“ดอกทานตะวัน” ฉบับกรีก ตัวแทนรักที่ซื่อสัตย์ แต่ไม่สมหวัง

นางคลีทีกำลังมองอะพอลโลจากพื้นดิน ตำนานดอกทานตะวัน

ตำนานดอกทานตะวัน ของขวัญจากเทพเจ้า หรือคำสาปแห่งรักที่ถูกเมินเฉย?

ดอกทานตะวัน ดอกไม้สีเหลืองอันแสนสดใส เป็นสัญลักษณ์ของความสุข และพลังบวกที่สามารถส่งต่อให้กับคนที่ได้รับ ในภาษาอังกฤษ คือ Sunflower ชื่อละติน Helianthus Annuus มาจากการรวมคำภาษากรีก Helios ซึ่งแปลว่า ดวงอาทิตย์ และ Anthos แปลว่า ดอกไม้

ดังนั้นความหมายรวมทั้งหมดคือ ดอกไม้แห่งดวงอาทิตย์

ภาพวาดดอกทานตะวัน
ภาพวาดดอกทานตะวัน (ภาพโดย gailkernius จาก Pixabay)

จากตำนานเทพเจ้ากรีก ต้นกำเนิดดอกทานทะวันเกี่ยวข้องกับเทพธิดานางพรายองค์หนึ่งนามว่า นางคลีที (Clytie) ซึ่งมักอาศัยอยู่ใต้ท้องทะเล วันหนึ่งพายุคลื่นใหญ่ได้ซัดพานางขึ้นมาบนฝั่ง ทำให้ได้พบกับ อะพอลโล (Apollo) เทพแห่งดวงอาทิตย์ ผู้แผ่ความอบอุ่นและแสงสว่างไปทั่วโลก

คลีทีจึงตกหลุมรักแสงสว่างอันอบอุ่นของอะพอลโล ที่ไม่เคยสัมผัสเมื่ออยู่ใต้น้ำอันหนาวเหน็บ

ทุก ๆ วันคลีทีจะคอยหันมองตามแสงสว่างของอะพอลโลตั้งแต่เช้า จนแสงตะวันลาลับ วันแล้ววันเล่าที่นางได้เพียรเฝ้ามองและส่งความรักไปให้ โดยไม่กินอาหารอะไรเลย กินแค่เพียงน้ำตาและหยดน้ำค้างเล็ก ๆ ประทังชีวิตเท่านั้น แต่เขาก็ไม่เคยสนใจเลยแม้แต่น้อย 

กระทั่งในวันที่ 9 ของการรอคอยอย่างสิ้นหวัง คลีทีก็ตรอมใจตายเพราะความรักที่ส่งไปไม่ถึง

เหล่าทวยเทพเกิดเห็นใจในความรักของนาง จึงบันดาลให้ครีทีกลายเป็นดอกทานตะวัน ที่จะหันดอกหาแสงดวงอาทิตย์เสมอ เพื่อให้ได้มองและชื่นชมเทพอะพอลโลตลอดไป

นางคลีที
ประติมากรรมนางคลีที (Clytie) (ภาพจาก the British Museum)

ดอกทานตะวันจึงเป็นตัวแทนของเครื่องพิสูจน์ความรักที่มั่นคง ยามใดที่เรามองไปยังทุ่งทานตะวัน ท่าทางของพวกมันที่มีต่อดวงอาทิตย์ กลายเป็นเครื่องเตือนใจถึงความซื่อสัตย์ในรักเดียว

เช่นเดียวกับที่นางคลีทีอุทิศตนให้รักอันเป็นนิรันดร์ฝ่ายเดียวของเธอต่ออะพอลโล

นางคลีทีกำลังมองอะพอลโลจากพื้นดิน
นางคลีทีกำลังมองอะพอลโลจากพื้นดิน (ภาพจาก Wikimedia Commons)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/72_4.pdf

https://medium.com/mythology-journal/divine-flower-of-love-the-sunflower-a8a52f4f5198


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2568