เจาะลึก “เชิดสิงโต” มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของจีน ที่ไม่ได้มีดีแค่ “ความบันเทิง”

เชิดสิงโต ในประเทศจีน
ภาพวาดญี่ปุ่นเกี่ยวกับการเชิดสิงโต ที่คนถกเถียงว่าน่าจะวาดการเชิดสิงโตในสมัยถัง

ช่วงนี้เพิ่งมีโอกาสได้ดูซีรีส์จีนใน “Netflix” ที่หลายคนบอกว่าสนุก นั่นก็คือเรื่อง “พรห้าประการ” หรือชื่อภาษาอังกฤษ “Perfect Match” ซึ่งพอได้ดูก็สนุกอย่างที่หลายคนว่าไว้ เรื่องนี้มีพระนาง 5 คู่ 5 สไตล์ แถมยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือศิลปะจีนแทรกเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ 

จนดูถึงซีนที่มีคนบอกว่าเป็นหนึ่งซีนไฮไลต์ของเรื่อง คือฉากที่ “หยางเซี่ยน” (รับบทโดย วินวิน/ต่งซือเฉิง จาก WayV/NCT) ต้องผ่านด่านพิสูจน์รัก “เล่อซาน” (รับบทโดย หวงหยางเตี้ยนเถียน) หนึ่งนางเอกในเรื่อง ด้วยการ “เชิดสิงโต”

ต่งซือเฉิง/วินวิน จาก NCT/WayV รับบท หยางเซี่ยน ในเรื่องพรห้าประการ (ภาพจาก : Weibo Winwin studio)

พอเห็นอย่างนี้ก็เลยอยากเล่าถึงที่มาของ “การเชิดสิงโต” ในจีน รวมถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของวัฒนธรรมนี้ ตั้งแต่ที่มา การแบ่งสิงโตในจีนตอนเหนือ-ตอนใต้ รวมถึงความหมายแฝงที่อยู่ในสีขน เพราะการเชิดสิงโตถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญมากของจีน และยูเนสโกก็ยกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เมื่อ ค.ศ. 2006

จุดเริ่มต้นของ การเชิดสิงโต ในประเทศจีน

“การเชิดสิงโต” เป็นการละเล่นสำคัญของจีน ตีคู่มากับการเชิดมังกร แต่การเชิดสิงโตได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากอดีต มังกรเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ

เชื่อว่าการละเล่นนี้เริ่มต้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งชาวอินเดียและชาวตะวันออกกลาง ที่เดินทางมาค้าขายผ่านเส้นทางสายไหม เป็นผู้นำเข้ามา เนื่องจากขณะนั้นประเทศจีนยังไม่มีสิงโต พวกเขาจึงนำสิงโตมาถวายจักรพรรดิ รวมถึงนำผู้ฝึกสิงโตเข้ามาด้วย เพื่อฝึกและทำการแสดงสิงโตในราชสำนัก เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเชิดสิงโตอย่างที่เราเห็นในเวลาต่อมา

การเชิดสิงโตปรากฏเรื่อยมาในประเทศจีนและเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ประเพณีนี้ปรากฏในเทศกาลสำคัญของราชวงศ์ในพระราชวัง แต่ต่อมาในสมัยราชวงศ์เว่ยและจิ้น พุทธศาสนาได้เข้ามาในจีน ประเพณีนี้จึงจัดแสดงในวัดและให้ประชาชนเข้ามาเยี่ยมชม เกิดการกระจายตัวการเชิดสิงโตในชุมชน

เชิดสิงโต ประกอบบทความ การเชิดสิงโต ในประเทศจีน (ภาพจาก : pixabay)

จนสมัยราชวงศ์ถัง การเชิดสิงโตก็ได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้น ใช้คนเชิด 2 คน แต่งตัวด้วยชุดมีขน ลักษณะคล้ายกับสิงโต ขณะเดียวกันก็จะมีอีก 2 คนใช้เชือกและผ้ายาวเล่นสนุกไปรอบ ๆ สร้างความบันเทิงให้กับคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น 

กลายเป็นว่าในราชวงศ์ต่อ ๆ มา อย่าง ซ่ง หมิง และชิง การเชิดสิงโตจึงเป็นการแสดงที่ประชาชนทั่วไปรับชมได้ มักมีไว้เพื่อสร้างความบันเทิงให้แขกเหรื่อ เทศกาลสำคัญ และประเพณีทางศาสนา อย่างในมณฑลกวางตุ้ง ปลายราชวงศ์หมิง คนที่นี่ก็มองว่าสัญลักษณ์สิงโตเปรียบเหมือนจิตวิญญาณและความศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าการแสดงเชิดสิงโตจะช่วยปัดเป่าความชั่วร้ายออกไป

ส่วนในยุคนี้ การเชิดสิงโตเป็นอะไรที่มากกว่าความบันเทิงไปเสียแล้ว เพราะกลายเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของประเทศจีนที่โด่งดังในระดับนานาชาติ ทั้งยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันมีค่าของจีน ดังที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ใน ค.ศ. 2006

ความแตกต่างของ “การเชิดสิงโต” ในจีนตอนเหนือและใต้

นอกจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของการเชิดสิงโตในภาพใหญ่จีนที่แบ่งเป็นราชวงศ์แล้ว จีนยังแบ่งการเชิดสิงโตเป็นพื้นที่ตอนเหนือกับใต้อีกด้วย จีนตอนเหนือก็เช่น ปักกิ่ง เทียนจิน เหลียวหนิง จีนตอนใต้ เช่น เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน กวางตุ้ง

สิงโตในจีนตอนเหนือจะปกคลุมด้วยขนยาวสีเหลืองและส้ม รวมถึงมีผ้าสีแดงหรือเขียวผูกที่หัว แสดงออกถึงเพศ ถ้าผ้าสีแดงจะเป็นตัวผู้ ถ้าเขียวจะเป็นตัวเมีย (แต่ปัจจุบันการแบ่งเพศสิงโต สังเกตได้จากสีขนของหัวและหลังแทนการผูกผ้าบนหัวแล้ว)

เรื่องการแสดง สิงโตตอนเหนือจะมาเป็นรูปแบบครอบครัว คือตัวใหญ่เป็นพ่อแม่ ตัวเล็กเป็นลูก ใช้ 2 คนสำหรับเชิดตัวผู้ใหญ่ แต่ตัวเด็กจะใช้คนเดียว มีท่าทางคล้ายกับสุนัขปักกิ่ง ทั้งยังมีการแสดงท่าทางและอารมณ์ในลักษณะกายกรรม เป็นต้น

เชิดสิงโตทางจีนตอนเหนือ ประกอบบทความ การเชิดสิงโต ในประเทศจีน (ภาพจาก : chinatoday.com.cn)

ตัดภาพมาที่ การเชิดสิงโตตอนใต้ มีจุดกำเนิดที่มณฑลกวางตุ้ง ก่อนจะเผยแพร่ไปยัง ไห่หนาน กวางสี ฝูเจี้ยน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และพื้นที่ที่ชาวกวางตุ้งย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่น ๆ สิงโตทางใต้จะมีหัวทำด้วยกระดาษและโครงทำด้วยไม้ไผ่ ลำตัวทำจากผ้าทนทานที่ประดับด้วยขน (ปัจจุบันใช้วัสดุทันสมัยและเบากว่า อย่างอะลูมิเนียม)

นอกจากนี้ สิงโตตอนใต้ยังแบ่งย่อย ๆ เป็น 2 ประเภท อีก คือ Fo Shan และ He Shan ซึ่งจะแตกต่างกันในเรื่องลักษณะสิงโต แต่บทความนี้ขอไม่ลงรายละเอียดในเรื่องนี้

การเชิดสิงโตจีนตอนใต้ ประกอบบทความ การเชิดสิงโต ในประเทศจีน (ภาพจาก : pixabay)

ความหมายแฝงของ “สีขนสิงโต” ที่ไม่ได้มีแค่ความสวยงาม

เรื่องสุดท้ายที่จะพูดถึงการเชิดสิงโตในจีน คือความหมายที่แฝงในเรื่องสี สีของสิงโต มีอะไรที่มากกว่าความสวยงาม อย่าง สิงโตสีขาว หมายถึง สิงโตอายุมากที่สุด สิงโตสีเหลืองทอง หมายถึง สิงโตที่อยู่ในอายุกลาง ๆ สิงโตสีดำ หมายถึงสิงโตที่มีอายุน้อย เวลาเราไปดูเชิดสิงโต ลองสังเกตดูว่าสิงโตสีดำจะมีท่าทางเหมือนกับเด็กหรือวัยรุ่น

สีสิงโตยังเกี่ยวข้องกับ “สามก๊ก” วรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์จีนในตำนาน อย่างสิงโตหัวสีเหลืองหรือทอง มีขนและเคราขาว จะหมายถึงเล่าปี่ สิงโตหัวสีแดง มีขนสีดำและเครายาวสีดำ คือ กวนอู สิงโตหัวสีดำ ขนสีดำ เคราสั้นสีดำ หูเล็ก คือ เตียวหุย สิงโตหัวสีเงิน ขนและหนวดสีขาว ก็คือ หม่าเฉา

รวมไปถึง สีของสิงโตยังสัมพันธ์กับงานที่จะจัดแสดง สิงโตหัวเหลืองหรือทอง ขนและเคราขาว มักใช้ในงานมงคล (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเจ้าภาพเป็นผู้อาวุโส) สิงโตหัวแดง ขนดำและเครายาวสีดำ ใช้ในเรื่องค้าขาย ธุรกิจ นำความรุ่งเรืองมาให้ผู้จัดงาน ส่วนสิงโตหัวสีดำ ขนและเคราสั้นสีดำ หูเล็ก ใช้งานทั่วไป เป็นต้น

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม “การเชิดสิงโต” ถึงเป็นประเพณีสำคัญของจีน และนำมาใส่ในฉากสำคัญของซีรีส์พรห้าประการ เพราะนอกจากการเชิดสิงโตจะมอบความสุขให้กับคนที่รับชมแล้ว ยังมีความล้ำค่า ปราณีต สร้างเป็นวัฒนธรรมอันลึกซึ้งที่แทรกผ่านการละเล่นนี้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://rdi.rmutsv.ac.th/rmutsvrj/download/year7/issue2-2558/download.php?file=81.pdf

พรพิพัฒณ์ ราชกิจกำธร และสุภาวดี โพธิเวชกุล. “การเชิดสิงโต : ศิลปการแสดงวัฒนธรรมย่านฝั่งธนบุรี” ใน, ศิลปกรรมสาร ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธนวาคม 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2568