ถอดรหัสเทพเจ้า ความสัมพันธ์ระหว่างพระศิวะกับพระจันทร์ (อาจ) เป็นเทพองค์เดียวกัน!?

พระศิวะกับพระจันทร์
รูปปั้นพระศิวะ ที่รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย (ภาพโดย Lensnmatter ใน Flickr)

“เทวรหัสยะ” ความสัมพันธ์ระหว่างพระศิวะกับพระจันทร์ เป็นองค์เดียวกัน (?) จากทัศนะ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง”

รู้หรือไม่ ชาวฮินดูมีคติเรื่อง “พระประจำวัน” เช่นกันกับในพุทธศาสนา แต่ไม่ใช่พระพุทธรูปปางต่าง ๆ หากเป็นเทพเจ้าประจำวันนั้น ๆ ซึ่ง “พระศิวะ” เป็นพระประจำวันจันทร์

แน่นอนว่า คติดังกล่าวย่อมมีที่มาที่ไป นั่นเพราะพระศิวะกับพระจันทร์มีความสัมพันธ์ในเชิงเทวรหัสยะมากกว่าที่หลายคนรู้ ที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นการที่พระองค์ทัดจันทร์เป็นปิ่น ซึ่งจันทร์เสี้ยวบนพระเกศาก็คือพระจันทรเทพบุตร

ยิ่งไปกว่านั้น ในบรรดาเทวาลัยพระศิวะที่ประดิษฐานพระศิวลึงค์องค์สำคัญทั้ง 12 เทวาลัยชื่อ “โสมนาถ” หรือโสเมศวร ในเมืองชายทะเลชื่อ เสาราษฎร์ เป็นเทวาลัยแห่งแรกที่ถูกเอ่ยถึงในบทสวดสรรเสริญพระศิวะ ซึ่ง โสมนาถ แปลว่า ที่พึ่งของพระจันทร์

ตำนานของชื่อนี้อยู่ในคัมภีร์ปุราณะ เล่าว่า เดิมพระจันทรเทพบุตรเป็นเทวดารูปงาม แม้จะมีภรรยาอยู่แล้วคือนาง “ดารา” ทั้งหลาย ซึ่งเป็นบุตรของพระทักษประชาบดี โอรสของพระพรหม ก็ยังไม่วายไปหลงรักนางโรหิณีเข้า บรรดานางดาราจึงไปฟ้องบิดา พระทักษะรู้เรื่องจึงกริ้วพระจันทร์แล้วสาปให้มืดมัวหมองลง ทั้งขับไล่ออกจากเทวสภา

พระจันทร์ได้รับความอับอายจึงไปขอให้พระศิวะช่วย แต่พระองค์ทำได้เพียงช่วยให้พระจันทร์กลับฟื้นความสว่างจนเต็มดวงแล้วค่อย ๆ กลับไปมืดมิดตามคำสาป

เป็นที่มาของเดือนหงายเดือนมืดอย่างที่เราเห็น

พระจันทรเทพบุตร พระจันทร์
พระจันทรเทพบุตร, ศิลปะอินเดีย (ภาพจาก British Museum)

ไม่เพียงเท่านั้น พระศิวะยังทรงนำพระจันทร์มาทัดเป็นปิ่นแล้วพาเข้าเทวสภาได้โดยสะดวก พระองค์จึงมีพระนามว่า “จันทรเศขร” คือผู้ทัดจันทร์เป็นปิ่นนั่นเอง

เราจึงเห็นรูปเคารพพระศิวะประทับนั่งสมาธิโดยมีพระจันทร์ที่พระชฎา (มุ่นมวยผม)

เรื่องนี้อาจเชื่อมโยงไปถึงสาเหตุที่ วันมหาศิวราตรี (พิธีบูชาพระศิวะที่ยิ่งใหญ่) ต้องเป็นวันแรม 14 ค่ำ เพราะเป็นวันสุดท้ายที่เราจะเห็นพระจันทร์ก่อนเดือนดับ และพระจันทร์ที่เห็นในค่ำคืนดังกล่าวมีลักษณะเหมือนปิ่นจันทร์เสี้ยวที่ทัดอยู่บนเกศาของพระศิวะ

อย่างไรก็ตาม ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ทัศนะไว้ใน มติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับวันที่ 11-17 มีนาคม 2559) ว่า เราสามารถตีความและอธิบายแบบ “นอกตำนาน” ได้ เพราะเทวตำนานมักสร้างขึ้นภายหลังเพื่ออธิบายสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว ดังว่า

“เทวตำนานเรื่องพระศิวะและพระจันทร์จึงควรฟังไว้แบบที่สำนวนแขกเรียกว่า ‘ประดับหู’ และที่จริงอย่างน้อยก็สะท้อนว่า พระจันทร์มีบทบาทเกี่ยวข้องกับพระศิวะมาก ทำให้ผมคิดไปถึงขั้นที่ว่า พระศิวะแทบจะแยกออกจากพระจันทร์ไม่ได้เลย มีความเกี่ยวพันกันมาก หรือจริง ๆ แล้ว พระองค์อาจเป็นพระจันทร์เอง”

เพราะนักวิชาการบางท่านเสนอว่า พระศิวลึงค์ยุคแรกไม่ได้เป็นเพียงการจำลองรูปอวัยวะเพศชายอย่างเดียว แต่เป็น “เสาพระจันทร์” คือเสาที่มีรูประจันทร์บนยอด

บางท่านตีความว่า พระจันทร์บนเกศาเพื่อสื่อว่าพระองค์คือ “กาละ” หรือเวลาที่กลืนกินทุกสิ่ง พาทุกอย่างไปสู่ความตายหรือการแตกดับ เพราะมนุษย์สมัยโบราณใช้พระจันทร์กำหนดความเปลี่ยนแปลงของวันเดือนปี

หากพระศิวะเป็นพระจันทร์ แล้วเหตุใดไม่เอาวันเพ็ญที่เห็นพระจันทร์เต็มดวงเป็นวันศิวราตรี ซึ่งดูเหมาะสมกว่า?

อ.คมกฤช ชี้ว่า เพราะเอกลักษณ์ของพระจันทร์ที่ทำให้ต่างจากพระอาทิตย์คือความเป็นเสี้ยว นอกจากนี้ ชาวฮินดูยังเชื่อเรื่องการบูชา 2 ช่วงเวลา คือบูชาในช่วงที่สิ่งนั้นก่อกำเนิดหรือถึงความบริบูรณ์ที่สุด เช่น บูชาพระอาทิตย์ตอนเช้าและกลางวัน

อีกช่วงเวลาคือตอนที่สิ่งนั้นอ่อนพลังหรือกำลังล่วงลับดับไป เช่น การบูชาบรรพบุรุษในวันเดือนดับ เพราะเชื่อว่าบรรพชนไปอยู่กับพระจันทร์

พระจันทร์ในวันแรม 14 ค่ำ วันสุดท้ายก่อนเดือนดับ จึงถูกเลือกให้เป็นวันศิวราตรี

พระศิวะ
พระศิวะ (ภาพโดย Janvi Tyagi จาก Articles Factory)

“ในยุคโบราณพระวิษณุหรือพระนารายณ์คือกลุ่มเทพเจ้าที่เป็นดวงอาทิตย์ หรือสุริยเทพกลุ่มหนึ่งในคัมภีร์พระเวท…

ดังนั้นพระวิษณุก็คือพระอาทิตย์ ส่วนพระศิวะคือพระจันทร์ พระวิษณุกระทำบูชายามรุ่งอรุณ พระศิวะกระทำบูชาในเวลากลางคืน (วันมหาศิวราตรี) และทั้งสองพระองค์ต่างก็เป็นมหาเทพที่ยิ่งใหญ่เคียงคู่กันเสมอ” อ.คมกฤชกล่าว

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. (2560). ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2568