บันทึกฝรั่งว่า “ปลวก” ในสยามล้างผลาญสิ่งต่างๆ ให้ฉิบหาย

จอมปลวก ปลวก
ภาพประกอบเนื้อหา - คณะทำงานด้านการเกษตรกำลังเก็บตัวอย่างดินจากจอมปลวกแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสระบุรี ถ่ายภาพโดย Robert Larimore Pendleton เมื่อปี ค.ศ. 1948 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ได้บันทึกเกี่ยวกับ “ปลวก” เอาไว้ว่า

“ในกรุงสยามปลวกก็ชุม พอใจล้างผลาญสิ่งต่างๆ ให้ฉิบหายอเนกแล้ว ยังกัดสมุดต่างๆ ให้ทะลุเป็นร่องรูอีกด้วย (สมุดนั้นตัวสามง่ามผลาญเก่ง ปลวกผลาญก็ผลาญเอาวินาศทีเดียว)

พวกฝรั่งครูสอนคริสต์ศาสนาจำต้องสงวนสมุดหนังสือของตน โดยเคลือบหลังและสันสมุดไว้ด้วย เชแรม (ลงรัก) เล็กน้อย กันปลวกไม่กล้าทะลวงเข้าไปได้ เมื่อได้ระวังกันเสียอย่างนี้แล้ว ปลวกก็ไม่มีอำนาจที่จะกัด และสมุดนั้นก็คงน่าดูอยู่นั่นเอง

ด้วยยาง (รัก) อย่างว่านี้ไม่ได้ผสมกับอะไรให้เป็นสีสัน หลังและสันสมุดเป็นสีเดิมอย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น เหมือนกับแผ่นรูปภาพที่เราเคลือบยางอย่างนี้เข้าไว้ การเคลือบเชแรม (รัก) นี้ทำได้ง่ายๆ ไม่แพงแและไม่ลำบากลำบนอย่างไร ถ้าจะลองว่าเซแรมจะรักษาไม้เตียงนอนเรากันตัวบัคได้หรือไม่บ้างก็จะดี

เชแรมอย่างนี้นี่เองที่ทาผ้าใบทำให้คงทนราวกับเขาโค ยางเชแรมนี่เองที่ใช้ทาคบใหญ่ซึ่งบางคนบอกว่าทำด้วยเขาโคอนึ่ง บางทีถ้วยใบน้อยๆ ที่เคลือบสีแดง ที่มาเมืองฝรั่งจากเมืองญี่ปุ่น และเบาจนทำให้ฝรั่งพิศวงนั้นก็ทำด้วยผ้าสองชั้นทำเป็นรูปถ้วย และเคลือบแล้วเคลือบเล่าด้วยยางอันผสมสี ซึ่งเรา (ฝรั่ง) เรียกว่าลักกาหรือวานิชจีน ตามที่ข้าพเจ้าได้พรรณนามาแล้ว ถ้วยเหล่านี้ใช้ไม่ทนถ้าเอาสุราร้อนๆ รินลงไปในนั้น”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

หนังสือ “จดหมายเหตุลาลูแบร์ เล่ม 1” .พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2505


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2561