ผู้เขียน | สัตตบงกช เยาวโยธิน |
---|---|
เผยแพร่ |
ดอกไฮยาซินธ์ ดอกไม้ที่เกิดจากเลือดและน้ำตาของชายผู้เป็นที่รัก
ไฮยาซินธ์ (Hyacinthus Orientalis) ตัวแทนของความรักที่ไม่สมหวัง ต้นกำเนิดของดอกไม้ชนิดนี้เกิดจากเรื่องราวความรักระหว่างสุริยเทพอย่าง อะพอลโล (Apollo) กับเด็กหนุ่มที่มีนามว่า ไฮยาซินธัส (Hyacinthus)
ตามตำนานเทพเจ้ากรีกเล่ากันว่า “ไฮยาซินธัส” คือเจ้าชายแห่งสปาร์ตา ผู้มีใบหน้างดงามราวประติมากรรมเทพเจ้า ความสมบูรณ์แบบนี้ทำให้สุริยเทพและเทพเจ้าแห่งสายลมตะวันออกเกิดความสนใจ กลายเป็นที่มาของโศกนาฏกรรมความรักในครั้งนี้
เรื่องราวเริ่มต้นเมื่ออะพอลโลลงมายังโลกมนุษย์แล้วพบกับไฮยาซินธัส เขาหลงรักเด็กหนุ่มทันที แต่เพราะตนเป็นสุริยเทพ ส่วนเด็กหนุ่มเป็นเพียงมนุษย์ ทั้งสองจึงไม่สามารถครองรักกันได้ อะพอลโลทำได้เพียงเป็นสหายและคอยสอนเกี่ยวกับศาสตร์ต่าง ๆ ที่เขารู้ให้เด็กหนุ่มเท่านั้น
วันหนึ่ง อะพอลโลกับไฮยาซินธัสแข่งกีฬาขว้างจักรกันอย่างสนุกสนาน ขณะที่อะพอลโลขว้างจักรออกไปนั้น เทพซิฟิรัส (Zephyrus) เทพเจ้าแห่งสายลมตะวันออก ผ่านมาเห็นทั้งสองกำลังเล่นกันอยู่ ก็เกิดหลงใหลในตัวไฮยาซินธัสตั้งแต่แรกพบ และเกิดความริษยาเมื่อพบว่าเด็กหนุ่มกำลังชอบพอกับสุริยเทพ จึงบันดาลให้ลมพัดจักรใส่อะพอลโล…
แต่จักรดันพลาดไปกระแทกศีรษะของไฮยาซินธัสเข้า!
สุริยเทพตกใจแทบสิ้นสติ เมื่อเห็นเลือดพรั่งพรูออกมา ไฮยาซินธัสล้มลงกับพื้น ใบหน้าซีดเผือดคล้ายคนจะสิ้นชีวิต เขาประคองร่างเด็กหนุ่มไว้ในอ้อมแขน และพยายามห้ามเลือด แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
ศีรษะของไฮยาซินธัสพับตกไปด้านหลังเหมือนดอกไม้ที่กิ่งหักพับ ก่อนจะสิ้นใจตายในที่สุด

แม้อะพอลโลจะเป็นสุริยเทพผู้ยิ่งใหญ่ แต่เขาก็ไม่สามารถทำให้ไฮยาซินธัสฟื้นขึ้นมาได้ ทำได้เพียงโศกเศร้าเสียใจต่อการจากไปของเด็กหนุ่ม และหวังว่าจะเกิดปาฏิหาริย์ขึ้น แต่ก็สายเกินไปเสียแล้ว
อะพอลโลคุกเข่าร่ำไห้อยู่ข้างกายไฮยาซินธัส แม้จะไม่ใช่ความผิดของเขา แต่การที่หนุ่มรูปงามต้องจากไปตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้สุริยเทพเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมาก และพึมพัมว่า “โธ่ ถ้าข้าแลกชีวิตกับเจ้าได้ หรือตายไปพร้อม ๆ กับเจ้าได้นะ”
ระหว่างเสียใจอยู่นั้น หญ้าที่เปื้อนเลือดของไฮยาซินธัสกลับเขียวขจีขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมมีดอกไม้บานออกมาจากพื้นดิน!
ดอกไม้ที่เกิดขึ้นมาทำให้นามของเด็กหนุ่มเป็นที่รู้จักตลอดกาล นั่นคือ ไฮยาซินธ์ ดอกไม้สีม่วงเข้มที่มีรูปร่างคล้ายดอกลิลลี่
อะพอลโลจารึกอักษรลงบนกลีบดอกไม้นั้น บ้างว่าเป็นอักษรย่อชื่อของเด็กหนุ่ม บ้างว่าเป็นอักษรสองตัวที่สะกดเป็นภาษากรีกที่แปลได้ว่า “อนิจจา” เพื่อระลึกถึงการจากไปของไฮยาซินธัสนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :
- “ดอกทานตะวัน” ฉบับกรีก ตัวแทนรักที่ซื่อสัตย์ แต่ไม่สมหวัง
- “คิวปิด” กับ “ไซคี” ตำนานรักที่นรกมิอาจกั้น สวรรค์มิอาจขวาง
- ตำนาน “ดอกนาร์ซิสซัส” ดอกไม้ของชายผู้หลงตัวเอง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เอดิธ แฮมิลตัน. (2565). ปกรณัมปรัมปรา ตำนานเทพและวีรบุรุษกรีก-โรมัน-นอร์ส [Mythology] (พิมพ์ครั้งที่ 18) (นพมาส แววหงส์, ผู้แปล). กรุงเทพมหานคร: อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.
http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/72_4.pdf
Britannica, T. Editors of Encyclopaedia (2007, November 8). Hyacinthus. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/topic/Hyacinthus
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2568