ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2557 |
---|---|
ผู้เขียน | ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว |
เผยแพร่ |
ความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างไทยเหนือ (ล้านนา) และไทยใต้ (สยาม) เริ่มปรากฏในรายงานของข้าหลวงที่ถูกส่งไปกำกับราชการในเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2430 สาเหตุมาจากการที่ชนชั้นนำสยามเห็นว่าการดำรงอยู่แบบรัฐจารีตของล้านนานั้นเป็นความล้าหลังป่าเถื่อน รวมทั้งรายงานของข้าราชการสยามที่ส่งมายังกรุงเทพฯ มักให้ภาพคนล้านนาว่าเกียจคร้านและมีความเจริญน้อยกว่า ทำให้ข้าราชการสยามที่ถูกส่งขึ้นมามักวางอำนาจใส่คนพื้นเมือง ข้าหลวงใหญ่บางคนก็สร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรและปกป้องพวกพ้องของตนโดยขาดความยุติธรรม
ตัวอย่างเช่นใน พ.ศ. 2426 มีรายงานจากข้าหลวงใหญ่ว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างบรรดาเจ้านายพื้นเมืองกับทหารสยามถึงขนาดยกพวกไล่ตีกันจนถึงหน้าประตูจวนข้าหลวง ภายหลังยังมีเรื่องวิวาทกันกลางตลาด โดยทหารสยามทำร้ายคนของเจ้าอินทวิชยานนท์ถึงขั้นศีรษะแตก ในรายงานดังกล่าวทหารสยามระบุว่าถูกคนพื้นเมือง “…ด่าว่าอ้ายชาวใต้เปนคำหยาบช้าต่างๆ…” ครั้งนั้นข้าหลวงใหญ่ได้เสนอค่าทำขวัญแต่เจ้าอินทวิชยานนท์ไม่ยอมและยืนยันที่จะนำตัวไปโบย 100 ที แล้วประหารชีวิต ฝ่ายข้าหลวงใหญ่ไม่ยินยอมส่งตัวทหารให้และเลือกลงโทษด้วยการจำตรวน
ภายหลังเมื่อกรมหมื่นพิชิตปรีชากรเสด็จขึ้นไปตรวจราชการหัวเมืองล้านนาได้สอบชำระความก็ไม่พบว่าข้าหลวงใหญ่และพรรคพวกมีความผิดจริง แม้จะมีการนำตัวคนผิดลงมารับโทษที่กรุงเทพฯ [1] แต่เชื่อว่าความคับแค้นใจของเจ้านายเมืองเชียงใหม่ยังคงมีอยู่และคงเป็นต้นเหตุให้ความรู้สึกเกลียดชังข้าราชการสยามหรือที่เรียกว่า “ไทยใต้” เริ่มปรากฏให้เห็น
การแบ่งพวกระหว่างคนไทยเหนือและไทยใต้นี้ยังคงมีอยู่เรื่อยมาและได้สร้างปัญหาในการจัดการปกครองอย่างมาก ดังรายงานของข้าหลวงใหญ่ท่านหนึ่ง ความว่า
“…ทางที่จัดโดยถือว่าเปนพวกไทยพวกลาวต้องทำการที่ต่างกัน เพราะถือว่าลาวเปนคนชาติต่ำ แลไม่ควร เพราะฉะนั้นพวกข้าหลวงแลพวกเจ้านายจึงทำการแยกกันคนละที…บรรดาคนพื้นเมืองที่มาทำการร่วมกับข้าหลวงก็ดี…ได้รับเงินเดือนอย่างมากที่สุดเดือนละ 50 รูเปีย ถึงจะเปนคนดีมีวุฒิทำการได้ หรือตั้งใจที่จะรับราชการก็ไม่มีโอกาสที่จะให้ดียิ่งกว่านั้น…โดยเหตุนี้พาให้เบื่อหน่ายในการทำราชการ…ในที่สุดจนถึงยุยงเจ้านายให้แตกกับข้าหลวงจะได้มีทางหากินต่างๆ…
ข้างฝ่ายคนไทยที่ทำการอยู่ในกองข้าหลวง…มีช่องทางจะหาเงินได้โดยอุบายรับเดินถ้อยความ หรือทางภาษีอากรแลป่าไม้อย่างใดก็ลงมือทำ…เปนต้นว่า…ยุให้เจ้านายใช้อำนาจขัดข้องไม่ให้เปนไปตามคำบังคับของศาล โดยเหตุทั้งปวงที่ได้กราบทูลมานี้ ทำให้มีความขัดข้องแลวิวาทระหว่างข้าหลวงกับเจ้านายเปนอันมาก…การที่ถือกันว่าเป็นพวกข้าหลวง, พวกเมือง, ก็ยิ่งมีหนักขึ้นดังเช่นเมืองนครเชียงใหม่ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าไปพบเปน 2 พวกทีเดียวจนถึงกับว่าแบ่งเขตรในเมืองกัน คือพวกข้าหลวงอยู่ริมแม่น้ำ พวกเจ้านายอยู่ในเวียง เวลากลางคืนพวกใดจะพลัดไปในถิ่นที่ถือว่าเปนของพวกใดไม่ได้คงเกิดเหตุตีกันแทงกันยิงกันต่างๆ…ราชการบ้านเมืองก็เปนอันเสื่อมเสียหมดด้วยเหตุขัดข้องต่างๆ…การที่ข้าหลวงกับเมืองในเมืองเดียวกัน แยกทำการคนละแห่งถือว่าเปนส่วนข้าหลวงส่วนเมือง หรือเปนไทยเปนลาว เช่นนั้น ไม่ดีด้วยเหตุหลายประการคือ 1. ถ้าแยกกันเช่นนั้นมีการสิ่งใดต้องพูดกันด้วยหนังสือมักพาให้เข้าใจผิด…2. ถ้าทำการคนละแห่งคงไม่สนิทชิดชมกันได้จะพาให้คนเมืองห่างอยู่เสมอ…” [2]
ทั้งนี้ให้สังเกตว่าคำว่า “พวกเมือง” หรือ “เมือง” ในรายงานดังกล่าวนั้นหมายถึง “คนลาว” หรือ “คนพื้นเมือง” ซึ่งมีฐานะทางสังคมต่ำต้อยและถูกใช้ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับ “ข้าราชการสยาม” หรือ “คนไทย” ที่หมายถึงความเจริญ ซึ่งกลายเป็นที่มาของกระแสต่อต้านจากคนล้านนาโดยการเรียกตนเองว่า “คนเมือง” เพื่อแสดงปฏิกิริยาความไม่พอใจที่รัฐบาลสยามเข้าไปปกครองและดูหมิ่นพวกตน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะขจัดความแตกต่างในการทำงานร่วมกันระหว่างคนสยามและคนพื้นเมือง แต่การลบความรู้สึกแบ่งแยกนี้คงไม่สามารถทำได้โดยง่ายเนื่องจากปัญหาดังกล่าวสะสมมานานนับสิบปี แม้ว่าทรงพยายามกำชับข้าราชการสยามให้ความยุติธรรมกับคนพื้นเมืองมากขึ้นแต่ปัญหาดังกล่าวมิได้หมดไป จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระมงฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในรายงานจากกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถใน พ.ศ. 2458 ความว่า
“…เห็นสิ่งแปลกอยู่อย่าง 1 คือสังเกตว่าราษฎรในมณฑลภาคพายัพนั้นดูกลัวคนที่ไปจากกรุงเทพฯ มาก บางพวกชอบจะวิ่งหนี ทั้งนี้เปนเพราะผู้ที่ไปจากกรุงเทพฯ ยังมักจะเห็นราษฎรแถบนั้นเปนคนป่าคนเถื่อน เปนชาติที่เลว ไม่เหมือนกับคนไทยอื่นๆ เห็นตนสูงกว่าวิเศษกว่าเพราะฉะนั้นชวนจะประพฤติตนในทางที่อย่างน้อยที่สุด ก็เปนที่รำคาญใจแก่ชาวเมือง ที่เปนผลร้ายยิ่งกว่านั้นก็เคยมีมา
ในส่วนทางราชการนั้น ได้มีการห้ามมิให้ใช้คำว่าลาว ให้เรียกคนไทยเหมือนกันหมด ทั้งนี้ก็ด้วยความประสงค์จะชักจูงให้พลเมืองในมณฑลภาคพายัพ รู้สึกตนว่าเปนส่วนหนึ่งแห่งชาติไทยอันเดียวกัน เลิกการที่เปนประเทศราชเท่ากับโคโลนีของฝรั่งนั้นเสีย ซึ่งเปนพระบรมราโชบายอย่างดีที่สุดข้าราชการผู้ใหญ่ก็เข้าใจความข้อนี้ดี และปฏิบัติตาม แต่ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกว่าข้าราชการชั้นผู้น้อยนั้น ยังไม่สู้จะเข้าใจแจ่มแจ้งดีนัก ยังคงถือตัวว่าเปนชาติวิเศษกว่าคนพื้นเมือง เปรียบประดุจฝรั่งถือตนต่อชาวทวีปอาเซียทั้งปวงฉะนั้น…
อนึ่ง เนื่องในการเลิกไม่ใช้คำว่า “ลาว” นั้น ชาวกรุงเทพฯ ที่ไปรับราชการในมณฑลภาคพายัพ ก็ยังใช้คำว่า “ไทยเหนือ” แทนคำว่าลาว แยกชาว “ไทยเหนือ” กับ “ไทยใต้” ออก เปนต่างหากกัน ก็แปลว่าคงรูปเดิมว่า “ไทยเหนือ” นั้นเลวทราม “ไทยใต้” วิเศษเปนนายอยู่นั่นเอง เห็นด้วยเกล้าฯ ว่ายังไม่เหมาะ คนไทยนั้นควรมีอย่างเดียวเหมือนกันหมดเสมอกันหมด ถ้าจะแสดงถึงคนเกิดที่นั่นที่นี่ภายในพระราชอาณาเขตร ก็ควรใช้คำว่าชาวกรุงเทพฯ ชาวเชียงใหม่ ชาวลำปาง ฯลฯ จะดีกว่ามาก…” [3]
การเรียกตนเองของคนล้านนาว่า “คนเมือง” นี้เป็นผลจากความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างไทยเหนือและไทยใต้อันเนื่องมาจากการที่สยามเข้าไปจัดการปกครองและดูถูกความเป็นล้านนาทั้งในด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรรม จนทำให้คนล้านนาสร้างอัตลักษณ์บางประการเพื่อต่อต้านการดูถูกนี้และอาจไปไกลถึงขั้นรวมตัวกันเป็นพลังทางสังคมโดยใช้เป็นเวทีทางวัฒนธรรมที่สามารถนำไปสู่การต่อรองอำนาจทางการเมืองรูปแบบใหม่ได้ [4]
แม้ว่าเราไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าคำว่า “คนเมือง” ถูกคนล้านนานำมาใช้เรียกตนเองตั้งแต่เมื่อใด แต่จากการสืบค้นคัมภีร์โบราณของล้านนาของ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว พบว่าคนล้านนาเรียกตนเองว่าคนไท คนไต คนโยนหรือคนยวน โดยไม่พบคำว่าคนเมือง [5] สรัสวดี อ๋องสกุล ยืนยันว่าคำว่า “คนเมือง” ปรากฏครั้งแรกในรายงานของกรมหมื่นพิชิตปรีชากรที่ขึ้นไปจัดราชการในหัวเมืองล้านนา พ.ศ. 2427 ดังนั้นคำว่า “คนเมือง” จึงน่าจะเป็นคำที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในสมัยปฏิรูปการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว [6]
สุเทพ สุนทรเภสัช มองว่าพัฒนาการของคำว่า “คนเมือง” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมการเมืองในการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนที่จะมีความเป็นอิสระทางการเมืองการปกครอง เพื่อต่อต้านอำนาจครอบงำของระบบการบริหารและทุนนิยมรวมศูนย์ โดยใช้ความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรม การที่คนล้านนาเรียกตัวเองว่า “คนเมือง” ซึ่งหมายถึงกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณที่เรียกว่า “เมือง” ที่มีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง ในอดีตคนล้านนาถูกเรียกว่า “ลาว” โดยกลุ่มชนชั้นนำจากกรุงเทพฯ และนักเดินทางชาวตะวันตก อย่างไรก็ตามคนล้านนาไม่ชอบเรียกตนเอง หรือให้ใครเรียกพวกเขาว่า “ลาว” โดยถือว่าชาวลาวเป็นกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพวกเขาแต่มีวัฒนธรรมต่างกัน
แต่เกณฑ์ที่ใช้นิยามตนเองกับเกณฑ์ที่ชนกลุ่มอื่นกำหนดไม่เหมือนกัน ทำให้ชื่อชนชาติหรือกลุ่มชาติพันธุ์มีชื่อเรียกต่างกัน และชื่อเรียกที่ต่างกันนี้เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมและการเมือง โดยกลุ่มชนที่ถือว่าตนเองมีอารยธรรมความเจริญเหนือกว่าจะเรียกกลุ่มที่ด้อยความเจริญกว่าหรืออยู่ภายใต้การปกครองของตนด้วยชื่อที่ต่ำทรามหรือดูถูกเหยียดหยาม [7]
ธเนศวร์ เจริญเมือง วิเคราะห์ที่มาของ “คนเมือง” โดยเสนอว่าเป็นคำที่คนยวนใช้เรียกตัวเองตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ และน่าจะเกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2348 ที่มีการกวาดต้อนคนไทจากถิ่นอื่นโดยเฉพาะคนยองเข้ามาในล้านนาจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเสนอว่าการใช้คำว่า “คนเมือง” แบ่งเป็น 2 ระยะ
ระยะแรก (พ.ศ. 2325-2416) เป็นช่วงที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของสยามแบบหลวมๆ ยังมิได้ส่งคนเข้ามาปกครองโดยตรง คนยวนที่อยู่ในฐานะผู้ปกครองและคนในพื้นที่เริ่มแสดงปฏิกิริยาต่อการอพยพเข้ามาของคนไทกลุ่มอื่นๆ “คนเมือง” เป็นเพียงการบอกว่าตนเป็นคนพื้นเมืองและเพื่อแยกตนเองออกจากคนไทกลุ่มอื่นมิได้ใช้ในเชิงรังเกียจหรือดูถูก ระยะที่สอง (พ.ศ. 2416-2445) เป็นการใช้อย่างมีนัยยะทางวัฒนธรรมและการเมืองโดยใช้คำนี้เพื่อแยกว่าตนเป็น “คนเมือง” ไม่ใช่ “ลาว” อย่างที่สยามเรียก
การใช้คำว่า “คนเมือง” ในระยะที่สองนี้มีลักษณะสำคัญคือสยามส่งข้าราชการจากส่วนกลางมาปกครองโดยตรงโดยพระนรินทรราชเสนี ถูกส่งมาเป็นข้าหลวงสามหัวเมืองโดยสยามเรียกหัวเมืองทั้งสามว่า “หัวเมืองลาวเฉียง” ดังนั้นผู้คนในล้านนาก็เป็น “คนลาวเฉียง” อย่างเป็นทางการ ต่อมาใน พ.ศ. 2427 สยามเรียกข้าราชการของตนที่มาเป็นผู้ช่วยเสนาว่า “พระยาผู้ช่วยไทย” และเรียกเจ้านายบุตรหลานที่เป็นรองเสนาว่า “พระยารองลาว” เมื่อข้าราชการจากสยามต้องทำหน้าที่พิจารณาคดีความต้องมีล่ามแปลภาษากำเมืองก่อให้เกิดความอึดอัด เดเนียล แมคกิลวารีบันทึกไว้ว่าชาวสยามดูถูกเหยียดหยาม “ภาษาลาว” เป็นอย่างยิ่ง และยอมให้ใช้ภาษาดังกล่าวได้เฉพาะช่วงระยะผ่านเข้าสู่การรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลางเท่านั้น [8]
ขณะที่งานของ ชยันต์ วรรธนะภูติ มองว่าคำว่า “คนเมือง” เป็นคำที่มีความสัมพันธ์กับคำว่า “คนพื้นเมือง” และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ทั้งที่มีอำนาจเหนือกว่าและด้อยกว่า โดยพิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทำให้เกิดการสร้างตัวตนเพื่อแสดงความแตกต่างทางชาติพันธุ์ หรือเพื่อตอบโต้และบ่งบอกตำแหน่งทางสังคม ชยันต์ วรรธนะภูติ ใช้แนวคิดเรื่อง “เมือง” ที่หมายถึงกลุ่มคนที่มีการจัดองค์กรทางสังคมและการปกครองแบบ “เมือง” โดยแฝงถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนไทกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเป็นลักษณะความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้ามเช่น “ไท-ข่า” “เมือง-ป่า” โดยนัยยะนี้ “คนเมือง” จึงหมายถึงคนที่อยู่ในระบบการปกครองแบบ “เมือง” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอำนาจเหนือกว่า
ในอดีตก่อนที่กลุ่มไทยวนจะเข้ามายึดครองพื้นที่และก่อตั้งอาณาจักรล้านนามีชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น ลัวะ มอญ ข่า ยางแดง ซึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมในบริเวณนี้อยู่ก่อนแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้เรียกชื่อตนเองตามกลุ่มชาติพันธุ์และมีวัฒนธรรมที่ต่างไปจากไทยวน เมื่อกลุ่มไทยวนเข้ามามีอำนาจเหนือกว่าจึงมองกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมว่าเป็น “คนพื้นเมือง” และเรียกตนเองว่า “คนเมือง” เพื่อยืนยันถึงอำนาจและสิทธิการเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เรียกว่า “เมือง”
ต่อมาเมื่อพม่าเข้าปกครองล้านนากว่า 200 ปี ผู้คนถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยของพม่า จนกระทั่งพระยากาวิละกอบกู้เอกราชคืนมาได้และกวาดต้อนไทลื้อ ไทยอง และคนจากหัวเมืองอื่นๆ เพื่อฟื้นฟูอาณาจักรขึ้นมาใหม่ จนเมื่อหัวเมืองล้านนาถูกผนวกเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงเทพฯ คนในล้านนาที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้ง ลัวะ กะเหรี่ยง ไทลื้อ ไทยอง ไทใหญ่ ฯลฯ รวมทั้งไทยวนก็มีสถานะกลายเป็น “คนพื้นเมือง” ไปหมดในสายตาของกรุงเทพฯ [9]
หลักฐานดังกล่าวปรากฏในรายงานของ พระยาศรีสหเทพ ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ท่านหนึ่งที่ใช้คำว่า “เมือง” ในลักษณะของคู่ตรงข้ามโดยแบ่งเป็นพวก “ข้าหลวง” และ “พวกเมือง” โดย “พวกเมือง” ที่กรุงเทพฯ ใช้เรียกนี้หมายถึงกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมในหัวเมืองล้านนาโดยมิได้แบ่งแยกว่าเป็น ไทยวน ไทยอง ไทลื้อ ฯลฯ และคำว่า “เมือง” ในช่วงเวลานี้ได้สูญเสียความหมายดั้งเดิมจากที่เคยเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าเป็นเพียงเมืองที่ถูกเชื่อมโยงและบูรณาการภายใต้รัฐส่วนกลางและกลายเป็นหน่วยบริหารท้องถิ่นที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติ
พื้นที่ของ “คนเมือง” จึงกลายเป็นผู้ที่อยู่ชายขอบของอำนาจ ซึ่งเป็นผลมาจากการก่อตัวของรัฐสยามที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเป็นบุคคลในชุมชนการเมืองของรัฐ [10] จากความรู้สึกที่ไม่เท่าเทียมนี้ทำให้คนล้านนาโดยรวมรับเอาคำว่า “คนเมือง” มาเป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อใช้สร้างสำนึกร่วมกันของท้องถิ่นและเผชิญอำนาจจากกรุงเทพฯ
ผลจากการที่สยามเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์โดยทำให้หัวเมืองประเทศราชล้านนากลายเป็นส่วนหนึ่งในพระราชอาณาเขตโดยส่งข้าราชการขึ้นมาปกครองโดยตรง ในระยะแรกข้าราชการสยามส่วนใหญ่มักดูถูกคนล้านนาว่ามีความเจริญน้อยกว่าจนทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างคนสยามหรือไทยใต้กับคนพื้นเมืองหรือไทยเหนือ จนเมื่อความรู้สึกแบ่งแยกนี้เป็นอุปสรรคต่อการจัดการปกครอง ชนชั้นนำของสยามจึงมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายบางประการเพื่อลดความรู้สึกดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างไทยเหนือกับไทยใต้นี้เป็นพื้นฐานให้เกิดกระแสการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ โดยหยิบยืมชื่อเรียกที่สยามใช้แบ่งแยกความเป็น “ข้าหลวง” กับ “เมือง” มาใช้การเรียกกลุ่มของตนเองว่า “คนเมือง” และใช้คำดังกล่าวเป็นตัวแทนของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในล้านนาเพื่อสร้างสำนึกร่วมกันในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ แม้ว่าการรวมตัวกันนี้ไม่ได้สร้างปัญหาทางการปกครองให้กับรัฐอย่างชัดเจนเหมือนการก่อกบฏแต่เป็นอุปสรรคในการรวมชาติทำให้กรุงเทพฯ ต้องทบทวนนโยบายในการจัดการปกครองใหม่
เชิงอรรถ :
[1] หจช. ร.5 ม.2.12ก/15 บอกพระยาราชสัมภาราการข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ (มีนาคม พ.ศ. 2427-กันยายน พ.ศ.2427)
[2] หจช. ร.5 ม.58/33 พระยาศรีสหเทพออกไปจัดราชการทางมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือและมีพระราชบัญญัติอากรที่ดินด้วย (30 มีนาคม พ.ศ. 2442-30 มิถุนายน พ.ศ. 2443)
[3] หจช. สบ.001/15 รายงานการตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา แลมณฑลพายัพ (15 ตุลาคม-10 มกราคม พ.ศ.2458)
[4] ดูแนวคิดดังกล่าวได้จาก, ยศ สันตสมบัติ, “คนเมือง” กับตัวตนของคนเมือง: การผลิตซ้ำ/ผลิตใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์”, ใน เอกสารการประชุมทางวิชาการเรื่อง “คนเมืองในบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง” จัดโดยภาควิชารัฐศาสตร์และภาควิชาสังคมมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2543, หน้า 77-82.
[5] อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, “คนเมือง” ในตำนานประวัติศาสตร์”, ใน เอกสารการประชุมทางวิชาการเรื่อง “คนเมืองในบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง” จัดโดยภาควิชารัฐศาสตร์และภาควิชาสังคมมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2543, หน้า 37.
[6] สุเทพ สุนทรเภสัช, “คนเมือง ความสำนึกและการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทยเหนือ,”ศิลปวัฒนธรรม 25, 1 (พฤศจิกายน, 2546): 84.
[7] เรื่องเดียวกัน: 73 – 81.
[8] ธเนศวร์ เจริญเมือง, คนเมือง (เชียงใหม่: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544), หน้า 19-25.
[9] ชยันต์ วรรธนะภูติ, “คนเมือง”: ตัวตนการผลิตซ้ำสร้างใหม่และพื้นที่ทางสังคมของคนเมือง”, ใน อยู่ชายขอบมองลอดความรู้ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549), หน้า 33-39, 50.
[10] ดูแนวคิดเรื่องชาติพันธุ์ธำรงจากงานของ ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ, “ทบทวนแนวทางการศึกษาชาติพันธุ์ข้ามยุคสมัยกับการศึกษาในสังคมไทย”, ใน ว่าด้วยแนวทางการศึกษาชาติพันธุ์ (กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮาส์, 2547), หน้า 77.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ไทยเหนือ ไทยใต้ คนเมือง: ร่องรอยความขัดแย้งระหว่างล้านนา” เขียนโดย ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2565