สุสานแต้จิ๋ว สุสานสมัยรัชกาลที่ 5 ที่คนแต้จิ๋วสร้างให้คนแต้จิ๋วด้วยกัน

ป่าช้าวัดดอน สุสานฝังศพ สุสานแต้จิ๋ว
สุสานแต้จิ๋ว หรือ ป่าช้าวัดดอน สุสานเก่าแก่ ที่ตั้งอยู่แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร เมื่อ พ.ศ. 2564 (ภาพประกอบจาก Supanut Arunoprayote)

“สุสานแต้จิ๋ว” หรือที่คนแต้จิ๋วเรียกว่า “หงี่ซัว” ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2442 ปัจจุบันเรียกกันทั่วไปว่า “ป่าช้าวัดดอน” ด้วยที่ตั้งของสุสานอยู่บริเวณซอยวัดปรก 1 ถนนจันทน์ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กทม. สุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังศพของคนแต้จิ๋วโพ้นทะเลที่เข้ามาทำมาหากินในไทยยุคแรกๆ  

สุสานแต้จิ๋ว

สุสานแห่งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคหบดีและชาวแต้จิ๋วในไทย ที่ร่วมกับบริจาคเงินซื้อที่ดินทั้งหมด 4 ครั้ง เป็นเงิน 33,500 บาท ได้เนื้อที่ 120 ไร่ โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง คือ หลวงสิทธิ์สุโรปกรณ์ หรือ “ไหล่คือไต่ย” (บ้างเรียก “ไน้คือไต่ย” ปัจจุบันทายาทของท่านใช้นามสกุล สุจินัย)

สุสานแต้จิ๋ว
อนุสาวรีย์หลวงสิทธิ์สุโรปกรณ์ สวนสุขภาพแต้จิ๋ว ในสุสานแต้จิ๋ว เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568 (ภาพจากเพจ Facebook ชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋วสาทร)

ชื่อของหลวงสิทธิ์สุโรปกรณ์ อาจไม่แพร่หลายเหมือนเจ้าสัวดังหลายตระกูล แต่ในสังคมชาวจีนเวลานั้นท่านเป็นที่ยกย่อง ด้วยเป็นบุคคลที่มีฐานะ มีชื่อในสังคมจีน และมีใจช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์อยู่เสมอ สมัยรัชกาลที่ 6 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการโรงสุราบางยี่ขัน ทั้งยังเป็นกรรมการยุคบุกเบิกของสมาคมแต้จิ๋ว

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า เมื่อจะจัดสร้างสุสาน พื้นที่ที่กำหนดยังเป็นที่รกร้าง มีชาวบ้านเลี้ยงวัวหากิน หลวงสิทธิ์สุโรปกรณ์ใช้เงินส่วนตัวชดเชยชาวบ้านที่ทำกินอยู่เดิม จนสามารถสร้างสุสานสำหรับฝังร่างของคนจีนแต้จิ๋วทั่วไป และไม่เป็นผู้ยากไร้ โดยตั้งชื่อสุสานว่า “หงี่ซัว” คำว่า “หงี่” มาจาก “หงี่อังกุ๋ง” อันเป็นชื่อดั้งเดิมของเมืองแต้จิ๋ว

เริ่มมีการฝังศพแรกชื่อ “อื้อกิมไถ่” เมื่อเมษายน พ.ศ. 2443

เจตนารมย์

ธรรมเนียมหนึ่งเกี่ยวกับความตายของคนจีน คือการฝังศพ และถ้าจะให้ดีก็ต้องกลับไปฝังที่สุสานบ้านเกิด แต่ดีกว่านั้นคือการกลับไปตายที่บ้านเกิด ดังจะเห็นได้ว่าบรรดาเจ้าสัว, เถ้าแก่ใหญ่จำนวนหนึ่งมักเกษียณตัวเองจากกิจการโพ้นทะเลกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่เมืองจีน

สุสานจีนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดชลบุรี แต่ละหลุมดูคล้ายๆ กันมีจุดสังเกตเพียงป้ายหินสลักเป็นภาษาจีนที่บอกว่าผู้ตายใคร (ภาพโดย วิภา จิรภาไพศาล)

แต่ในความเป็นจริง คนจีนโพ้นทะเลจำนวนมากที่ออกมาเผชิญโชคไม่มีโอกาสกลับบ้านเกิดที่จากมา เพราะเสียชีวิตเสียก่อน เพราะไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพจึงละอายที่จะกลับ หรือซ้ำร้ายกว่านั้นบางคนเสียชีวิตในต่างแดนแบบไร้ญาติขาดมิตร

ดังกลอนคู่ 1 บทที่สุสานของคนแต้จิ๋ว บทแรกเขียนว่า “เจี๊ยะก๊วยโอวจุ้ย โต้วก๊วยโข่วจุ้ย เจ๊กเผี่ยงซิ้มซือฮู้หลิ่วจุ้ย-ผ่านความยากลำบากในทะเล เผชิญความทุกข์ยากชีวิต (ในต่างแดน) ความหวังทั้งหลายมลายไปกับสายน้ำ” บทที่ 2 เขียนว่า เสี่ยจ้อจ่อซัว บ่อฮวยตึ้งซัว เจ๊กฮู้กุกเท้าจึงหงี่ซัว-หวังจะมาเป็นเจ้าสัว ไม่มีโอกาสกลับตึ้งซัว (เมืองจีน) กระดูกทั้งร่างฝังที่สุสานแต้จิ๋ว” (สำนวนแปลโดย พัฒนพงษ์ อายุวนานนท์)

สุสานของจีนกลุ่มต่างๆ จึงเกิดขึ้นในต่างแดน รวมทั้งเมืองไทย สมัยรัชกาลที่ 5 พระนครมีหลุมฝังศพราว 15,884 หลุม ส่วนมากอยู่ทางตอนใต้ของพระนคร (ปัจจุบันคือพื้นที่สีลม บางรัก ถนนตก ถนนจันทน์) ในจำนวนนี้ ป่าช้าสุเหร่าบ้านอู่มีจำนวนมากที่สุด 6,000 หลุม (บริเวณซอยข้างโรบินสัน บางรัก) รองมาคือ สุสานของแต้จิ๋ว 4,200 หลุม 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กนกวรรณ จันทร์พรหม. การจัดการพื้นที่สาธารณะในเขตเมือง: กรณีศึกษาสุสาน แต้จิ๋ว กรุงเทพมหานคร, วิทยานิพนธ์ หลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2560

สัมภาษณ์ ผศ. ถาวร สิกขโกศล  เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568.

ผศ. ดร. นิภาพร รัชตพัฒนากุล. “‘นาสิกประสาตภัย’: ประวัติศาสตร์ของกลิ่นเหม็นในเมืองกรุงเทพฯ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มกราคม 2562.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2568