในบันทึกชาวต่างชาติที่มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ดังกล่าวด้วยตนเอง ทำให้รู้ว่าบรรยากาศสงกรานต์พม่า หรือ ดะจาน (Thingyan) คล้ายคลึงกับบ้านเราไม่น้อย

สงกรานต์พม่า พุกาม
ภาพวาดเทศกาลตะจาน (สงกรานต์พม่า) ในยุคอาณาจักรพุกาม (ภาพจาก Wikimedia Commons)

บรรยากาศสงกรานต์พม่า

เรื่องนี้ ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) เล่าไว้ในหนังสือ เรื่องเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์ฯ รวบรวมเอาบันทึกชาวอังกฤษที่บรรยายถึงบรรยากาศการเล่นน้ำสงกรานต์ในพม่าเมื่อ 150 ปีก่อน ณ เวลาที่ท่านเขียนหนังสือ หรือนับมาถึงปัจจุบันก็ 200 ปีล่วงมาแล้ว

บันทึกฉบับแรกเป็นของ หม่องส่วยโย หรือ เซอร์ยอร์ช สก๊อต เล่าไว้ในหนังสือเรื่อง ชาวพม่า ว่า ในยุคที่อังกฤษเข้ามามีบทบาทในแผ่นดินพม่า ก็มีการสาดน้ำกันในช่วงสงกรานต์แล้ว ชาวต่างประเทศไม่ขัดข้องอะไรกับธรรมเนียมดังกล่าว เว้นแต่ชาวอินเดียที่ถือเป็นผู้ดีชั้นสูงที่ดูจะไม่สนุกด้วย ตรงกันข้ามกับชาวจีนในพม่าที่ดูสนุกสนานกับประเพณีนี้ ทั้งสร้างรายได้จากการบริการน้ำให้คนเอาไปสาดกัน ดังว่า

“เมื่อก่อนพวกเด็กพอเห็นผู้หญิงแต่งตัวสวย ๆ เดินมาแต่ไกล เห็นได้ง่ายเพราะห่มสีก็เตรียมหาน้ำเป็นละหวั่น หาน้ำไม่ทันก็ได้พึ่งน้ำที่ชาวจีนเอื้อเฟื้อตักไว้ให้ ลางที่ชาวจีนก็สนุกเข้าผสมโรงเล่นสาดน้ำกับเขาด้วย…ส่วนชาวจีนที่เล่นสาดน้ำสงกรานต์ในเมืองพม่าตามที่หม่องส่วยโยกล่าวไว้ไม่ใช่เช่นนั้น คือไปลากเอาสูบน้ำที่ขายอยู่ในร้านออกมาสูบน้ำทีเดียว จ้างคนจีนประจำสำหรับสูบน้ำกันวันยังค่ำ”

บางครั้งเถ้าแก่ชาวจีนก็มาเล่นสาดน้ำด้วย เพื่อประชาสัมพันธ์ที่สูบน้ำของตนไปในตัว

บันทึกดังกล่าวยังเล่าถึงข้าราชการอังกฤษคนหนึ่งที่เมืองแปร วันนั้นเป็นวันสงกรานต์ เขากับเพื่อนฝรั่งอีก 2 คนกำลังกินข้าวในเรือน มีเพื่อนบ้านฝรั่งเขียนจดหมายบอกให้รู้ล่วงหน้าว่า หญิงสาวชาวพม่ากำลังจะมาแสดงความนับถือด้วยการสาดน้ำ อีกเดี๋ยวคงมาถึงบ้าน ข้าราชการคนนั้นจึงเตรียมถังใส่น้ำไว้ระเบียงเรือนแล้วนั่งกินข้าวต่อ

แต่เขาดันลืมสั่งคนรับใช้ให้เป็นยามคอยระวังแขก รู้ตัวอีกทีสาว ๆ ก็มาถึงตัวพร้อมกระหน่ำสาดน้ำอย่างไม่รีรอ เสื้อผ้าเปียกปอนไปหมด เกิดเป็นเรื่องราวอลหม่านต่อจากนั้น กล่าวคือ “ฝรั่งลุกขึ้นทันที ตรงไปที่ถังใส่น้ำ แต่ที่ไหนได้ ถูกพวกแม่สาว ๆ ยึดเอาเป็นที่มั่นเสียแล้ว แทนที่จะเตรียมเอาไว้สาดสาว แต่สาวกลับเอาขันเงินตักสาดฝรั่ง ตักสาดเอาสาดเอาไม่รอรั้ง ฝรั่งทั้งสามไปยังไม่ทันถึงถังน้ำก็เปียกหมด

แต่ฝรั่งคนหนึ่งไม่ยอมแพ้ ฝ่าเข้าไปตามสายน้ำที่ถูกสาดมา ตรงเข้าจับผู้หญิงคนหนึ่งกดลงไปในถังน้ำ ไม่ใช่ครั้งเดียว กดน้ำเสียหลายครั้งเปียกไปหมด ผู้หญิงคนอื่นเห็นฝรั่งเล่นแผลง ๆ เช่นนั้นก็ตกตะลึงและตกใจกลัว พากันวิ่งหนีโครม ๆ ออกจากบ้านไป มีแม่สาวผู้เคราะห์ร้ายเอามือกุมเสื้อผ้าที่เปียกวิ่งหนีตามติด ๆ กันไป”

ปรากฏว่าเรื่องราวนี้ทำให้ชาวพม่าโกรธไม่น้อย เพราะหญิงสาวเหล่านั้นล้วนเป็นลูกผู้ดี แค่ใครจับมือถือแขนก็ไม่เหมาะสมด้วยธรรมเนียมประเพณีแล้ว นี่ถึงกับถูกจับกดน้ำ แต่ด้วยเป็นข้าราชการเจ้าอาณานิคมจึงไม่ถูกเอาเรื่องเอาราว ถึงอย่างนั้น วันสงกรานต์ปีถัด ๆ มาก็ไม่มีหญิงสาวชาวพม่ามาสาดน้ำเคารพปีใหม่ข้าราชการอังกฤษคนนั้นอีก

เล่นน้ำ สงกรานต์ ปีใหม่พม่า มัณฑะเลย์
การเล่นน้ำเทศกาลปีใหม่ของพม่าในเมืองมัณฑะเลย์ (ภาพโดย Illustrated London News Ltd/Mar, Fineartamerica.com)

เรื่องราวต่อมาเป็นเรื่องเล่าของ พันโท ไซเมส ทูตอังกฤษประจำกรุงอังวะเมื่อ พ.ศ. 2338 เล่าเรื่องเล่นน้ำสงกรานต์ของพม่าไว้ว่า

“เมื่อวันที่ 12 เมษายน ได้รับเชิญไปร่วมสนุกกับเจ้าเมืองพม่าในวันสิ้นปีเก่าเพื่อชำระล้างมลทินปีเก่าให้หมดไป และเริ่มปีใหม่ด้วยความบริสุทธิ์ผ่องใส ในวันนั้นพวกผู้หญิงถ้าพบผู้ชายก็เอาน้ำสาดและผู้ชายก็สาดน้ำตอบแทนได้ เป็นการสนุกที่ไม่มีเสียหายอะไร และไม่มีเล่นสาดน้ำที่หยาบโลน น้ำที่สาดก็ไม่ใช่น้ำสกปรก ผู้ชายจะจับต้องผู้หญิงไม่ได้ แต่จะสาดรดให้มากเท่าไรไม่ห้าม ถ้าผู้หญิงมาสาดรดก่อน เมื่อเขาขอตัวก็เป็นที่เข้าใจว่าหญิงนั้นมีครรภ์ ผู้ชายก็ยอมให้ผ่านไปไม่สาดน้ำให้”

เย็นวันนั้น พันโท ไซเมส กับคณะไปถึงบ้านเจ้าเมืองอังวะซึ่งเตรียมน้ำใส่ตุ่มไว้และมีขันสำหรับตัก พันโทกับคณะมีน้ำดอกไม้เทศไปด้วยคนละขวดเพื่อเทบนฝ่ามือเจ้าเมืองแต่พอควร เจ้าเมืองก็เอาประพรมตามเสื้อผ้าของตนต่อ

“มีเด็กหญิงเด็ก ๆ ที่เป็นบุตรสาวเจ้าเมืองเทน้ำดอกไม้เทศปนกับผงไม้จันทน์ลงบนฝ่ามือของเจ้าเมือง แล้วก็หยดเทลงบนมือฝรั่งทุกคน เสร็จแล้วก็เล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน เปียกโชกไปหมดจนเหนื่อยจึงเลิกกัน”

อีกเรื่องน่าขันของสงกรานต์ในพม่าซึ่งพระยาอนุมานราชธนเล่าทิ้งท้ายไว้ เกิดขึ้นที่เมืองเชียงตุง คราวเจ้าฟ้าเชียงตุงเสด็จออกพบปะขุนนางในวันสงกรานต์ และชาวอังกฤษมีโอกาสได้เข้าเฝ้าในวันนั้นด้วย เป็นที่มาของบันทึกถึงความไม่ประสีประสาของชาวต่างชาติต่อธรรมเนียมในพม่า ดังนี้

“เจ้าฟ้าเชียงตุงประทับนั่งขัดสมาธินิ่งคล้ายพระพุทธรูปอยู่บนอาสน์ ทรงเครื่องต้นเป็นอย่างพม่า คือมีทรงชฎาเป็นต้น พวกเข้าเฝ้าเข้าไปบังคมกันโดยลำดับ เสร็จแล้วเจ้าฟ้าก็อวยพรปีใหม่เป็นภาษาบาลี ขณะนั้นประตูด้านหลังที่นั่งก็ย้อมเปิดออก เจ้าฟ้าก็เสด็จหายลับเข้าไปในประตูนั้นทันที

ทันใดนั้น พวกข้าราชการซึ่งเฝ้าอยู่อย่างสงบเสงี่ยม ต่างลุกขึ้นอย่างขมีขมัน แย่งดันกันหนีออกจากที่เฝ้าอย่างสับสนอลหม่าน เหตุที่ข้าเฝ้ามีกิริยาอาการลุกลนจะหนีไป เป็นเพราะขณะนั้นเอง มีพวกราษฎรพากันยกพวกแห่กันมาเพื่อสาดน้ำสงกรานต์พวกข้าเฝ้า ที่ต้องหนีกันโครมครามไม่มีรั้งรอ ก็เพราะล้วนแต่งตัวดี ๆ เป็นเครื่องเต็มยศทั้งนั้นอยู่ได้หรือ ขืนชักช้าเป็นถูกสาดน้ำ เพราะผู้สาดก็สาดอย่างเต็มรักไม่มีปราณี ถ้าหนีไม่ทันก็อย่านึกหวังเลยว่าจะรอดพ้นไปได้

ฝรั่งคนที่เล่า ว่าตนตกตะลึงยืนเก้ ๆ กัง ๆ เพราะไม่รู้เรื่อง จนเจ้าฟ้าออกมา แล้วหัวเราะด้วยขบขัน ที่เห็นฝรั่งคนนั้นทำหน้าตื่น เจ้าฟ้าแนะให้ฝรั่งคนนั้นรีบหนีลอบออกไปทางท้ายหอคำ คือปราสาททองของเจ้าฟ้า ฝรั่งคนนั้นออกจากหอคำได้ก็วิ่งหนีสุดแรงเกิด เพราะถ้าขืนรีรออยู่อีก เป็นถูกน้ำตั้งถัง ๆ สาดเปียกปอนหมดเป็นของแน่…”

เหล่านี้จึงเป็นบรรยากาศดะจานและการเล่นสงกรานต์พม่าในอดีต จะเห็นว่าคล้ายคลึงกับบ้านเรามาก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นสาดน้ำอย่างสนุกสนาน เรียกว่าสาดหมดไม่สนเจ้า-ข้า หรือการเทน้ำดอกไม้เทศลงมือเจ้าเมือง ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกับการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ของไทยนั่นเอง

อูนุ เล่นน้ำ สงกรานต์
อูนุ (ขวา) ประธานาธิบดีพม่า ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์กับประชาชน เมื่อ พ.ศ. 2503 (ภาพจากหนังสือ U Nu of Burma ของ Richard Butwell)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

เสฐียรโกเศศ. (2512). เรื่องเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์ เทศกาลลอยกระทง และประเพณีทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ. กรุงเทพฯ : มงคลการพิมพ์. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายฉิ่ง แจ้งใจ, 4 เมษายน พ.ศ. 2513.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2568