พุทธาภินิหาร 2 พระพุทธรูปเมืองเหนือ ที่กรมดำรงฯ อัญเชิญจากมณฑลพายัพ

พระพุทธรูปเมืองเหนือ
"พระพุทธนรสีห์" อัญเชิญออกมาจากพระที่นั่งอัมพรสถานเป็นครั้งแรกโดยพระราชยานในริ้วขบวนตามโบราณราชประเพณี เพื่อประดิษฐาน ณ มณฑลพิธี พิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เจริญพระพุทธมนต์ถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระสยามเทวาธิราช และถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ พระลานพระราชวังดุสิต วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงออกตรวจราชการมณฑลพายัพเป็นครั้งแรก (พ.ศ. 2441) นอกจากงานราชการแล้ว ยังมีพระประสงค์ที่จะหา “พระพุทธรูปเมืองเหนือ” ที่มีชื่อเรื่องความงาม ขนาดหน้าตัก 6-10 นิ้ว อันเป็นที่มาของประสบการณ์เกี่ยวกับ “พุทธาภินิหาร”

2 พระพุทธรูปเมืองเหนือ 

หนึ่งคือ พระพุทธรูปจากวัดมหาธาตุ เมืองทุ่งยั้ง (ปัจจุบันคือ จังหวัดอุตรดิตถ์) ซึ่งเป็นวัดโบราณแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย ในสมัยอยุธยาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ เมื่อกรมพระยาดำรงฯ เสด็จเข้าไปภายในวิหารหลวง ทรงเห็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งวางนอนอยู่ในพระหัตถ์พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ตั้งเป็นประธาน จึงสอบถามที่มา

พระพุทธรูปเมืองเหนือ
วัดมหาธาตุ เมืองทุ่งยั้ง ปัจจุบันคือ วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง (ภาพจาก https://cbtthailand.dasta.or.th)

คณะกรมการเมืองทุ่งยั้งทูลว่า พระพุทธรูปองค์เล็กนั้นเดิมอยู่ที่วัดอื่น แต่เป็นพระมีปาฏิหาริย์ประหลาด ถ้าใครไปถวายเครื่องสักการบูชา ในไม่ช้าก็มักเกิดเหตุวิวาทบาดทะเลาะกันในตำบลนั้น จนคนครั่นคร้ามไม่มีใครกล้าไปบูชา ส่วนที่มาอยู่ในพระหัตถ์พระประธานในวิหารหลวงวัดทุ่งยั้ง ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เอามา แต่ไม่มีใครสมัครจะรับเอากลับไปไว้ที่วัดเดิม ปล่อยไว้อย่างนั้น

หากกรมพระยาดำรงฯ ทรงเห็นว่า เป็นพระปางมารวิชัยฝีมือแบบสุโขทัย ทำงาม และได้ขนาดที่พระองค์ทรงต้องการคือ หน้าตัก 6-10 นิ้ว จึงรับสั่งว่า เมื่อไม่มีใครสมัครจะรับพระพุทธรูปองค์นี้ พระองค์จะขอรับเอาลงมากรุงเทพฯ จากนั้นจึงทรงจุดธูปเทียนบูชา แล้วสั่งให้อัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวลงมายังที่ทำเนียบจอดเรือในวันนั้น

ส่วนอีกองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรจากเมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงพบพระพุทธรูปหลายสิบตั้งอยู่ที่ฐานชุกชี ภายในวิหารหลวง วัดพระสิงห์ ในลักษณะของโบราณทั้งที่ดีและชำรุด มีองค์หนึ่งเป็นที่ทรงพิจารณาว่ามีลักษณะงาม จึงขอต่อเจ้าเชียงใหม่อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ

สวัสดิมงคล

เมื่อกลับมาที่พระนคร กรมพระยาดำรงฯ ทรงวานพระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อท่านยังเป็นที่พระมงคลทิพมุนี ให้ช่วยปฏิสังขรณ์ขัดสีพระพุทธรูปเมืองเหนือทั้ง 2 องค์ เพราะท่านมีช่างสำหรับหล่อและแต่งพระพุทธรูปอยู่ที่วัดนั้น

ช่างลงมือขัดพระองค์ที่มาจากเมืองเชียงใหม่ก่อน พอเปลื้องผ้าถนิมออกพบเนื้อทองที่หล่อสีสุกปลั่งงาม เมื่อปฏิสังขรณ์สำเร็จแล้วทรงอัญเชิญกลับมาตั้งบูชาที่วัง เป็นที่ชื่นชมของผู้พบเห็นว่ามีพุทธลักษณะงามอย่างยิ่ง

เวลานั้น รัชกาลที่ 5 กำลังทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่าพระพุทธรูปที่จะตั้งในวัดนั้น จะหาพระหล่อของโบราณแบบต่างๆ กรมพระยาดำรงฯ จึงกราบทูลถึงพระพุทธรูปที่ทรงเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อรัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ตรัสว่า “พระองค์นี้งาม แปลกจริงๆ” และโปรดเกล้าฯ ให้แห่อัญเชิญพระพุทธรูปไปที่พลับพลาในพระราชวังดุสิต แล้วถวายพระนามว่า “พระพุทธนรสีห์” 

พระพุทธรูปเมืองเหนือ
พระพุทธนรสีห์

มีผู้ร่ำลือพูดกันว่า พระพุทธนรสีห์เป็นพระมีพุทธภินิหารให้เกิด “สวัสดิมงคล” กรมพระยาดำรงฯ ที่อัญเชิญพระพุทธรูปลงมา ไม่ช้าก็ได้เลื่อนยศจาก “กรมหมื่น” ขึ้นเป็น “กรมหลวง”, พระพุฒาจารย์ (มา) เมื่อยังเป็นพระมงคลทิพมุนี ผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์ เป็น “พระราชาคณะสามัญ” ก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นเทพ” แม้พระภิกษุเปี่ยมช่างหล่อผู้แต่งพระพุทธนรสีห์ ต่อมาไม่ช้าก็ได้มีสมณศักดิ์เป็นที่พระครูมงคลวิจิตร

พุทธาภินิหารแปลกๆ 

ขณะที่พระพุทธรูปจากเมืองทุ่งยั้ง มี “พุทธาภินิหาร” ไปในอีกทางหนึ่ง คือการทะเลาวิวาท นับจากที่กรมพระยาดำรงฯ อัญเชิญพระพุทธลงเรือ ฝีพายก็เกิดวิวาทชกต่อยกัน

เมื่อพระพุฒาจารย์ปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปเสร็จ พระองค์ก็อัญเชิญมาตั้งที่ท้องพระโรง บูชาแทนพระพุทธนรสีห์ พอล่วงไปราว 2 เดือน วันหนึ่ง เจ้าจอมมารดาชุ่ม พระมารดาของกรมพระยาดำรงฯ ถามขึ้นว่า ท่านได้ยินว่าพระองค์ได้พระมาจากเมืองเหนือองค์หนึ่ง มักทำให้เกิดทะเลาะวิวาทกันจริงหรือ

พระพุทธรูปเมืองเหนือ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ เจ้าจอมมารดาชุ่ม พระมารดา

เรื่องเดิมของพระพุทธรูปองค์นี้ กรมพระยาดำรงฯ ไม่ได้ทรงเล่าแก่ผู้ใดรวมทั้งพระมารดา มีเพียงผู้ที่ขึ้นไปเมืองเหนือพร้อมพระองค์ในครั้งนั้นที่ทราบเรื่อง แต่พระมารดาถามเช่นนี้พระองค์ก็ทรงเล่าเรื่องให้ท่านฟังตามเขาบอกที่เมืองอุตรดิตถ์

เจ้าจอมมาดาชุ่มจึงพูดว่า แต่ก่อนมาคนในบ้านก็อยู่กันเป็นปกติ ตั้งแต่พระองค์เอาพระพุทธรูปองค์นี้มา ก็เกิดการทะเลาะวิวาทกันไม่หยุด แล้วส่งกระดาษที่ท่านจดชื่อคนวิวาทกัน ที่มีทั้งผู้ดีและไพร่วิวาทกันถึง 6 คู่ ก่อนจะเตือนพระองค์ว่าให้คิดดูให้ดี

กมพระยาดำรงฯ ทรงเกรงจะขัดใจพระมารดา จึงทรงเล่าเรื่องให้พระพุฒาจารย์ฟัง แล้วถวายพระองค์นั้นให้ท่านรับเอาไปไว้ที่วัดจักรวรรดิฯ หากภายหลังพระพุฒาจารย์ก็มาหาพระองค์ ด้วยตั้งแต่พระพุทธรูปดังกล่าวไปอยู่ที่วัด ท่านสังเกตเห็นมักมีเหตุวิวาทบาดทะเลาะเกิดขึ้นในวัดผิดปกติ

ท่านรำคาญใจแต่มิรู้จะทำอย่างไร เผอิญพ่อค้าชาวหัวเมืองคนหนึ่งซึ่งเคยรู้จักกับท่านมาแต่ก่อน เข้ามาค้าขายทางเรือถึงกรุงเทพฯ แวะไปหาท่าน พอเห็นพระพุทธรูปองค์นั้นก็ชอบใจถึงออกปากขอ ท่านจึงให้พระองค์นั้นแก่พ่อค้าคนที่ขอไปเสียแล้ว เขาจะพาไปทางไหนก็ไม่รู้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิทานโบราณคดี, กรมศิลปากร พ.ศ. 2487.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2568.